Fernand Braudel บทวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ เพื่อค้นหาทางออกวิกฤตประเทศไทย


อุดมคติที่แยกเด็ดขาดระหว่างรัฐและทุนไม่เคยดำรงอยู่จริง โดยตัวอย่างล่าสุดที่เห็นได้ชัดก็คือ ระบบทุนนิยมโดยรัฐของประเทศจีน ที่เคยต้องจมปลักยืดเยื้อในการค้นหารูปแบบการพัฒนาของตัวเองมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่การปฏิรูปในปลายราชวงศ์ชิง จนกระทั่งถึงระบบสังคมนิยมของพรรคคอมมิวนิสต์ สุดท้ายแล้ว จีนได้ค้นพบเทคนิคในการประสานบทบาทภาครัฐที่นอกจากไม่ขัดขวางการเติบโตของทุนแล้ว ยังช่วยเติมเต็มในส่วนที่ทุนนิยมเอกชนเพียงลำพังไม่สามารถกระทำได้อีกด้วย

โดย เจริญชัย ไชยไพบูลย์วงศ์

 

 

 

 

Fernand Braudel (1902-1985)
คือ นักประวัติศาสตร์ชื่อดังของชนชาติฝรั่งเศส
เจ้าของผลงานไตรภาคสุดคลาสสิค Civilization and Capitalism (15th-18th
Century) หากทว่ากลับไม่เป็นที่รู้จักมากนักในระดับโลก
ยิ่งไม่ต้องพูดถึงประเทศไทยที่เป็น “ชายขอบ” ของระบบทุนนิยมโลก

 

Braudel หมกมุ่นในการวิเคราะห์ระบบทุนนิยมโลกไม่ต่างจาก Karl Marx
ปรมาจารย์แห่งลัทธิคอมมิวนิสต์ แต่สิ่งที่สร้างความโดดเด่นให้กับ Braudel
นั่นคือ การเชื่อมร้อยวิสัยทัศน์ในระดับโลก (World System)
เข้ากับโครงสร้างการดำเนินชีวิตประจำวัน (Everyday Life) จึงทำให้ผลงานของ
Braudel มีความละเมียดสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับโลกความจริงได้ดียิ่ง

 

 

 

 

1. นายทุนไม่ได้สร้างระบบทุนนิยม หากเป็นเพียงผู้พัฒนาและต่อยอดจากพลวัตเศรษฐกิจโลก

 

Braudel เน้นความสำคัญของการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ในห้วงเวลาที่ยาวนาน
(longue durée)
ทำให้ตระหนักถึงความคึกคักเปลี่ยนแปลงแห่งเศรษฐกิจยุโรปตั้งแต่ต้นศตวรรษที่
11 ที่นำไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมในปลายศตวรรษที่ 18
ความสำเร็จนี้ไม่ได้มาจาก “ความเหนือกว่า”
ของสุภาพบุรุษอังกฤษที่ทำให้โลกได้บรรลุถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีครั้ง
ยิ่งใหญ่ หากทว่าเป็นการสั่นพ้องของปัจจัยที่หลากหลาย (Comprehensive
Phenomenon)
นับตั้งแต่การฟื้นตัวทางการค้าและชีวิตเมืองในย่านเมดิเตอร์เรเนียน
ไปจนกระทั่งสภาพภูมิศาสตร์ที่เป็นเกาะของประเทศอังกฤษ
ซึ่งเอื้อให้เกิดระบบรัฐสภาได้ดีกว่าภาคพื้นยุโรป ยิ่งกว่านั้น
อังกฤษยังสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากตลาดที่กว้างใหญ่และเติบโตขยายตัว
ของทวีปได้ โดยเสียต้นทุนในการทำสงครามที่น้อยกว่าประเทศอื่น
เนื่องจากมีขอบฟ้าแห่งท้องทะเลขวางกั้น


ที่น่าทึ่งที่สุดก็คือ
การประดิษฐ์คิดค้นเครื่องจักรทอผ้าที่เป็นจุดเริ่มต้นแห่งการปฏิวัติ
อุตสาหกรรม
ไม่ได้ถือกำเนิดในย่านที่มั่งคั่งที่สุดของกรุงลอนดอนซึ่งเป็นศูนย์กลางทาง
การเมืองและเศรษฐกิจ
หากทว่ามาจากชนบทที่อยู่รอบเมืองแมนเชสเตอร์(Manchester)
และต่อเนื่องไปถึงลิเวอร์พูล (Liverpool)
โดยกว่าที่กรุงลอนดอนจะเข้ามาครอบครองการปฏิวัติอุตสาหกรรมนี้
เวลาก็ได้ล่วงไปถึงปี 1830 แล้ว

 

ความล้มเหลวของการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลาย
จึงเกิดจากการไม่ได้ตระหนักถึงการสั่นพ้องของ “องค์ประกอบที่หลากหลาย”
ในการสร้างสรรค์ระบบทุนนิยม
โดยเฉพาะการเรียนรู้เพื่อฉวยใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมใหม่ที่เกิดขึ้นในระบบ
เศรษฐกิจโลก รวมถึง
การพัฒนาอุตสาหกรรมจากความถนัดและพื้นฐานที่เป็นจริงของประเทศ (Comparative
Advantage) ซึ่งไม่ใช่การสร้างขึ้นมาตามสูตรสำเร็จของประเทศพัฒนา
หากทว่าเป็นการต่อยอดมูลค่าจากพลวัติทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในแต่ละภาคส่วน
ของประเทศไทย (The Structures of Everyday Life)

 

OTOP
จึงนับเป็นนวัตกรรมริเริ่มในการฉวยใช้ประโยชน์จากพลวัตเศรษฐกิจท้องถิ่นไทย
แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงอยู่เสมอคือ การต่อยอดมูลค่า (Value Creation)
เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการในตลาดโลก ที่หมายความว่า ผู้ผลิตสินค้า
OTOP จะต้องมีการแสวงหาเครือข่ายและข้อมูลอย่างเข้มข้นกับนักออกแบบ
ตัวแทนจำหน่าย นักการเงิน และลูกค้าจากทั่วทุกมุมโลก นี่คือ
กลยุทธ์ในการเพิ่มขอบเขตประสบการณ์และจินตนาการสร้างสรรค์ให้กับทุนนิยมไทย
โดยไม่ติดอยู่ในกรอบการพัฒนาเศรษฐกิจจากอัจฉริยภาพของนักวิชาการและเทคโนแคร
ตที่ได้แต่สร้างโมเดลและสูตรสำเร็จที่สวยงาม
หากทว่าไม่เคยผ่านด่านการเคี่ยวกรำของการชิงไหวชิงพริบในตลาดโลกที่เลือด
เย็นและไร้ปราณียิ่ง

 

2. ศูนย์กลางทุนนิยมโลกเติบโตจากการผูกขาด ชายขอบทุนนิยมโลกยากไร้จากการแข่งขัน

 

ศรัทธาที่ได้รับการปลูกฝังในวงการเศรษฐศาสตร์มาเนิ่นนานก็คือ
พลานุภาพของการแข่งขัน
ที่เชื่อว่าจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพของสินค้าและบริการ อย่างไรก็ตาม
Braudel ได้ศึกษาประวัติศาสตร์การพัฒนาทุนนิยมในศตวรรษที่ 15-18
แล้วพบพานความจริงว่า “ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ (Center)”
ที่มั่งคั่งรุ่งเรืองที่สุดในแต่ละยุคสมัยนั้น
เกิดจากความสามารถในการผูกขาดสินค้าและบริการซึ่งสำคัญที่สุด

 

เวนิส (Venice)
เมืองเล็กจิ๋วที่แทบไม่มีผลผลิตทางการเกษตรพอเพียงเลี้ยงตัวเองได้
หากทว่ากลับสามารถขึ้นมาเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในช่วงศตวรรษที่ 14
ย่อมเพราะสามารถควบคุมผูกขาดการค้าในย่านเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออกได้
แต่แล้วเมื่อกรุงลิสบอน(Lisbon)
ส่งกองเรืออ้อมแหลมกูดโฮปไปรับซื้อเครื่องเทศจากอินเดียได้สำเร็จ
ความรุ่งเรืองของเมืองเวนิสก็เริ่มโรยราอับแสงลง
โดยปล่อยให้เมืองแอนท์เวิร์ป (Antwerp)
ที่ฉวยประโยชน์จากความด้อยพัฒนาของลิสบอนในเรื่องการระดมและบริหารจัดการการเงิน
ได้เข้ามาผูกขาดกำไรจากการค้าเครื่องเทศที่แลกมาด้วยหยดเหงื่อและน้ำตาของ
เหล่านักเดินเรือที่กล้าหาญ

 

 

ภายใต้พลวัตซับซ้อนในการหักเหลี่ยมช่วงชิงทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองของ
ยุโรปตะวันตก
ในที่สุดกรุงอัมสเตอร์ดัมที่พึ่งต่อสู้เพื่อปลดแอกจากการปกครองที่โหดร้าย
ของสเปน ได้ค้นพบวิถีแห่งการ “ผูกขาด”
กำไรมหาศาลจากการค้าเครื่องเทศในศตวรรษที่ 17
โดยอาศัยความได้เปรียบของกลยุทธ์การบริหารจัดการและระดมทุนแบบบริษัทที่ถือ
เป็นนวัตกรรมล่าสุดแห่งยุคสมัย
ทำให้สามารถแย่งชิงการค้าทางทะเลจากมหาอำนาจเดิมอย่างโปรตุเกสและสเปนได้ใน
ท้ายที่สุด


หากทว่า การต่อสู้ของ “เมือง”
ในยุโรปตะวันตกที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของระบบทุนนิยมโลกนั้น
ก็ต้องหลีกทางให้กับพลังของรัฐชาติ (Territorial State) ที่ยิ่งใหญ่กว่า
โดยมีอังกฤษเป็นชาติแรกที่สามารถสร้างเอกภาพและนำไปสู่การรวมพลังเพื่อช่วง
ชิงตำแหน่งศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ
ที่สามารถผูกขาดความมั่งคั่งผ่านเครือข่ายการค้ารอบโลกได้
ซึ่งท้ายที่สุดได้นำไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมและความยิ่งใหญ่ของอังกฤษใน
อีกหลายร้อยปีต่อมา

 

การแข่งขันเพื่อช่วงชิงความเป็น “ศูนย์กลาง”
ในการผูกขาดทางเศรษฐกิจของมหาอำนาจทั้งหลายนั้น
ได้ทำให้ยุโรปตะวันตกกลายเป็นภูมิภาคแรกที่หลุดพ้นจากความขาดแคลนทางวัตถุ
ของยุคโบราณเข้าสู่ความมั่งคั่งเฟื่องฟูของยุคสมัยใหม่
ความเจริญรุ่มรวยได้ไหลล้นจากศูนย์กลางไปสู่บริเวณแกนหลัก (Core Area)
ที่คอยรับใช้ศูนย์กลางในการผูกขาดกำไร
โดยการขูดรีดและส่งต่อการแข่งขันอย่างบ้าเลือดของการผลิตสินค้าและวัตถุดิบ
ราคาถูกให้กับประเทศชายขอบ(Periphery) ตั้งแต่ยุโรปตะวันออก แอฟริกา
จนกระทั่งถึงเอเชีย ซึ่งการทำงานหนักแทบไม่ได้เกิดผลดีอันใดกับชีวิตเลย

 

ในศตวรรษที่ 21 ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจโลกได้ย้ายไปที่อเมริกา
โดยนวัตกรรมผูกขาดได้กระจุกตัวอยู่ในอุตสาหกรรมการเงิน (Finance)
และเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ดังจะเห็นได้จากการพิมพ์เงินมหาศาลภายใต้นโยบาย
Quantitative Easing (QE) ที่ประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลายได้แต่มองตาปริบ
โดยมิอาจทำอะไรได้เลย
เพราะระบบการเงินโลกต้องพึ่งพาดอลลาร์เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน

 

ขณะเดียวกัน ประเทศในเอเชียดังเช่น จีนและเกาหลีใต้
ที่เคยเป็นเพียงชายขอบทุนนิยมโลกซึ่งต้องคอยแข่งขันเสรีกับประเทศชายขอบทั่ว
โลกในการผลิตสินค้าเกษตรและวัตถุดิบเพื่อป้อนโรงงานอุตสาหกรรมของประเทศ
พัฒนา ได้เริ่มขยับเข้ามาเป็นบริเวณกึ่งชายขอบ (Semi-Periphery)
ที่ใกล้ชิดศูนย์กลางแห่งความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น
ดังจะเห็นได้จากการยกระดับเข้าสู่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูง อย่างเช่น
โทรศัพท์มือถือและโทรทัศน์จอแบน
ที่แม้จะไม่สามารถสร้างผลกำไรได้เท่ากับภาคการเงินและไอทีของประเทศศูนย์
กลาง
แต่ก็มีอำนาจผูกขาดมากกว่าสินค้าอุตสาหกรรมระดับล่างของประเทศชายขอบทั้ง
หลาย

 

การแก้ปัญหาความยากจนและไม่เท่าเทียมของประเทศไทยที่ล้มเหลวมานับสิบปี
จึงไม่ควรจำกัดตัวเองอยู่ที่ทฤษฎีการแข่งขันเสรีและการกระจายรายได้เพียง
อย่างเดียว
หากยังต้องเข้าใจถึงการขับเคี่ยวช่วงชิงเพื่อยกระดับจากประเทศชายขอบ
(Periphery) ให้กลายเป็นกึ่งชายขอบ (Semi-Periphery)
และย่างก้าวไปสู่ประเทศแกนหลัก (Core Area)
โดยเฉพาะเมื่อศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก (Center) เผชิญวิกฤตครั้งใหญ่
ที่เปิดโอกาสให้มีการสับเปลี่ยนตำแหน่งเกิดขึ้น

 

การแข่งขันที่แท้จริงของประเทศชายขอบอย่างไทยจึงไม่ใช่การต่อสู้กับ
ประเทศชายขอบในระดับเดียวกัน
หากเป็นการแสวงโอกาสจากพลวัติเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปรซับซ้อน
เพื่อเข้าแทนที่ประเทศกึ่งชายขอบและประเทศแกนหลักที่ไม่สามารถปรับตัวให้
เข้ากับนวัตกรรมใหม่ได้

 

3. Capitalism only triumphs when it becomes identified with the state, when it is the state.

 

การแยกเศรษฐศาสตร์ออกจากการเมืองอย่างเด็ดขาดได้กลายเป็นความผิดพลาด
ครั้งใหญ่ของแวดวงวิชาการโลก
เพราะประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาได้พิสูจน์ให้เห็นว่า
การเจริญเติบโตของระบบทุนนิยมไม่เคยแยกขาดจากรัฐและโครงสร้างทางสังคมได้เลย


“ฝรั่งเศส”
มีทั้งความอุดมสมบูรณ์กว้างใหญ่ของพื้นที่และทรัพยากรธรรมชาติ
แต่กลับต้องพ่ายแพ้ให้กับอังกฤษที่มีประชากรน้อยกว่าในการช่วงชิงเพื่อเป็น
ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจโลกแห่งยุคปลายศตวรรษที่ 18
ที่ย่อมมีสาเหตุมาจากความด้อยพัฒนาของโครงสร้างทางการเมือง
โดยเฉพาะระบบรัฐสภาที่เข้มแข็งของอังกฤษได้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเก็บ
ภาษีและระดมทรัพยากรจากทุกภาคส่วนในสังคมมาใช้พัฒนาประเทศทั้งเศรษฐกิจและ
แสนยานุภาพทางทหาร
ขณะที่ระบบราชการของฝรั่งเศสเต็มไปด้วยรอยรั่วมากมายในการจัดเก็บภาษี
ที่นำไปสู่ความขัดแย้งแห่งการปฏิวัติในปี 1789

 

หากทว่า ความอ่อนล้าของระบบราชการในฝรั่งเศส
ก็ยังสามารถระดมทรัพยากรและพัฒนาประเทศได้เหนือล้ำกว่าบรรดาเมืองทั้งหลาย
ที่เคยดำรงตำแหน่งศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ
ไม่ว่าจะเป็นอิตาลีที่มีอดีตรุ่งเรืองของเวนิสและเจนัว
ฮอลแลนด์ที่มีอดีตโชติช่วงของอัมสเตอร์ดัม
เบลเยี่ยมที่มีแอนท์เวิร์ปอดีตศูนย์กลางการค้าและการเงินโลก ดังนั้น
การพัฒนาประสิทธิภาพของระบบการเมืองจึงเสริมสร้างความเข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ
ได้ไม่แพ้การสร้างสรรค์นวัตกรรม 
ยิ่งถ้าหากสามารถผสานเสริมซึ่งกันและกันได้อย่างประเทศอังกฤษในห้วงรอยต่อ
ของศตวรรษที่ 18
ก็จะทำให้ประเทศนั้นพัฒนาความมั่งคั่งรุ่มรวยรุดหน้าคู่แข่งไปยาวไกลหลาย
หมื่นลี้

 

อุดมคติที่แยกเด็ดขาดระหว่างรัฐและทุนไม่เคยดำรงอยู่จริง
โดยตัวอย่างล่าสุดที่เห็นได้ชัดก็คือ ระบบทุนนิยมโดยรัฐของประเทศจีน
ที่เคยต้องจมปลักยืดเยื้อในการค้นหารูปแบบการพัฒนาของตัวเองมาอย่างยาวนาน
ตั้งแต่การปฏิรูปในปลายราชวงศ์ชิง
จนกระทั่งถึงระบบสังคมนิยมของพรรคคอมมิวนิสต์ สุดท้ายแล้ว
จีนได้ค้นพบเทคนิคในการประสานบทบาทภาครัฐที่นอกจากไม่ขัดขวางการเติบโตของ
ทุนแล้ว
ยังช่วยเติมเต็มในส่วนที่ทุนนิยมเอกชนเพียงลำพังไม่สามารถกระทำได้อีกด้วย

 

การย้อนกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์การพัฒนาทุนนิยมตะวันตก
โดยเฉพาะในผลงานของ Fernand Braudel
จึงอาจช่วยทำลายมายาคติเดิมและเสริมสร้างการตีความใหม่ (Re-Interpret)
ที่นำไปสู่การค้นพบเส้นทางที่จะก้าวหน้าสู่เขตแดนแห่งศูนย์กลางความมั่งคั่ง
ของทุนนิยมโลกไม่ใช่ผูกพันตัวเองอยู่ในชายขอบแห่งความยากไร้เหมือนที่ผู้นำ
บางคนพยายามทำให้เราศรัทธา

หมายเลขบันทึก: 454946เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2011 20:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 00:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท