ความเสี่ยงทางการเงิน


ความเสี่ยงทางการเงินและวิธีการลดความเสี่ยงทางการเงินขององค์การ

 

ความเสี่ยงทางการเงิน คืออะไร
         องค์กรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการเงินที่บริหารจัดการลงทุนโดยตรง หรือบริษัทเอกชนทั่วไปที่ต้องจัดการเงินสดคงเหลือผ่านช่องทางการลงทุนต่าง ๆ แล้ว ย่อมมีความเสี่ยงเกิดขึ้นด้วยกันทั้งสิ้น โดยนิยามแล้ว ความเสี่ยงทางการเงิน (financial risk) สำหรับองค์กร หมายถึง ความไม่แน่นอนของผลลัพธ์ในอนาคต อันเนื่องมาจากการดำเนินกิจกรรมทางการเงินของฝ่ายที่เกี่ยวข้องในองค์กรที่จะส่งผลกระทบทางลบต่อมูลค่าของกิจการ หากมองในเชิงเปรียบเทียบแล้ว ความเสี่ยงทางการเงินสำหรับผู้ลงทุนรายบุคคล มักจะเกิดจากความเสี่ยงด้านภาวะตลาด (market risk) เป็นหลัก ซึ่งหมายถึงความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากความผันผวนของตลาดเงิน ทำให้ผู้ลงทุนไม่สามารถเชื่อได้อย่างแน่นอนว่าผลตอบแทนที่จะได้รับจะเป็นเท่าใด ณ สิ้นสุดการลงทุนแต่ ความเสี่ยงทางการเงินในระดับองค์กร ครอบคลุมปัจจัยที่กว้างกว่า

         นอกจากความเสี่ยงด้านภาวะตลาดที่องค์กรต้องเผชิญเช่นเดียวกันแล้ว ความเสี่ยงยังเกิดจากความไม่แน่นอนที่อีกฝ่ายหนึ่งจะไม่ชำระราคาหรือชำระหนี้ตามที่ตกลงกันไว้ เรียกว่าความเสี่ยงด้านเครดิต (credit risk) และความเสี่ยงที่เกิดจากข้อผิดพลาดในกระบวนการทำงาน หรือการตรวจสอบเกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงิน จนทำให้เกิดความเสียหายขึ้น เรียกว่า ความเสี่ยงด้านการปฏิบัติการ (operational risk) ทั้งนี้ ความเสี่ยงด้านภาวะตลาดและความเสี่ยงด้านเครดิต จัดได้ว่าเป็นความเสี่ยงระยะสั้นที่ก่อให้เกิดความผันผวนต่อมูลค่าการลงทุน ในขณะที่ความเสี่ยงด้านการปฏิบัติการจัดได้ว่าเป็นความเสี่ยงระยะยาวที่ส่งผลต่อการดำเนินงานและมูลค่าของกิจการ
 
         เนื่องจากความเสี่ยงทางการเงินมีหลายมิติ องค์กรที่ดำเนินธุรกิจแตกต่างกันจะรับความเสี่ยงแต่ละประเภทในระดับที่ต่างกันเช่น องค์กรที่เน้นการบริหารพอร์ตการลงทุนจะมีความเสี่ยงด้านภาวะตลาดสูง และองค์กรที่เน้นการปล่อยสินเชื่อจะมีความเสี่ยงด้านเครดิตสูง เป็นต้น นอกจากนี้ ความเสี่ยงประเภทเดียวกันในช่วงเวลาที่ต่างกัน อาจมีความสำคัญต่อองค์กรไม่เท่ากันอีกด้วย เช่น ในช่วงเริ่มต้นของธุรกิจ องค์กรอาจมีความเสี่ยงด้านการปฏิบัติการมาก เนื่องจากอยู่ในระบบการดำเนินการต่าง ๆ ยังไม่เข้าที่ หรือเมื่อต้องขยายการลงทุนไปยังสินทรัพย์ที่ยังไม่คุ้นเคย อาจทำให้เผชิญกับความเสี่ยงจากภาวะตลาดเพิ่มขึ้นอีก ดังนั้นท่านผู้บริหารควรพิจารณาความเสี่ยงทางการเงินในเชิงภาพรวมและจัดสมดุลให้ดี หากให้น้ำหนักการบริหารความเสี่ยงประเภทใดประเภทหนึ่งมากเกินไป อาจทำให้ได้รับความเสียหายจากการละเลยความเสี่ยงอีกประเภทหนึ่งได้
ความเสี่ยงทางการเงิน (financial risks)
 
          ตลาดการเงินในปัจจุบันการลงทุนสำหรับนักลงทุนในบ้านเราคงไม่อาจที่จะปฏิเสธการเข้าไปจัดการบริหารความเสี่ยงในการลงทุนที่มีมากมายและถาโถมเข้ามาเช่นเดียวกับการขยายตัวของโลกกาภิวัฒน์ของระบบทุนนิยม นักลงทุนสามารถติดต่อกับนักลงทุนอื่น ๆ ทั่วโลกได้ง่ายขึ้น ด้วยเหตุนี้การกระทำของคน ๆ เดียว หรือ กลุ่ม ๆ เดียวจึงไม่อาจสามารถทำให้เป็นเรื่องเฉพาะของเขาเหล่านั้นได้อีกต่อไป อาทิ การไหลเข้าออกของเงินทุนของกลุ่มทุน การลงทุนซึ้อหุ้นหรือพันธบัตร การดำเนินนโยบายทางการเงินการคลังของรัฐบาลทั้งในและเทศ การกระทำของนักลงทุนกลุ่มหนึ่ง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อนักลงทุนคนอื่น ๆ หรือการกระทำธุรกรรมของเราเองที่ไม่อาจทราบผลที่แน่นอน สิ่งที่ไหลเข้ามานอกจากโอกาสทางการเงินที่เปิดกว้างแล้วยังรวมไปถึงการขยายตัวของโอกาสในการรับรู้ความเสี่ยงและความไม่แน่นอนอีกด้วย (risk and uncertainty) ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยจนถึงมหาศาลของผลตอบแทนที่ได้รับจริงต่อผลตอบแทนที่เราคาดหวังก่อนการลงทุน เช่น ท่านรู้ได้อย่างไรว่าในปีหน้าหุ้นที่ท่านซื้อไว้ราคาจะเป็นเท่าที่นักวิเคราะห์หลายท่านบอกเอาไว้ ในขณะที่ราคาน้ำมันยังคงผันผวน การก่อหนี้ที่เพิ่มขึ้นของรัฐบาลที่อาจส่งผลต่ออัตราดอกเบี้ยระยะยาว รวมไปถึงเสถียรภาพทางการเมืองยังคงต้องใช้เวลาในการปรับตัว ยังคงเป็นตัวแปรที่เราไม่สามารถควบคุมได้ นักลงทุนหลายท่านจึงมีเป้าหมายในการพยายามปรับตัวเพื่อให้สามารถจัดการบริหารกับความเสี่ยงให้ดีขึ้น ดังนั้นก้าวแรกที่สำคัญคือ การทำความเข้าใจความแตกต่างระหว่างความเสี่ยงและความไม่แน่นอน และประเภทของความเสี่ยงทางการเงินก่อน

ความเสี่ยงและความไม่แน่นอนแตกต่างกันอย่างไร ?

          ในปี 1921 นักเศรษฐศาสตร์ Frank H Knight ได้อธิบายความแตกต่างระหว่างความเสี่ยงและความไม่แน่นอนไว้

          "Uncertainty must be taken in a sense radically distinct from the familiar notion of Risk, from which it has never been properlyseparated … The essential fact is that "risk" means in some cases a quantity susceptible of measurement, while at other times it is something distinctly not of this character; and there are far-reaching and crucial differences in the bearings of the phenomenon depending on which of the two is really present and operating. … It will appear that a measurable uncertainty, or "risk" proper, as we shall use the term, is so far different from an unmeasurable one that it is not in effect an uncertainty at all. We … accordingly restrict the term "uncertainty" to cases of the non-quantitive type."

          สามารถอธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ด้วยการยกตัวอย่าง การชกมวย  ซึ่งนักมวยทั้งสองฝ่ายจะได้รับทราบถึงกฎกติกาอย่างละเอียดก่อนการชก ดังนั้นสิ่งที่จะทำคือ กำหนดกลยุทธ์ในการชกเพื่อเอาชนะอีกฝั่งให้ได้ เช่น ถ้าเราเดินแบบนี้แล้วเขาจะเดินแบบไหน เป็นต้น หากอีกฝั่งสามารถกำหนดกลวิธีที่เหนือกว่าเพราะเป็นนักมวยที่เก่งกว่าแล้วสามารถชกเอาชนะไปได้เราเรียกกรณีเช่นนี้ว่า ความเสี่ยง เช่นเดียวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในการลงทุนในปัจจุบัน

          หากเราเปลี่ยนใหม่ โดยที่ไม่บอกว่ากฎกติกาการชกจะเป็นแบบอย่างไรให้ทั่งสองฝ่ายทราบ และจะลงโทษผู้ที่ทำผิดกติกาแบบสุ่มด้วย ท่านลองคิดดูว่าผลจะเป็นอย่างไร สิ่งนี้เราเรียกว่า ความไม่แน่นอน

          ดังนั้น ความแตกต่างของความเสี่ยงและความไม่แน่นอนคือ การวัดได้ (measurable) ความเสี่ยงนั้นวัดได้แต่ความไม่แน่นอนนั้นวัดไม่ได้

ความเสี่ยงทางการเงินแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ

          1. ความเสี่ยงตลาด (market risk) เป็นความเสี่ยงของการที่จะเสีย โดยราคาหรือการเปลี่ยนแปลงของราคา ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกหรืออื่น ๆ การผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน การดำเนินนโยบายใช้จ่ายของรัฐบาล การผันผวนของราคาสินค้าอุปโภคบริโภคภายในและนอกประเทศ ซึ่งเหล่านี้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอุปสงค์และอุปทานการลงทุนในตลาดการเงิน ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของมูลค่าการลงทุน อาทิ การใช้จ่ายเพิ่มขึ้นและการก่อหนี้ของภาครัฐ ส่งผลให้ความเสี่ยงการลงทุนภายในประเทศเพิ่มขึ้น อัตราผลตอบแทนคาดการณ์ในระยะยาวจึงมีแนวโน้มสูงขึ้น อาจส่งผลให้ราคาของหุ้นหรือค่าเงินในปัจจุบันกับอนาคตมีความแตกต่างกันมาก 
         2. ความเสี่ยงด้านเครดิต (credit risk) เป็นความเสี่ยงที่จะสูญเสีย อันเนื่องมาจากการไม่กระทำตามสัญญาของคู่สัญญาอีกฝั่ง ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งการเต็มใจและไม่เต็มใจที่จะไม่ทำ เช่น การผิดนัดชำระหนี้ การผิดนัดการแลกเปลี่ยนสินค้า การได้ผลตอบแทนไม่ครบตามที่สัญญาไว้ในหุ้นกู้ เป็นต้น ซึ่งเราสามารถลดความเสี่ยงในด้านนี้ได้โดยการลงทุนผ่านตลาดที่มีตัวกลาง เช่น ตลาดหุ้น หรือ ฟิวเจอร์ เป็นต้น ซึ่งในเมืองไทยยังต้องการการพัฒนาตลาดที่เป็นทางเลือกอื่น ๆ ในการลงทุนอีกมาก   
          3. ความเสี่ยงด้านการปฏิบัติการ (operational risk) เป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้อยู่ตลอดเวลา อันเนื่องมาจากการปฏิบัติการที่ผิดพลาดหรือไม่เหมาะสมที่มาจากคทั้งคนหรือองกรค์ หรือจากเหตุการณ์ภายนอก เช่น การทำสัญญาทางการเงินที่ผิดพลาด การทำผิดกฎหมายโดยไม่ตั้งใจหรือตั้งใจของบริษัทที่เราซื้อหุ้น การไม่ทำตามนโยบายการลงทุนของกองทุนรวมที่เรามีหน่วยลงทุนอยู่ เป็นต้น การติดตามและเฝ้าระวังนโยบายของบริษัทอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้สามารถกำหนดกลยุทธ์การลงทุนให้เหมาะสมได้ยิ่งขึ้น   
 
          ดังที่ได้กล่าวไว้โดยสังเขปข้างต้น การเรียนรู้ที่จะปรับตัวเพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นสิ่งที่สำคัญมากต่อนักลงทุน ตลาดการเงินของประเทศไทยในอนาคตผู้เขียนคาดการณ์ว่าการคำนวณหรือการคาดการณ์ผลตอบแทนจากการลงทุนอาจจะกลายเป็นเรื่องพื้น ๆ เรื่องหนึ่งในการตัดสินใจลงทุน แต่การบริหารจัดการความเสี่ยงจะมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมาก ซึ่งจะกลายเป็นตัวกำหนดทิศทางของการพัฒนาตลาดการเงินในประเทศไทยเลยทีเดียว
วิธีการลดความเสี่ยงทางการเงิน
วิธีการลดความเสี่ยงทางการเงินขององค์การ เราได้อย่างไร?

          1. การประกอบการ การใช้จ่ายเงินทั่วไป และเงินงบประมาณที่ใช้ในโครงการ มาตรการควบคุม/วิธีการจัดการลดความเสี่ยงคือ ให้แต่งตั้งคณะกรรมการโดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานภายนอกหรือเอกชนมาร่วมเป็นกรรมการเพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ของโครงการแบบประกันต่าง ๆ ที่จะจำหน่ายว่าเหมาะสมและการนำเงินไปลงททุนมีความคุ้มทุนหรือไม่ ทำการรีอินชัวร์รัน ตามเงื่อนไขการกระจายความเสี่ยงสากล ให้ผู้ตรวจสอบภายในตรวจสอบและควบคุมดูแลการใช้จ่ายเงินการเรียกร้องสินไหม ถูกต้องหรือไม่

          2. ความเสี่ยงด้านเครดิต มาตรการควบคุม/วิธีการจัดการลดความเสี่ยงคือความรัดกุมในการรับประกัน ตรวจสุขภาพลูกค้ามีสัญญาหนังสือรับรองประวัติสุขภาพลูกค้า การทำธุรกรรมใด ๆ มีผู้รับผิดชอบ

          3. โครงสร้างค่าตอบแทน มีอัตราที่สามารถจูงใจและรักษาบุคลากรฝ่ายขายที่มีทักษะความสามารถเอาไว้ได้ มาตรการควบคุม/วิธีการจัดการลดความเสี่ยงคือ ปรับปรุงข้อบังคับกฎระเบียบต่างๆ ที่มีอยู่ให้ทันสมัยเช่น ว่าด้วยสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับเงินทดแทน คอมมิสชั่น โบนัส ค่าชดเชย รางวัล กำหนดหลักเกณฑ์การบริหารผลตอบแทนที่เน้นความสมดุลภายนอก ภายใน และระดับตำแหน่งบุคคล

          4. การเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน เงินเฟ้อมาตรการควบคุม/วิธีการจัดการลดความเสี่ยงคือ มีแผนรองรับ สำรองวัสดุ อุปกรณ์ใช้งานที่จำเป็น ทำสัญญาซื้อขายระยะยาวสำหรับสินค้า และวัตถุดิบที่จำเป็นที่ราคาคงที่ใช้บริการเฉลี่ยจากผู้ขายมากรายใช้เครื่องมือทางการเงินทำ hedging สำหรับความเสี่ยงทางราคาซื้อออฟชั่นกำหนดราคาล่วงหน้าประเมินอัตราดอกเบี้ยคาดการณ์ไว้รองรับความเสี่ยง

          5. การเปลี่ยนแปลงของการด้อยค่าของทรัพย์สิน/ทรัพย์สินไม่ก่อให้เกิดรายได้ มาตรการควบคุม/วิธีการจัดการลดความเสี่ยงคือ จัดซื้อสินค้าที่มีตราที่ราคาขายหลังใช้งานแล้วสูง คำนวณค่าเสื่อมราคามากๆเผื่อไว้

          6. การรับเงิน เปลี่ยนแปลงจำนวนเงิน ตัวแทนไม่ออกใบเสร็จรับเงินให้ลูกค้า นำเงินไปใช้ก่อน มาตรการควบคุม/วิธีการจัดการลดความเสี่ยงคือ มอบหมายให้เจ้าหน้าที่รับผิดชอบ มีผู้ค้ำประกันรับผิดชอบการทุจริตของพนักงาน ออกแบบเอกสารให้รัดกุมเหมาะสม จัดทำบัญชีควบคุมมีระบบการตรวจสอบเงินและสอบทาน

          7. การจ่ายเงิน จ่ายเงินแต่ไม่ได้รับสินค้า(บริการ) ใบแจ้งหนี้ ใบเสร็จรับเงินปลอม เปลี่ยนจำนวนเงิน จ่ายเงินซ้ำซ้อน มาตรการควบคุม/วิธีการจัดการลดความเสี่ยงคือ มอบหมายให้เจ้าหน้าที่รับผิดชอบอย่างเป็นทางการ มีระบบสอบทานเอกสารที่เกี่ยวข้องเช่น ใบเสร็จรับเงิน ใบแจ้งหนี้ มีการประทับตรา เซนต์ชื่อ กำหนดให้จ่ายเป็นเช็คหรือบัตรเครดิต มีการสำรองข้อมูลทางการเงินไว้ในที่ปลอดภัย

          8. การจัดซื้ออุปกรณ์ เครื่องใช้สำนักงาน ของชำร่วย ซื้อเกินความจำเป็น การจัดซื้อไม่ตรงกับความต้องการ จัดซื้อในราคาแพง จัดซื้อของที่ไม่มีคุณภาพดีเพียงพอ มาตรการควบคุม/วิธีการจัดการลดความเสี่ยง คือ กำหนดให้จัดซื้อภายในวงเงิน งบประมาณ และตามคุณลักษณะเฉพาะที่กำหนด กำหนดให้หน่วยงานรับผิดชอบในการจัดซื้อ กำหนดราคากลางให้เหมาะสม บอกคุณลักษณะเฉพาะให้ชัดเจนและให้เปรียบเทียบราคาซื้อจากแห่งอื่น กำชับให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อคำนึงถึงประโยชน์ของบริษัท ต้องมีจริยธรรมและความซื่อสัตย์สุจริต โดยเน้นการส่งเสริมให้หน่วยงานมีสภาพแวดล้อมการควบคุมที่ดี

          สรุป วางมาตรการการตรวจสอบทางการเงินอย่างรัดกุม วางแผนลงทุนอย่างรอบครอบ มีการจัดเก็บ และเก็บสำรองข้อมูลทางการเงินขององค์กรอย่างเป็นระบบปลอดภัย วางแผนการใช้จ่ายเงินอย่างเหมาะสม เพิ่มความสำคัญในเรื่องความโปร่งใส มีคุณธรรม สุจริต ของคนในองค์กร และลงโทษกรณีทุจริตอย่างรุนแรง มีแผนรองรับกับโอกาสที่รายรับขององค์กรจะลดลงไม่ว่าจะมาจากสาเหตุใดก็ตาม
ความเสี่ยงทางการเงิน
          ในทางการเงินเราเรียกภัยหรือโชคร้ายที่มีโอกาสเกิดขึ้นกับเรา และส่งผลกระทบทางการเงินต่อตัวเราว่า "ความเสี่ยงทางการเงิน" ซึ่งเจ้าความเสี่ยงทางการเงินที่ว่านี้ เมื่อเกิดขึ้นก็จะส่งผลกระทบโดยตรงทั้งต่อ "ความมั่งคั่ง" และ "สภาพคล่อง" ของเราทันที

          ยกตัวอย่างง่าย ๆ หากเจ็บป่วยจนถึงขั้นล้มหมอนนอนเสื่อ นั่นก็คงทำให้ต้องเสียเงินเสียทองในการรักษาพยาบาลให้หาย ซึ่งนั่นก็คงต้องกระทบต่อเงินเก็บซึ่งสำรองไว้ใช้จ่าย (สภาพคล่อง) หรือไม่ก็กระทบต่อเงินสะสมเพื่อใช้ในวันข้างหน้า (ความมั่งคั่ง) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในทางการเงิน เราแบ่งความเสี่ยงออกเป็น 4 ประเภทด้วยกัน คือ
          1. ความเสี่ยงภัยส่วนบุคคล (personal risk) อันได้แก่ ความเสี่ยงอันเกิดจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร การมีรายได้ไม่พอใช้ในยามเกษียณ การมีสุขภาพที่ไม่ดีหรือทุพลภาพ หรือความเสี่ยงภัยเนื่องจากการว่างงาน เป็นต้น
          2. ความเสี่ยงภัยต่อทรัพย์สิน (property risk) อันได้แก่ บ้านถูกไฟไหม้ รถถูกชน หรือถูกโจรกรรม เป็นต้น
          3. ความเสี่ยงต่อการรับผิด (liability risk) เป็นความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการรับผิดในการกระทำที่มีผลกระทบกับบุคคลอื่น ภายใต้กรอบของกฎหมาย เช่น พวกงานวิชาชีพ หรือการทำงานที่อาจต้องมีเรื่องการฟ้องร้องเข้ามาเกี่ยวข้อง
          4. ความเสี่ยงภัยอันเนื่องมาจากความผิดพลาดของบุคคลอื่น (risk arising from failure of others) อันได้แก่ ความเสี่ยงจากการว่าจ้างช่วงผู้อื่นทำงาน การไปค้ำประกันเงินกู้ของคนอื่น เป็นต้น

          ทั้งหมดนี้เป็นความเสี่ยงทางการเงินที่คนเรามักเจอะเจอกันได้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งหากไม่ใส่ใจแล้ว อาจส่งผลกระทบต่อสภาพคล่อง และความมั่งคั่งของเราได้ ดังนั้น หนึ่งในองค์ประกอบของแผนสู่อิสรภาพทางการเงินของคนเรา จึงควรรวมเรื่องของการบริหารความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นกับชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของแผนการสู่อิสรภาพทางการเงินด้วย

          เริ่มต้นจากการวิเคราะห์ตัวเราเองว่า มีความเสี่ยงทางการเงินใด ๆ ใน 4 ประเภทที่กล่าวมาข้างต้นบ้าง จากนั้นให้วิเคราะห์ "โอกาสในการเกิด" ภัยทางการเงิน และ "ผลกระทบ" หากเกิดภัยทางการเงินนั้นขึ้น จากนั้นก็มาหาวิธีในการจัดการกับความเสี่ยงแต่ละรายการที่อาจเกิดขึ้นกับเรา โดยเลือกใช้วิธีการหนึ่งวิธีการใดหรือหลายวิธีการประกอบกันดังต่อไปนี้
          ก. หลีกเลี่ยงความเสี่ยง เช่น หากกลัวอุบัติเหตุทางรถยนต์ ก็อาจหลีกเลี่ยงที่จะมีรถยนต์ไว้เป็นของตัวเอง เป็นต้น
          ข. ลดและควบคุมความเสี่ยง โดยลดที่เหตุ หรือลดความรุนแรงที่อาจจะเกิด เช่น ดื่มเหล้าให้น้อยลง ออกกำลังให้มากขึ้น เพื่อลดโอกาสในการเกิดโรค เป็นต้น
          ค. รับความเสี่ยงไว้เอง คือ การยอมรับความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นจากภัยทางการเงินด้วยตัวเอง วิธีการนี้ควรเลือกใช้เมื่อผลกระทบของภัยดังกล่าวมีมูลค่าไม่สูงหนัก หรือเกิดไม่บ่อย เช่น การเจ็บป่วยเล็กน้อย เป็นไข้ เป็นหวัด เป็นต้น
          ง. โอนความเสี่ยง ให้ผู้อื่นรับผิดชอบ เช่น การทำประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันภัย เป็นต้น

ตัวอย่างการวิเคราะห์ความเสี่ยง: นายเอ เป็นพนักงานบริษัท มีบ้านเป็นของตนเอง โดยยังจดจำนองอยู่กับธนาคาร ไม่มีรถยนต์ ขับรถยนต์ก็ไม่เป็น ดื่มเหล้าบ้าง แต่ไม่สูบบุหรี่ ไม่ค่อยออกกำลังกาย พ่อแม่เป็นข้าราชการบำนาญ ไม่มีเงินออมเลย จากข้อมูลดังกล่าว เรามาพิจารณาความเสี่ยงทีละประเภท ได้ดังนี้

ความเสี่ยงภัยส่วนบุคคล:
          * กรณีเสียชีวิต: โอกาสในการเกิดปานกลาง เพราะนายเอ ดื่มสุรา ไม่ค่อยออกกำลังกาย แม้จะไม่สูบบุหรี่ก็ตาม ส่วนงานที่ทำก็อยู่ในออฟฟิศ จึงมีโอกาสเสียชีวิตจากการใช้ชีวิตประจำวันไม่มาก สำหรับผลกระทบหากนายเอเสียชีวิต จะเห็นว่าจะกระทบต่อบ้านที่จดจำนองไว้เท่านั้น เพราะพ่อแม่ยังมีรายได้ดูแลตัวเองได้ ดังนั้นจึงถือว่ามีผลกระทบในระดับปานกลาง - กรณีนี้นายเอ อาจเลือกใช้การประกันความเสี่ยง โดยการประกันชีวิตคุ้มครองมูลค่าบ้านที่จดจำนองธนาคารไว้ หรือถ้าคิดว่าตายแล้วเสียบ้านไปไม่เป็นไร พ่อแม่ก็มีบ้านอยู่ ลูกเมียก็ไม่มี ก็อาจเลือกรับความเสี่ยงไว้เอง คือ ตายแล้วก็ให้บ้านธนาคารไป

          * กรณีเจ็บป่วย: โอกาสในการเกิดปานกลาง ผลกระทบสูง เพราะหากเจ็บป่วยหนัก แล้วไม่มีเงินออมเพื่อรักษา อาจทำให้ต้องกู้หนี้ยืมสิน และส่งผลกระทบทางการเงินในระยะยาวได้ - กรณีนี้นายเอ อาจเลือกใช้วิธีลดความเสี่ยง โดยดื่มเหล้าให้น้อยลง ออกกำลังกายให้มากขึ้น ควบคู่ไปกับการทำประกันสุขภาพในกลุ่มโรคร้ายหรือเจ็บป่วยถึงขั้นล้มหมอนนอนเสื่อ โดยอาจเลือกรับความเสี่ยงไว้เองกรณีเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อย

          ความเสี่ยงภัยต่อทรัพย์สิน: นายเอ มีทรัพย์สินเพียงรายการเดียว คือ บ้าน ซึ่งอาจได้รับภัยบางอย่างได้ เช่น ไฟไหม้ หรือถูกโจรกรรม ทั้งนี้โอกาสในเกิดภัย อาจมองว่าต่ำ ส่วนผลกระทบนั้น หากเป็นไฟไหม้ก็ถือว่าสูง ส่วนกรณีโจรกรรม หากนายเอ มีทรัพย์สินไม่มาก ก็อาจเป็นผลกระทบระดับต่ำ-ปานกลาง - ในกรณีของบ้าน นายเอ อาจเลือกใช้ประกันอัคคีภัยในการบริหารความเสี่ยง ส่วนการโจรกรรมนั้น นายเอ อาจเลือกใช้วิธีรับความเสี่ยงไว้เอง เป็นต้น

          ความเสี่ยงภัยต่อการรับผิด และความผิดพลาดของบุคคลอื่น: ไม่มี
จากตัวอย่างข้างต้น คงทำให้ท่านสามารถวิเคราะห์ความเสี่ยงอย่างง่ายให้กับตัวเอง เพื่อปกป้องสภาพคล่อง และความมั่งคั่งทางการเงินให้กับตัวเองได้แล้วใช่ไหมครับ หากมีข้อสงสัยประการใดสามารถส่งคำถามหรือสงสัยของท่านมาได้ที่ [email protected]

อ้างอิง

-สุทธิพันธุ์ ถาวรวงษ และฉัตรพงศ์ วัฒนจิรัฏฐ์, FRM
สถาบันพัฒนาความรู้ตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
จากเว็บไซต์ http://edu.tsi-thailand.org/index.php?option=com_content&task=view&id=268&Itemid=228


-จักรพงษ์ เมษพันธุ์. [email protected]. ความเสี่ยงทางการเงิน (เคล็ด(ไม่)ลับสู่ความมั่งคั่ง). 
จากเว็บไซต์http://www.ryt9.com/s/nnd/896131.
หมายเลขบันทึก: 454378เขียนเมื่อ 17 สิงหาคม 2011 12:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 20:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท