KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : 136. หน่ออ่อนความดี


        หลักการสำคัญของ KM คือการขยาย "หน่ออ่อนของความดี" ที่มีอยู่แล้วในตัวคนทุกคน      ย้ำว่าทุกคน

        กิจกรรม KM เข้าไปกระตุ้น หรือ "รดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย" ให้หน่ออ่อนความดีเจริญงอกงาม     และออกมาก่อคุณประโยชน์ต่อหน่วยงาน  ชุมชน  สังคม  และตนเอง      และในขณะเดียวกัน หน่ออ่อนความดีที่งอกงามขยายตัวขึ้น จะไปเบียดทำให้หน่ออ่อนความชั่ว ที่มีอยู่ในทุกคนเหมือนกัน ค่อยๆ ฝ่อไป     กิจกรรม KM จึงน่าจะถือเป็นการปฏิบัติธรรมแนวทางหนึ่ง

        หน่ออ่อนความดี เจริญเติบโตขึ้นจากการยอมรับนับถือชื่นชมของผู้คน     ทำให้ผู้ปฏิบัติความดีมีความมั่นใจที่จะทำ  มีความอดทนที่จะฟันฝ่าอุปสรรคเพื่อประกอบความดี  

        หน่ออ่อนความดีของแต่ละคนเป็นคนละหน่อ ไม่เหมือนกัน    แม้จะเป็นความดีประเภทเดียวกัน    แต่ก็เป็นคนละหน่อ ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว     ดังนั้นหากนำเอาการกระทำ หรือการปฏิบัติที่เกิดผลสำเร็จในเรื่องเดียวกันของต่างคนมา ลปรร. กัน     จะได้เรื่องราวที่ไม่เหมือนกันทั้งหมด    (โดยเฉพาะเมื่อเรา ลปรร. ลงไปในรายละเอียด)     ทำให้เกิดความรู้เพิ่มขึ้น เมื่อนำประสบการณ์การปฏิบัติมา ลปรร. กัน

        หน่ออ่อนความดีอาจเป็นเรื่องของความสามารถพิเศษบางด้าน     อาจเป็นเรื่องของแรงบันดาลใจที่เกิดขึ้นมาแต่เด็ก     หรืออาจเป็นความประทับใจจากการได้เห็นตัวอย่างดีๆ    อาจเป็นนิสัยมองโลกในแง่ดี แง่บวก   เมื่อนำมาใช้เป็นพลังขับดันการประกอบกิจกรรม หรือกิจการงาน  ร่วมกับหน่ออ่อนความดีอื่นๆ      ก็จะเกิดผลดีต่องาน ต่อหน่วยงาน และเกิดผลดีต่อการสั่งสมหรือขยายหน่ออ่อนความดี    เกิดเป็นวงจรสั่งสมความดี     และเกิดเป็นเครือข่ายกระตุ้นความดี

        คนที่มีประสบการณ์การทำ KM ได้สักระยะหนึ่ง จึงจะอ่านบันทึกนี้เข้าใจ     และเห็นจริงได้ด้วยตนเอง     แต่ผู้ไม่มีประสบการณ์ตรง ยากที่จะเข้าใจ

วิจารณ์ พานิช
๙ สค. ๔๙

คำสำคัญ (Tags): #เครื่องมือkm
หมายเลขบันทึก: 45152เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม 2006 09:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

จะขอนำไปใช้ขณะที่ขยายผล KM กับเพื่อน ๆ ครับ

                                    ขอบพระคุณครับอาจารย์

                                                     ชาญวิทย์

อ่านบันทึกนี้ของอาจารย์แล้ว นึกถึงเมื่อตอนที่ดิฉันได้มีโอกาสฟังอาจารย์พูดเรื่อง KM ประมาณปี 2545 เนื่องจากฟังครั้งแรก จึงไม่เข้าใจ  แต่มันก็โดนใจ ทำให้ดิฉันรู้จัก หาหนังสือมาอ่านเพิ่ม อ่านเพิ่มเติมในอินเทอร์เนต  จากนั้นก็มีโอกาสได้ฟังที่งาน TMI ครั้งหนึ่ง และที่ HA-Forum อีกครั้งหนึ่ง แม้ดิฉันจะฟังเรื่องเดิมหลายรอบ ฟ้งทีไรดิฉันก็มีความสุขทุกที ฟังเรื่องเดิม แต่สิ่งที่ดิฉันได้ไม่เท่าเดิม ไม่เหมือนเดิม.... จากที่ดิฉันฟังอาจารย์ครั้งแรก กลับมา รพ. ดิฉันก็สรุป ได้ 3 หน้ากระดาษ A4 ดิฉันขยายผลด้วยการแจกให้คนในองค์กรอ่าน ทีละหน้า หลายคนอ่านแล้วบอกว่า ไม่รู้เรื่อง ดิฉันก็บอกว่า ถ้างั้นอ่านต่อหน้า 2  อ่านหน้า 2 ยังไม่เข้าใจ ถ้างั้น อ่านต่อหน้า 3 ก็ทำให้ คนในองค์กรรู้จักความว่าการจัดการความรู้ แต่ไม่เข้าใจ  แต่ก็สามารถชักชวนน้อง ๆ หลายคนรู้จัก เข้าอ่านเพิ่มเติมใน KMI.or.th บางคนบอกว่า อ่านแล้วก็ไม่รู้เรื่องอยู่ดี แต่ดิฉันไม่ละความพยายาม ทุกครั้งที่มีการประชุม ของโรงพยาบาล ดิฉันเป็นพยาบาล แต่รับผิดชอบ IT ของ รพ. ขนาด 30 เตียง จึงมีหน้าที่เตรียม slide powerpoint ให้ ผอก.ซึ่งต้องประชุมคณะกรรมการบริหารทุกเดือน และทุกครั้งที่มีการประชุมเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ดิฉันจะแทรกเข้าทุกครั้ง เนื่องจากดิฉันเป็นผู้ประสานงานคุณภาพ รพ.ด้วย จึงใช้ KM มาเป็นเครื่องมือ แต่ไม่ได้บอกคนอื่น ๆ ว่า ตอนนี้เราทำ KM  นะ เพราะไม่อยากให้คนที่ยึดติดกับศัพท์ทางคุณภาพงง เมื่อประมาณ มี.ค. 2549  จังหวัดร้อยเอ็ดมีการประชุม เรื่อง KM ได้วิทยากรจากทางภาคเหนือ  ดิฉันรู้สึกชื่นใจที่มีเจ้าหน้าที่ รพ.หลายคนของ รพ. หลังประชุมเสร็จ ระหว่างเดินทางกลับ รพ. เขาบอกว่า ฟังดู รพ.ของเราก็ทำ KM อยู่แล้วไม่ใช่หรือ เพียงแต่เราทำแบบไม่รู้ตัว  รพ.ที่ดิฉันอยู่จะอยู่แบบเรียบง่าย ผอก.มีนโยบายว่า อย่าทำอะไรให้ยุ่งยากซ้ำซ้อนผิดธรรมชาติ ให้ทำแบบเรียบง่าย ประหยัดและมี คุณภาพ  ที่ รพ.จะให้ อสม.เข้ามาช่วยงานที่ฝ่ายบริการชุมชน วันละ 1-2 คน จากทุกหมู่บ้านหมุนเวียนกันมา เนื่องจากบุคลากรงานบริการชุมชนไม่เพียงพอ เคยมีผู้นิเทศตำหนิว่า ทำแบบนี้ทำไมไม่มีประโยชน์ ผอก. ก็ไม่สนใจคำตำหนิ ปีต่อมาก็ยังทำเหมือนเดิมไม่ล้มเลิกเพราะมีคนมาตำหนิ ต่อมาก็มีคนบอกว่า ดีจังเลย ประหยัด น่าจะสรุปเป็นตัวเลขว่าประหยัดเงินได้มากน้อยแค่ไหน.... ผอก.บอกว่าที่ทำเช่นนี้ไม่ใช่ต้องการประหยัด แม้แต่เงินเบี้ยเลี้ยงที่ให้เขา ผอก.ก็บอกทุกคนว่าห้ามพูดว่าค่าตอบแทนให้บอกว่าช่วยค่าน้ำมันรถ เพราะมันเปรียบเทียบกันไม่ได้ ไม่ควรเอาเงินมาเป็นคุณค่า แต่คุณค่าที่ได้จากการทำเช่นนี้มันประเมินค่าไม่ได้เลย และเมื่อต้นปี มีอสม.ที่ทำปลูกสวนผักปลอดสารพิษสำเร็จ ผอก.ก็พูดก้บ อสม.ว่า อยากปลูกที่หน้า รพ. ช่วยไปสอนให้หน่อย อสม.ก็มาช่วยกันปลูกที่ รพ. ทำให้คนของ รพ.รู้ว่าปลูกผักต้องผสมผสานพืชหลาย ๆ ชนิด บางคนก็ห้วเราะว่าจะได้กินกันหรือเปล่า ตอนนี้ พริก มะเขือยาว ใบแมงลัก ตะไคร้ กล้วย มะละกอ เป็นอาหารของชาว รพ. และผู้ป่วยที่มา รพ. บางคนก็ขอเก็บกลับบ้านไปทำกับข้าวด้วย เมื่อเดือนที่ผ่านมา จึงเอาป้ายมาติดว่า แปลงสาธิตปลูกผักปลอดสารพิษ ขณะนี้หน้าฝนกำลังเขียวสวยดี

ขอบคุณอาจารย์ค่ะ     กำลังตามหาหน่ออ่อนความดีในสถาบันค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท