มุมมองอเมริกาที่เปลี่ยนไป...ความเท่าเทียมมิใช่เรียงหน้ากระดาน


ระบบ specialist อาจเป็นวิธีให้แต่ละคน "มีโอกาสที่จะขึ้นมายืนแถวหน้า" ในบางสถานการณ์ สิ่งนี้นำมาสู่ความรู้สึก "เท่าเทียม" ในสังคมที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน

ข้าพเจ้าเคยมีทัศนคติต่อระบบการแพทย์อเมริกา แม้จะเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีและวิชาการสมัยใหม่ แต่ก็ออกจะติดลบนิดๆ ว่าส่งตรวจวินิจฉัยแบบพร่ำเพรื่อ  เอะอะอะไรก็ส่งผู้เชี่ยวชาญ เป็นประเทศที่สัดส่วนแพทย์เฉพาะทางมากกว่าแพทย์ในกลุ่ม primary care เพราะทุนนิยม..etc..

..มาวันนี้ ข้าพเจ้าได้เกิดมุมมองใหม่ ที่ไม่อาจบอกว่าถูกต้อง แต่ก็เป็นมุมมองที่เกิดจากการสังเกตผ่านสายตาตนเอง มิใช่คำบอกเล่าอย่างเคย..

..นี่คือสมมติฐานปรากฎการณ์ "specialist" ตามทัศนะของข้าพเจ้า
1. คนที่นี่ได้รับการปลูกฝังให้เคารพตนเองอย่างมาก มีทัศนคติต่อการดำเนินชีวิต คือ ต้องสร้างทุกอย่างด้วยน้ำมือตนเอง มิใช่ด้วยสมบัติพ่อแม่

2. สังคมที่มีทรัพยากรบุคคล "เหลือเฟือ" มีผลให้แต่ละคนต้องพยายามสร้างจุดเด่น หรือ ความแตกต่าง (make a difference) จึงจะมีที่ยืนในสังคม

3. สังคมในอุดมคติของที่นี่ คือการไม่มีชนชั้น (Monochrome society) -- ข้าพเจ้าเคยกังขาว่า สังคมแห่งการเท่าเทียมนั้น เป็นไปได้จริงหรือ? -- เป็นไปได้อย่างไร ที่ทุกคนเกิดมาแล้วจะเรียนจบระดับเดียวกัน  มีรายได้เท่ากัน -- คำตอบคือ ในแง่วัตถุ มันเป็นไปไม่ได้ -- แต่ในแง่จิตใจ มันอาจเป็นไปได้..

   ความเท่าเทียมไม่ได้หมายถึง จับทุกคนมาเรียงแถวเดินเป็นหน้ากระดานตลอดเวลา..ทำไมเราต้องมี ผู้นำ ผู้ตาม ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ปรึกษา ก็เพื่อเป็นการสร้างระเบียบในการทำงานแต่ละประเภท
   การดำรงชีวิต ประกอบไปด้วยงานหลายประเภท ดังนั้นแต่ละคนมี "โอกาส" ที่จะเดินนำหน้าได้..ไม่มีใครขวาง ขึ้นกับว่า มีความพยายาม ความมุ่งหมายที่จะขึ้นไปอยู่แถวหน้าหรือไม่..

   ยกตัวอย่าง ระบบโรงพยาบาล ให้แพทย์รุ่นพี่กำกับรุ่นน้อง ก็เพราะประสบการณ์ดูแลผู้ป่วยมีมากกว่า เพื่อให้เกิดระเบียบที่สร้างความปลอดภัยและประสิทธิภาพ
แต่เมื่อถอดเสื้อกาวน์ เดินออกมาจากโรงพยาบาล แพทย์รุ่นพี่และรุ่นน้อง ต่างก็คือคนๆ หนึ่ง เมื่อทั้งคู่เดินผ่านบ้านที่มีสุนัขดุ..รุ่นพี่ควรฟังคำเตือนรุ่นน้องซึ่งรู้จักละแวกนั้นดีกว่า (เดินตามผู้ใหญ่ สุนัขไม่กัด ไม่เป็นความจริงเสมอไป)

   วกกลับมาที่ระบบ specialist -- ที่จริงแล้วคำว่า specialist มีที่ใช้มากกว่าที่ข้าพเจ้าคิด บางครั้งยังรู้สึกว่าที่นี่แจกคำว่า specialist ให้ใครต่อใครเยอะเหลือเกิน..Ms Aเชื่ยวชาญการเก็บข้อมูล = data specialist, Mr. B เชี่ยวชาญการคิดโครงงานวิจัย = research specialist, Dr. C แพทย์ที่เชี่ยวชาญการจัดระบบคลินิกโรคทั่วไป = primary care specialist!

  ข้าพเจ้าเริ่มคิดว่า หรือนี่คือ กระบวนการเปิดโอกาสให้แต่ละคนสามารถมายืนแถวหน้าแล้วแต่ชนิดงาน..ผู้ได้รับการขนานนาม "specialist" เรื่องอะไรก็ดูจะยืดอก กระตือรือร้นมากหากมีใครขอให้ช่วยเรื่องนั้น แต่พอนอกเหนือเรื่องนั้น จากท่าทีพญาเสือจะเปลี่ยนเป็นแมวทันที "ฉันไม่ชำนาญเรื่องนั้น เธอควรไปถาม...(specialist เรื่องนั้น)"..

   ข้าพเจ้าได้พบ Professor ทางอาการปวด ที่ขาขาดสองข้าง ต้องใช้ขาเทียม ได้การยอมรับเป็น specialist เพราะท่านทำหน้าที่คิดสูตรยาผู้ป่วย มิได้อยู่ห้องฉุกเฉิน, Professor ทางชีวเคมี ที่มาจากจีนแผ่นดินใหญ่กว่า 10 ปียังพูดภาษาอังกฤษตะกุกตะกัก แต่เขาก็ได้การยอมรับเป็น specialist เพราะท่านทำหน้าที่คุมห้องปฎิบัติการ มิได้เป็นผู้ประกาศข่าว..

   ความทะนงตัวเองแบบสุดๆของคนอเมริกัน เท่าที่ข้าพเจ้าพบเห็นนั้นจึงไม่เลวร้ายเสียทีเดียว เนื่องจากถูกคานไว้ด้วย..การให้เกียรติผู้อื่นไม่น้อยไปกว่าเกียรติที่ตนเองต้องการจากผู้อื่น..เราต้องเก่งที่สุดบางเรื่อง และยอมรับให้หลายเรื่องมีคนที่เก่งกว่าเสมอ..

******

หมายเหตุ: เจตนาของบทความนี้ มิได้ต้องการเกี่ยวโยงถึงความเชื่อทางการเมืองการปกครองแต่อย่างไร เพียงต้องการสะท้อนสิ่งที่เห็นจากสังคมต่างแดน..มิได้ต้องการตัดสินว่าดีกว่าหรือแย่กว่าสังคมไทย...

..ข้าพเจ้าเชื่อว่า คำตอบอยู่ในใจผู้อ่านแล้ว.. 

หมายเลขบันทึก: 450373เขียนเมื่อ 22 กรกฎาคม 2011 10:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท