ดื่มน้ำวันละ 8-10 แก้วตามคำสอนฝรั่ง ระวังไตวาย (=ตายไว)


..สังเกตดูสิ โรคไตวายในวันนี้สูงกว่าอดีตเมื่อก่อนมากแค่ไหน (อาจเพราะคนเรา “การศึกษาสูงขึ้น” ทำให้ดื่มน้ำมากขึ้นตามที่บงการโดยระบบ “สังคมฐานความรู้”)

ดื่มน้ำวันละ 8-10 แก้วตามคำสอนฝรั่ง ระวังไตวาย (=ตายไว)

 

(หมายเหตุ: บทความนี้ได้นำลงผจก.ออนไลน์ คอลัมน์ “คิดถึงเมืองไทย” สักเมื่อ ๒๕๕๒ แต่ได้ปรับสำนวนและเพิ่มเติมข้อมูลเสียใหม่ในบทความนี้)

 

เราท่องตามหนังสือสุขศึกษาที่แนะนำให้ดื่มน้ำวันละ 8-10 แก้วกันมานาน เชื่อว่าตัวเลขนี้มีที่มาจากนักวิชาการด้านสุขภาพของไทยที่ลอกความรู้มาจากตำราฝรั่งอีกต่อ (ตามเคย) ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าการดื่มในปริมาณขนาดนี้มันมากเกินไปประมาณ 3 เท่า ซึ่งน่าจะส่งผลให้คนไทยเราตายไวมากขึ้น

 

 ผู้เขียนเป็นวิศวกร ไม่ใช่หมอ เหตุผลทั้งหมดที่จะยกอ้างมาสนับสนุนความเห็นนี้ ผู้เขียนคิดเอาเองทั้งสิ้น ดังนั้นโปรดอ่านด้วยวิจารณญาณก่อนเชื่อหรือและถือปฏิบัติ

 

มนุษย์เรามีการสูญเสียน้ำหลายทาง เช่น ทางปัสสาวะ อุจจาระ เหงื่อ และการหายใจ  ซึ่งหมายความว่าเราก็ต้องการน้ำเติมเข้าสู่ร่างกายเป็นการชดเชยในระดับที่เท่ากับการสูญเสีย (ไม่เช่นนั้นก็จะแห้งตายในที่สุด)    แต่ถ้าเราดื่มน้ำน้อยจนชิน ร่างกายก็น่าจะปรับตัวตาม เช่น รูขุมขนอาจจะหดตัว (ทำให้มีการเสียเหงื่อน้อยลง) การปัสสาวะน้อยลง (แต่ปัสสาวะจะเข้มข้นขึ้น) และลมหายใจก็จะแห้งกว่าปกติ (ลดการสูญเสียน้ำทางลมหายใจ)  และถ้าดื่มน้ำมากจนชิน (หรือไม่ชินแต่ทำตามความเชื่อ) ผลก็ตรงกันข้าม 

 

 ตำราฝรั่งบอกว่าควรดื่มน้ำวันละ 8 แก้ว แต่คนฝรั่งมีน้ำหนักตัวเฉลี่ยที่ 80 กก. ส่วนคนไทยเฉลี่ยที่ 60 กก.  ดังนั้นเราคนไทยดื่มน้ำเพียงวันละ 6 แก้วก็เพียงพอแล้ว (เทียบตามหลักบัญญัติไตรยางค์)   (ภาษิตไทยโบราณ เห็นช้างกินอย่ากินตามช้าง)

 

 แต่ช้าก่อน...อาหารไทยของเราอาจมีน้ำอยู่ในอาหารมากกว่าเขาอยู่แล้ววันละ 3 แก้ว เช่นข้าวสวยของเรามีน้ำมากกว่าขนมปังของฝรั่งมาก ข้าวสวย  3 ส่วนมีน้ำเสีย 2 ส่วน  วันหนึ่งเรากินข้าว 3 จาน ก็เท่ากับว่ากินน้ำไปแล้ว 2 แก้ว (ในขณะที่ขนมปังมีน้ำเพียง 0.15 ส่วนเท่านั้น น้อยกว่าข้าว 17 เท่า)  นอกนากนี้เรายังนิยมข้าวกับกับข้าวเปียกน้ำอีกด้วย เช่น แกงส้ม ต้มจืด ต้มยำ ก๋วยเตี๋ยว แกงเลียง ซึ่งมีน้ำมากกว่าอาหารฝรั่งมหาศาล เพราะพวกเขากินสะเต็ก ไข่ดาว หมูแฮม  อย่างมากก็อาจมีซุปถ้วยน้อยๆ สักถ้วย  คะเนได้ว่าอาหารเราก็เต็มน้ำอีก 2 แก้วมากกว่าฝรั่ง

 

  ดังนั้น เมื่อนับจำนวนน้ำทางอ้อมเข้าไปประกอบด้วยจึงคำนวณได้ว่าเราควรดื่มน้ำชดเชยเพียงแค่วันละ 2 แก้วเท่านั้น นี่ว่าตามค่าเฉลี่ยนะ สำหรับบางคนอาจ 1-4 แก้ว สุดแล้วแต่ความเคยชินและการฝึก

 

 ผู้เขียนเชื่อว่าการดื่มน้ำมากเกินไป (เช่น 8 แก้วต่อวัน) จะทำให้ฉี่ไส และฉี่บ่อย เพื่อคายน้ำส่วนเกิน ซึ่งทำให้ไตทำงานหนักเกินจำเป็น (อ่านพบแบบกระท่อนแท่นว่าไตทำหน้าที่ส่งผ่านสิ่งโสโครกที่กรองออกจากเลือดไปสู่น้ำก่อนระบายออกสู่ท่อปัสสาวะ)  ดังนั้นการดื่มน้ำมากเกินไปอาจทำให้ไตเสื่อมเร็วกว่าปกติเนื่องเพราะไตต้องทำงานหนักกว่าปกตินั่นเอง ..สังเกตดูสิ โรคไตวายในวันนี้สูงกว่าอดีตเมื่อก่อนมากแค่ไหน (อาจเพราะคนเรา “การศึกษาสูงขึ้น” ทำให้ดื่มน้ำมากขึ้นตามที่บงการโดยระบบ “สังคมฐานความรู้”)

 

 อย่าลืมด้วยว่าอากาศบ้านเรามีความชื้นสูงกว่าบ้านเขามาก (ความชื้นสัมพัทธ์บ้านเราเฉลี่ยประมาณ 70% ส่วนของเขาประมาณ 30%)  ซึ่งข้อแตกต่างนี้จะทำให้ผิวหนังเราสูญเสียน้ำจากรูขุมขนน้อยกว่าเขา ก็ยิ่งต้องการน้ำน้อยกว่าเขาเข้าไปอีก

  

 ที่สำคัญกว่านั้นคือการหายใจเข้าออกนั้นเกิดการสูญเสียน้ำมากพอควร เพราะแต่ละวันเราหายใจมากทีเดียว อากาศเมืองฝรั่งแห้งกว่าบ้านเรามาก (ความชื้นสัมพัทธ์)  ดังนั้นเมื่อเขาหายใจเข้าไปสู่ปอดความชื้นในร่างกายก็จะถูกดูดซับออกสู่ลมหายใจได้มากกว่าการหายใจในอากาศชื้นของบ้านเรา ก็ยิ่งทำให้เขาสูญเสียน้ำในร่างกายมากกว่าเรา (ดังนั้นก็ต้องดื่มน้ำชดเชยเข้าไปมากกว่าเรา) ไม่เชื่อก็ลองสังเกตจากลมหายใจออกในหน้าหนาวของดาราในหนังฝรั่งสิ การที่เกิดควันขาวออกจากรูจมูกดาราฝรั่งนั้นแท้แล้วก็คือไอน้ำในลมหายใจที่มีความชื้นสูงเกิดการควบแน่น (condensation) ในอากาศเย็นออกกลายเป็นหมอกนั่นเอง ซึ่งแสดงว่าลมหายใจออกนั้นมีการดูดซับความชื้นออกมาจากร่างกาย ซึ่งการดูดซับความชื้นของเขามีมากกว่าของเราทุกลมหายใจเข้าออก  ก็ยิ่งทำให้เขาต้องดื่มน้ำเข้าไปชดเชยมากกว่าเราวันละหลายแก้ว

 

 ท่อนบนนั้นเขียนไว้แต่เมื่อพศ. ๒๕๕๒ วันนี้ ๑๔ สค. ๕๔ ชักเอะใจไปลองคำนวณดู สมมุติว่าฝรั่งเฉลี่ยหายใจนาทีละ 50 ลิตร ส่วนไทยตัวเล็กหายใจนาทีละ 37.5 ลิตร และสมมติว่าอากาศฝรั่งแห้ง 30% ที่ อภ.เฉลี่ย 20C ส่วนของเรา 70% ที่อภ.เฉลี่ย 32C และสมมติว่าอภ.อากาศหายใจออกมีค่าเท่ากันคือ 80%ความชื้น ที่ อภ.ร่างกายคือ 37C (ตัดจุดหกออก) เอาไปทำการคำนวณตามหลักการวิศวกรรมศาสตร์ได้ตัวเลขออกมาน่าตกใจว่า ฝรั่งเสียน้ำจากการหายใจวันละ 6.9 แก้ว (แก้วละ 250 CC)  ส่วนคนไทยเพียง 1.725 แก้ว นี่หมายความว่าเราควรกินน้ำน้อยกว่าฝรั่งอีก 5.175 แก้ว!!!

 

 เมื่อพิจารณาทุกสิ่งประกอบหมดแล้วอาจเป็นไปได้ว่าเราไม่ควรดื่มน้ำเลยแม้แต่เพียงวันละแก้ว  เพราะการดื่มทางอ้อมมีพอ และการสูญเสียทางอ้อมก็น้อยกว่าเขามาก  แต่เราเชื่อ(ลอก)ตำราฝรั่งที่บอกว่าต้องดื่มน้ำวันละ 8-10 แก้ว กันมานานนมแล้ว

 

 สำหรับระบบการไหลเวียนของเลือด (โลหิต) นั้น ข้อมูลฝรั่งที่นักวิชาการไทยเราเอามาเล่าต่อว่าการกินน้ำมากจะทำให้เลือดใส ทำให้ไหลลื่นได้ง่าย แต่ถ้ากินน้ำน้อยเลือดจะข้น ก็จะหนืด ทำให้ไหลยาก จนทำให้กลายเป็นโรคความดันโลหิตสูง (เพราะพอเลือดไหลยาก หัวใจก็ต้องออกแรงดันมากกว่าปกติเพื่อให้เลือดไหลไปได้ ก็เลยต้องสร้างความดันให้สูงกว่าปกติ)  ประเด็นนี้ฟังดูน่าเชื่อถือมาก เพราะเข้ากันได้กับสามัญสำนึกของเราท่าน (แถมหมอฝรั่งพูดให้ฟังก็ยิ่งน่าเชื่อเข้าไปใหญ่ 

 

 แต่ผู้เขียนขอให้ข้อคิดแย้งตามหลักการทางวิศวกรรมศาสตร์ (ที่เรียนมาจากครูและตำราฝรั่ง) โดยขอสมมติว่าเส้นเลือดมีขนาดใหญ่เท่าเดิมในทุกกรณี ดังนั้นการที่เลือดใสขึ้นก็หมายความว่าปริมาณเลือดที่ไหลจะต้องมากขึ้นด้วย เพื่อนำเซลเม็ดเลือดที่ดูดสารอาหารไปหล่อเลี้ยงร่างกายให้เพียงพอเท่าเดิม (ชดเชยความเข้มข้นน้อยด้วยปริมาณที่มากกว่า)  ดังนั้นความเร็วของการไหลของเลือดในเส้นเลือดก็จะต้องสูงขึ้นด้วย แต่ตามหลักวิศวกรรมศาสตร์ถ้าความเร็วสูงขึ้น 2 เท่า เครื่องสูบส่ง  (หัวใจในที่นี้) ต้องทำงานหนักมากขึ้น 8 เท่า (กฎความเร็วยกกำลังสาม) แต่ความหนืดของเลือดที่น้อยลงอาจช่วยทำให้ภาระการทำงานของหัวใจลดลงได้เล็กน้อย (ประมาณ 2 เท่าเป็นอย่างมาก) ดังนั้นการใสขึ้นของเลือดจากการดื่มน้ำมากนั้นอย่างดีที่สุดก็ช่วยลดภาระการทำงานของหัวใจที่มากขึ้นจาก 8 เท่ามาเหลือแค่ 4 เท่า ดังนั้นโดยภาพรวมเลือดที่ใสขึ้นน่าจะเป็นผลร้ายต่อหัวใจมากกว่าเลือดที่ข้นขึ้นเสียอีก (เรื่องนี้น่าสนใจมาก ทำเป็นวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของหมอได้เลย MD –Ph.D.)

 

 การดื่มน้ำของผู้เขียนมักไม่เป็นระบบตามที่ชี้แนะโดยนักวิชาการด้านสุขภาพของไทย โดยหิวเมื่อไรก็ดื่มเมื่อนั้น ซึ่งโดยปกติก็จะประมาณ 1 ชม.หลังอาหารพอดี ซึ่งในช่วงนี้เข้าใจว่าอาหารจะย่อยหมดพอดี ผู้เขียนเชื่อว่าการ “ดื่มเมื่อหิว เท่าที่อิ่ม” เป็นวิธีธรรมชาติที่สอดคล้องกับสภาพของตัวเรามากที่สุด และสมดุลที่สุด เพราะพอร่างกายต้องการน้ำเขาก็จะเตือนเราด้วยการสร้างความหิวน้ำขึ้นมา  เชื่อว่ามนุษย์แต่ละคนต้องการน้ำไม่เท่ากันตามเงื่อนไขปัจจัยอันเป็นสมบัติเฉพาะตน ไม่ต่างอะไรกับการที่แต่ละคนก็มีนิสัยอารมณ์แตกต่างกันไป  อีกทั้งการต้องการน้ำยังสามารถ “ฝึก” ได้อีกด้วย

 

 น่าสังเกตว่ายังไม่เคยได้ยินผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพท่านใดในโลกนี้ออกมาบอกว่ามนุษย์เราต้องการอากาศเข้าสู่ร่างกายเป็นปริมาณเท่านั้นเท่านี้ต่อวัน ทั้งที่อากาศสำคัญกว่าน้ำเสียอีก ขาดน้ำสามวันก็ยังไม่ตาย แต่ขาดอากาศ 3 นาทีก็ตายแล้ว ซึ่งกรณีการหายใจนี้เราปล่อยให้เป็นหน้าที่ของธรรมชาติร่างกายในการกำหนดอัตราการหายใจ โดยเราไม่เข้าไปแทรกแซงกำหนดกฎเกณฑ์อะไรให้มากเรื่องมากความ แต่ทำไมเรากลับไปกำหนดเรื่องการต้องการน้ำเล่า??  ทำไมไม่ปล่อยไปตามธรรมชาติของร่างกาย?  แต่เชื่อหรือไม่ว่าความต้องการอากาศก็สามารถ “ฝึก” ได้เช่นกัน แต่ต้องการวิทยายุทธวิถีพุทธในขั้นสูงสักหน่อย เช่นการเข้าสมาธิในขั้นสูงนั้นต้องการอากาศในการหายใจน้อยมาก (ซึ่งสัตว์เดรัจฉานทั้งหลายที่รู้จักการจำศีลต่างก็รู้เคล็ดลับนี้ เช่น หมี กบ ปลาไหล เป็นต้น)

 

 ผู้เขียนสรุปว่าถ้านักวิชาการไทยเราชี้นำให้คนไทยดื่มน้ำ (และกินอาหาร) ตามระบบของฝรั่งแบบที่ลอกเขามาใช้ทั้งดุ้นโดยไม่ปรับให้เข้ากับสภาพร่างกายของคนไทยเรา อีกหน่อยคนไทยก็คง”ตายไว”  (ไตวาย) กันหมด เท่ากับว่านักวิชาการด้านสุขภาพได้ร่วมกันทำบาปหนักหนาสาหัสมานาน ฆ่าคนไปไม่รู้กี่พันหมื่นในแต่ละปี

 

 คนไทยเรามักลอกฝรั่งมาใช้โดยไม่คิดเสมอ แม้ระบบประชาธิปไตยก็ลอกเขามาใช้ทั้งดุ้นเหมือนกัน จนเทิดทูนกันเสียเหลือเกิน จนใครแตะต้องไม่ได้ ผู้เขียนเคยนำเสนอระบบประชาธิปไตยรูปแบบใหม่ที่เข้ากันได้กับลักษณะสังคมไทยมาหลายรูปแบบก็ถูกรุมก่นด่า หาว่าไม่เป็น “ประชาธิปไตย”  ซึ่งเรื่องนี้อาจนำไปสู่อาการ “ไทวาย” ที่เลวร้ายกว่า ”ไตวาย” เสียอีก

 

ทวิช จิตรสมบูรณ์.....๑๔ สค ๒๕๕๔

 

 

หมายเลขบันทึก: 453844เขียนเมื่อ 14 สิงหาคม 2011 16:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 กรกฎาคม 2012 16:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้าจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

น่าจะไทวายมากกว่าอย่างอื่นนะครับ

เพราะตอนนี้ "ผู้หลัก" ในบ้านเมือง

โดนมนต์เขมรจนงงชี้เส้นเขตแดนตัวเองไม่ถูกสังคน

เพราะอะไรครับ.............

  • ปฏิบัติขัดเกลาเข้าทางพระ
  • ถือธรรมะวิถีเป็นที่พึ่ง
  • อุทิศบุญหนุนนำในคำนึง
  • ด้วยซาบซึ้งถึงบุญคุณแม่เอย​ 


มีเหตุผลครับ น่าจะมีการศึกษาเรื่องนี้และมีงานวิจัยกันอย่างจริงจังนะครับ

เพื่อสุขภาพของคนไทยจะได้มีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น

การพิสูจน์ความจริงประเด็นนี้ไม่ยาก เพียงแค่เอาปริมาณคนไทยไตวาย ต่อหัวประชากร ไปเทียบกับข้อมูลฝรั่ง ก็จะได้ clue แล้ว

  • เป็นข้อเขียนที่น่าสนใจมากคะ เสนอแนวคิดที่เป็นตัวของตัวเอง อย่างมีเหตุมีผล
  • ได้ทบทวนวิชาฟิสิกส์ที่ลางเลือนไปแล้วด้วยคะ :-)
  • โดยส่วนตัว ก็ "หิวเมื่อไหร ก็ดื่มเมื่อนั้น" เช่นกันคะ ไม่เคยนับว่าวันละกี่แก้ว เพิ่งทราบว่ามีคำแนะนำให้ดื่มวันละ 8-10 แก้ว..เห็นด้วยคะ ว่าแต่ความต้องการน้ำของแต่ละคนและแต่ละวันแตกต่างกัน
  • ในโลกแห่งข้อมูลข่าวสาร ล้นท้น บางทีเรารับรู้ "บางท่อน" ของข้อมูล แล้วรีบนำมาใช้อย่างขาดวิจารณญาณ หากมีคนที่ฉุกคิดนำมาไตร่ตรองอย่างละเอียด นำมาถก (แต่ไม่เถียง) เป็นสิ่งที่งดงามคะ
  • ขออนุญาตร่วมคิดด้วยคน ด้วยความรู้ที่มีน้อยนิดนะคะ
  • ไตวายเรื้อรัง 50% เกิดในคนเป็นเบาหวาน -- แต่ตำราฝรั่ง (อีกละ) ว่ากลไกไม่ได้เกิดเพราะปริมาณน้ำดื่มที่มากเกินไป เพราะแม้ในคนเป็นเบาหวานรับการรักษา ควบคุมได้ดีพอควร ยังเป็นไตวายใน 10 ปี จึงเชื่อว่าเกิดจาก "กากน้ำตาล" ตกค้าง หรือ สารเคมีที่ร่างกายสร้างขึ้นเกินพอดี ที่มา
  • แต่สรุป อะไรคือสาเหตุที่แท้จริงคือ "ไม่รู้" ..ชีวิตก็เป็นเช่นนี้ เราตัวเล็กๆ ยังต้องเรียนรู้อะไรอีกมากมาย ที่ยังอธิบายไม่ได้ด้วยเพียง ตรรกะ

บันทึกนี้ทำให้ชุกคิดขึ้นมามากเลยค่ะ กับลักษณะการดูแลสุขภาพของคนเอเชียแบบเราๆ กับฝรั่งที่มีลักษณะหลายๆ อย่างแตกต่างกันอย่างที่คุณคนถางทางเขียนเอาไว้

ดิฉันเคยคุยกับคุณหมอแพทย์แผนไทย รพ.แพทย์แผนไทย ม.สงขลานครินทร์ ท่านก็เคยแนะนำเรื่องการกินอาหารว่าควรจะกินเมื่อหิว เพราะร่างกายต้องการอาหาร และควรกินให้พอดี ไม่มากและไม่น้อยจนเกินไป ถือเป็นการดูแลสุขภาพอย่างหนึ่งค่ะ

เห็นด้วยกับคุณที่ว่าองค์ความรู้บางเรื่องเราลอกฝรั่ง  แต่เรื่องดื่มน้ำ กับอาหารครบหมู่นี่ดิฉันยังเห็นว่าเป็นประโยชน์

ยังคงเชื่อว่า คนปกติ ดื่มน้ำ ๘-๑๐ แก้ว ไม่เกิดโทษต่อไต (คนที่มีปัญหาไตวายเท่านั้นที่ต้องจำกัดน้ำดื่ม) แถมยังดีต่อระบบย่อยอาหาร การไหลเวียน  เว้นแต่คุณจะดื่มรวดเดียวมากๆ ซึ่งก็ไม่มีใครทำ

การกินน้ำมากน้อยขึ้นอยู่กับว่า กินเค็ม เสียเหงื่อ มาก เราก็ต้องได้น้ำชดเชย (อาจมากกว่า ๘ แก้ว ก็ไม่เป็นไร) คิดว่า ๘ แก้วแค่ประมาณการเพื่อสะกิดเตือนเท่านั้น  อย่างตัวดิฉันเองบางทีทำงานเพลินๆ ก็ไม่ดื่มน้ำ  มันจะรู้สึกแห้งๆ พอดื่มน้ำก็สดชื่น 

ดื่มน้ำสะอาดไม่ทำอันตรายไตในคนปกติแน่ๆ และไม่ทำให้ไตวายในอนาคตด้วยค่ะ เว้นแต่คุณจะมีโรคเบาหวานที่มีโอกาสไตวายเรื้อรังมากกว่าคนปกติ อย่างที่คุณCMUpal บอก ซึ่งก็ไม่เกิดจากดื่มน้ำมากอีกเช่นกัน 

ขอบคุณสำหรับบันทึกที่กระตุ้นการคิดค่ะ

สวัสดีค่ะ

เป็นบทความที่ให้ความรู้มากเลยค่ะ ทำให้หันกลับมามองตัวเองมากขึ้น มองวิถีชีวิตของตัวเองมากขึ้น ขอบคุณค่ะสำหรับความรู้ดีๆ ที่นำมาฝากค่ะ

เรื่องคนเป็นเบาหวานน่าคิดนะครับ หรือว่าสาเหตุเสริมคือการกินน้ำมากไป จนทำให้ไตทำงานในการกรองสารตกค้างต่างๆไม่ดี (คือไตชุ่มน้ำมากไป) อุปมาดั่งผ้าเช็ดโต๊ะนั้นมันต้องหมาดๆ กำลังดีถึงจะเช็ดโต๊ะได้สะอาดดี แต่ถ้าผ้าชุ่มไปหรือแห้งไปก็เช็ดไม่สะอาด

ไม่ใช่ไตเปียกเกินไปอย่างเดียว เลือดก็ใสเกินไปด้วย ดังนั้นสารตกค้างในเลือดก็พลอยเจือจางไปด้วย ดังนั้นการถูกดูดซับโดยไตก็ทำได้ยากขึ้น (นี่เป็นหลักวิศวกรรมเลยนะครับ)

การดื่มน้ำมาก ไม่(น่า)ใช่เป็นการเพิ่มการทำงานให้แก่ไตค่ะ

หากการดื่มน้ำที่มากขึ้น และน้ำนั้น มีส่วนประกอบของธาตุ หรือ สารบางอย่างที่พบง่าย ๆ และนิยมกินกันในคนไทยคือ โซเดียมคลอไรด์ หรือเกลือแกงนั่นเอง ตัวเกลือแกงเป็นตัวเพิ่มการทำงานแก่ไตค่ะ

อย่างไรก็ตาม ข้อแนะนำทางวิชาการที่ให้ คน*ดื่มน้ำมาก ๆ นั้น หมายถึงน้ำเปล่า บริสุทธิ์ ไม่ใช่น้ำแกงจืด ที่บางครั้งหรือบ่อยครั้ง เค็มเกินไป

ไม่ใช่น้ำอัดลมแล้วเติมเกลือ

ไม่ใช่น้ำดื่มเพิ่มพลังยามเพลีย (ยกเว้นภาวะอุจจาระร่วง)

และ คน*คนนั้นต้องไม่มีโรคทางไต หรือโรคของระบบการหมุนเวียนของเลือดและหัวใจ

กลุ่มนี้ ได้รับการแนะนำแล้วแน่นอนว่า ควรดื่มตามน้ำหนักตัวและความต้องการ

เฉลี่ยง่าย ๆ คือ ประมาณหนึ่งลิตรครึ่ง-สองลิตรต่อวัน 

 

....รายละเอียดมีอีกมาก

เห็นด้วยว่าควร มีการอธิบาย และมีที่มา ที่ไป ให้เข้าใจกันมากกว่านี้

ต้องขออนุญาตไปค้นคว้าก่อน

 

ขอบคุณค่ะ

 มีคนไข้คนหนึ่ง มาที่ถูกส่งตัวมายังโรงพยาบาล เนื่องจากหกล้มในห้องน้ำ....หลังจากเข้ารับรักษาตัวในโรงพยาบาล หมอตรวจพบว่า คนไข้ ป่วยเป็น มะเร็งตับ....
 เรื่องข้างต้น มีผู้สรุปว่า.....เฮ้ย เวลาเข้าห้องน้ำ ให้ระวังด้วย ....การล้มในห้องน้ำ เป็นสาเหตุของมะเร็งตับ....
 ผมอ่านเรื่องราว ในบันทึกของอาจารย์คนถางทางแล้ว อยากจะสรุปว่า.....มีลักษณะเหมือน การสรุปเรื่องราว ของคนหกล้มในห้องน้ำครับ เพราะมีลักษณะ เหมือนการสรุปจากเหตุ ว่ามีที่มาจากผล  แทนที่จะประเมินว่า ผล มีที่มาจาก เหตุ ครับ
 1. การดื่มน้ำวันละ 8-10 แก้ว มีผลทำให้ความเข้มข้นของเลือดลดลง .....น่าจะจริงครับ เพราะน้ำที่ดื่มเข้าไป จะถูกดูดซึมเข้าระบบกระแสเลือด นั่นหมายถึงเลือดมีปริมาณเพิ่มขึ้น จากการที่มีน้ำเพิ่มขึ้น ทำให้ความเข้มข้นของเลือด และสารต่างๆ ลดลง (แต่เป็นความจริง เพียงบางส่วนครับ เพราะระบบภายในร่างกายจะมีกลไกในการปรับสมดุล ให้สุดท้ายมีความเข้มข้นของสารต่างๆในเลือดไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก ไม่ว่าเราจะดืมน้ำมาก หรือน้อย ก็ตาม)
 2. ปริมาณเลือดที่เพิ่มขึ้น ทำให้ไตทำงานมากขึ้น  การที่ไตทำงานมากขึ้น มีผลทำให้เกิดปัญหาไตวายเพิ่มขึ้น  ในความเห็นส่วนตัว ผมว่าเริ่มจะไม่ถูกต้อง ตั้งแต่ประโยคแรกแล้วครับ การที่ปริมาณเลือดเพิ่มขึ้น ในความเห็นของผม ไม่คิดว่ามีผลให้ไตทำงานเพิ่มขึ้นครับ ในมุมมองที่มีความรู้ด้านสุขภาพจำกัดอย่างผม ผมเข้าใจว่า ไตทำงานเหมือนระบบกรองครับ การมีปริมาณเลือดที่กรองเพิ่มขึ้น ไม่มีผลให้ไตทำงานหนักขึ้น แต่การที่ไตต้องทำงานหนักขึ้น น่าจะขึ้นกับความสะอาดของเลือดที่วิ่งผ่านตัวกรองนี้ครับ นั่นก็คือเกลือ ครับ ปริมาณเกลือ ถือเป็นสิ่งสกปรกในระบบนี้ เพราะไต มีข้อกำหนดว่า จะต้องรักษาปริมาณความเข้มข้นของเกลือในเลือดให้พอเหมาะ ไม่ให้มากเกิน ไม่ให้น้อยเกิน ทีนี้ ถ้าเกลือ มากเกินไป ไตก็จะขับเกลือออก การขับเกลือออกนี่แหละ ที่ต้องทำงานหนัก ถ้าหนักมากเกินไป จนรับไม่ไหว เนื่องจากการกินเกลือเข้าไป ก็อาจมีปัญหาทำให้ไตพังได้ แต่การดื่มน้ำเข้าไป 8-10 แก้วต่อวัน มันไม่สกปรกมากเกินไป จนทำให้ระบบการกรองพังหรอกครับ
 3. การดื่มน้ำมากเกินไป ทำให้เลือดใส หัวใจทำงานหนักขึ้น เพราะต้องสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายมากขึ้น เพื่อให้ได้ออกซิเจนเท่าเดิม ฟังดูเหมือนเป็นเหตุเป็นผล ดีครับ แต่ผมมีข้อขัดแย้ง การดื่มน้ำมาก ไม่น่ามีผลทำให้เลือดใสมาก ในขณะเดียวกัน การดื่มน้ำน้อย ก็ไม่น่ามีผลทำให้เลือดข้นมาก ถ้าเป็นอย่างนั้นคนที่นอนโรงพยาบาล แล้วได้น้ำเกลือเข้าไปมากๆ ก็จะทำให้เลือดใสมาก จนกระทั่ง สักวัน เลือดใสจนหัวใจต้องทำงานหนักเกิน แล้วทำงานไม่ไหว หรือ คนที่ไม่กินน้ำเข้าไปเลย เลือดก็จะค่อยๆข้นขึ้น จนข้นสุดๆ หัวใจก็ทำงานไม่ไหว เหมือนกัน  ......ผมคิดว่า ไม่ว่าเราจะดื่มน้ำมาก หรือน้ำน้อย มันมีระบบในการปรับให้ปริมาณเลือดมีปริมาณสารต่างๆ ที่เหมาะสม คือเมื่อร่างกายรู้สึกว่า ปริมาณน้ำในเลือดมากเกินไปแล้ว ร่างกายก็จะสั่งให้ขับน้ำออกทางไต ให้ฉี่ออกมามาก หรือถ้าร่างกายรู้สึกว่า น้ำในเลือดน้อยเกินไปแล้ว ร่างกายก็จะสั่งให้ระบบการกรอง มีการดูดน้ำกลับเข้ามาในระบบให้มากขึ้น เพื่อให้สารต่างๆในเลือด มีความเข้มข้นไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก ดังนั้น ไม่ว่าเราจะกินน้ำมาก หรือน้ำน้อยก็ตาม ระบบในร่างกายของเราจะมีกลไก ในการควบคุมให้ความเข้มข้นของสารต่างๆ ในเลือด ไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนักครับ จึงไม่มีผลให้ หัวใจ หรือ ไต ทำงานหนักเกินไป  ดังนั้นการคำนวณต่างๆ ของอาจารย์ จึงเป็นการคำนวณ แบบที่ไม่มีปัจจัยแปรผันอย่างอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งไม่ใช่สภาพที่แท้จริงของกลไกภายในร่างกาย กลไกภายในร่ายกาย มีกเป็นระบบที่ซับซ้อน หรืออาจมีระบบสำรอง มากกว่า 1 ระบบ ซึ่งถ้าระบบหลักเริ่มมีปัญหา ระบบสำรอง ก็จะทำงานต่อไปได้ มากกว่าครับ หรือทั้งระบบหลักและระบบสำรอง จะทำงานร่วมกัน อย่างเช่น การขับน้ำออกจากร่างกาย อาจใช้การถ่ายปัสสาวะ หรือขับถ่ายทางเหงื่อ หรือทางหายใจ ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งการจะใช้ระบบไหนเป็นหลัก ก็ขึ้นกับสภาพอื่นๆ อีกมากครับ
 4. การดื่มน้ำเมื่อหิว หรือดื่มน้ำวันละ 1-2 แก้ว ในมุมมองของผม อาจจะน้อยเกินไปครับ อย่าลืมว่า ไต มีการทำงานอีกอย่างคือ การขับถ่ายของเสีย ออกจากร่างกาย ไม่ใช่แค่ขับน้ำครับ การมีชีวิตอยู่ของคนเรา จำเป็นต้องมีของเสียต่างๆ รวมอยุ่ในเลือด แล้ว ของเสียเหล่านี้ ถูกกรองเอาออกที่ไต แล้วถูกขับถ่ายออกมากับฉี่ ทีนี้ ถ้าเรากินน้ำน้อยลง ร่างกายเราก็จะขับถ่ายน้ำน้อยลง มีผลทำให้ของเสียเหล่านี้ถูกขับถ่ายออกมาน้อยลงด้วยครับ ซึ่งเป็นผลร้ายต่อร่างกายมากกว่า  ดังนั้นการดื่มน้ำวันละ 8-10 แก้ว นอกจากไม่ช่วยให้ไตทำงานหนักขึ้น และ หัวใจทำงานหนักขึ้นแล้ว ยังมีส่วนที่ดี คือช่วยให้ร่างกายกำจัดของเสียต่างๆ ได้ดีขึ้น ไม่มีการสะสมของเสียต่างๆ ไว้ในร่างกายครับ
 หวังว่า คงเป็นการโต้แย้ง ที่น่าจะทำให้หลายๆคน ที่อ่านบทความนี้เข้าใจมากขึ้นครับ เพราะเนื้อหาในบทความนี้ หากมีผู้เชื่อถือ โดยไม่พิจารณาว่าเป็นประเด็นที่ผู้เขียนต้องการอภิปรายด้วยมุมมองที่แตกต่าง มากกว่าที่มีเจตนาตามที่เขียนไว้จริง ก็อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ครับ

วงการวิทยาศาสตร์ แพทย์ น่าจะวิจัย ตามแนวคิดอาจารย์ น่าสนใจมากครับ เห็นด้วย ไทยมักลอกเลียนแบบ แม้แต่การศึกษา ต่าง ๆซึ่งบางอย่างไม่เหมาะกับเด็กไทย เลย

เห็นด้วยกับคุณ Mitochondria ค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท