มิชิแกน (๑๑): มิตรแท้ทุกเส้นทาง


ชีวิตเป็นทรัพย์สินที่มีค่าที่สุดสำหรับตัวท่านเองและผู้ที่ท่านรัก (There is no wealth but life)

การเรียนกับอาจารย์กอร์ดอนเมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคมที่ผ่านมา ในช่วงที่กำหนดรูปแบบที่เหมาะสมขององค์กรในการกำหนดวาระทางกลยุทธ์ ๔ รูปแบบนั้น ทุกองค์กรก็มักจะมีทั้ง ๔ รูปแบบอยู่ในองค์กรเสมอแต่จะมากหรือน้อย ทั้งการพยายามรักษามาตรฐานเดิมที่มีอยู่ การกำหนดรูปแบบภาระกิจใหม่ การแสวงหาพันธมิตรมาร่วมงาน และการปรับโฉมองค์กรให้ก้าวทันความเปลี่ยนแปลง ในองค์กรราชการส่วนใหญ้มักไปเน้นรูปแบบแรก ในขณะที่หลายองค์กรเอกชนพยายามอย่างยิ่งที่จะปรับรูปโฉมและผลิตภัณฑ์อย่างก้าวกระโดด เฉกเช่นแอปเปิ้ลภายใต้การนำของสตีฟ จ๊อบ

ผมนึกถึงหน่วยงานของตนเองอย่างสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ที่เป็นภาคราชการที่มักเน้นเรื่องมาตรฐานงาน (เดิมๆ) ต้นทุน ประสิทธิผลประสิทธิภาพมาก รูปแบบบริการเปลี่ยนไปไม่มากนัก การแสวงหาความร่วมมือจากเครือข่ายเริ่มมีมากขึ้นแต่ไม่ลึกซึ้งนัก ส่วนเรื่องการปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อสรรค์สรา้งสิ่งใหม่ๆ กลับยังไม่ชัดเจนนัก ในยุคของการสาธารณสุขแนวใหม่ "สุขภาพ ไม่ใช่แค่ปราศจากโรคหรือความพิการ" แต่หมายถึง "สุขภาวะทั้งทางร่างกาย จิตใจ สังคมและจิตวิญญาณที่สอดคล้องเชื่อมโยงกันอย่างสมดุล" และสุขภาวะจะเกิดขึ้นได้ ไม่ใช่หมอหรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข แต่จะเกิดจากความร่วมแรงร่วมใจกันของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะตัวบุคคลแต่ละบุคคล ที่ต้องดูแลตนเอง เพราะ "สุขภาพดีไม่มีขาย ถ้าอยากได้ต้องสร้างเอง" สุขภาพเป็นสิ่งสำคัญยิ่งของทุกผู้ทุกนาม

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจึงต้องปรับบทบาทจะมากอดงบประมาณไว้กับตัวแล้วเขียนโครงการมาทำเองหรือจะใช้อำนาจบังคับบัยชาสั่งการเหมือนเมื่อก่อนไม่ได้แล้ว ต้องเปลี่ยนจาก "ผู้ให้" เป็น "ผู้สนับสนุน" จาก "ผู้ปฏิบัติ" เป็น "ผู้จัดการ" ดังนั้น บทบาทที่พึงประสงค์ของเจ้าหน้าที่ในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด จึงควรปรับบทบาทให้เป็น "SEFIMER" คือ

S= Supervisor เป็นพี่เลี้ยง เป็นผู้นิเทศ แนะนำ

E= Energizer เป็นผู้สร้า้งพลัง

F= Facilitator เป็นผู้คอยกระตุ้น ส่งเสริม สนับสนุน

I= Inspirator เป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจ

M= Monitor เป็นผู้คอยติดตาม ดูแล

E= Evaluator เป็นผู้ประเมิน

R= Regulator เป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์หรือดูแลให้มีการปฏิบัติตามกติกาที่เหมาะสมเป็นธรรม

เมื่อวานนี้ช่วงบ่ายขณะพักเบรค ผมได้ส่งอีเมล์เพื่ออวยพรวันเกิดให้ภรรยาแม้ที่สหรัฐอเมริกาจะเป็นวันที่ ๓ แต่เมืองไทยก็ก้าวเข้าสู่เช้ามืดของวันที่ ๔ พฤษภาคมแล้ว ปีนี้เป็นปีแรกที่ไม่ได้พาภรรยาไปทำบุญวันเกิดที่วัดใกล้ๆบ้านเหมือนเช่นเคย ทำได้เพียงส่งความรักความปราถนาดีมาให้เท่านั้น

เช้าวันพุธที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๕๔ ผมตื่นเวลาเดิมเหมือนทุกวัน รีบทำธุระส่วนตัวแล้วเปิดคอมพิวเตอร์สไกป์ไปหาลูกๆและภรรยาเพื่ออวยพรวันคล้ายวันเกิด เทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้คนรักที่ไกลกันได้สื่อสารเห็นหน้าเห็นตาเสมือนได้อยู่ใกล้กัน ขณะเดียวกันก็ต้มมาม่าเป็นอาหารเช้าไปด้วย การสื่อสารเช้านี้ถึงที่บ้านยังคงต้องใช้การเขียนถึงกันเพราะเสียงยังฟังไม่ได้ยิน แต่ก็รู้สาเหตุแล้วว่าไมโครโฟนที่ใช้มีปัญหา แม้จะอยู่ไกลกันแต่จิตใจก็ยังผูกพันกันไม่ห่าง สายสัมพันธ์รักในครอบครัวนี้ คงเป็นเหมือนเช่น "อากาศที่เราใช้หายใจ พอมีอยู่เราไม่ค่อยจะรับรู้ว่ามีคุณค่า แต่เวลาไม่มีเราจะสัมผัสได้เลยว่าสำคัญมาก"

การเรียนในช่วงเช้านี้ อาจารย์จอห์น ได้พูดถึงแนวคิดทางการตลาด ใน ๒ เรื่องคือ"การคิดใหม่ทางการตลาด" และ "วิจัยการตลาด" อาจารย์บอกว่า "การตลาดคือการเข้าสู่ตลาด" หรือ "Marketing is going to market" เมื่อเรานำสินค้าเข้าสู่ตลาด เราจะต้องผสมผสานปัจจัยสำคัญ ๔ ตัวให้ได้ประโยชน์มากที่สุดคือผลิตภัณฑ์ ราคา แหล่งจำหน่ายและการส่งเสริมการขาย (4Ps: Product, Price, Place, Promotion)

แนวคิดทางการตลาด มีวิวัฒนาการในตัวมันเองมาตลอด จากยุคสมัยที่เ้น้นการผลิต ที่เน้นว่าผลิตของมาขายแล้วก็เอาไปให้ลูกค้าซื้อ ผลิตมากก็ขายได้มาก เข้าสู่ยุคเน้นผลิตภัณฑ์ จากบทเรียนของรถยนต์ฟอร์ดที่มีแต่สีดำ ตามใจคนผลิตไม่ตามใจคนซื้อ เลยถูกคู่แข่งแซงหน้าไปได้ ยุคนี้จึงเน้นว่าผลิตภัณฑ์เยี่ยมจะขายตัวมันเองได้ ผลิตของดีแล้วสื่อสารให้ผู้ซื้อรับรู้ เข้าสู่ยุคที่ ๓ ที่เน้นการขาย คนซื้อจะซื้อเมื่อรู้ว่าผลิตภัณฑ์มันดีอย่างไร การตลาดจึงต้องจูงใจให้อยากซื้อของเรา

มาจนถึงยุคปัจจุบัน ที่เน้นลูกค้า คนซื้อจะซื้อเมื่อเขาพอใจสินค้า การตลาดจึงเน้นทำให้ลูกค้าพอใจ ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง เน้นความสัมพันธ์ ยิ่งความสัมพันธ์กับลูกค้าดี ความจงรักภักดีต่อสินค้าก็สูง และต้องเน้นสังคม การตลาดส่งผลกระทบต่อสังคม จึงต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) เรียกว่า ลูกค้าต้องมาก่อน (Customers come first) คือให้ความสำคัญกับลูกค้าเป็นอันดับแรก

เรื่องลูกค้าต้องมาก่อนนี่ มีเรื่องพูดคุยแซวกันเล่นสนุกๆว่า โรงพยาบาลรัฐบาลส่วนใหญ่ก็ทำแบบนี้อยู่แล้ว "ลูกค้าหรือคนไข้มาก่อน" พอมาถึงแล้วก็มานั่งรอหมอ ส่วนหมอมาทีหลัง...คนไข้รอไปก่อน (ฮา...)

ตัวแบบทางการตลาด จึงมีลูกค้าหรือมักถูกเรียกว่า ผู้บริโภค (ใช้ Consumer มากกว่า Customer) เป็นศูนย์กลาง ล้อมรอบด้วยส่วนผสมทางการตลาด 4Ps (ซึ่งตอนหลังมีการเพิ่มไปอีก 3Psคือ Process, People, Physical environment ทำให้กลายเป็น 7Ps) และล้อมรอบด้วยปัจจัยสำคัญทางการผลิตคือ FLPHOR

กระบวนการการตลาดโดยทั่วไป เป็นไปเพื่อการจัดการกับทรัพยากร วิจัย ความเสี่ยงและรางวัล เรียกง่ายๆเป็น 4Rs (Resources, Research, Risk, Rewards) โดยมีขั้นตอนสำคัญ ขั้นตอนคือวิจัย (เพื่อรวบรวมข้อมูลมาจัดทำแผน) วิเคราะห์ (เพื่อใช้ประโยชน์จากข้อมูลในการทำแผนยุทธศาสตร์) วางแผน (เพื่อลดความเสี่ยง) ปฏิบัติ (กิจกรรมทางการตลาด) และประเมินผล (เพื่อดูว่าได้ผลลัพธ์อย่างไรและต้องปรับกลยุทธ์อะไรบ้าง)

ในการวางแผนทางการตลาด ต้องเป็นแผนกลยุทธ์การตลาด ที่ต้องสัมพันธ์กับการบริหารธุรกิจอย่างเป็นระบบเพื่อตอบสนองเท่าทันต่อการแข่งขัน การเปลี่ยนแปลงและความซับซ้อน (3Cs: Competition, Change, Complexity) จะใช้แบบ ๕ ขั้นตอนข้างต้นก็ได้ หรือจะใช้ตัวแบบของจอห์นที่เรียกว่า The 8 Ds Branch's Model for Strategic Management ประกอบด้วย ๘ ขั้นตอน คือ

การศึกษาตลาดที่เป็นปัจจัยภายนอก (Discover) มองดูภายในองค์กร (Describe) แล้วนำข้อมูลภายในภายนอกมาถอดรหัสแปลความหมาย (Decipher) แล้วนำสิ่งที่ได้นั้นมาประกอบการตัดสินใจ (Decide) ให้สอดคล้องกับจำนวนลูกค้า ความเชื่อ พฤติกรรมและรายได้ที่คาดหวัง (4Bs: Bodies, Beliefs, behavior, bucks) เสร็จแล้วมาจำแนกแยกแยะเป้าหมายที่เราอยากพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้น (Define)

พอได้เป้าหมายทั้งพันธกิจ วิสัยทัศน์ วัตถุประสงค์ (ตามหลัก SMART) แล้วก็มาพัฒนา (Develop) วิธีการที่จะบรรลุเป้าหมายเหล่านั้นทั้งกลยุทธ์ ส่วนผสมทางการตลาด ส่วนแบ่งเป้าหมายและตำแหน่งการตลาด (Strategy, STP:Segmentation-Targeting-Positioning, 4Ps) แล้วก็นำวิธีการลงไปสู่การปฏิบัติจริง (Deliver) พร้อมทั้งติดตามกำกับประเมินผลที่เกิดขึ้น (Diagnose)

ในขั้นที่ ๑ การศึกษาข้อมูลภายนอกองค์กรที่กระทบการตลาดนั้น จะต้องดูผู้บริโภค ดูง่ายๆจาก ABCD (Affects อารมณ์ความรู้สึก, Behaviors พฤติกรรม, Cognitions ความรู้สึกนึกคิด, Demographics อายุเพศวัยรายได้) แวดวงอุตสาหกรรม (อะไรคงที่ อะไรเลื่อนไหล อะไรกำหนดบทบาทหน้าที่ของมัน) และสิ่งแวดล้อม (ดูจากสังคม กฎหมาย เศรษฐกิจ นิเวศน์วิทยา การเมือง เทคโนโลยี หรือ SLEEPT: Social, Legal, Economics, Ecology, Political, Technology)

ในขั้นที่ ๒ ย้อนมองดูตัวเอง องค์กรตนเอง ว่าอะไรเป็นคุณค่าสำคัญ (Values) มีทรัพยากรการผลิตแค่ไหน (FLPHOR) และสิ่งที่เราเสนอแก่ลูกค้า (Offering) ผ่านทางส่วนผสมทางการตลาดอย่างไร (4Ps)

ในการทำวิจัยการตลาด ซึ่งมีความสำคัญในการกำหนดกลยุทธ์การตลาดขององค์กร จะมานั่งนึกกำหนดเอาเองไม่ได้ กระบวนการวิจัยการตลาดมี ๔ ขั้นตอนสำคัญคือ กำหนดข้อมูลที่จำเป็นต้องมี ออกแบบรูปแบบวิจัย ลงไปทำวิจัยจริง และรายงานผลการวิจัย ในการเก็บข้อมูลทางการวิจัยจะมีข้อมูล ๒ แบบให้เราเลือกคือ ข้อมูลปฐมภูมิ เป็นสิ่งที่เราเก็บเองกับมือ และข้อมูลทุติยภูมิ เป็นการเอาข้อมูลของคนอื่นมาใช้

ตลอดช่วงเวลาของการฟังบรรยาย ผมไม่วอกแวกหรืองีบหลับเลยแม้แต่น้อย การพูดช้าๆ นำเสนอประเด็นง่ายๆ ทำให้ฟังง่าย ตามง่าย เรียนรู้สนุก มีคำถามให้คิดตามไปเป็นระยะๆ ช่วงพักเบรคผมจึงไม่ต้องพึ่งกาแฟที่มีให้เลือกตามใจชอบอยู่หลายรายการ รวมทั้งสตาร์บัค ผมดื่มแค่ชาขาวอุ่นๆเพียงแก้วเดียวเท่านั้น

ผมได้คำสำคัญทางการวิจัยมาในการฟังวันนี้ด้วย การวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) ใช้เครื่องมือเชิงปริมาณโดยอาศัยสถิติ (Statistics) มาหาความหมายของข้อมูล (Making sense of data) ส่วนการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ใช้เครื่องมือเชิงคุณภาพโดยอาศัยวิธีการที่เรียกว่า "Hermeneutics" (ผมไม่รู้ว่าจะใช้ศัพท์ภาษาไทยอย่างไร วอนผู้รู้ช่วยเติมด้วยครับ) เป็นการบอกความหมายของสัญญาณและสัญญลักษณ์ (What is the meaning of signs and simbols?)

หลังอิ่มเอมกับอาหารมื้อกลางวันแบบฝรั่ง สลัดผักรวมและขนมหวานอร่อยๆ กับความอิ่ใจจากการบริโภคความรู้ทางการตลาดเมื่อช่วงเช้า ผมก็มีความพร้อมที่จะเรียนรู้ต่อในช่วงบ่ายด้วยจิตใจอันแจ่มใส ช่วงบ่ายวันนี้เป็นการบรรยายของอาจารย์แคทเธอรีน เชคส์เปียร์ อาจารย์เรย์ได้แนะนำวิทยากรตามะรรมเนียมปฏิบัติ อาจารย์แคทเธอรีน จบปริญญาตรีศิลปศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเมืองดับลิน จบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ อาจารย์มีงานวิจัยหลายชิ้นที่เกี่ยวกับสารสนเทศทางการเงิน

อาจารย์แคทเธอรีน ได้พูดถึงบัญชีการเงิน การวิเคราะห์บัญชีการเงินและกรณีศึกษา การตัดสินใจที่สัมพันธ์กับสารสนเทศทางการเงินมี ๒ แนวทางคือการตัดสินใจแบบเจ้าของและการตัดสินใจเชิงคุณค่า แบบแรกจะเกี่ยวข้องกับธรรมาภิบาลองค์กร ใช้ข้อมูลในอดีตเป็นข้อมูลตัดสินใจในสัญญาที่เกี่ยวพันกับธุรกิจและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น ค่าตอบแทน ข้อตกลงหนี้ แรงงานและหุ้น ส่วนแบบที่สอง จะตัดสินใจภายใต้คุณค่าขององค์กร ใช้ข้อมูลอดีตเพื่อทำนายอนาคตองค์กร เช่น การซื้อขายหุ้นหรือธุรกิจบนฐานของคุณค่า มีกาปรระเมินความเสี่ยงและประเมินต้นทุน

สารสนเทศทางการเงินเกี่ยวข้องกับวงจรธุรกิจ โดยสารสนเทศสำคัญ ๓ ประการคือ การตัดสินใจทางธุรกิจ (ด้านปฏิบัติการ การเงินและการลงทุน) การตัดสินใจวางแผนอนาคต (งบประมาณประจำปี การวางแผนกลยุทธ์ระยะยาว) และรายงานผลลัพธ์ของการตัดสินใจทางธุรกิจ (รายงานภายใน รายงานภายนอก)

รายงานพื้นฐานทางการเงิน ประกอบด้วย งบดุล (เหมือนภาพถ่ายในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง จุดใดจุดหนึ่ง) งบรายได้ (แสดงรายได้ทุกประเภทที่สะท้อนถึงธุรกรรมทางเศรษฐกิจในระหว่างช่วงเวลา) และงบกระแสเงินสด (แสดงการไหลเวียนเงินสดในระหว่างช่วงเวลา เอามาเฉพาะเงินสดเท่านั้น)

งบดุล (Balance sheet) ประกอบไปด้วย สินทรัพย์ (Assets) หนี้สิน (Liabilities) และทุน (Shareholders' Equity) โดยสินทรัพย์จะเท่ากับหนี้สินรวมกับทุน ซึ่งส่วนของทุนอาจเรียกเป็นค่าสุทธิ (Net Worth) สินทรัพย์สุทธิ (Net assets) หรือค่าทางบัญชี (Book value)การตัดสินใจทางธุรกิจ เกี่ยวกับกิจกรรมการลงทุน สามารถดูได้จากสินทรัพย์ ส่วนกิจกรรมการเงิน สามารถดูได้จากหนี้สิน

อาจารย์บรรยาย พร้อมมีกรณีตัวอย่าง มีโจทย์ให้เราวิเคราะห์กันถึงความเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์ หนี้สิน และทุน จะส่งผลกระทบทางบัญชีอย่างไรบ้าง ผมคิดว่าเรื่องทางการเงินและบัญชียากพอสมควร แม้ผมจะเคยเรียนมาบ้างสมัยเรียนปริญญาโทที่นิด้า ตอนเรียนก็เหมือนเข้าใจดี แต่พอไม่ค่อยได้ใช้ก็ลืม แสดงว่า ผมน่าจะยังไม่รู้จริงนัก การออกเสียงอังกฤษของอาจารย์แคทเธอรีน ฟังยากพอควร น่าจะได้สัก๖๐% ไม่เหมือนฟังอาจารย์จอห์นที่ผมฟังได้ ๑๐๐% หรืออาจจะเป็นว่าผมลำเอียงชอบเรื่องการตลาดมากกว่าการเงินหรือเปล่า ถ้าชอบก็จะตั้งใจมาก ฟังได้มาก เรียนรู้ได้มากกว่า

หลังเลิกเรียน ๕ โมงเย็น พวกเราได้ไปที่เมืองดีทรอยต์ เพื่อชมการแข่งขันเบสบอลระหว่างทีมดีทรอยท์ ไทเกอร์ กับทีมนิวยอร์ค แยงกี้ (รัฐมิชิแกนกับรัฐนิวยอร์ค) ที่สนามดีทรอยต์สเตเดียม นั่งรถบัสไปชั่วโมงกว่าๆ ไบรอันเป็นหัวหน้าทีม ทุกคนได้รับคูปองซื้อของพร้อมบัตรผ่านประตู ดูมูลค่าแล้วมากกว่า ๑๐๐ เหรียญ ลงจากรถได้ก็ประเดิมด้วยการถ่ายภาพหมู่เป็นที่ระลึก เข้าไปข้างใน ผู้คนเบียดเสียดพลุกพล่านมาก ท่าทางกระตือรือร้นและรอคอยการแข่งขันอย่างใจจดใจจ่อ

ไบรอัน บอกให้เราใช้คูปองแลกอาหารกินกันให้อิ่มหนำก่อน มีทั้งอาหารแบบฝรั่งแลพแบบเอเชียให้เลือก หลังอิ่มท้องแล้ว ก็ขึ้นไปนั่งที่นั่งบนอัฒจรรย์ตามหมายเลขบัตร สนามดูยิ่งใหญ่อลังการมาก อาจารย์เรย์พาภรรยามาชมด้วย ตามมาด้วยอาจารย์จอห์นมากับเด็กหนุ่มน้อยวัยราว ๗-๘ ขวบ หน้าตาน่ารักอันเป็นบุตรชายคนเล็ก มาร่วมชมด้วย เสียงเพลงเชียร์ดังมาเป็นระยะๆ สมำ่เสมอดุจดั่งมีเชียรลีดเดอร์คอยให้จังหวะ นักกีฬาทั้ง ๒ ทีมต่างนั่งคอยเวลาอยู่ที่นั่งของตนเอง พร้อมกับการฟังครูฝึกสอนวางแผนก่อนการแข่งขัน

เราแอบแวบออกมาจากสนามเพื่อมาเดินดูของที่ระลึกที่มีราคาสูงพอควร อากาศหนาวเย็นอยู่ เพลงเปิดสนามการแข่งขันเริ่มขึ้น เสียงเชียร์ของทีมเจ้าภาพดังกระหึ่ม ผมยอมรับว่าดูเบสบอลไม่เป็น ไม่รู้เขาเล่น เขาคิดคะแนนกันอย่างไร แม้ไบรอันจะพยายามอธิบาย ก็ยังงงๆอยู่ ไม่รู้ไม่เข้าใจเกมส์ที่เขาอธิบาย หรือฟังภาษาอังกฤษสำเนียงเขาไม่ออกก็ไม่รู้ พอแต้มฝ่ายเจ้าภาพดีทรอยต์ขึ้น เสียงเชียร์ก็กระหึ่ม เกือบจบเกมส์ราว ๒ ทุ่มกว่าๆ คะแนนเจ้าภาพนำไปมากจนมั่นใจได้ว่าเก็บชัยชนะนัดนี้ได้แน่ ไบรอันก็ชวนพวกเรากลับก่อนเพราะดึกแล้ว กลับถึงที่พักในแอนน์อาร์เบอร์ราว ๔ ทุ่มครึ่ง

แม้จะดูเบสบอลไม่เป็น แต่ก็รับรู้ได้ว่า มันเป็นความยิ่งใหญ่อลังการของกีฬาประเภทนี้ที่อยู่ในใจชาวอเมริกัน สมกับเป็นกีฬาประจำชาติ ไม่ด้อยไปกว่าอเมริกันฟุตบอลและบาสเก็ตบอล ก่อนกลับได้แวะซื้อเสื้อเอาไว้เป็นที่ระลึกให้ภรรยา ๑ ตัว แม้จะอธิบายเกมส์กีฬาไม่ได้ แต่ก็มีความเห็นตรงกับคำพูดดิ๊กซั่นที่ว่า "ผมไม่ได้ไปดูกีฬาเบสบอล แต่ผมไปดูวัฒนธรรมของชาวอเมริกัน" มันไม่ใช่แค่กีฬา มันเป็นวิถีชีวิตและวัฒนธรรม

ถึงพี่พัก อาบน้ำอาบท่า เหน็ดเหนื่อยพอควร เปิดอีเมล์อ่านจดหมายสำคัญๆได้สักพัก ส่งใจไปถึงภรรยาที่รักด้วยความคิดถึงและึความห่วงใยในวันคล้ายวันเกิดของเธอ อดหวนคิดถึงวันเก่าๆทีเคยอยู่ด้วยกันไม่ได้ คิดถึงเธอ ผู้เป็นมิตรแท้ทุกเส้นทาง ไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์ แล้วก็เผลอหลับไปเมื่อไรไม่รู้

"เป็นมิตรแท้ เพื่อนคู่ใจ ไม่เคยห่าง    เป็นจอมนาง จอมใจ ได้สวยหรู

เป็นมิตรแท้ ค่ำเช้า เจ้าโฉมตรู          ประคองคู่ เคียงใจ ไม่เว้นวัน

วันนี้ห่าง กายเจ้า เฝ้าคิดถึง             กลอนนี้จึง แทนใจ ด้วยใฝ่ฝัน

ครบรอบวัน เวียนคล้าย บรรจบกัน     วันนี้นั้น วันเกิดเจ้า เฝ้าพะนอ

ขอส่งจิต ด้วยดวงใจ ไม่เว้นว่าง        ขอจอมนาง จอมใจ ให้สุขสันต์

พบสิ่งดี มีสิ่งงาม ทุกทุกวัน              แม้หลับฝัน ฝันรื่น ชื่นฤทัย

พี่มาเรียน เรียนรู้ สู่หน้าที่                 เพื่อชีวี การงาน อันสดใส

ภาระหนัก ตกแก่เจ้า ยอดดวงใจ        แม้อยู่ไกล ใจซื่อตรง คงรักเธอ"

                                                      พิเชฐ บัญญัติ

                                                      ๗ สิงหาคม ๒๕๕๔

                                                      ๑๗.๕๘ น. บ้านพัก สสจ.ตาก

หมายเลขบันทึก: 452840เขียนเมื่อ 7 สิงหาคม 2011 15:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 09:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

น้อมมะลิพุ่มดอกไม้ไว้เหนือเศียร

ต่างธูปเทียนบูชาไท้มไหศวรรย์

ทรงพระชนม์พ้นกาลนานนิรันดร์

เป็นมิ่งขวัญทั่วแดนในแผ่นดิน

 

ขอแบ่งปันคืนในฐานะได้อาศัยอ่านและเรียนไปกับบันทึกของคุณหมอนะครับ 

  • การวิจัยเชิงปริมาณ เป็นการสร้างความรู้ขึ้นจากการตรวจสอบหลักฐานและข้อมูลที่ชั่งตวงวัดออกมาได้เป็นตัวเลข และเมื่อวิเคราะห์ให้เกิดความหมายที่แสดงด้วยตัวเลขกับสัญลักษณ์ต่างๆในเชิงที่บอกปริมาณแล้ว ข้อมูลและหลักฐานดังกล่าว สามารถแสดงความรู้และให้ข้อเท็จจริงด้วยตัวมันเองได้ นักวิจัย คนอ่าน และเราที่ใช้ข้อมูลความรู้ไม่ต้องไปตีความช่วย เพียงแต่รู้ความหมายและอ่านออก ก็เข้าใจ วิธีแสดงก็จะอยู่ในรูปความถี่ และผลการวิเคราะห์ทางสถิติต่างๆ ตาราง กราฟ
  • สมมติว่าเจอคำว่า ฝรั่ง ฝรั่ง ฝรั่ง หากวิเคราะห์เชิงปริมาณ ก็จะได้ (๑) จำนวนคำที่ใช้ =  ๑ คำ คือคำว่า ฝรั่ง (๒) จำนวนการใช้หรือจำนวนการปรากฏของคำว่าฝรั่ง = ๓ ครั้ง (๓) ความหมายที่เป็นไปได้....เป็นการตั้งใจพูดซ้ำกัน ๓ ครั้ง, ผู้พูดติดอ่าง, ผู้พูดตกใจ, เป็นเสียงเล่นเครื่องบันทึกเสียงหมุนวนไปมา ๓ ครั้ง (๔) สรุป ข้อมูลยังไม่เพียงพอต่อการสรุปผล ......ลักษณะอย่างนี้ก็จะเป็นการวิจัยและวิเคราะห์เชิงปริมาณ คือ สิ่งที่ชั่งตวงวัดได้ เมื่อวิเคราะห์แล้ว สามารถแสดงข้อเท็จจริงและสร้างความรู้ความเข้าใจขึ้นได้ด้วยการแสดงข้อเท็จจริงเชิงปริมาณของมัน
  • จากตัวอย่างเดียวกัน...... ฝรั่ง คำแรก หมายถึงผลไม้ ที่คนไทยจำนวนหนึ่งใช้เรียกผลไม้ .....ฝรั่ง คำที่สอง หมายถึง ชาวต่างประเทศที่เป็นชาวยุโรป อเมริกา และผู้ที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักในการพูดสื่อสาร ....ฝรั่ง ที่เห็นปรากฏคำที่สาม หมายถึง ฝรั่ง ในความหมายล้อเลียน ซึ่งชาวต่างประเทศไม่พอใจและถือว่าไม่ให้เกียรติ .... ดังนั้น ฝรั่ง ในรูปคำพูดแบบเดียวกันนั้น ในความเป็นจริงแล้วเป็นการพูดที่แตกต่างกัน ๓ คำ , ๓ ความหมาย และจะสามารถส่งผลต่อสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องแตกต่างกัน ๓ เหตุการณ์
  • จากตัวอย่างหลังนี้ จะเห็นว่า เราสามารถเกิดความรู้และความเข้าใจชุดใหม่  ในชุดแรกกับชุดหลังนี้ ที่แตกต่างกันเป็นอย่างมาก ทั้งที่เป็นข้อมูลชุดเดียวกัน  
  • ทั้งนี้ เนื่องจากกรณีหลังนั้น ความหมายและข้อเท็จจริงไม่ได้มาจากการแสดงตัวของมันเองของข้อมูลเชิงปริมาณ แต่เกิดจากการวิเคราะห์ความหมาย จากแง่มุมต่างๆ คือ ความหมายอันเกิดจากบริบททางสังคมวัฒนธรรม บริบทของเหตุการณ์ ความรู้และความเข้าใจที่ใช้ ความรู้ความเชี่ยวชาญในการตีความ และความสามารถในการมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้เกี่ยวข้องในการให้ความหมาย ....ดังนั้น ความรู้และความเข้าใจแบบที่สองนี้ เป็นความรู้ที่ต้องสร้างขึ้นด้วยการวิเคราะห์ความหมายเชิงเนื้อหาที่เกิดจากบริบทและเงื่อนไขต่างๆของข้อมูล จากนั้น จึงอธิบายและพรรณาเนื้อหาความรู้ดังกล่าว จึงเรียกว่า การวิจัยและการวิเคราะห์เชิงคุณภาพครับ
  • ข้อมูลที่ใช้สำหรับการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ มีทั้งการใช้ตัวเลขเชิงปริมาณ เครื่องหมายและระบบสัญลักษณ์ต่างๆ ภาพ เสียง การบันทึกเหตุการณ์และปรากฏการณ์ ซึ่งวิธีวิเคราะห์ "Hermeneutics" เป็นเพียงวิธีหนึ่งของการวิเคราะห์ในเชิงคุณภาพ(ซึ่งหมายความว่ามีอีกหลายวิธีมากเลยครับ) โดยเป็นการวิเคราะห์ความหมายจากระบบคำพูด ระบบสัญลักษณ์ และระบบภาษาทางของการสื่อความคิดความเข้าใจ ที่มุ่งเข้าถึงแก่นความหมายของรากฐานระบบภาษาและการใช้สัญลักษณ์ดังกล่าวนั้นที่อ้างอิงและพิสูจน์ได้จากข้อมูลต่างๆที่เป็นที่ยอมรับ
  • หลักคิดดังกล่าวนี้เป็นเหตุผลว่าทำไมเมื่อบันทึกเสียงและภาพแล้ว ต้องถอดเทปให้อยู่ในรูปเอกสารคำพูดและใส่สัญลักษณ์ต่างๆให้พร้อมสำหรับการวิเคราะห์ต่อไปก่อน จุดแข็งของวิธีดังกล่าวนี้ก็จะอยู่ที่การใช้รากภาษาและทรรศนะพื้นฐานของระบบสัญลักษณ์ต่างๆ เป็นตัวสร้างความหมายและให้ความรู้ที่รอบด้าน หนักแน่น

ขอบพระคุณอาจารย์โสภณ กับบทกลอนไพเราะนี้ครับ

ขอบพระคุณอาจารย์วิรัตน์ที่ได้ช่วยอธิบายเพิ่มเติม ทำให้ได้รับความรู้มากมายครับ

สวัสดีค่ะ Dr.Phichet Banyati หนูได้ติดตามบทความของคุณหมอมาได้ระยะนึง ได้ทราบว่าตอนนี้คุณหมอเรียนต่อที่ วอร์ตัน สคูล ตอนนี้หนูกำลังเรียนภาษาที่อเมริกา เพื่อเตรียมตัวสอบเข้ามหาลัยที่อเมริกา และมหาลัยที่หนูตั้งเป้าหมายไว้คือ วอร์ตัน สคูลที่คุณหมอกำลังศึกษาอยู่

ไม่ทราบคุณหมอจะกรุณาให้รายละเอียดในเรื่องของการเตรียมตัวสอบเข้าเรียนต่อที่ วอร์ตัน สคูล เพิ่มเติมแก่หนูได้รึเปล่าคะ ?

เพราะอย่างที่คุณหมอเขียนไว้ว่า "การเตรียมตัวที่ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง"

และไม่ทราบว่าหนูจะติดต่อคุณหมอโดยตรงได้ด้วยวิธีไหนคะ ถ้าอย่างไรนี่เป็นอีเมล์ของหนูนะคะ [email protected]

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าคุณหมอจะกรุณาสละเวลาช่วยชี้แนะแนวทางให้หนูได้บ้าง ขอบพระคุณล่วงหน้าค่ะ .

สวัสดีครับ

ผมไม่ได้เรียนที่วอร์ตัน สคูลครับ ผมไปอบรมระยะสั้นที่มิชิแกนครับ

หมอพิเชฐ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท