ชีวิตที่พอเพียง : ๑๒๙๙. ชีวิตล้นๆ


เป็นการฝึกสติ และฝึกสมาธิ ในชีวิตประจำวัน คือไม่ปล่อยให้เรื่องยุ่งเหยิงต่างๆ เข้ามา ครอบงำจิตใจของผม ผมครองจิตใจของผมเองด้วยเรื่องที่มีสาระสูง มีคุณค่าสูง ต่อการใช้ชีวิตให้ เป็นประโยชน์ ซึ่งก็เป็นการบันทึกการคุยโวโอ้อวดเกินจริง เพราะในความเป็นจริงผมทำสำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง

          ผมหมั่นเตือนสติตนเองว่าอายุมากแล้ว เป็นคนแก่มากแล้ว ต้องรู้จักปล่อยวาง   และต้องพักผ่อนให้เพียงพอ   แต่แปลกมาก ผมต้องฝึกตัวเองให้ทำตนดังกล่าวข้างต้นให้ได้ ในท่ามกลาง งานที่ไหลมาเทมา   ทำให้เมื่อมองจาก demand side ชีวิตของผมเป็นชีวิตที่งานล้น เกินพอดีไปมาก
          ผมต้องฝึกตัวเองให้ชีวิตมีความพอดี คือทำ supply side ให้พอเหมาะพอดีกับเวลา ๒๔ ชั่วโมงในชีวิต   ไม่ยอมให้งานมารุกเวลาออกกำลังกาย และเวลานอน   รวมทั้งเวลาเอาใจสาวน้อย (อันนี้เขาว่าไม่จริง ผมขโมยเวลาของเขามามากทีเดียว ซึ่งผมก็เห็นด้วย และมักบอกใครๆ ว่า ที่ทำตัวอย่างนี้ได้ เพราะมีเมียดี   โดยเฉพาะความสามารถในการจัดการทรัพย์สมบัติ ซึ่งมีอยู่ไม่มากนัก)
 
          บางครั้งเลี่ยงไม่ได้ งานสังคมที่เลี่ยงไม่ได้มารุกเวลานอน ผมก็ฝึกงีบบนรถ   อย่างตอนกลับ จากห้วยขาแข้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๒ มิ.ย. ๕๔ สาวน้อยทักว่าผมได้ถึง ๓ งีบ เป็นช่วงๆ   สลับกับเขียน บันทึก   ตอนนี้ผมงีบบนรถ และกินข้าวบนรถเก่ง   เพราะหลายครั้งต้องเลิกงานหนึ่งตอนเที่ยง แล้วมี ประชุมตอนบ่ายโมงหรือบ่ายโมงครึ่งอีกที่หนึ่งซึ่งต้องนั่งรถไปเกือบชั่วโมงและสภาพการจราจรเอาแน่ไม่ได้   วิธีดีที่สุดคือขอข้าวกล่องไปกินบนรถ
          งานที่ผมทำตอนนี้ผมจัดเป็น ๒ ส่วน   คือส่วนแรกเป็นงานตามที่รับเจ้าของงานนั้นๆ หรือเป็น งานตามที่คนอื่นๆ กะเกณฑ์  เช่นงานเป็นกรรมการต่างๆ  งานบรรยาย  งานเขียนคำนิยมหรือคำนำ หนังสือ งานไปร่วมประชุมและให้ข้อคิดเห็น เป็นต้น   อีกส่วนหนึ่งเป็นงานที่ผมกะเกณฑ์ให้ตัวเองทำ เป็นงานคู่ขนานกับงานส่วนแรก   คนอื่นไม่ค่อยรู้สึกว่าผมทำ   คืองานสื่อสารสังคม เพื่อขับเคลื่อน สังคม ในเรื่องที่ผมเข้าไปเกี่ยวข้อง ที่เป็นงานส่วนที่ ๑
          เมื่อผมไปเกี่ยวข้องกับเรื่องต่างๆ ก็สังเกตว่า หลายส่วนสังคมไทยยังมีความรู้ความเข้าใจ เรื่องนั้นผิดๆ ในเชิงกระบวนทัศน์   ทำให้สังคมล้าหลัง ไม่เดินไปข้างหน้า ไม่เรียนรู้   เมื่ออายุมาก และไม่มีงานส่วนที่ตนต้องการผลงานแล้วเช่นนี้ ผมก็ตั้งใจทำหน้าที่สื่อสารแนวความคิด ในกระบวนทัศน์ใหม่ ให้แก่สังคมอย่างมุ่งมั่น   ถือเป็นงานปิดทองหลังพระ   เป็นงานที่ภาคภูมิใจอยู่คนเดียว เงียบๆ   โดยที่ผมก็เจียมตัวไปพร้อมกันว่า (๑) ความคิดของผมอาจผิด  (๒) ผมเป็นชนส่วนน้อย หรือข้าวนอกนา ของสังคม
 
          แต่ไม่ว่าทำงานอะไร ผมฝึกตัวเองให้ได้ประโยชน์ส่วนตัวเสมอ   ไม่ใช่ผลประโยชน์เชิง เงินทอง หรือโอกาสในการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กับผู้เกี่ยวข้องที่เรียกว่าได้ คอนเน็กชั่น   สำหรับ แสวงหาผลประโยชน์จากการดึงทรัพยากรของสังคมมาทำประโยชน์ให้ตนเอง   อย่างนี้ผมรังเกียจ ไม่ทำมาตลอดชีวิต   ผลประโยชน์ส่วนตัวที่ผมได้ และฝึกให้ได้มาก คือการเรียนรู้ในมิติที่ลึกและ เชื่อมโยง   ผมโชคดีมากที่ได้รับเชิญไปประชุมมาก และในการประชุมแต่ละครั้งก็ได้ฟังคนเก่งๆ คนที่มีปัญญาสูง มีคุณงามความดีสูง   ทำให้ผมได้เรียนรู้มาก   ได้เปิดกระโหลกตนเองอยู่บ่อยๆ   กล่าว ได้ว่าผลประโยชน์ที่ผมได้รับมากที่สุดคือมีคนมาเคาะกระโหลกให้ฟรีๆ
 
          เมื่อได้รับผลประโยชน์ส่วนตัวในด้านการเรียนรู้มาฟรีๆ ผมก็อยากเผยแพร่ให้ผู้คนในวงกว้าง ได้เรียนรู้ด้วย   ในยุค ICT เช่นนี้ เทคโนโลยีอำนวยความสะดวกมาก   ส่วนที่ยากคือตัวเราเอง ที่ต้องฝึกสื่อสาร ในยุค media 2.0   ผมเลือกเขียน บล็อก ใน Gotoknow อย่างที่ท่านอ่านอยู่นี้
 
           การฝึกฝนอย่างยิ่งอีกอย่างหนึ่ง ที่ได้จากชีวิตแบบที่ผมดำรงอยู่นี้ คือการอยู่กับความไม่พอดี ความล้นเกินของข้อมูลข่าวสารและเรื่องราวที่มากระทบชีวิต   ผมต้องฝึกเลือกและกรองสิ่งเหล่านั้น   ปล่อยให้ส่วนที่ควรล้นผ่านมันผ่านไป    คอยคว้าเรื่องส่วนที่เป็นสาระสำคัญ จดบันทึกไว้   และเอา มาไตร่ตรองต่อ หรือค้นคว้าต่อ   ชีวิตของผมในตอนแก่นี้จึงเป็นชีวิตที่ท้าทายมาก  เพราะแบบฝึกหัด นี้มันยาก ทำไม่ค่อยได้   จึงต้องฝึกฝนตนเองอย่างยิ่งยวด   ที่สำคัญคือ ต้องอยู่ในสภาพนี้โดยไม่ เครียด  แปลงความเครียดให้เป็นความสนุก มีคุณค่า   ซึ่งพูดง่าย ทำยาก แม้พยายามฝึกก็สำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง
 
          เป็นการฝึกสติ และฝึกสมาธิ ในชีวิตประจำวัน   คือไม่ปล่อยให้เรื่องยุ่งเหยิงต่างๆ เข้ามา ครอบงำจิตใจของผม   ผมครองจิตใจของผมเองด้วยเรื่องที่มีสาระสูง มีคุณค่าสูง ต่อการใช้ชีวิตให้ เป็นประโยชน์   ซึ่งก็เป็นการบันทึกการคุยโวโอ้อวดเกินจริง เพราะในความเป็นจริงผมทำสำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง
 
          โชคดีที่ตอนนี้ผู้คนทราบกันทั่วไปแล้วว่าผมไม่ชอบรับโทรศัพท์   ดังนั้นถ้าไม่ด่วนจริงๆ เขาจะไม่โทรศัพท์มารบกวนสมาธิของผม   เขารู้ว่าผมตอบ อี-เมล์ เร็ว จึงติดต่อทาง อี-เมล์ แทนเป็นส่วนใหญ่   การสื่อสารทาง อี-เมล์ ไม่รบกวนสมาธิ   เราควบคุมตัวเองได้ ว่าจะเปิด อี-เมล์ ตอนไหน
 
          อีกอย่างหนึ่งที่ผมจำเป็นต้องฝึก คือการอ่านหนังสือเร็ว   ได้สาระครบถ้วน โดยไม่ตกหล่น ความรอบคอบ สำหรับการทำงานในหน้าที่   ซึ่งหมายความว่าไม่อ่านทุกตัวอักษร รู้วิธีพุ่งเข้าสู่สาระ สำคัญ   และมีต้นทุนสาระ หรือรู้บริบทเรื่องนั้นเพียงพอที่จะเข้าสู่หัวใจของเรื่องอย่างรวดเร็ว   นี่คือบทเรียน บทฝึกฝน ที่ต้องทำตลอดชีวิต   ในปัจจุบันยังทำได้ไม่ดีนัก
 
          บทฝึกหัดที่ผมหัดมาตลอดชีวิต คือวิธีเก็บความคิดเข้า "ลิ้นชัก" และดึงเรื่องออกจาก "ลิ้นชัก"   เรื่องนี้ผมได้จากการอ่านหนังสือที่เขียนโดยหลวงวิจิตรวาทการ เล่าเรื่องความมีสมาธิสูงของนโปเลียน สมัยผมเรียนปี ๒ ที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬา ปี พ.ศ. ๒๕๐๔  ที่กระตุ้นให้ผมฝึกสมาธิ   ฝึกความ สามารถที่จะเก็บเรื่องที่ยังคิดไม่ตกเอาไว้ก่อน คล้ายๆ เอาใส่ลิ้นชักเก็บไว้ก่อน   ฝึกให้สมองคิด ทีละเรื่อง ไม่คิดหลายเรื่องในเวลาเดียวกันจนสับสนปนเป และคิดได้ไม่ชัด ไม่คม ไม่เฉียบ   ผมฝึก ตัวเองให้สามารถเก็บหลายๆ เรื่องใส่ "ลิ้นชักไว้"   แต่หยิบออกมาคิดอย่างไตร่ตรองทีละเรื่อง   คิดโดยมีข้อมูลหลักฐานและแนวคิดหลายๆ แบบ เอามาพิจารณาเปรียบเทียบ   และหาข้อตัดสินใจ
 
          ตอนหลังๆ ช่วง ๘ - ๙ ปีมานี้ ผมได้เรียนรู้ว่าการคิดไม่มีวันที่จะชัดในระดับที่ผมอยากได้   ต้องเอาความคิดไปลองปฏิบัติ และตรวจสอบผล   แล้วเอามาไตร่ตรองต่อ   โดยเน้นการแลกเปลี่ยน เรียนรู้กับเพื่อนร่วมงานที่มีฐานคิดที่หลากหลาย   ทำให้ผมคิดได้ชัด ลึกซึ้ง และเชื่อมโยงยิ่งขึ้น
 
          ลงท้าย เมื่อดึงความคิดออกจากลิ้นชัก หลังไตร่ตรองปรึกษาหารือกันแล้ว ต้องเอาเข้าไป สู่การปฏิบัติ   อย่ามัวทำให้คิดชัดผ่านกระบวนการคิด   ต้องคิดชัดในระดับที่ปฏิบัติได้ แล้วลงมือ ทำเลย   แล้วเอาผลการปฏิบัติมาไตร่ตรอง และไตร่ตรองร่วมกัน จะทำให้คิดชัดขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ ว่าจะคิดได้   สุดยอดของการคิดชัดต้องผ่านการปฏิบัติ แล้วเอาผลของการปฏิบัติ และประสบการณ์ จากการปฏิบัติ มาไตร่ตรอง (reflection หรือ AAR) ร่วมกัน  หรือผ่านกระบวนการ "จัดการความรู้" 

 
          ชีวิตล้นๆ นี้สนุกมากครับ
วิจารณ์ พานิช
๑๕ มิ.ย. ๕๔
  
หมายเลขบันทึก: 451488เขียนเมื่อ 29 กรกฎาคม 2011 15:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

เข้าใจความรู้สึกของสาวน้อยค่ะ เพราะเคยมีประสบการณ์คล้ายๆกันมาแล้ว..

ชีวิตล้นๆ สนุกจริงๆ ค่ะอาจารย์...ยิ่งทำยิ่งได้เห็นใจตนเองชัดขึ้น

ความล้นๆ...ของงานบางครั้งก็ได้เกิดถ่องแท้ของใจว่าเรานั้นเป็นเช่นไร

...

ขอบพระคุณค่ะ

จะพยายามฝึก ความคิดกับลิ้นชัก..เอาออกจากลื้นชักทีละเรื่องลดความสับสนปนเป..

เพราะบริหารเวลาไม่ลงตัว จึงต้องมานั่งทำงานดึกๆ แบบนี้...

แต่มองให้เป็นดี ก็ดี..ที่ได้แอบแว๊บเข้ามาอ่านบันทึกดีๆ บันทึกนี้ค่ะ

ขอนำเอาบันทึกของอาจารย์เป็นกำลังใจในการทำงาน

ขออนุโมทนากับบุญใหญ่หลวงที่ท่านทำเพื่อประเทศครับ จะฝึกตนเองให้ได้สักหนึ่งส่วนของท่านบ้าง...

ขออนุโมทนากับบุญใหญ่หลวงที่ท่านทำเพื่อประเทศครับ จะฝึกตนเองให้ได้สักหนึ่งส่วนของท่านบ้าง...

อาจารย์เป็น Role Model แก่ทุกๆคนค่ะ

... อาจารย์ยังไม่เหนื่อย แล้วเราจะเหนื่อยได้อย่างไร

ขอบคุณสำหรับบันทึกที่ทำให้ชีวิตที่เคยยุ่งยากดูง่ายขึ้นมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท