ผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง


ผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง

     รถโดยสารประจำทางเป็นกิจการทางด้านสาธารณูปโภค ที่รัฐอาศัยอำนาจความเป็นนิติรัฐ เข้าไปกำกับดูแล เพื่อให้การจัดให้บริการเกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย โดยอาศัยอำนาจตาม พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มีกระทรวงคมนาคมเป็นหน่วยงานหลัก และกรมการขนส่งทางบกเป็นหน่วยงานปฏิบัติ และจัดตั้งหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ คือ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. เพื่อทำหน้าที่ให้บริการขนส่งผู้โดยสารในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล  และ บริษัท ขนส่ง จำกัด หรือ บขส. เพื่อทำหน้าที่ให้บริการขนส่งผู้โดยสารในเส้นทางต่างจังหวัดที่มิใช่ในเขตกรุงเทพ  และมีผู้ประกอบการเอกชนอีกส่วนหนึ่งที่ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งด้วยรถโดยสารประจำทางจากกรมการขนส่งทางบกโดยตรง ทำหน้าที่จัดให้บริการรับส่งผู้โดยสารในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด เช่นเดียวกับ ขสมก. และ บขส.

     จะเห็นได้ว่า ผู้ที่ทำหน้าที่จัดให้บริการขนส่งด้วยรถโดยสารประจำทาง หรือที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า "ผู้ประกอบการขนส่ง" ตาม พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ.2522 ก็คือ "ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบการขนส่งด้วยรถโดยสารประจำทาง จากกรมการขนส่งทางบก" ส่วนเอกชนที่นำรถโดยสารเข้าร่วมเดินรถรับส่งผู้โดยสารกับ ขสมก. หรือ บขส. หรือที่เรียกกันว่า "รถร่วม" นั้น  ยังไม่อาจถือว่าเป็นผู้ประกอบการขนส่งด้วยรถโดยสารประจำทางตามความหมายนี้ เพราะเจ้าของรถร่วมเหล่านั้น มิใช่ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งด้วยรถโดยสารประจำทาง จากกรมการขนส่งทางบกโดยตรง  เพียงแต่ได้รับสิทธิเดินรถในเส้นทางจากผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งโดยตรงจากกรมการขนส่งทางบกเท่านั้น รถร่วมมีสถานะเป็นเพียงตัวแทนของผู้ประกอบการขนส่งที่ได้รับใบอนุญาต เช่น รถร่วม ขสมก. ในกรุงเทพ  รถร่วม บขส. ในบางเส้นทาง

     จะเห็นได้ว่า ผู้ประกอบการขนส่ง ตาม พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ.2522 ในปัจจุบันมี 2 ประเภท คือ 1. ผู้ประกอบการของรัฐ คือ ขสมก. และ บขส.   และ 2. ผู้ประกอบการขนส่งเอกชน คือ บุคคลและนิติบุคคล 

     ในที่นี้จะขอกล่าวเฉพาะ "ผู้ประกอบการขนส่งเอกชน"

     ในปัจจุบันมีผู้ประกอบการขนส่งเอกชนเป็นจำนวนมาก ที่เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งด้วยรถโดยสารประจำทาง ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ซึ่งผู้ประกอบการขนส่งเอกชนเหล่านี้ ได้เข้ามามีบทบาทในการสร้างการบริการแก่ผู้ใช้บริการ ซึ่งมีทั้งดีบ้างและไม่ดีบ้างแตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์ในการเข้ามาเป็นผู้ประกอบการขนส่ง

     จากการศึกษาวิเคราะห์ พบว่า ผู้ประกอบการขนส่งเอกชน มี 2 ลักษณะ ดังนี้

     1. มีวัตถุประสงค์ต้องการหารายได้สถานเดียว  ผู้ประกอบการขนส่งเอกชนลักษณะนี้ จากการศึกษาพบว่ามีเป็นจำนวนมาก โดยลักษณะของผู้ประกอบการขนส่งประเภทนี้ เมื่อได้เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งแล้ว ก็จะไม่จัดการเดินรถด้วยตนเอง หากแต่ให้บุคคลอื่นนำรถมาเข้าร่วมเดินรถ โดยเก็บประโยชน์จากการที่บุคคลอื่นนำรถเข้าร่วมที่เรียกกันว่า "ค่าป้าย" มีตั้งแต่ 10,000 บาท ไปจนถึงเป็นหลักแสน และเก็บประโยชน์รายวันที่เรียกกันว่า "ค่าวิน" "ค่าขา" หรือ "ค่าเที่ยว" จากเจ้าของรถอีกต่างหาก เมื่อเป็นในลักษณะนี้ ผู้ที่นำรถเข้าร่วมเดินรถซึ่งต้องเสียเงินเป็นจำนวนมากทั้งค่ารถและค่าเข้าร่วม จึงต้องหาทางเอาเงินทุนที่เสียไปคืน โดยการแสวงหารายได้จากค่าโดยสารสถานเดียว ไม่คำนึงถึงการสร้างงานบริการ เพราะมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม  และหากทางกรมกรขนส่งทางบกกำหนดมาตรการใดเพื่อสร้างการบริการที่ดีหรือผู้ประกำอบการที่ได้รับใบอนุญาตต้องการให้พัฒนาปรับปรุงรถหรือการบริการใดๆ  บรรดารถร่วมเหล่านั้น ก็จะไม่ให้ความร่วมมือ พร้อมกับไม่ปฏิบัติตาม โดยอ้างว่าตนเองได้ซื้อสิทธิในการเดินรถเด็ดขาดมาจากผู้ประกอบการแล้ว เป้นสิทธิของตนที่จะปฏิบัติหรือไม่ก็ได้  ในด้านของผู้ประกอบการขนส่ง เมื่อได้รับประโยชน์จากเงินค่าเข้าร่วมและอื่นๆแล้ว ก็จะไม่บริหารจัดการใดๆ เพราะได้ขายสิทธิอย่างเด็ดขาดให้แก่เจ้าของรถร่วมไปแล้ว ลักษณะของการบริหารจัดการจึงไม่เกิดขึ้นในลักษณะของผู้ประกอบการขนส่งแบบนี้  ดังจะเห็นได้ว่า มีผู้ประกอบการขนส่งเอกชนทั่วประเทศเป็นจำนวนมาก ที่ไม่มีรถเป็นของตนเอง มีแต่รถร่วม บางเส้นทางเงื่อนไขจำนวนรถมากกว่า 100 คัน แต่เป็นรถร่วมทั้งหมด ข้อสังเกตุของผู้ประกอบการขนส่งประเภทนี้ จะเห็นได้ง่าย จากรถที่ใช้ทำการขนส่ง จะพบว่าใช้รถเก่าทำการขนส่ง บางคันมีอายุมากกว่า 20 ปี ไม่มีระบบการจัดการเดินรถ ช่วงเวลาที่มีผู้ใช้บริการมากก็จะมีรถวิ่งหรือวิ่งรถถี่ ช่วงเวลาที่มีผู้ใช้บริการน้อยก็จะไม่วิ่งรถหรือวิ่งรถห่าง การบริการไม่มีความสม่ำเสมอ ส่วนใหญ่จะเป้นเส้นทางเดี่ยว ที่ไม่มีรถสายอื่นวิ่งร่วมอยู่ด้วย  ผู้ใช้บริการรถโดยสารของผู้ประกอบการขนส่งประเภทนี้ ค่าโดยสารที่ชำระให้จะไม่มีความคุ้มค่าทางด้านการบริการและในเชิงเศรษฐศาสตร์

     2. มีวัตถุประค์ประกอบเป็นอาชีพโดยตรง ผู้ประกอบการขนส่งลักษณะนี้ ในปัจจุบันพบว่ามีเพียงจำนวนน้อยมาก ผู้ประกอบการขนส่งประเภทนี้จะมีการบริหารจัดการเดินรถที่เป็นระบบ มีกำหนดเวลาเดินรถแน่นอนและสม่ำเสมอ มีรถที่ใช้ในการขนส่งเป็นของตนเองทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมด มีการกำหนดอายุรถของตนเอง ใช้รถใหม่ทำการขนส่ง มีการพัฒนาปรับปรุงการบริการอย่างต่อเนื่อง  ค่าโดยสารที่ผู้โดยสารชำระให้นั้นจะมีความคุ้มค่าทางด้านการบริการและในเชิงเศรษฐศาสตร์

     กรมการขนส่งทางบกในฐานะหน่วยงานหลักที่สำคัญ ที่มีภารกิขในการควบคุมและกำกับผู้ประกอบการขนส่ง จึงสมควรที่จะต้องกำหนดมาตราการ พัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการขนส่งที่มีอยู่ จากวัตถุประสงค์ที่เข้ามาเพื่อหารายได้สถานเดียว ให้เป็นผู้ประกอบการที่มุ่งด้านการบริการอย่างเป็นมืออาชีพเป็นหลักด้วย ต้องสร้างจิตสำนึกทางด้านการบริการให้เกิดขึ้นแก่ผู้ประกอบการขนส่ง ให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชนโดยเฉพาะต่อบทบาทและหน้าที่ในการเป็นผู้ประกอบการขนส่ง

     กรมการขนส่งทางบก ต้องกล้าที่จะกำหนดมาตราการ กลไกและกระบวนการในการสรรหาผู้ประกอบการ ตลอดจนการคงอยู่ของผู้ประกอบการขนส่ง ให้มีความชัดเจน เปิดเผย โปร่งใส เป็นธรรม และรับผิดชอบ ตามหลักธรรมาภิบาล เพื่อให้ผู้ประกอบการในลักษณะแรกที่ไม่พัฒนาตนเองไปสู่ผู้ประกอบการในลักษณะที่สองออกไปจากระบบ พร้อมกับให้โอกาสในเส้นทางและการส่งเสริมสนับสนุนสร้างขวัญและแรงจูงใจแก่ผู้ประกอบการในลักษณะที่สอง เพื่อการจัดให้บริการที่ดี อันเป็นประโยชน์ต่อประชาชนที่ใช้บริการ

           

หมายเลขบันทึก: 450367เขียนเมื่อ 22 กรกฎาคม 2011 09:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 11:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท