ในระยะหลายวันที่ผ่านมา ผมได้พยายามจัดระบบความรู้ของตัวเอง ทั้งโดยการพิจารณาไต่ตรอง สรุปบทเรียน ซักถาม พูดคุย และสนทนาธรรม ใน "กลุ่มเพื่อน" หลากหลายกลุ่ม หลายมิติทางสังคม ที่มีจุดประกายความคิดร่วม หรือมีจริตในมิตินั้นๆ ใกล้เคียงกัน ที่พอจะคุยกันได้โดยวงไม่แตกก่อนสนทนาจบ
ก็ได้ประเด็นหลักๆ ว่า
คนที่มีความทุกข์นั้น
- ได้เกิดมาใน "กองทุกข์" (กลไกของธรรมชาติ) โดยปกติ ธรรมดา แบบ "ธรรมชาติ"
- ที่ถ้าเรา "ไม่แบก" ก็คงไม่มีความทุกข์
- แต่คนเราส่วนใหญ่ ก็ยังชอบ "แบก" แบบไม่ยอมวาง
- จึงเป็น "ผลกรรม" สืบเนื่อง แบบ "อิทัปปัจจยตา"
- ที่จะต้องมาพยายามเรียนรู้เพื่อจะอยู่กับมัน "อย่างไม่ทุกข์"
- ที่เป็นสิ่งที่ทำให้เรามี "ภาระ" ที่จะต้องเรียนรู้เพื่ออยู่กับสิ่งธรรมชาติเหล่านี้ ทั้ง เกิด แก่ เจ็บ และตาย
- ที่ดูเหมือนจะเป็น "ความทุกข์" ของคนส่วนใหญ่
- ที่หลงผิดไป "แบกโลก" แบบ "วางไม่เป็น" ทั้งๆที่ ตัวเองก็ยอมรับว่า "แบกไม่ไหว"
- แล้วจะไม่มี "ความทุกข์" ได้อย่างไร
นอกจากเราจะแบกทุกข์พื้นฐานของตัวเองแล้ว คนที่ยังหลงทางส่วนใหญ่(รวมทั้งผม) ยังรับอาสา ทั้งทางตรง ทางอ้อม ทั้งรู้ตัว และไม่รู้ตัว ทั้งเจตนาและไม่เจตนา แบกทุกข์ของคนรอบข้าง ของชุมชน ของสังคม และสิ่งแวดล้อมเข้าไปอย่างไม่ลืมหูลืมตา
แล้วเราจะ "พ้นทุกข์" ได้อย่างไร
มาถึงจุดนี้ คนที่กำลังหลงทาง หลงแบก (แบบแบกไม่ไหว วางไม่เป็นนั่นแหละ) ก็จะถามว่า
งั้นเราก็อยู่อย่างไม่สนใจใคร ไม่มีความรับผิดชอบนะซิ
- ที่ทำให้กลับมาฉุกคิด และน่าคิดมาก ว่า
- ความจริงแท้นั้น มันเป็นเช่นนั้นเสมอไป
- หรือ ความคิดนี้เป็นเพียง "ความจริงเสมือน"
- ที่มีอะไรที่ "จริงแท้กว่า" และดีกว่านั้น
เมื่อมีประเด็นสงสัย ผมจึงย้อนกลับมาคิดคำนึงถึง "ครูธรรมชาติ" ของผม ที่มีตัวอย่างที่เป็นจริง
- ให้เราเรียนอย่างไม่หลอกลวง (ถ้าเราไม่หลอกตัวเอง) และ
- ไม่จบสิ้น (ถ้าเราไม่หยุดเรียน)
คือ
สรรพสิ่งที่มี ที่เป็นอยู่ตามธรรมชาติ ไม่ว่า พิช หรือสัตว์ต่างๆ ที่ดำรงอยู่ แบบเพื่อนร่วมกองทุกข์ อย่างพึ่งพาอาศัยกัน
- โดยการทำหน้าที่ของตนเอง แบบ "ไม่แบกทุกข์ของใคร"
- โดยเพียงทำหน้าที่ของตัวเองให้เต็มที่ ครบถ้วน สมบูรณ์ที่สุด เท่าที่ทำได้
- แค่ไหน ก็แค่นั้น
- แล้วสิ่งที่อยู่รอบข้างก็จะได้ประโยชน์และพึ่งพากันได้ "โดยธรรมชาติ"
- รวมทั้งมนุษย์เอง ก็พึ่งพาสรรพสิ่งเหล่านี้ได้ดีมาตลอด
ที่สรรพสิ่งเหล่านั้น น่าจะอยู่ในกองทุกข์ "เกิดแก่เจ็บตาย" อย่างไม่มีความทุกข์ ไม่มีความเดือดร้อน ไม่ลำบาก ทำได้แค่ไหนก็พอใจแค่นั้น
- ที่เราควรนำมาปรับใช้ให้ "ถูกต้อง" โดยการทำ "หน้าที่" ให้ครบถ้วน ถูกต้อง
- แล้วเราไม่น่าจะมี "ความทุกข์" แม้เราจะอยู่ใน "กองทุกข์" ของกระบวนการของธรรมชาติ
ซึ่งประมาณว่า เราก็ไม่ต้องมี "ความทุกข์" จากการ "แบกทุกข์" ของคนอื่น ของสังคม ของสิ่งแวดล้อม
แต่ก็สามารถทำหน้าที่ของตนเองอย่างถูกต้อง สมบูรณ์ที่สุด เท่าที่จะทำได้ โดย "ไม่ทุกข์"
ผมกำลังคิด และจัดระบบความคิดในเรื่องนี้ และนำมาบันทึกช่วยจำ กันหลงลืม และเผื่อจะเป็นประโยชน์กับผู้เป็นผู้ร่วม "กองทุกข์" เพื่อจะได้ลด "ความทุกข์" ลงครับ
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย ดร. แสวง รวยสูงเนิน ใน ความรู้เพื่อชีวิต
อ่านบันทึกนี้แล้วกลับมาคิด เป็นจริงแบบที่อาจารย์ว่าเลยค่ะ เรามักจะไปแบกทุกข์แทนคนอื่น แถมยังฟุ้งให้น่ากลัวไปกว่าความเป็นจริง พอเหตุการณ์นั้นผ่านพ้นไป มันไม่น่ากลัวอย่างที่เราคิดเลย แต่เราทุกข์กับมันไปเสียแล้ว
ต่อไปนี้จะพยายามเตือนตัวเองไม่ให้แบกทุกข์แทนคนอื่น แต่ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดได้แค่ไหนเอาแค่นั้น ไม่เบียดเบียนตัวเองและผู้อื่น
ขอบคุณสำหรับข้อคิดที่มีประโยชนืค่ะ