ยุทธศาสตร์การพัฒนาวิชาการ วิจัย และองค์ความรู้ด้านยาเสพติด ระยะ 3 ปี (พ.ศ.2554-2556)


ยุทธศาสตร์วิจัยด้านยาเสพติด

เพื่อให้กรอบทิศทางการพัฒนาวิชาการ วิจัย และองค์ความรู้ด้านยาเสพติดระยะ     3 ปี (พ.ศ.2554-2556)  มีการขับเคลื่อนงานได้อย่างเป็นเอกภาพและมีประสิทธิภาพ จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์รวม 4 ยุทธศาสตร์ไว้ดังนี้ คือ

           

ยุทธศาสตร์ที่ 1  :  การพัฒนาองค์ความรู้และระบบฐานข้อมูลองค์ความรู้ด้านยาเสพติด

                 เป้าประสงค์ : สร้างเสริมองค์ความรู้ และการเข้าถึงความรู้ เพื่อเป็นพื้นฐานสู่การสร้างศักยภาพและความสามารถเพื่อจัดการปัญหายาเสพติด

                 ตัวชี้วัด : 1. ผลงานวิชาการ วิจัยที่มีคุณภาพ มีกระบวนการทางวิชาการ วิจัย ที่สอดคล้องกับเป้าหมายและวัตถุประสงค์หลักของการพัฒนา           วิชาการฯ

                             2. คลังข้อมูลองค์ความรู้ด้านยาเสพติดระดับหน่วยงาน และภูมิภาคที่สะดวกต่อการค้นคว้า และมีความทันสมัยขององค์ความรู้ที่จะนำไปใช้เพื่อจัดการปัญหายาเสพติด

                 เป้าหมาย : 1. มีจำนวนผลงานวิชาการ วิจัย ที่มีการนำไปใช้ประโยชน์เชิงสาธารณะในระดับชุมชน ท้องถิ่น ภูมิภาค และระดับประเทศเพิ่มขึ้น

                               2. มีฐานข้อมูลองค์ความรู้ด้านยาเสพติดในระดับหน่วยงาน และภูมิภาคที่เป็นหมวดหมู่ สามารถเชื่อมโยงสัมพันธ์ และนำมาบูรณาการข้ามภารกิจ ข้ามหน่วยงาน และระดับพื้นที่/ชุมชนอย่างเป็นองค์รวมมากขึ้น        

                 กลยุทธ์ : 1. ส่งเสริม สนับสนุนการศึกษาวิจัย การผลิตงานวิชาการที่เป็นไปตามโจทย์/ประเด็นคำถามการวิจัยที่บรรจุไว้ในกรอบทิศทางฯ  โดยคำนึงถึงข้อจำกัดด้านทรัพยากรและงบประมาณ และตามการจัดลำดับความสำคัญ และความจำเป็นเร่งด่วน   มุ่งเน้นสัดส่วนของผลงานวิชาการ วิจัย ที่เพิ่มขึ้นในปีที่ ๒ และปีที่ ๓ ของการขับเคลื่อนงานเป็นสำคัญ

                             2. ให้มีการพัฒนางานวิจัยที่เป็นชุดโครงการวิจัย   ซึ่งเป็นโครงการที่มีคำถามการวิจัยหลายข้อ ที่มุ่งให้คำตอบหรือตอบโจทย์เชิงยุทธศาสตร์ในเรื่องเดียวกัน   รวมทั้งมุ่งเน้นโครงการใหญ่ที่มีการศึกษาวิจัยย่อยๆ ที่แต่ละส่วนมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน  และต้องนำผลของแต่ละส่วนมาบูรณาการเพื่อให้ได้ภาพรวมที่จะนำไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงสาธารณะ  โดยกลุ่มนักวิชาการ วิจัย ที่เป็นสหวิชาชีพเพิ่มมากขึ้น

                             3. ให้มีการจัดกิจกรรมทางวิชาการในรูปแบบต่างๆ ที่   หลากหลาย   นอกเหนือจากการศึกษาวิจัย  โดยรวมถึงการจัดการความรู้ และ การดำเนินโครงการทดลอง/นำร่อง หรือการขยายผลตัวแบบ  รูปแบบการทำงานสู่การปฏิบัติจริงในพื้นที่/ชุมชน ที่มีความพร้อมด้านศักยภาพและความสามารถที่จะจัดการปัญหา

                             4. ส่งเสริมการพัฒนาองค์ความรู้  โดยการพัฒนางานวิชาการจากงานประจำ งานวิจัยสู่ชุมชน  งานวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมโดยชุมชน ท้องถิ่น และภาคประชาชน  ให้มีสัดส่วนของผลงานเพิ่มมากขึ้น เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปใช้จัดการปัญหายาเสพติดด้วยตนเอง   โดยมีภาครัฐและภาคีทางวิชาการ คอยทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา และองค์กรพี่เลี้ยง เพื่อให้คำแนะนำ  ข้อเสนอแนะทั้งด้านวิชาการและการปฏิบัติ

                             5. พัฒนาคุณภาพการเก็บข้อมูลองค์ความรู้   โดยให้มีการรวบรวมและสังเคราะห์ ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลองค์ความรู้ที่รวบรวมได้ จัดหมวดหมู่ และนำเข้าอย่างต่อเนื่อง  มีความทันสมัยและสามารถค้นคว้าได้อย่างสะดวก ทั้งความรู้ที่มีอยู่แล้ว และความรู้ที่เป็นเรื่องใหม่   เพื่อนำสู่การเป็นฐานข้อมูลกลางขององค์ความรู้ด้านยาเสพติดของ สำนักงาน ป.ป.ส. ที่สามารถเชื่อมต่อ/เชื่อมโยงกับฐานข้อมูลองค์ความรู้ของภาคีหน่วยงานส่วนกลางและภูมิภาค เพื่อการใช้ประโยชน์จากความรู้ร่วมกันในการจัดการปัญหายาเสพติด

                             6. พัฒนาการเชื่อมโยงและเชื่อมต่อข้อมูลองค์ความรู้ด้านยาเสพติดระดับหน่วยงาน ระหว่างภาคีทางวิชาการในส่วนกลาง เพื่อบูรณาการและรับทราบความเคลื่อนไหวของการดำเนินงานทางวิชาการด้านยาเสพติดในภาพรวมทั้งประเทศ

                             7. ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการสร้าง และจัดระบบฐานข้อมูลองค์ความรู้ด้านยาเสพติดในภูมิภาค/พื้นที่  ภายใต้ความร่วมมือและอำนวยการร่วมกันระหว่าง สำนักงาน ปปส.ภาค กับ เครือข่าย/แนวร่วม หรือสถาบันวิชาการในภูมิภาค/พื้นที่   เพื่อให้การส่งต่อและการเข้าถึงความรู้ต่างๆ ของชุมชน ท้องถิ่น และประชาชน  มีความง่าย สะดวก และรวดเร็วทันต่อการนำไปใช้ประโยชน์  และตอบสนองความต้องการของพื้นที่ได้เป็นอย่างดี

 

ยุทธศาสตร์ที่ 2    :   การเผยแพร่องค์ความรู้ด้านยาเสพติดสู่การใช้ประโยชน์เชิงสาธารณะ

เป้าประสงค์ : สร้างเสริมการถ่ายทอด เผยแพร่องค์ความรู้ที่ถูกต้องและปฏิบัติได้จริง สู่การนำไปใช้ประโยชน์เชิงสาธารณะ เพื่อจัดการกับปัญหายาเสพติด

ตัวชี้วัด :  ประชาชน ชุมชน ท้องถิ่น ภูมิภาค และระดับประเทศ เข้าถึง เข้าใจ และสามารถนำความรู้ไปใช้จัดการกับปัญหายาเสพติดได้อย่างรู้เท่าทัน และถูกหลักวิชาการ

                 เป้าหมาย : 1. มีจำนวนช่องทางการเผยแพร่องค์ความรู้  หรือผลงานที่เป็นความรู้ที่มีคุณภาพและสามารถตอบสนองการเข้าถึงของประชาชน ชุมชน ท้องถิ่น ภูมิภาค และระดับประเทศ  ที่ง่าย รวดเร็ว และทันต่อสถานการณ์เพิ่มขึ้น

                               2. มีจำนวนสื่อบริการ/กิจกรรมทางวิชาการที่หลากหลายรูปแบบ  ที่จะใช้ในการส่งเสริม เผยแพร่องค์ความรู้ เพื่อการนำไปใช้ประโยชน์เชิงสาธารณะ

                 กลยุทธ์ 1. ส่งเสริม และสนับสนุนให้มีการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านยาเสพติดทั้งระดับหน่วยงาน และภูมิภาค  โดยผ่านกระบวนการเผยแพร่ และกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการ ได้แก่

                               - วารสาร หรือ สิ่งตีพิมพ์ต่างๆ

                               - เอกสาร/หนังสือวิชาการ

                               - คู่มือ/รูปแบบการปฏิบัติงาน

                               - ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ และห้องสมุดในรูปแบบเครือข่าย

                               - เว็บไซต์ศูนย์วิชาการด้านยาเสพติด และเว็บไซต์ของหน่วยงาน

                               - สื่อการเรียนรู้ทางอิเล็กทรอนิกส์

                               - การประชุม/เวทีวิชาการระดับภูมิภาค ประเทศ และระหว่างประเทศ

                               - เวทีคืนงานวิชาการ วิจัย สู่การใช้ประโยชน์เชิงสาธารณะ

                               ฯลฯ

                             2. ส่งเสริมให้ประชาชน ชุมชน ท้องถิ่น ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการเผยแพร่ และถ่ายทอดความรู้ด้านยาเสพติดต่อชุมชน ท้องถิ่นของตนเอง

                             3. ส่งเสริมให้มีการเผยแพร่องค์ความรู้ที่ถูกต้อง และนำไปปฏิบัติได้จริง   เพื่อให้เกิดความเคลื่อนไหวและสร้างกระแสพลังสังคมในวงกว้างผ่านสื่อสารมวลชน สื่อเอกชน และสื่อภาคประชาชน

                             4. ส่งเสริมให้มีการนำความรู้/รูปแบบการปฏิบัติงานที่เป็นประสบการณ์เด่นด้านการจัดการปัญหายาเสพติดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ (องค์ความรู้สากล) สู่การเผยแพร่/นำร่องขยายผลที่จะเป็นประโยชน์เชิงสาธารณะ

 

ยุทธศาสตร์ที่ 3    :   การพัฒนาและเสริมสร้างเครือข่าย/แนวร่วมวิชาการ วิจัย

เป้าประสงค์ : สร้างเสริมเครือข่าย/แนวร่วมวิชาการ วิจัย  เพื่อเป็นพื้นฐานสู่การสร้างความเข้มแข็ง และกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคีทางวิชาการระดับหน่วยงานและภูมิภาค

ตัวชี้วัด : 1. ประเภทเครือข่าย/แนวร่วมวิชาการ วิจัย ที่เข้ามาเป็นภาคีการทำงานทั้งในรูปแบบองค์กรเครือข่ายวิชาการ  มหาวิทยาลัย  นักวิจัยอิสระ ทีมนักวิจัยแบบสหวิทยาการ นักวิชาการ/ผู้ปฏิบัติงานทางวิชาการทั้งภายในและภายนอกองค์กร  นักวิจัยรุ่นใหม่  และเครือข่าย/แนวร่วมวิชาการระดับภูมิภาค จังหวัด ชุมชน      ท้องถิ่น

            2. ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาวิชาการ   ทั้งที่เป็นผู้ผลิตผลงานวิชาการ วิจัย  ผู้สนับสนุนทุนเพื่อการพัฒนาวิชาการ วิจัย และผู้ใช้ประโยชน์จากผลงานวิชาการ วิจัย

เป้าหมาย : 1. มีจำนวนประเภทเครือข่าย/แนวร่วมวิชาการ ที่เข้ามาเป็นภาคีการทำงานเพิ่มมากขึ้น

              2. มีทำเนียบและฐานข้อมูลบุคคล และหน่วยงาน/องค์กรที่เป็นภาคีวิชาการทั้งในระดับหน่วยงานและภูมิภาค  เพื่อใช้สนับสนุนการพัฒนาวิชาการ วิจัย และองค์ความรู้   

กลยุทธ์ :      1. รักษาสถานภาพและดำรงไว้ซึ่งเครือข่ายองค์กรภาคีทางวิชาการ ที่มีอยู่เดิม ให้สามารถพัฒนาวิชาการ วิจัย ได้ตามความเชี่ยวชาญ ความชำนาญการและความถนัดของเครือข่ายฯ  และการส่งเสริมให้มีการขยายขอบข่ายการทำงานวิชาการ วิจัยให้กว้างขวางและมีแนวร่วมเพิ่มมากขึ้น โดยให้เป็นไปตามศักยภาพและความสามารถของเครือข่ายฯ ในแต่ละภูมิภาค

              2. ให้มีความร่วมมือด้านส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ  การขยายจำนวนและการรวมกลุ่มบุคคล/สถาบันวิชาการ   การเชื่อมโยงเครือข่าย/แนวร่วมนักวิชาการ และนักวิจัยรุ่นใหม่ที่เกิดจากการปฏิบัติงานจริงด้านวิชาการ วิจัย

              3. สนับสนุนกระบวนการสร้างนักวิชาการ นักวิจัย นักศึกษาระดับหลักสูตรมหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต ให้มีความสนใจและหันมาศึกษาวิจัยด้าน  ยาเสพติดเพิ่มขึ้น โดยมีเครือข่าย/แนวร่วมวิชาการทั้งระดับหน่วยงานและภูมิภาค  เป็นผู้สรรหา พัฒนา และกำกับคุณภาพของผลงานวิชาการ วิจัยเหล่านั้น

                               4. ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพด้านวิชาการ วิจัย ให้แก่ผู้ปฏิบัติงานวิชาการระดับหน่วยงาน และภูมิภาค เพื่อให้เกิดเครือข่ายการทำงาน และการผลิตผลงานวิชาการ วิจัย ตามภารกิจของแต่ละหน่วยงาน และในลักษณะสหวิทยาการข้ามหน่วยงาน/ภารกิจ

                               5. พัฒนาและปรับปรุงทำเนียบบุคลากรด้านวิจัย และหน่วยงาน/องค์กรที่ทำงานด้านวิชาการ วิจัย ให้ทันสมัย  และมีการดำเนินงานที่  ต่อเนื่องเพื่อบูรณาการเชื่อมโยง และสนับสนุนกระบวนการพัฒนาทางวิชาการทั้งระดับหน่วยงาน และภูมิภาค

                               6. สร้างเสริมศักยภาพและการเรียนรู้ของนิสิต นักศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง เพื่อฝึกทำงานด้านวิชาการ  การเป็นผู้ช่วยนักวิจัย  และการฝึกปฏิบัติงานด้านบริการสาธารณะสู่ชุมชนในมิติด้านยาเสพติด  การสร้างจิตอาสาและการเป็นผู้ปฏิบัติงานที่มีความรู้ มีวิชาการ เพื่อนำไปใช้ในการทำงานในอนาคตภายหลังจบการศึกษา

 

ยุทธศาสตร์ที่ 4    :   การพัฒนากระบวนงาน และการสังเคราะห์งานวิชาการ วิจัย

เป้าประสงค์ : สร้างเสริมศักยภาพและขีดสมรรถนะของกระบวนการพัฒนาวิชาการ วิจัย และการสังเคราะห์งาน เพื่อจัดการกับปัญหายาเสพติด

ตัวชี้วัด :  1. แผนงานพัฒนาวิชาการ วิจัย ที่มีคุณภาพ มีการควบคุมคุณภาพผลงานวิชาการ วิจัย และกำกับทิศทางการดำเนินงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์หลัก และเป้าหมายของการพัฒนาวิชาการ

            2. องค์ความรู้ที่ถูกต้อง และข้อเสนอ ทางเลือก ทางออกต่อการจัดการปัญหายาเสพติดที่ผ่านกระบวนการวิเคราะห์และสังเคราะห์งานอย่างเป็นระบบ ครบขั้นตอน และเป็นไปตามหลักวิชาการ  

เป้าหมาย 1. มีแผนงานและงบประมาณเชิงบูรณาการด้านวิชาการ วิจัย ทั้งในระดับหน่วยงานและภูมิภาค ที่เป็นเอกภาพและสะท้อนให้เห็นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเพิ่มมากขึ้น

              2. มีหน่วยเฝ้าระวัง และวิเคราะห์ความรู้ (Knowledge Clearing House) ทั้งระดับหน่วยงานและภูมิภาค เพื่อสังเคราะห์งานให้เกิดการต่อยอดองค์ความรู้ และมีองค์ความรู้ที่เป็นที่ยอมรับ และอธิบายได้ด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์  และให้มีผลต่อการนำไปใช้ประโยชน์เชิงสาธารณะ

                 กลยุทธ์ 1. ให้ความสำคัญและจัดทำแผนที่ความรู้ หรือแผนที่วิชาการ วิจัย  ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญ ในการกำหนดรายละเอียดของประเด็นปัญหาการวิจัยที่จะตอบโจทย์เชิงยุทธศาสตร์  การจัดลำดับความสำคัญของหัวข้อวิจัย  การพัฒนาและจัดการความรู้  การบริหารจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณ  การสร้างเครือข่าย/แนวร่วมวิชาการฯ ให้สอดคล้องกับกรอบทิศทางฯ ที่กำหนดไว้

                             2. ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีหน่วยเฝ้าระวัง และวิเคราะห์ความรู้  ทั้งในระดับหน่วยงานและภูมิภาค  ในการทำหน้าที่ค้นหา วิเคราะห์ สังเคราะห์องค์ความรู้ต่างๆ สู่การใช้ประโยชน์
เชิงสาธารณะ และการจัดการกับปัญหายาเสพติด

                             3. ให้มีการจัดการงานวิชาการ วิจัย   โดยการสังเคราะห์/เชื่อมโยง และบูรณาการผลลัพธ์ของงานวิจัยในประเด็นที่เกี่ยวข้อง เพื่อตอบโจทย์/คำถามเชิงนโยบาย ยุทธศาสตร์  การวิเคราะห์ความต้องการองค์ความรู้  เพื่อต่อยอดความรู้โดยการสนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม   ตลอดจนการสังเคราะห์บทเรียนเพื่อพัฒนารูปแบบการปฏิบัติงาน  และการขยายผลหรือนำตัวแบบ รูปแบบไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานจริงในพื้นที่อื่นตามศักยภาพและความเหมาะสม   โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน และเป็นไปตามความต้องการของคนในชุมชน ท้องถิ่นนั้นๆ เป็นสำคัญ

                             4. สนับสนุนให้มีการจัดทำข้อเสนอ ทางเลือก ทางออกเชิงวิชาการ เพื่อส่งต่อและพัฒนาเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายจากองค์ความรู้ หรือผลงานที่เป็นความรู้  ที่ได้จากกระบวนการศึกษาวิจัย  การจัดการความรู้  และการสังเคราะห์งานในลักษณะของการบูรณาการอย่างมีส่วนร่วม ทั้งในระดับหน่วยงาน และภูมิภาค               

                             5. ให้มีการจัดทำแผนงานและงบประมาณเชิงบูรณาการด้านวิชาการ วิจัย ระดับหน่วยงาน และภูมิภาค ที่เป็นเอกภาพ  โดยคำนึงถึงข้อจำกัดด้านทรัพยากรและงบประมาณภาครัฐ  และให้มีกลไกประสานการระดมทุน/งบประมาณสนับสนุนการศึกษาวิจัยและพัฒนางานวิชาการ ที่นอกเหนือจากงบประมาณปกติประจำปีของหน่วยงาน/องค์กรภาคีที่เกี่ยวข้อง   ตลอดจนสร้างการมีส่วนร่วมในการเสริมอำนาจการตัดสินใจของชุมชน ท้องถิ่น หรือภาคีภาคประชาสังคม  ที่จะมีส่วนในการสนับสนุนและเข้ามาดำเนินการงานด้านนี้ด้วยตนเองมากขึ้น

                             6. ให้มีการปรับปรุงแผนที่ความรู้ หรือแผนที่วิชาการ วิจัย ให้เป็นไปตามสถานการณ์และเงื่อนเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดความทันสมัยด้านข้อมูล วิชาการ และใช้เป็นกรอบในการพัฒนางานและกำหนดทิศทางการดำเนินงาน    ตลอดจนเป็นพลังเสริมการปฏิรูประบบการวิจัยของประเทศในภาพรวมสู่การปฏิบัติจริงอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

 

คำสำคัญ (Tags): #ยาเสพติด#วิจัย
หมายเลขบันทึก: 453347เขียนเมื่อ 11 สิงหาคม 2011 10:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2012 20:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท