chacha2907
ฝ่ายอำนวยการ สพจ.ปทุมธานี CDD Pathum thani

แผนชุมชนภารกิจที่พัฒนาชุมชนยังห่วงใย


แผนชุมชน, แผนพัฒนาชุมชน,แผนพัฒนาหมู่บ้าน

ในห้วงเดือน กุมภาพันธ์ 2554  ข้าพเจ้าได้รับเกียรติ จาก อบต.เชียงรากใหญ่ อำเภอสามโคก ในการเข้า ร่วมประชุม เพื่อประชาคมการจัดทำแผนพัฒนาตำบล 3 ปี ของ อบต. ซึ่งทาง อบต. ได้เชิญส่วนราชการในระดับอำเภอเข้าร่วมประชุมด้วย  เพื่อช่วยเพิ่มเติมในรายละเอียดของกิจกรรม แผนงานโครงการในแผนของ อบต. ซึ่งประชาคม เป็นรายหมู่บ้าน

                ข้าพเจ้า อดที่จะคิดถึง และห่วงใยในแผนพัฒนาหมู่บ้าน  ซึ่งโดยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ เห็นชอบให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาชนบทร่วมเป็นภาคี และให้การสนับสนุนการขับเคลื่อน “ระเบียบวาระแห่งชุมชน”  ซึ่งหมายถึง การจัดลำดับความสำคัญของชุมชน/หมู่บ้าน ในการสร้างชุมชน/หมู่บ้าน  ให้มีความเข้มแข็ง ด้วยกระบวนการแผนชุมชน   ตาม พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๕๑ กำหนดอำนาจหน้าที่ของกำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน  ในการบริหารงาน “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข”   ให้กับราษฎรในหมู่บ้าน และ  ยังได้กำหนดให้มี คณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.)  มีบทบาท  อำนาจ หน้าที่  ตามมาตรา ๒๘ ตรี  คือ ให้มีหน้าที่ช่วยเหลือ แนะนำให้คำปรึกษาหารือแก่ผู้ใหญ่บ้านตามกฎหมาย หรือระเบียบแบบแผนของทางราชการ  หรือที่นายอำเภอมอบหมาย  หรือที่ผู้ใหญ่บ้านร้องขอ  เป็นองค์กรหลักที่รับผิดชอบในการบูรณาการจัดทำแผนพัฒนาหมู่บ้าน และบริหารจัดการกิจกรรมที่ดำเนินงานในหมู่บ้านร่วมกับองค์กรอื่นทุกภาคส่วน โดยมีกรมการปกครอง ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักของกระทรวงมหาดไทยรับผิดชอบ  ประกอบกับ มาตรา ๖๑/๑ แห่งระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔  แก้ไขเพิ่มเติม โดยพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน  (ฉบับที่ ๗)  พ.ศ. ๒๕๕๐   ให้อำเภอมีอำนาจหน้าที่ภายในเขตอำเภอ ตาม (๓)  ประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อร่วมกับชุมชนในการดำเนินการให้มีแผนชุมชน  เพื่อรองรับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จังหวัด  และ กระทรวง  ทบวง  กรม   ดังนั้น  เพื่อให้หมู่บ้าน/ชุมชน มีความเข้มแข็ง เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน  คณะกรรมการหมู่บ้าน (กม. ) ซึ่งเป็นองค์กรพื้นฐานระดับหมู่บ้านที่ใกล้ชิดกับประชาชน  จึงมีบทบาท หน้าที่สำคัญในการจัดทำแผนหมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อสะท้อนปัญหาและความต้องการของหมู่บ้าน เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา ภายใต้หลักการพึ่งพาตนเอง ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง  หากเกินความสามารถของหมู่บ้าน ก็ทำหน้าที่ประสานและบูรณาการทำงานร่วมกับองค์กรภาคีต่าง ๆ  ในพื้นที่ เพื่อเสนอต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ในการขอรับการสนับสนุนงบประมาณแต่ทำอย่างไรให้คณะกรรมการหมู่บ้านได้เห็นความสำคัญของการจัดทำแผนพัฒนาหมู่บ้านของตนเองซึ่งจะต้องบริหารราชการในส่วนภูมิภาคให้เกิดประสิทธิภาพ

               เพราะฉะนั้น การสร้างความเข้มแข็งให้เกิดกับหมู่บ้าน   โดยใช้ แผนพัฒนาหมู่บ้าน  จึงมีความสำคัญกับหมู่บ้าน/ชุมชน เนื่องจาก แผนพัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชน  จะเป็นแนวทาง/ทิศทางการพัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชน  ว่าจะพัฒนา

ไปเป็นทางไหน  โดยเน้นการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ตามวิถีแบบประชาธิปไตย  ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาไทย พ.ศ. ๒๕๕๐  ได้สนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชน  บัญญัติให้รัฐต้องดำเนินการส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมทั้งในระดับชาติ และระดับท้องถิ่น  ประกอบกับ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๐ ยังคงให้ความสำคัญกับกระบวนการประชาคมที่จะมุ่งให้เกิดการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน  โดยมีเป้าหมายการพัฒนาชุมชนและแก้ไขปัญหาความยากจน    ในส่วนของ กรมการพัฒนาชุมชน มีหน้าที่ในการสนับสนุนระบบสารสนเทศ ในการนำไปใช้ในการจัดทำแผนพัฒนาหมู่บ้าน  และการให้การรับรองมาตรฐานแผนของหมู่บ้าน  เพื่อให้แผนชุมชน/หมู่บ้าน  มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ และเอกชนและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น  บทบาทหน้าที่และความชัดเจนในการทำงานเด่นชัดว่าผู้ที่มีหน้าที่ในการจัดทำแผนพัฒนาหมู่บ้าน นั้น คือ บทบาทของ คณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) ความเข้มแข็งของหมู่บ้าน/ชุมชน มีไม่เท่ากัน ศักยภาพในการที่จะเข้ามาเพื่อเป็นแกนนำในการพัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชน กับความรับผิดชอบในบทบาทหน้าที่ยังมีน้อย   ข้าพเจ้าจึงมองว่าแผนพัฒนาหมู่บ้าน    ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชนมีบทบาทสำคัญในการรับรองมาตรฐาน และยังเป็นตัวชี้วัดของ กรมการพัฒนาชุมชน ด้วย  ยังน่าห่วงใยถ้าหากให้เขาดำเนินการเอง แล้วไม่คอยให้กำลังใจ  คอยประคับประคอง เป็นพี่เลี้ยง  เพราะแผนชุมชนมีรายละเอียด/ขั้นตอนกระบวนการบนเส้นทางของแผนชุมชน  แผนชุมชนจะเข้าสู่มาตรฐานได้อย่างไร  หากไม่คอยสะกิดให้เขาช่วยเก็บรายละเอียด บนทางเดินนั้นไป          

 
 

หมายเลขบันทึก: 454377เขียนเมื่อ 17 สิงหาคม 2011 11:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2012 11:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท