กว่าจะรู้ภาษา


คงต้องยอมรับว่าปัญหาส่วนหนึ่งมาจากผลของการเรียนการสอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาที่มีครูผู้สอนเป็นองค์ประกอบหลัก เช่น สอนไม่ถูกวิธี ไม่เข้าใจวิธีการสอน ไม่ใช้สื่อการสอนที่ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียน ฯลฯ

เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ที่ผ่านมาเป็น วันภาษาไทยแห่งชาติ   เหตุผลที่เลือกวันที่ 29 กรกฎาคม เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ นั้นเพราะวันดังกล่าว ตรงกับวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปเป็นประธาน และทรงร่วมอภิปรายในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย ณ ห้องประชุมคณะอักษรศาสตร์   จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 ทรงเปิดอภิปรายในหัวข้อ “ปัญหาการใช้คำไทย” โดยพระองค์ทรงดำเนินการอภิปรายและทรงสรุปการอภิปราย ที่แสดงถึงพระปรีชาสามารถและความสนพระราชหฤทัยรวมถึงความห่วงใยในภาษาไทย ซึ่งเป็นที่ประทับใจกับผู้ร่วมเข้าประชุมในครั้งนั้นเป็นอย่างยิ่ง สำหรับพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในครั้งนั้น มีใจความตอนหนึ่งว่า “เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษาก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียง คือให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่าวิธีใช้คำมาประกอบประโยค นับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สามคือความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอ จึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้… สำหรับคำใหม่ที่ตั้งขึ้นมีความจำเป็นในทางวิชาการไม่น้อย แต่บางคำที่ง่ายๆ ก็ควรจะมี ควรจะใช้คำเก่าๆ ที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ควรจะมาตั้งศัพท์ใหม่ให้ยุ่งยาก…” 

นอกจากนั้น ยังมีพระบรมราโชวาทตอนหนึ่งที่พระราชทานเกี่ยวกับการใช้ภาษาไทยว่า “ในปัจจุบันนี้ปรากฏว่า ได้มีการใช้คำออกจะฟุ่มเฟือย และไม่ตรงกับความหมายอันแท้จริงอยู่เนืองๆ ทั้งออกเสียงก็ไม่ถูกต้องตามอักขรวิธี ถ้าปล่อยให้เป็นไปดังนี้ ภาษาของเราก็มีแต่จะทรุดโทรม ชาติไทยเรามีภาษาของเราใช้เองเป็นสิ่งอันประเสริฐอยู่แล้ว เป็นมรดกอันมีค่าตกทอดมาถึงเราทุกคนจึงมีหน้าที่จะต้องรักษาไว้ ฉะนั้นจึงขอให้บรรดานิสิตและบัณฑิต ตลอดจนครูบาอาจารย์ได้ช่วยกันรักษาและส่งเสริมภาษาไทย ซึ่งเป็นอุปกรณ์และหลักประกันเพื่อความเจริญวัฒนาของประเทศชาติ”

 เราในฐานะครูผู้สอนภาษาไทยหรือครูผู้ที่ใกล้ชิดกับภาษาแม้ไม่ได้เป็นผู้สอนภาษาไทยโดยตรงก็ตามควรจะได้ น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ได้ทรงแสดงความห่วงใย และพระราชทานแนวคิดต่างๆ เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทยและปลุกจิตสำนึกของนักเรียนให้ตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของภาษาไทย ส่งเสริม และอนุรักษ์ภาษาไทย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และเป็นสมบัติวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติ ให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไปและเพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการใช้ภาษาไทย ทั้งในวงวิชาการและวิชาชีพ รวมทั้งเพื่อยกมาตรฐานการเรียนการสอนภาษาไทยในสถานศึกษาทุกระดับ ให้มีสัมฤทธิผลยิ่งขึ้น

แม้ปัญหาต่างๆ การใช้ภาษาไทย เช่น ปัญหานักเรียนอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ หรืออ่านไม่คล่อง เขียนไม่คล่องที่เราได้พบเห็นจะยังไม่หมดไป และคงต้องยอมรับว่าปัญหาส่วนหนึ่งมาจากผลของการเรียนการสอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาที่มีครูผู้สอนเป็นองค์ประกอบหลัก เช่น สอนไม่ถูกวิธี ไม่เข้าใจวิธีการสอน ไม่ใช้สื่อการสอนที่ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียน ฯลฯ นั้นสามารถนำกลับมาทบ ทวนแก้ไขได้โดยไม่ยากด้วยความตั้งใจจริงของคุณครู ปัญหาการอ่านเขียนของนักเรียนก็จะหมดไปด้วยปณิธานอันแน่วแน่ว่านักเรียนที่จบการศึกษาจากโรงเรียนของเราจะต้อง  “รู้ภาษา”  ทุกคน

หมายเลขบันทึก: 454778เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2011 08:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 13:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท