บันทึกธรรม (2-113)


คำถามที่ถามตัวเองและอาจมีอีกหลายคนสงสัย (เหมือนผู้เขียน) คือ ปฏิบัติธรรมแล้วได้อะไร? และจริงหรือที่ปฏิบัติธรรมแล้วจะพ้นทุกข์ได้?

 

 

        ผู้เขียนมีโอกาสได้ไปปฏิบัติธรรม ณ ศูนย์ปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษาราชนครินทร์ อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี  ระหว่าง 9-13 สิงหาคม 2554 ในโครงการอบรมวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งสนับสนุนโดยนิตยสารซีเคร็ต โดยมีพระอาจารย์มานพ อุปสโม เป็นพระอาจารย์กรรมฐาน ร่วมกับวิทยากร และอาสาสมัครจากยุวพุทธิกสมาคม ฯ อีกส่วนหนึ่ง มีผู้เข้าร่วมปฏิบัติธรรม 120 คน
 
          ความตั้งใจส่วนตัวคือ อยากปฏิบัติธรรมทุกปี โดยเฉพาะในช่วงวันแม่เพื่อระลึกถึง “แม่” ที่ล่วงลับแล้วไปเมื่อปี 2548 ด้วยยามที่ท่านมีชีวิตอยู่เคยชักชวนให้ไป ”วัด” และ “ปฏิบัติธรรม” ทุกครั้งที่ท่านชวนผู้เขียนจะพยายามหาข้ออ้างต่างๆ เพราะไม่อยากไปปฏิบัติธรรม คิดแบบคนไม่มีปัญญา(ที่ถูกตรงตามธรรม) ว่าทำไมต้องไปนั่งทรมานร่างกายที่วัดด้วย อยู่ที่บ้านก็ปฏิบัติได้ ทั้งทำบุญ ใส่บาตร สวดมนต์ ฟังธรรม(จากเทปหรือซีดี)  แต่ก็ไม่ห้ามและสนับสนุนท่านทุกครั้ง เพราะเห็นว่าเมื่อกลับมาจากการไปปฏิบัติธรรม ท่านดูมีความอิ่มเอิบปิติ หน้าตาผ่องใส สุขกายสุขใจ ดังนั้นเมื่อแม่จากไปแล้ว คิดถึงแม่ครั้งใดก็อยากทำในสิ่งที่ท่านชอบและสั่งสอน นั่นคือหาโอกาสไปปฏิบัติธรรม
         ปี 2552 เป็นปีที่ผู้เขียนได้ไปปฏิบัติธรรมที่ยุวพุทธิกสมาคม ฯ ในหลักสูตรของคุณแม่สิริ กรินชัย เป็นหลักสูตรเข้มข้น 8 วัน 7 คืน (เคยเขียนบันทึำกไว้ ที่นี่ ) มีวัตรปฏิบัติที่เคร่งครัด เป็นระบบระเบียบมาก ซึ่งได้เปลี่ยนความคิดและมุมมองของผู้เขียนไปอย่างสิ้นเชิงกับคำว่า “ปฏิบัติธรรม”  ดังนั้นการปฏิบัติธรรมครั้งนี้จึงถือได้ว่า “สบายๆ ” เพราะพระอาจารย์มานพ อุปสโม ท่านเน้นการเดินจงกรมและการนั่งสมาธิ โดยให้ใช้เวลาในการเดินจงกรมมากกว่า เนื่องจากการเดินจงกรมทำให้เกิดสติสัมปชัญญะได้ง่ายและนานกว่าการนั่งสมาธิ

 

 

          สำหรับตารางและกิจกรรมต่าง ๆ นั้น ผู้เขียนมั่นใจว่าคงหารายละเอียดได้ไม่ยากหากสนใจ ดังนั้นจึงขออนุญาตรวบลัดเข้าสู่ “สิ่งที่ได้จากการปฏิบัติ” ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะตน ปฏิบัติเองจึงจะรู้เองเห็นเอง เมื่อเขียนบันทึกไว้ตั้งแต่วันที่กลับถึงบ้าน พิจารณาแล้วคิดว่าไม่น่าจะเป็นประโยชน์อะไรกับใคร นอกจากเป็นประโยชน์กับตัวเอง แต่ไหนๆ ก็เขียนแล้วจึงนำเสนอบันทึกนี้ โดยหวังว่าอาจจะเกิดประโยชน์บ้างสำหรับกัลยาณมิตรท่านอื่นๆ ผู้เขียนก็ยินดีอย่างยิ่งค่ะ


 

 

          คำถามที่ถามตัวเองและอาจมีอีกหลายคนสงสัย (เหมือนผู้เขียน) คือ ปฏิบัติธรรมแล้วได้อะไร? และจริงหรือที่ปฏิบัติธรรมแล้วจะพ้นทุกข์ได้? (ดังที่พระอาจารย์และหนังสือหลายเล่มได้กล่าวไว้)
         คำตอบที่ได้จากการไปปฏิบัติธรรมทั้งในปี 2552 และปี 2554 และนำมาปฏิบัติจนเห็นผลกับตัวเองคือ การปฏิบัติธรรมทำให้ตัวเองรู้สึก “ทุกข์น้อยลง” ได้จริง (อาจยังไม่ถึงขั้นพ้นทุกข์) และผู้เขียนยังได้อุปนิสัยบางอย่างติดตัวมาด้วย
 

สรุปสิ่งที่ได้จากการปฏิบัติธรรม


           1.มีสติสัมปชัญญะที่สมบูรณ์ขึ้น การไปปฏิบัติธรรมที่นี่จะมีข้อปฏิบัติให้ ปิดวาจา งดเครื่องมือสื่อสารทุกชนิด ถือศีลแปด ทำให้ได้อยู่กับตัวเองอย่างเต็มที่ แน่ล่ะว่าความเคยชินและกิจกรรมทั้งหลาย ทั้งการฟังเพลง ชมข่าว ดูละคร การเข้าเว็บต่างๆ ในโลกออนไลน์ที่ทำทุกวัน วันละหลายรอบต้องงดไป ผู้เขียนพบว่าการปิดวาจา ทำให้เรามีสติมากขึ้นจริง แต่ความคิดความรู้สึกต่าง ๆ กลับวิ่งวุ่นโกลาหล ส่งเสียงดังจนน่าตกใจ เพราะเมื่องดการพูดแต่ตายังเห็น ยังรับสิ่งเร้าที่เข้ามาย่อมทำให้เราคิดและปรุงแต่งไปตามอารมณ์ หากเราตามดูตามรู้การคิดการปรุงแต่งของใจไม่ทัน เราจะยิ่งฟุ้งกระจายไปไกล
เอ๊ะ ทำไมคนนี้เขาไม่นั่งลงเสียทีนะ ทำไมคนนี้ชอบเดินจงกรมตัดหน้าให้คนอื่นนะ เมื่อยจังเลย ทำไมต้องให้เดินๆ ทั้งวันเลย  ทำไม ๆ ๆ ๆ ... เห็นชัดว่าเราเป็นคนช่างติ ขี้หงุดหงิด ขุ่นมัว และคอยสอดส่ายไปนอกตัวนอกใจตลอดเวลา (เคยหลงผิดคิดว่าตัวเองเป็นคนคิดบวก ใจเย็น และมีสมาธิดี)


       นั่นคือผู้เขียนได้อยู่กับตัวเอง ได้เห็นความคิด ความรู้สึกของตนเอง และเมื่อได้เห็น/ตระหนักรู้ ก็ทำให้รู้จักตัวเองมากขึ้น ดังที่พระอาจารย์กล่าวว่า การรู้/เห็น/ตระหนักในอารมณ์ความคิดความรู้สึกทั้งสุขทุกข์ ชอบไม่ชอบ รัก เกลียด โกรธที่เกิดขึ้นกับเรา จะเห็นความเป็นไตรลักษณ์ นั่นคือ ทุกสิ่งเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ไม่มีอะไรคงทนตลอดไป เมื่อเห็น/รู้บ่อยๆ จิตจะเบื่อหน่าย คลายจาง และลดละสละอารมณ์ความรู้สึกทุกชนิดนั้นในที่สุด


 

 

          2. ได้ฝึกความอดทนอดกลั้นต่อสัตว์ร่วมโลก ผู้เขียนได้พักในกุฏิที่ 14 ด้านล่าง เป็นห้องโล่งที่มีเบาะปูบนพื้นโดยไม่มีเตียง ห้องนี้อยู่ติดกับชายป่า มีต้นไม้ค่อนข้างหนารก คืนแรกพบคางคกตัวเล็กๆ กระโดดอยู่ที่หัวนอน ต้องโกลาหลไปหาเครื่องมือจัดการนำเขาออกไปจากห้อง คืนต่อมาก็มีเพื่อนร่วมห้องเป็นสัตว์ต่างๆ ทั้งมดตะนอย มดดำ มดแดง แมงมุม และตัวบุ้ง (เพื่อนร่วมห้องโดนกัด) แต่ก็พบว่าใจไม่ได้โกรธหรือคิดจะทำร้ายเขาเลย (ซึ่งหากอยู่ที่บ้าน เราอาจใช้วิธีการจัดการกับสัตว์เหล่านี้อีกแบบหนึ่งตามความเคยชิน) ซึ่งคงเป็นผลมาจากการรับศีลแปดมาแล้วนั่นเอง และเมื่อเวลาผ่านไป ก็พบว่าการที่เขากัดเราไม่ได้เกิดความเจ็บปวดจนเป็นอุปสรรคต่อการนอนหลับพัก ผ่อนใดๆ ของตัวเองเลย  นอกจากทำให้มีข้ออ้างเพิ่มขึ้น ตอนนั่งสัปหงกเมื่อนั่งสมาธิ (ฮาๆๆ)

            3.ได้เรียนรู้การฝึกฝืนจิตใจ การให้อภัยต่อการกระทำที่ไม่พึงใจของคนรอบข้าง  เนื่องจากการปฏิบัติธรรมนี้เป็นการอยู่ร่วมกันของคนจำนวนกว่าร้อยคนที่มากิน นอน มีกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งมาจากต่างพื้นฐานการอบรมกัน หลายครั้งที่รู้สึกอึดอัดและไม่ชอบการกระทำของคนอื่น (และคิดว่าหลายคราที่ตัวเองก็คงไปรบกวนล่วงเกินคนอื่นอย่างไม่รู้ตัวเช่น กัน) ผู้เขียนพบว่าเมื่อเราให้อภัยและน้อมใจลง เราจะ “เบาใจ” เพราะไม่ถือสาหาความ รวมทั้งรู้จักระมัดระวังการกระทำของตนไม่ให้ไปรบกวนล่วงเกินคนรอบข้างมาก ขึ้นด้วย
 
         4.เห็นและตระหนักว่า ทุกคนควรได้มีโอกาสไปปฏิบัติธรรม เพราะเป็นประสบการณ์ที่รู้เห็นได้ด้วยตนเอง (เป็นปัจจัตตัง) ต้องทำเองปฏิบัติเองจึงจะรู้และเห็นเอง ต่อให้อ่านหนังสือหรือฟังคำบอกเล่าเท่าไร ก็ไม่เหมือนการได้ปฏิบัติเอง และเมื่อยังมีสุขภาพดีมีอัตภาพที่เหมาะแก่การไปกระทำความเพียร ก็ควรรีบไปก่อนที่จะมีปัญหาด้านสุขภาพจนเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติ ข้อนี้ผู้เขียนเห็นได้จากการเห็น  ผู้ปฏิบัติธรรมอาวุโสหลายท่านที่แม้เพิ่งผ่าตัดหัวเข่า ก็ยังมาเดินจงกรมโดยใช้เครื่องช่วยเดิน (Walker) แล้วคนที่มีสุขภาพดีทำไมจึงไม่คิดมากระทำความเพียรนี้ (หนอ)

 

      

       5.ปัญหาที่ผู้เขียนพบในการปฏิบัติธรรม ก็คือ “อาการฟุ้ง” และ “ติดความเพลิดเพลิน” พบว่าแม้ขณะเดินอย่างจดจ่อต่ออิริยาบถย่อยๆ ก็ยังสามารถคิดถึงคนนี้คนนั้น เรื่องนี้เรื่องนั้นได้ การติดอกติดใจและเพลิดเพลินกับทัศนียภาพของภูเขา ต้นไม้ ท้องฟ้ากระจ่างที่เห็นได้ชัดเจนในบริเวณที่เดินจงกรม จนต้องไปเดินจงกรมบริเวณนั้นทุกครั้ง (หลายครั้งก็ขัดใจเพราะมีคนอื่นไปเดินบริเวณที่เราชอบนั้นแล้ว) พระอาจารย์ได้เมตตาให้วิธีแก้ไขที่ทำให้ผู้เขียนรู้สึกผิดน้อยลงคือ เมื่อรู้ตัวครั้งใดว่าฟุ้ง ว่ากำลังหลง กำลังติดสุข กำลังไม่พึงใจ ทุกความรู้ตัว ล้วนเป็น “กุศล” ทั้งสิ้น และคำว่ากุศลนี้ท่านได้ให้ความหมายว่าคือ “ความฉลาด” ดังนั้น ทุกครั้งที่ “รู้ตัว” ก็คือเรา “ฉลาด” ขึ้นทุกครั้ง

            6.ในการปฏิบัติธรรมครั้งนี้ ผู้เขียนได้ชักชวนพี่สาวคนที่สาม ซึ่งในวัยเด็ก พี่สาวท่านนี้เคยเป็นผู้อุ้มชูดูแลผู้เขียน ถือว่าท่านมีบุญคุณเหมือนแม่คนหนึ่ง พี่สาวคนที่สามนี้เป็นผู้เสียสละให้พี่สาวสองคนโตได้ออกไปทำงานนอกบ้านเพื่อ หารายได้มาจุนเจือครอบครัว ด้วยการอยู่บ้านช่วยแม่ทำงานบ้าน เลี้ยงดูน้องๆอีกหลายคน และแม้ในปัจจุบันก็เป็นผู้ที่ดูแลช่วยเหลือในกิจการงานทุกอย่างของพี่ๆ น้องๆ เสมอ ผู้เขียนจึงมีความอิ่มใจเป็นพิเศษที่ได้ชักนำให้ท่านได้มาปฏิบัติธรรมด้วย กัน เพราะการตอบแทนผู้มีพระคุณที่ดีที่สุดก็คือการชักนำให้ท่านได้พบกับธรรมะของ พระพุทธองค์นี่เอง

 

 

           สรุปปิดท้ายบันทึกนี้ด้วย คำสั่งสอนของพระอาจารย์มานพ อุปสโม ที่ได้กล่าวว่า การปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องของคนทุกเพศทุกวัย เพราะการปฏิบัติธรรม คือการเรียนรู้ตัวเอง ทำให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น และสามารถบริหารจัดการตัวเองได้ดีขึ้น  หัวใจหลักของการปฏิบัติธรรมก็คือ การใช้สติสัมปชัญญะตามดูใจให้ทันท่วงที (สังเกตว่าท่านใช้คำว่า “ใจ” แทนคำว่า “จิต”)  ท่านจึงเน้นหนักให้ผู้ปฏิบัติธรรม “เดินจงกรม” ถือเป็นอุบายในการ การเจริญสติ นั่นเอง ซึ่งเมื่อมีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์ รู้ตัวทั่วพร้อม ก็ย่อมจะส่งผลต่อการคิด การพูด และการกระทำกิจวัตรต่างๆ ในชีวิตประจำวันที่ดี ไม่เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่นนั่นเอง


           ผู้เขียนใคร่จะเชิญชวนให้กัลยาณมิตรทุกท่านหาโอกาสไปปฏิบัติธรรม ซึ่งแต่ละท่านย่อมมีจริตและความชอบที่แตกต่างกัน อย่ายึดติดกับตัวบุคคลหรือความมีชื่อเสียงเท่านั้น แต่ให้พิจารณาคำสอนและวัตรปฏิบัติที่เหมาะสมกับเรา ให้มีความสัปปายะ คือเป็นสถานที่อันเหมาะสมกับการปฏิบัติธรรมเพื่อเจริญสติเป็นหลัก


           ของอร่อยรสชาติดีเพียงใด ย่อมไม่เท่ากับการได้ลิ้มรสเอง การปฏิบัติธรรมก็เช่นเดียวกัน ต้องปฏิบัติเอง จึงจะรู้และเห็นเอง ผู้เขียนมั่นใจว่าหลายท่านล้วนแต่มีประสบการณ์ในการปฏิบัติธรรมมากกว่าผู้ เขียนแน่นอน หากผิดพลาดไปขอกราบอภัยในความไม่รู้และอ่อนด้อยทางปัญญา และจะยิ่งกราบขอบคุณยิ่งขึ้นหากช่วยชี้แนะเติมเต็มบันทึกนี้ค่ะ
 
ขอให้กัลยาณมิตรทุกท่านเจริญในธรรมค่ะ

หมายเหตุไว้คือ: ขอบคุณนิตยสารซีเคร็ตและธรรมบริกรทุกท่านที่ได้ใส่ใจดูแลอย่างดีค่ะ


หมายเลขบันทึก: 454376เขียนเมื่อ 17 สิงหาคม 2011 11:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2012 18:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (24)

สวัสดีค่ะ คนไม่มีราก

แวะมาทักทายและฝึกสมาธิด้วยคนค่ะ

ปกติก็ได้แต่นั่งสมาธิที่บ้านค่ะ

แต่ไม่ได้ไปฝึกปฏิบัติธรรมเลยสักครั้ง

ในช่วงกินเจนี้ก็ถือศีลได้อีกจะทำอีกสัก ๑๐ วันค่ะ

สวัสดีค่ะอ.Ico48 Bonnie

ดีใจที่ได้ทักทายกันค่ะ

ความจริงปฏิบัติธรรมนั้น ทำได้ทุกทีทุกเวลาแม้ในการดำเนินชีวิตปกติ แต่การไปในสถานที่อันสัปปายะ ช่วยทำให้การดูกายดูใจง่ายขึ้นค่ะ

อนุโมทนากับบุญที่ได้กินเจและนั่งสมาธิที่บ้านค่ะ

มีโอกาสได้เป็นมิตรกับ พี่ชาย อีกคน

รับราชการ ตำรวจ

ทานเจ และปฏิบัติภารกิจในแต่ละวันน่าชื่นชมมาก

เหมือนกับเป็นมิตรพันธุ์แท้กับคนไม่มมีราก นี่แหละ

บุญรักษา นะคะ

  • สวัสดีค่ะ คุณคนไม่มีราก
  • ชื่นชมและอนุโมทนาบุญด้วยค่ะ
  • "สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบเป็นไม่มี"

อนุโมทนากับการปฏิบัติด้วยนะคะ

สาธุ อนุโมทนาบุญด้วยคุณน้อง

พี่, ภรรยา และลูกทุกคนไปเข้าปฏิบัติเมื่ออาทิตย์ที่แล้วด้วยเหมือนกัน ไปกันทั้งครอบครัว

พ่อแม่ลูก  ท่านพระอาจารย์บอกถึงแม้ในเมืองไทยก็หายาก  ที่จะมาพร้อมๆกันอย่างนี้ทั้งครอบครัว

ลุกสาวและภรรยาบอกว่าจะไปอีกวันเสาร์ถ้าว่าง เข้าทำวัตร์เช้าตีห้าครึ่ง กลับบ้านหลังจากทำวัตร์เย็น  ดูพวกเธอมีศรัทธามากกว่าผู้เป็นพ่อเสียอีก  เพราะจะเข้าวันศุกร์เย็นมันไม่ค่อยสะดวก  ต้องเตรียมของไปนอนค้าง

ลูกสาวคนเล็กบอกว่าดี เป็นการรวมพบหน้ากันทั้งครอบครัว สองคืนสามวัน  ถึงแม้จะไม่ค่อยได้พูดจากัน  เธอบอกว่าเป็น Taste of Retreat  เพราะเคยไปปฏิบัติยากๆมาแล้วเป็นอาทิตย์ พอมาเจอง่ายๆสองสามวัน  เลยยิ้มได้

ทุกคนมีความสุข 

ธรรมรักษาครับ

 

ขออนุโมทนากับบุญที่ได้ทำด้วยนะคะ

ใครที่ปฏิบัติได้และมีความสุขกับการปฏิบัติรวมทั้งตั้งใจจะไปปฏิบัติหากมีเวลาและ

โอกาสเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมและน่าทำตามค่ะ...

ขออนุโมทนา ขอให้เจริญในธรรมยิ่งๆขึ้นไปค่ะ

เรื่องแบบนี้ รู้ได้เฉพาะตน จริงๆ

สิ่งที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้นั้น ไม่มีผิดเพี้ยนเลย

สวัสดีค่ะพี่ Ico48 ผู้อำนวยการ วาสนา คชไกร

มีความสุขที่ได้เห็นและทักทายพี่ค่ะ

อนุโมทนาบุญด้วยกันค่ะ

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะอ.Ico48 ธรรมทิพย์

อนุโมทนาบุญด้วยกันนะคะ
ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะคุณIco48 ณัฐรดา

อนุโมทนาบุญค่ะ

ขอบคุณค่ะ

อนุโมทนาบุญกับครอบครัวพี่ Ico48 คนบ้านไกล ค่ะ

ช่างเป็นครอบครัวที่น่ารักและแน่ใจได้ว่าต้องมีความสุขสงบแน่ ๆ

การไปปฏิบัติธรรมครั้งนี้ของน้อง(อย่างเป็นเรื่องเป็นราว) นับเป็นครั้งที่ 3 ครั้งแรกไปที่วัดโสมนัส ฯ พระอาจารย์เข้มงวดมาก แต่ตอนนั้นเป็นครั้งแรกและยังไม่มีฉันทะพอ จึงไม่รู้สึกว่าตัวเองเปลี่ยน จนครั้งที่ 2 ได้ไปที่ยุวพุทธิกสมาคม ฯ เมื่อปี 2552 เข้มข้นและเข้มงวดมาก ได้พื้นฐานดี ๆ มา ครั้งนี้ จึงผ่อนคลายและไม่ต้องปรับตัวอะไรมากค่ะ

แปลกใจที่พี่เล่าว่าไปปฏิบัติธรรมทั้งครอบครัว พระอาจารย์มานพ อุปสโมท่านก็กล่าวถึงการจะมีโครงการให้ทั้งครอบครัวมาปฏิบัติเช่นกันค่ะ จัดบ้านพักให้เป็นหลังเดียวกัน แต่แยกกลุ่มปฏิบัติ ทำนองนี้ล่ะค่ะ

ขอให้ครอบครัวของพี่เจริญในธรรมค่ะ

สวัสดีค่ะอ.Ico48 โสภณ เปียสนิท

เป็นภาพที่อบอุ่นมากค่ะ

ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณพี่กีร์ Ico48 krugui Chutima

ช่วงนี้มีเวลาอีกพักหนึ่งก่อนจะต้องกลับไปทำงาน ซึ่งคงหาโอกาสที่จะลายาว ๆ แบบนี้ได้ยากค่ะ

อนุโมทนาบุญด้วยกันนะคะ

ยินดีที่ได้รู้จักค่ะุคุณ Ico48 Nopparat Pongsuk

ขอบคุณมากสำหรับข้อคิดเห็นค่ะ และจริงที่สุดค่ะ ต้องปฏิบัติเองจึงจะรู้/เห็นได้เอง

อนุโมทนาบุญค่ะ

....สาธุๆ..เจ้าค่ะ..แด่ท่านผู้ปฏิบัติธรรม..และเห็นซึ่ง..ความเที่ยงและไม่เที่ยงทั้งหลาย.....(สุข สงบเยือกเย็น..นะเจ้าคะ..คุณคนไม่มีราก...คิดถึงเสมอ..ยายธีเจ้าค่ะ)

สวัสดีค่ะพี่หญิงปิง

มิน่าล่ะคะ หายเงียบไปนานมากๆ มาส่งความคิดถึงและอนุโมทนาสาธุบุญเจ้า

.. หมอกหยอกเอินขุนเขา บรรยากาศสงบ ร่มรืน ได้ใจมากๆ ขอบคุณค่ะ ...

สวัสดีค่ะคุณIco48 ยายธี

สบายดีนะคะ

รักษาสุขภาพมาก ๆ นะคะ ระลึกถึงเสมอค่ะ :)

สวัสดีค่ะน้อง LA Ico48 Poo

พี่มีภารกิจอย่างอื่นอีกด้วย จึงห่างหายไปค่ะ

อนุโมทนาบุญด้วยกันค่ะ

  • สวัสดีค่ะ..
  • ทุกส่วนประกอบกัน..นำพาซึ่งความสุขสงบ อนุโมทนาด้วยนะคะ สาธุ

สวัสดีค่ะพี่ติ๋ม

อนุโมทนาบุญค่ะ

ขอบคุณค่ะ ^_^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท