การบริหารทางการเงิน


เป้าหมายในการบริหารทางการเงินและการจัดหาเงินทุน
 


วัตถุประสงค์หรือเป้าหมายในการบริหารการเงิน
          โดยทั่วไปมักเข้าใจว่าวัตถุประสงค์ของการบริหารการเงิน คือ การแสวงหากำไรสูงสุดหรือผลประโยชน์ตอบแทนสูงสุด (profit maximization) แต่แท้ที่จริงแล้ววัตถุประสงค์นี้ไม่ใช่วัตถุประสงค์ที่ดีเสมอไป เนื่องจากการแสวงหากำไรสูงสุดนั้นไม่ได้คำนึงถึงความพยายามที่ได้ทำลงไปในรูปของการเพิ่มเงินลงทุนหรือเพิ่มจำนวนหุ้นสามัญ นั่นคือไม่ได้คำนึงถึงความมีประสิทธิภาพ (efficiency) ในการบริหาร

          ดังนั้นเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ของการบริหารการเงินก็คือ การแสวงหากำไรสูงสุดภายใต้ความมีประสิทธิภาพซึ่งหมายความว่า มีการใช้ความพยายามน้อยที่สุด แต่ได้รับผลตอบแทนมากที่สุด เมื่อเทียบกับกำไรและเงินลงทุนที่ธุรกิจได้รับ ซึ่งเรียกว่ากำไรต่อความพยายามสูงสุด โดยที่จะต้องคำนึงถึงความเสี่ยงทางธุรกิจ (business risk) และระยะเวลาของการได้รับผลตอบแทนด้วย ซึ่งก็คือ เป้าหมายในการแสวงหาความมั่งคั่งสูงสุด (wealth maximization หรือ maximize share holder wealth) คือ การแสวงหาความมั่งคั่งขั้นสูงสุดให้กับผู้ถือหุ้นสามัญ

          สรุปแล้วเป้าหมายในการบริหารการเงิน คือ การแสวงหาความมั่งคั่งสูงสุด นั่นคือ การมีกำไรสูงสุดภายใต้ความมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงความเสี่ยงภัยทางธุรกิจที่ยอมรับได้และภายในระยะเวลาของการได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสมที่สุด

          การแสวงหาความมั่งคั่งสูงสุด หมายถึง ความมั่งคั่งของผู้ถือหุ้นสามัญซึ่งเป็นเจ้าของกิจการที่แท้จริง โดยวัดได้จากราคาตลาดของหุ้นสามัญที่สูงขึ้น ดังนั้นเป้าหมายในการบริหารการเงินก็คือ การแสวงหาความมั่งคั่งสูงสุดให้แก่ผู้ถือหุ้นสามัญหรือการทำให้ราคาตลาดของหุ้นสามัญมีราคาสูงที่สุดนั่นเอง

หน้าที่ทางการเงิน
          เพื่อให้ธุรกิจบรรลุเป้าหมายในการบริหารการเงิน คือ มีความมั่งคั่งสูงสุด จะต้องมีการจัดการที่ดีในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการเงิน การผลิต การตลาด การบัญชี บุคลากร และด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหน้าที่หนึ่งที่มีความสำคัญคือหน้าที่ทางการเงินนั่นเอง

หน้าที่ทางการเงิน (financial function) ประกอบด้วยหน้าที่หลัก ๆ คือ
          1. หน้าที่ในการจัดหาเงินทุน
          2. หน้าที่ในการจัดสรรเงินทุน
          3. การตัดสินใจในนโยบายเงินปันผล

การจัดหาเงินทุน
          ผู้จัดการทางการเงินมีหน้าที่ต้องตัดสินใจว่า ควรจะจัดหาเงินทุนมาจากแหล่งใดและจะจัดหาด้วยสัดส่วนเท่าใด จึงจะทำให้ค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนทางการเงิน (financial cost) ต่ำที่สุด ในขณะเดียวกันก็จะต้องไม่เกิดความเสี่ยงภัยทางการเงิน (financial risk) มากจนเกินไป

การจัดหาเงินสามารถจัดหาได้จาก 2 แหล่งใหญ่ ๆ คือ

          1. แหล่งเจ้าหนี้หรือหนี้สิน ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประเภทดังนี้
               1. หนี้สินระยะสั้น ได้แก่ การซื้อเชื่อ การเบิกเกินบัญชี ตั๋วเงินจ่าย รายได้รับล่วงหน้า ค่าใช้จ่ายค้างจ่าย เป็นต้น
               2. หนี้ระยะปานกลาง ได้แก่ การเช่าทรัพย์สิน การซื้อผ่อนชำระ เป็นต้น
               3. หนี้สินระยะยาว ได้แก่ การกู้ยืมระยะยาว การออกจำหน่ายหุ้นกู้หรือพันธบัตร เป็นต้น

          ในการจัดหาเงินจากแหล่งหนี้สินนี้จะมี financial risk สูง แต่มี financial cost ต่ำ (มีความเสี่ยงทางการเงินสูงแต่มีต้นทุนทางการเงินต่ำ)

          2. แหล่งเจ้าของกิจการ ได้แก่ การออกจำหน่ายหุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ และกำไรสะสม ซึ่งการจัดหาเงินทุนจากแหล่งเจ้าของกิจการจะเสียต้นทุนทางการเงิน (financial cost) สูง แต่จะมีความเสี่ยงทางการเงิน (financial risk) ต่ำส่วนการพิจารณาสัดส่วนการจัดหาเงินทุนว่าควรจะจัดหาจากแหล่งต่าง ๆ ในสัดส่วนเท่าใด เพื่อให้การจัดหาเงินทุนเป็นไปอย่างเหมาะสม ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการชอบความเสี่ยง (risk preference) ของผู้บริหารทางการเงินแต่ละคนว่าชอบความเสี่ยงมากหรือน้อย

          ถ้าหากชอบความเสี่ยงมากโครงสร้างเงินทุนก็จะประกอบไปด้วยสัดส่วนของหนี้สินมากกว่าส่วนของเจ้าของ แต่ถ้าไม่ชอบความเสี่ยงโครงสร้างเงินทุนก็จะประกอบไปด้วยสัดส่วนของส่วนของเจ้าของมากกว่าหนี้สิน การตัดสินใจจัดหาเงินทุนจึงเป็นตัวกำหนดต้นทุนของเงินทุน (cost of capital) และความเสี่ยงทางการเงิน (financial risk) หรือความเสี่ยงที่อาจจะไม่สามารถชำระหนี้ได้เมื่อถึงกำหนดชำระ ซึ่งแหล่งเงินทุนแต่ละแหล่งจะมีคุณลักษณะแตกต่างกันดังนี้
               - แหล่งเงินทุนระยะสั้น โดยปกติจะเสียต้นทุนของการจัดหาเงินต่ำ เนื่องจากเจ้าหนี้รับภาระความเสี่ยงในระยะเวลาไม่นานนัก จึงสามารถรับอัตราผลตอบแทนที่ต่ำได้ แต่ความเสี่ยงภัยในการหาเงินจะสูง เนื่องจากผู้จัดหาเงินมีเวลาสั้นในการหาเงินมาชำระหนี้
               - แหล่งเงินทุนระยะยาว โดยปกติจะเสีย ต้นทุนของการจัดหาเงินสูง เนื่องจากมีระยะเวลานาน เจ้าหนี้จะรับภาระความเสี่ยงเพิ่มขึ้น จึงต้องเรียกร้องดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น เพื่อให้คุ้มกับความเสี่ยงที่เจ้าหนี้ได้รับ แต่ความเสี่ยงภัยในการหาเงินต่ำ เนื่องจากผู้จัดหาเงินมีเวลานานในการหาเงินมาชำระหนี้ในการเปรียบเทียบแหล่งของการจัดหาเงินทุนโดยละเอียดว่าแหล่งใดมีความเสี่ยงภัยสูงหรือต่ำกว่า และต้นทุนการจัดหาสูงหรือต่ำกว่า

          ก็อาจเปรียบเทียบจากการเรียงลำดับการจัดหาเงินทุนจากงบดุลทางด้านขวาหรือด้านหนี้สินและทุนซึ่งโดยปกติจะเรียงลำดับจากแหล่งเงินทุนที่มีระยะสั้นที่สุดไปหาแหล่งที่มีระยะยาวที่สุด หรือเรียงจากความเสี่ยงสูงที่สุดไปหาความเสี่ยงต่ำที่สุดดังนี้
 
          ผู้จัดการทางการเงินที่เลือกจัดหาเงินทุนจากแหล่งระยะสั้นในสัดส่วนที่มากกว่าจะเสียต้นทุนในการจัดหาเงินทุนที่ต่ำแต่มีความเสี่ยงภัยสูง ตรงข้ามกับผู้จัดการทางการเงินที่จัดหาเงินทุนจากแหล่งระยะยาวในสัดส่วนที่มากกว่าจะเสียต้นทุนในการจัดหาเงินทุนสูงแต่ความเสี่ยงภัยจะลดลง

การจัดสรรเงินทุน
          ผู้จัดการทางการเงินจะต้องตัดสินใจว่าควรจะนำเงินทุนที่ได้มาไปลงทุนสินทรัพย์อะไรบ้างและในสัดส่วนเท่าไร ซึ่งถ้าหากเป็นการลงทุนในเงินสดก็จะไม่ก่อให้เกิดรายได้ แต่จะก่อให้เกิดความคล่องตัวในการชำระหนี้ แต่ถ้าหากเป็นการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรก็จะก่อให้เกิดรายได้สูง แต่ความคล่องตัวหรือสภาพคล่องในการเปลี่ยนเป็นเงินสดเพื่อการชำระหนี้ต่ำสุดนั่นคือ เมื่อดูจากการจัดสรรเงินทุนในงบดุลทางด้านซ้าย จะเห็นว่าทรัพย์สินหมุนเวียนจะมีสภาพคล่องที่สูงแต่ให้ผลตอบแทนที่ต่ำ ส่วนทรัพย์สินถาวรจะมีสภาพคล่องที่ต่ำแต่จะให้ผลตอบแทนที่สูง (สภาพคล่อง หมายถึง ความสามารถในการเปลี่ยนสินทรัพย์ให้เป็นเงินสด เพื่อนำมาชำระหนี้ให้เร็วที่สุด)

ในการจัดสรรเงินทุนนั้นจะส่งผลกระทบต่อหลายอย่างดังนี้
               - ขนาดของธุรกิจ (size of firm)
               - สภาพคล่องของธุรกิจ (liquidity)
               - กำไรของกิจการ (return)
               - ขนาดของกำไร (size of profit)
               - ความเสี่ยงของธุรกิจ (business risk)

การตัดสินใจในนโยบายเงินปันผล
          นโยบายเงินปันผลมีความสัมพันธ์กับการจัดหาเงินทุนและการจัดสรรเงินทุน เพราะการจ่ายเงินปันผลคือการนำเอากำไรสุทธิที่สะสมอยู่ในรูปของกำไรสะสมมาจ่ายเป็นเงินปันผลให้แก่เจ้าของกิจการ และส่งผลให้ราคาตลาดของหุ้นสามัญสูงขึ้นด้วย ในทางตรงกันข้ามถ้ากิจการไม่มีการจ่ายเงินปันผล ราคาตลาดของหุ้นสามัญจะลดลง แต่กิจการก็สามารถที่จะนำเงินกำไรสะสมนั้นไปลงทุนต่อ (reinvestment) เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นในอนาคตได้ ซึ่งก็เป็นหน้าที่ในการจัดหาเงินทุนของผู้จัดการทางการเงินอีกทางหนึ่ง ซึ่งการที่กิจการจะประกาศจ่ายเงินปันผลหรือไม่และจะจ่ายในอัตราเท่าใดนั้น ก็จะต้องคำนึงถึงความต้องการใช้เงินทุนของกิจการในขณะนั้นหรือในอนาคตด้วย

ข้อควรจำ จากงบแสดงฐานะทางการเงิน (งบดุล) สรุปได้ว่า
          1. ด้านทรัพย์สิน (งบดุลด้านซ้ายมือ) แสดงให้เห็นถึงการจัดสรรเงินทุนของกิจการว่าได้ลงทุนไปในสินทรัพย์ใดบ้าง ในสัดส่วนเท่าไร
          2. ด้านหนี้สินและทุน (งบดุลด้านขวามือ) แสดงให้เห็นถึงการจัดหาเงินทุนของกิจการว่าได้จัดหาเงินทุนจากแหล่งใดบ้าง ในสัดส่วนเท่าไร

          ผู้จัดการทางการเงินที่มีความสามารถจะมีนโยบายในการจัดหาเงินทุน การจัดสรรเงินทุน ตลอดจนนโยบายเงินปันผลที่ดี ซึ่งจะส่งผลให้กิจการมีกำไรต่อหุ้นสูงสุด มีความเสี่ยงภัยน้อยที่สุด มีระยะเวลาของการเริ่มได้รับผลตอบแทนเร็วที่สุด และราคาตลาดของหุ้นสามัญของกิจการสูงที่สุด ซึ่งจะก่อให้เกิดความมั่งคั่งของผู้ถือหุ้นสูงที่สุด นั่นคือกิจการสามารถบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ
 
เป้าหมาย และหน้าที่ของการเงิน 

ลักษณะของการเงิน

          การเงิน (finance) คือ การบริหารงานเกี่ยวกับการหมุนเวียนของเงินผ่านองค์การ ไม่ว่าองค์การนั้นจะมีลักษณะเป็นบริษัท ธนาคาร หน่วยงานของรัฐหรือโรงเรียนก็ตาม หรือไม่ว่าองค์การนั้นจะเป็นรูปลักษณะใดก็ตาม องค์การต่าง ๆ เหล่านี้จะต้องมีการไหลของเงินผ่านองค์การ เพราะฉะนั้นการไหลเวียนของเงินจึงเป็นจุดสำคัญสำหรับองค์การต่าง ๆ

          การไหลเวียนของเงินมีหลายรูปแบบ เช่น ถ้านักศึกษามีรายได้จากพ่อแม่ให้เงินมาก็ถือเป็นรายรับ (เงินสดไหลเข้า) นักศึกษาก็นำเงินไปจัดสรรเป็นค่าเล่าเรียน ค่าที่พัก ค่าอาหารให้เกิดประโยชน์ หรือถ้าเป็นในรูปองค์การก็เริ่มตั้งแต่การจัดหาเงินทุนมาเพื่อใช้ในการลงทุน ซึ่งการจัดหาเงินก็หามาจากการกู้ยืมในรูปของเงินกู้ (loans) การออกพันธบัตร หุ้นกู้ หุ้นสามัญ เป็นต้น เมื่อได้เงินทุนมาแล้วก็นำมาลงทุนในกิจการ เช่น ลงทุนในเงินสด ลูกหนี้ สินค้า ที่ดิน โรงงาน เครื่องจักร เป็นต้น ดังนั้นจะเห็นว่าเงินทุนที่ไหลเข้ามาก็จะไหลหมุนเวียนอยู่ในกิจการในรูปต่าง ๆ กัน

          การเงินมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับการไหลหมุนเวียนอย่างแท้จริงของเงิน และการเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ ที่มีต่อเงิน การเงินจึงถือเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในการบริหารธุรกิจ และวิชาการเงินในปัจจุบันก็เป็นการให้คำอธิบายในรูปแบบของการวิเคราะห์ (analytical)

ความแตกต่างของความรู้ทางการเงินกับความรู้ในด้านต่าง ๆ มีดังนี้
          1. ความแตกต่างของการเงินกับการบัญชี การบัญชีเป็นเรื่องเกี่ยวกับการบันทึก การรายงาน และการวัดรายงานที่เกิดขึ้นทางธุรกิจ การบัญชีจึงช่วยจัดหาข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานขององค์การ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลที่ผ่านมาแล้วหรือข้อมูลที่เป็นการพยากรณ์การดำเนินงานในอนาคต ส่วนการเงินนั้นจะนำข้อมูลที่ระบบการบัญชีจัดหามาเพื่อนำมาใช้ในการตัดสินใจ เพื่อให้องค์การได้รับผลสำเร็จตามจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้
          2. ความแตกต่างของการเงินกับเศรษฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องเกี่ยวกับการวิเคราะห์การกระจายทรัพยากรในสังคม อุตสาหกรรม หรือเศรษฐกิจในระบบทั้งหมด ส่วนการเงินเป็นการศึกษาที่ไม่ต้องพึ่งพาทฤษฎีมากเหมือนอย่างเศรษฐศาสตร์ แต่เป็นเรื่องที่นำมาใช้สำหรับธุรกิจหรือกิจการเฉพาะแห่งใดแห่งหนึ่งเท่านั้น เพื่อให้ธุรกิจแห่งนั้นสามารถดำเนินงานไปได้โดยปราศจากอุปสรรคหรือปัญหาที่เกี่ยวกับการเงิน

การศึกษาวิชาทางการเงินอาศัยความชำนาญเฉพาะ โดยแยกเป็น 5 ด้าน คือ
          1. การคลังสาธารณะ รัฐบาลแต่ละประเทศมีภาระในการจัดการเรื่องทางการเงินซึ่งเป็นเงินจำนวนมาก โดยรับเข้ามาจากแหล่งต่าง ๆ กัน และต้องนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์อย่างเต็มที่ให้สอดคล้องกับวิธีการและนโยบายที่กำหนดไว้ นอกจากนี้รัฐบาลไม่ได้ดำเนินงานโดยมีจุดมุ่งหมายเดียวกับองค์การเอกชน แต่จะพยายามดำเนินการให้ประสบผลสำเร็จตามจุดมุ่งหมายของสังคม และเศรษฐกิจ ดังนั้นจึงต้องอาศัยความชำนาญเฉพาะเพื่อนำมาใช้เกี่ยวกับการเงินของรัฐบาล
          2. การวิเคราะห์หลักทรัพย์และการลงทุน ในการซื้อหุ้นทุน พันธบัตร และหลักทรัพย์อื่น ๆ จะต้องมีการวิเคราะห์โดยใช้เทคนิคต่าง ๆ ที่อาศัยความชำนาญอย่างสูง เพื่อช่วยให้ผู้ลงทุนลดความเสี่ยงและเพิ่มอัตราผลตอบแทนที่ได้จากการซื้อขายหลักทรัพย์ที่เลือกซื้อไว้
          3. การเงินระหว่างประเทศ ประเทศแต่ละประเทศต่างมีระบบเงินตราของตนเอง ดังนั้นเมื่อเงินไหลผ่านข้ามประเทศ บุคคล ธุรกิจ และรัฐบาลจะต้องมีความเกี่ยวพันกับปัญหาที่พิเศษมากยิ่งขึ้น
          4. การเงินในรูปสถาบัน โครงร่างทางเศรษฐกิจของประเทศประกอบด้วยสถาบันการเงิน เช่นธนาคาร บริษัทประกันภัย ฯลฯ ซึ่งสถาบันเหล่านี้จะรวบรวมเงินออมของบุคคลต่าง ๆ เป็นเงินออมขนาดใหญ่ เพื่อนำมาใช้ในการลงทุน สถาบันการเงินจะทำหน้าที่เกี่ยวกับเงินทุนและดำเนินงานเกี่ยวกับหน้าที่ในทางการเงินของเศรษฐกิจ
          5. การบริหารทางการเงิน ธุรกิจแต่ละแห่งจะต้องเผชิญกับปัญหาเกี่ยวกับการจัดหาเงินทุนเพื่อดำเนินกิจการของตน และกำหนดหลักวิธีการที่ดีที่สุดในการใช้เงินทุนนั้น ซึ่งธุรกิจต้องบริหารเงินทุนอย่างดี ที่สุดเพื่อให้บรรลุถึงจุดมุ่งหมายของตน จึงต้องมีการพัฒนาเครื่องมือและเทคนิคต่าง ๆ เพื่อนำมาใช้ในการช่วยผู้จัดการทางการเงินเกี่ยวกับการเลือกหาวิธีการที่ถูกต้องและเหมาะสม
หน้าที่ทางการเงิน

          หน้าที่ทางการเงินเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้จัดการฝ่ายการเงิน เป็นงานที่จะต้องทำเกี่ยวกับการบริหารทางการเงิน (financial management) โดยจะมีรายละเอียดแตกต่างกันไปในระหว่างองค์การต่าง ๆ

หน้าที่ของผู้จัดการฝ่ายการเงินที่สำคัญ ๆ มีดังนี้
          1. การวางแผนทางการเงิน เป็นหน้าที่ที่ท้าทายและน่าสนใจที่สุดของผู้จัดการฝ่ายการเงิน เนื่องจากผู้จัดการฝ่ายการเงินมักจะมีส่วนร่วมอยู่ในการกำหนดแนวทางการดำเนินงานระยะยาวของกิจการ ซึ่งผู้จัดการฝ่ายการเงินจะต้องทำการประมาณเงินสดไหลเข้าและไหลออกสำหรับอนาคต ซึ่งอาจจะมีเหตุการณ์ต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปตามที่คาดคิดไว้ ผู้จัดการฝ่ายการเงินต้องหาวิธีการแก้ไขหรือหลีกเลี่ยงเท่าที่จะสามารถทำได้
          2. การบริหารทรัพย์สิน ผู้จัดการฝ่ายการเงินต้องพยายามที่จะทำให้บริษัทมีสภาพคล่องสูงอยู่ตลอดเวลาเท่าที่จำเป็น และต้องพยายามที่จะให้ได้ประโยชน์มากที่สุดเท่าที่จะมากได้จากเงินทุนซึ่งลงทุนไปในสินทรัพย์ต่าง ๆ
          3. การจัดหาเงินทุน ถ้าการวางแผนเงินสดไหลออกมีมากกว่าเงินสดไหลเข้า และเงินสดคงเหลือมีไม่เพียงพอที่จะชดเชยได้ เป็นหน้าที่ของผู้จัดการฝ่ายการเงินที่จะต้องหาเงินจากแหล่งเงินทุนภายนอกกิจการ เพื่อนำมาใช้ในการดำเนินงานในกิจการ และในการจัดหาเงินทุนนั้นก็ต้องให้เหมาะสมกับความต้องการที่คาดหมายเอาไว้ล่วงหน้า
          4. หน้าที่พิเศษอื่น ๆ ผู้จัดการฝ่ายการเงินจะต้องทำหน้าที่เกี่ยวกับงานต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในกรณีพิเศษ เช่น งานในด้านเกี่ยวกับการประเมินมูลค่า การประเมินทรัพย์สิน หรือสิทธิเรียกร้องต่าง ๆ ที่มีต่อสินทรัพย์เหล่านี้ เป็นต้น

          Financing คือ การจัดหาเงินทุน โดยอาจจะจัดหาได้จากการก่อหนี้สิน เช่น การกู้ยืมหรือการนำส่วนของผู้เป็นเจ้าของมาลงทุน เช่น การออกหุ้นสามัญหรือนำกำไรสะสมมาลงทุน เมื่อได้เงินทุนมาแล้วก็นำไปลงทุนในทรัพย์สินต่าง ๆ เช่น
          - ทรัพย์สินหมุนเวียน (current assets) ได้แก่ ลูกหนี้ เงินสด สินค้า
          - ทรัพย์สินถาวร (fixed assets) ได้แก่ ที่ดิน เครื่องจักร อุปกรณ์ โรงงาน

          พิจารณาจากงบดุลเมื่อมีการ financing ทรัพย์สินทางด้านซ้ายมือของงบดุลซึ่งเป็นทรัพย์สินประเภทต่าง ๆ เพิ่มขึ้นมา และเมื่อพิจารณาด้านขวามือของงบดุลก็จะทำให้ทราบว่าเงินทุนนั้นได้มาอย่างไร เช่น ถ้าก่อหนี้สินก็มาจาก current liability กับ long term liability ถ้าจัดหามาจากส่วนของเจ้าของก็มาจากการออกหุ้นสามัญหรือมาจากกำไรสะสม ในการจัดหาเงินทุนจะต้องพิจารณาถึงโครงสร้างทางการเงิน (financial structure) คือ พิจารณาอัตราส่วนระหว่างหนี้สินกับส่วนของเจ้าของ (equity) ซึ่งอัตราส่วนนี้จะแสดงว่ามีหนี้สินกี่เปอร์เซ็นต์ มีส่วนของเจ้าของกี่เปอร์เซ็นต์ กิจการจะใช้อัตราส่วนนี้ประกอบในการพิจารณาจัดหาเงินทุน

          หลักทรัพย์ที่ถือว่าเป็น equity คือ หุ้นสามัญ ซึ่งมีลักษณะเป็นเจ้าของกิจการ กำไรสะสมได้มาจากกำไรจากการดำเนินงานที่ไม่ได้จ่ายเป็นเงินปันผล แต่กันไว้เพื่อใช้ในการ ลงทุนต่อ ซึ่งกำไรสะสมนี้ทำให้ผู้ถือหุ้นสามัญเสียประโยชน์ในการที่จะได้รับเงินปันผล ดังนั้นเมื่อมีการนำกำไร-สะสมนี้ไปลงทุนต่อจะต้องมีผลตอบแทนสูงพอที่จะทำให้ผู้ถือหุ้นเกิดความพอใจ เช่น ผู้ลงทุนต้องการผลตอบแทน 15% การนำกำไรสะสมไปลงทุนต่อต้องให้ได้ผลตอบแทนสูงกว่า 15% เพราะถ้าได้รับผลตอบแทนต่ำกว่านี้ผู้ลงทุนก็จะไม่พอใจ ซึ่งจะส่งผลให้ราคาหุ้นสามัญของบริษัทลดลงได้

          ในด้านของการจัดหาเงินทุนจากการก่อหนี้สิน โดยการกู้ยืมจากสถาบันการเงิน เช่น ธนาคารพาณิชย์ เป็นการกู้โดยทำสัญญาเงินกู้กับธนาคาร (loan) แต่ถ้าเป็นการกู้โดยการออกพันธบัตรจำหน่ายให้กับ ผู้ลงทุน ซึ่งจะมีขั้นตอนการจำหน่ายหลายขั้นตอนและมีผู้ลงทุนซื้อมากราย ผิดกับการกู้เงินซึ่งกู้จากสถาบันการเงินเพียงแห่งเดียว ดังนั้นเงินกู้จึงมีความยืดหยุ่นมากกว่าการออกจำหน่ายพันธบัตร เพราะถ้ามีปัญหาในการ ผิดนัดชำระหนี้ เมื่อถึงกำหนดการเจรจาต่อรองกับเจ้าหนี้หลายรายย่อมมีปัญหามากกว่าการเจรจาต่อรองกับเจ้าหนี้เพียงรายเดียว ปัญหาที่เกี่ยวกับความอยู่รอดระยะยาวของกิจการก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับเงินทุนระยะยาว เพราะว่าเงินทุนระยะยาวมีความไม่แน่นอนมากกว่าเงินทุนระยะสั้นซึ่งมีอายุไม่เกิน 1 ปี การคาดการณ์ต่าง ๆ ในช่วง 1 ปี สามารถทำได้ เพราะเป็นไปตามวัฏจักรของธุรกิจในช่วง 1 ปี เช่น การขายสินค้าในช่วงต้นปีซึ่งมีเทศกาลต่าง ๆ ช่วงนี้ก็จะมีเงินทุนหมุนเวียนมาก มีสินค้ามาก ดังนั้นสินทรัพย์หมุนเวียนก็มาก แต่พอช่วงเดือนเมษายน พฤษภาคม พวกสินทรัพย์หมุนเวียนก็จะลดลง ซึ่งก็เป็นไปตามวัฏจักร เป็นต้น

          ในการดำรงสินทรัพย์หมุนเวียน (current assets) ไว้ในกิจการนั้นจะต้องให้มีอยู่ตลอดไม่ว่า กิจการนั้นจะเปลี่ยนแปลงขึ้น ๆ ลง ๆ จำนวนสินทรัพย์หมุนเวียนก็จะต้องคงไว้เป็นจำนวนแน่นอน ซึ่งเรียกส่วนนี้ว่า permanent working capital คือ เงินทุนหมุนเวียน ส่วนที่ถาวรที่กิจการต้องดำรงไว้เพื่อการดำเนินการ ตามปกติ

          ส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร (fixed assets) ในช่วงปีแรก ๆ กิจการจะลงทุนในสินทรัพย์ถาวร เช่น โรงงาน เครื่องจักร อุปกรณ์ เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากถ้าไม่มีการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรเลย ก็แสดงว่ากิจการไม่มีความเจริญเติบโตการจัดหาเงินทุนกิจการก็จัดหามาเพื่อลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ ซึ่งในการจัดหาเงินทุนนั้นจะมีการเทียบอายุการครบกำหนด (maturity matching) เช่น สินทรัพย์ระยะสั้นก็จัดหามาจากการกู้ยืมระยะสั้น สินทรัพย์ระยะยาวก็จัดหามาจากหนี้สินระยะยาว เป็นต้น ซึ่งการจัดหาเงินทุนในลักษณะนี้ถือว่าเป็นการจัดหาเงินทุนที่มี conservative คือ มีความปลอดภัยไว้ก่อน

          ในปัจจุบันมีกิจการบางกิจการทำการกู้ยืมเงินระยะยาวมาลงทุนในทรัพย์สินระยะสั้นมากขึ้น ซึ่งลักษณะนี้ก็ถือว่าเป็น conservative แต่ถ้าเป็นกรณีที่กู้ยืมระยะสั้นแล้วนำมาลงทุนในทรัพย์สินระยะยาว การ ลงทุนจะมีปัญหาขึ้นมา คือ ภาระที่จะต้องจ่ายชำระหนี้สินที่จะต้องจ่ายในปีหน้า ซึ่งกิจการจะต้องจัดหาเงินมาชำระหนี้ แต่เนื่องจากกิจการนำหนี้ระยะสั้นนี้มาลงทุนในทรัพย์สินระยะยาวซึ่งให้ผลตอบแทนช้ามาก จึงทำให้เกิดปัญหาในการหาเงินมาชำระหนี้ไม่ทัน ดังนั้นในการลงทุนในทรัพย์สินระยะยาวที่ใช้เวลาในการที่จะได้รับผลตอบแทนนาน ก็ควรจะหาเงินจากหนี้สินระยะยาวมากกว่าหนี้สินระยะสั้น
จุุุดมุ่งหมายของการบริหารการเงิน

จุดมุ่งหมายขั้นต้นประการหนึ่งของการบริหาร คือ ความมั่งคั่งสูงสุดของกิจการ ได้แก่ การที่ราคาหุ้นสามัญของบริษัทมีราคาสูงสุด

เหตุผลที่ทำให้เห็นว่าราคาหุ้นสูงสุดเป็นจุดมุ่งหมายที่มีความสำคัญที่สุด คือ
          1. ความพยายามของผู้จัดการที่จะทำให้ผู้ถือหุ้นมีความมั่งคั่งขั้นสูงสุด กิจการส่วนมากจะพยายามที่จะจ่ายผลตอบแทนให้แก่ผู้บริหารตามผลการดำเนินงานซึ่งทำให้แก่กิจการ วิธีการเช่นนี้จะเป็นการช่วยกระตุ้นให้ฝ่ายบริหารเกิดความกระตือรือร้นทำงานจนเต็มความสามารถของตน ซึ่งจะมีผลทำให้ราคาหุ้นของกิจการสูงขึ้นได้
          2. ความรับผิดชอบต่อสังคม การคำนึงถึงความรับผิดชอบทางสังคมจะมีลักษณะการบังคับไปในตัวมากกว่าจะเป็นแบบสมัครใจ โดยเฉพาะในตอนระยะเริ่มแรกเพื่อจะให้มั่นใจได้ว่าภาระการกระทำทั่วไปเป็นรูปแบบเดียวกันทั้งหมดในระหว่างผู้ประกอบธุรกิจ จึงมีการกำหนดมาตรการต่าง ๆ ขึ้นและให้หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ดูแลให้ปฏิบัติตามมาตรการเหล่านี้ กิจการทั้งหลายจึงต้องพยายามทำให้ราคาหุ้นบริษัทของตนมีราคาสูงสุด โดยให้อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์เหล่านี้
          3. การบริหารการเงินสามารถช่วยให้หุ้นของกิจการมีราคาสูงสุด การที่จะทำให้ราคาหุ้นของ กิจการมีราคาสูงสุดได้นั้น จำเป็นต้องใช้ความพยายามร่วมกันของฝ่ายบริหาร เช่น การตลาด การผลิต บุคลากร การบัญชี และการเงิน โดยบทบาทของผู้จัดการฝ่ายการเงิน คือ การจัดหาเงินทุนมาลงทุนในโครงการต่าง ๆ กำหนดโครงการดำเนินงานขั้นพื้นฐานสำหรับปีถัดไป จัดหาระบบควบคุมซึ่งสามารถช่วยทำให้ฝ่ายบริหารหาทางแก้ไขได้ทันท่วงทีถ้าหากโครงการดำเนินไปอย่างไม่ถูกต้องและเหมาะสม ซึ่งโครงการต่าง ๆ นั้นควรจะถูกกำหนดขึ้น โดยคำนึงถึงราคาหุ้นขั้นสูงสุดด้วย

ราคาหุ้นของบริษัทขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้
          1. รายได้ต่อหุ้น
          2. ความเสี่ยง
          3. การจัดหาเงินทุนของกิจการ
          4. ระยะเวลาการไหลเข้าของรายได้
          5. นโยบายการจ่ายเงินปันผล

จุดมุ่งหมายของกิจการ
          เนื่องจากผู้ประกอบกิจการธุรกิจเป็นองค์การที่ตั้งขึ้นเพื่อแสวงหากำไร จุดมุ่งหมายของกิจการจึงมี 2 ประการคือ กำไรขั้นสูงสุดและความมั่งคั่งขั้นสูงสุด

          กำไรขั้นสูงสุด (profit maximization) หมายถึง กิจการต้องการขายสินค้าที่มีอยู่ให้ได้ราคาสูง และลดต้นทุนลงให้ต่ำสุด เป็นการกำหนดจุดมุ่งหมายให้ชัดเจนและสามารถเข้าใจได้ง่ายว่าเป็นจุดมุ่งหมายที่มีเหตุผลสำหรับธุรกิจ แต่โดยความเป็นจริงแล้วแนวความคิดนี้มีข้อบกพร่อง คือ
          1. คำว่า "กำไร" กำไรขั้นสูงสุดนั้นเป็นเพียงกำไรระยะสั้น ๆ เท่านั้น ไม่ได้เป็นกำไรระยะยาว เนื่องจากการที่จะขายสินค้าให้ราคาสูงนั้นก็จะต้องมีคู่แข่งขันเข้ามาในตลาดมากขึ้น การขายในราคาสูงนั้นกระทำได้เพียงระยะสั้น ๆ เท่านั้น เพราะเมื่อมีคู่แข่งเข้ามากำไรก็จะถูกแบ่งสรรไป
          2. เรื่องของระยะเวลา จำนวนเงินที่ได้รับในปัจจุบันมีมูลค่าสูงกว่าจำนวนที่จะได้รับในปีถัดไป ดังนั้นธุรกิจที่แสวงหากำไรต้องคำนึงถึงเรื่องระยะเวลาการไหลของเงินสดและกำไร
          3. ปัญหาอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ ธุรกิจไม่ได้ดำเนินการเพื่อมุ่งหวังแต่กำไรขั้นสูงสุดโดยไม่คำนึงถึงเรื่องอื่น ๆ เช่น ผู้ประกอบการบางรายเน้นถึงความสำคัญต่อการที่จะให้กิจการมียอดขายเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ และยอมรับกำไรขั้นต่ำเพียงเพื่อต้องการให้ปริมาณการขายมีเสถียรภาพที่ดีโดยที่ไม่ให้ตกต่ำลงมา เป็นต้น

          ความมั่งคั่งขั้นสูงสุด คือการทำให้กิจการในระยะยาวมีความมั่งคั่งสูงสุด ซึ่งคำว่ามั่งคั่ง หมายถึง มูลค่าสุทธิของกิจการในปัจจุบัน (firm value) หรือราคาตลาดปัจจุบันของกิจการ ดังนั้นจุดมุ่งหมายของความมั่งคั่งสูงสุดนี้จึงเชื่อมโยงกับกำไรระยะยาวของกิจการ

กิจการที่จะมีความมั่งคั่งสูงสุดจะต้องปฏิบัติ ดังนี้
          1. หลีกเลี่ยงระดับความเสี่ยงที่สูง
          2. การจ่ายเงินปันผล เงินปันผลที่จ่ายนั้นต้องให้เป็นไปตามความจำเป็นของบริษัทและผู้ถือหุ้น
          3. การแสวงหาความเจริญเติบโตของกิจการ เมื่อบริษัทสามารถเพิ่มปริมาณการขายและมีการพัฒนาตลาดใหม่ ๆ สำหรับสินค้าของบริษัทได้ดีและมีความมั่นคงมากขึ้น ก็จะเป็นการช่วยป้องกันไม่ให้บริษัทต้องสูญเสียตลาดสินค้าของบริษัทถ้าหากเกิดเหตุการณ์ที่ผิดปกติ เช่น สภาวการณ์ทางธุรกิจประสบกับภาวะตกต่ำ เป็นต้น
          4. รักษาราคาหุ้นของกิจการในตลาดให้มีความมั่นคง

          ความมั่งคั่งขั้นสูงสุดของกิจการมีผลดีกว่ากำไรขั้นสูงสุด เพราะเป็นการพิจารณาถึงความอยู่รอดของกิจการในระยะยาว จึงจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกัน เช่น ความเจริญเติบโต ความมั่นคง การหลีกเลี่ยงความเสี่ยง และราคาหุ้นของกิจการในอนาคต 


นุชนาฏ
http://www.sheetram.com/mb301.asp
 
หมายเลขบันทึก: 454375เขียนเมื่อ 17 สิงหาคม 2011 11:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 01:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท