Mr.CHOBTRONG
ผศ. สมศักดิ์ สถาบันวิจัยและพัฒนา ชอบตรง

ระบบประกันคุณภาพการศึกษา กับ ความวุ่นวายของบ้านเมือง


ระบบประกันคุณภาพการศึกษา กับ ความวุ่นวายของบ้านเมือง
ระบบประกันคุณภาพการศึกษา กับ ความวุ่นวายของบ้านเมือง                                                                                                                                                                                                   พิชัย  สุขวุ่น 13 กรกฎาคม  2549  ประชาชนไทยคงปฏิเสธไม่ได้ว่าบ้านเมืองเราขณะนี้  ไม่ปกติหลายเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องการเมืองและการเมืองก็รวมทุกเรื่องเอาไว้นั้นหมด เพราะเป็นการจัดสรรอำนาจในการบริหารมิติอื่นๆ  อย่างรอบด้าน  ไม่ว่าผู้นำจะร่ำส่ำระส่ายโดยเหตุใดก็แล้วแต่  มันทำให้อดคิดไม่ได้ว่าแท้ที่จริงแล้ว มนุษย์เรามีวิวัฒนาการทางสติปัญญามากน้อยเพียงใด  พิจารณารวมๆแล้ว การทะเลาะเบาะแว้งเพื่อแย่งชิงสิ่งใดสิ่งหนึ่ง  กลายเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับสังคมทันสมัยหรืออาจเรียกว่าเป็นพฤติกรรมร่วมของสังคมทันสมัยไปแล้ว  ภาพของการช่วงชิงอำนาจทางการเมืองในระดับผู้นำและบริวาร  มันก็สะท้อนภาพและพฤติกรรมทางความคิดของประชาชนส่วนใหญ่ที่เลือกตัวแทนเหล่านั้นไปบริหารประเทศเช่นเดียวกัน เพราะนั่นคือตัวแทนของคนส่วนใหญ่มันจึงสื่อให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่ในประเทศนี้  มีพฤติกรรมไม่ต่างไปจากผู้นำของเขามากนัก  เพราะบุคลิกของผู้แทนทางการเมืองก็สะท้อนบุคลิกของผู้เลือกเช่นเดียวกัน ถ้าภาพการเชื่อมโยงเหล่านี้เป็นจริงสถานการณ์ด้านสติปัญญาของคนส่วนใหญ่กำลังมีปัญหาแน่นอน และปัญหานี้คงไม่ได้เกิดขึ้นโดยฉับพลัน  แต่เป็นการผสมผสานปะทะกันจนเป็นวิวัฒนาการ และกลายเป็นวัฒนธรรมประจำตัว  จนแสดงออกเป็นภาพเคลื่อนไหวของสังคม  สังคมแห่งการแย่งชิงสิ่งอะไรบางอย่างกำลังรุนแรงขึ้นทุกขณะ  ที่ใช้คำว่า แย่งชิงอะไรบางอย่าง   ก็เพราะว่าการที่จะระบุลงไปให้ชัดเจนว่าสิ่งใด ก็ไม่สามารถทำได้เพราะแย่งชิงกันทุกสิ่ง  ทั้งความชั่วและความดี เพราะมีบางส่วนแย่งกันทำความดีอย่างน่าสงสาร อยากทำความดีจนต้องทำชั่วโดยไม่จงใจ  จึงบอกไม่ได้ว่าทะเลาะกันเพื่อสิ่งใด  แต่รู้ว่าต่างฝ่ายต่างต้องการ  จนระงับความอยากเหล่านั้นเอาไว้ไม่ได้  พฤติกรรมเหล่านี้ควรระวังให้ดีมันอาจจะเกิดกับใครก็ได้โดยไม่ตั้งใจหรือตั้งใจก็ตามแต่ แต่พอจะอนุมานได้ว่า  การอยู่ร่วมกันของมนุษย์กำลังมีปัญหาและปัญหานั้นมาจากระบบคิด ในการตัดสินใจ นอกจากนั้นวิธีการในการแก้ปัญหา ก็หนักไปในทางทำลายล้างผู้อื่น มากกว่าระงับความอยากและพัฒนาระบบคิดของตังเองเสียใหม่ให้ดีขึ้น ปัญหานี้ต้องใช้วิชาความรู้ทางมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ช่วยระงับ แต่ก็ไม่ทราบได้ว่าความรู้ที่มีอยู่จะช่วยเติมเชื้อแห่งความอยากเพิ่มขึ้นหรือไม่ อันนี้ต้องระวังให้ดีๆ ไม่เช่นนั้นจะเป็นการเติมเชื้ออย่างไม่สิ้นสุด  ต่อมาหากตั้งคำถามว่า สถาบันการศึกษาช่วยให้สติแก่มนุษย์ได้หรือไม่ คำตอบคือเป็นหน้าที่ แต่จะให้สติได้หรือไม่ ต้องพิจารณากันต่อไป ในขณะที่เรากำลังจัดทำระบบประกันคุณภาพการศึกษา โดยมี  7 มาตรฐาน 48 ตัวชี้วัด ผมพยายามค้นหาว่า มาตรฐานไหนจะช่วยประกันได้บ้างว่า บ้านเมืองจะสงบลงได้หากทำตามเกณฑ์มาตรฐานนั้นแล้ว พิจารณาแล้วปรากฏว่าพบหนทางแห่งสันติน้อยมาก หรือแทบจะประกันไม่ได้เลยว่า เมื่อจัดการศึกษาตามมาตรฐานแล้ว ประชาชนจะมีสติและแก้ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นได้ ผมยกตัวอย่างแต่พอสังเขปเพื่อให้เป็นภาพร่วมกัน เช่น มาตรฐานที่ 1 การผลิตบัณฑิตก็จะได้คำตอบว่า นักศึกษาได้งานทำกี่คน ตรงสาขาหรือไม่ สังคมได้ยกย่องหรือไม่ มาตรฐานที่ 2 เมื่อทำเสร็จก็จะได้ทราบว่า มีผลการวิจัยที่ได้รับทุน และตีพิมพ์ในระดับชาติและนานาชาติกี่เรื่อง มาตรฐานที่ 3 เมื่อทำเสร็จก็จะได้ทราบว่า เราได้บริการวิชาการแก่ชุมชนอย่างไรบ้าง และมาตรฐานที่ 4 เราได้ทำเรื่องการทำนุบำรุงศิลปและวัฒนธรรม ในแง่มุมไหนบ้าง   ผมยกตัวอย่างให้เห็นแต่เพียงภารกิจหลักเท่านั้น ส่วนอื่นขอให้ท่านไปศึกษาเอาเอง  เท่านี้ท่านผู้อ่านก็คงพิจารณาได้ว่า ประกันคุณภาพการศึกษาโดยตอบโจทย์ปัญหาของมนุษย์ที่กำลังมีปัญหาอยู่ในปัจจุบันได้หรือไม่ มีมาตรฐานไหนบ้างที่สามารถลดการแย่งชิงอะไรบางอย่าง ดังที่กล่าวข้างต้น  ได้บ้าง การที่ตอบว่าบัณฑิตได้งานทำกี่คนนั้น  เพียงพอแล้วหรือที่จะเป็นเกณฑ์ในการชี้วัดคุณภาพการศึกษา สิ่งที่ควรจะตอบมาตรฐานของการศึกษา ควรจะคิดวิธีประกันให้ได้ว่า เมื่อผ่านระบบการศึกษาไปแล้วบัณฑิตควรจะเข้าใจว่า การทำหน้าที่ของมนุษย์ที่แท้จริง มิใช่ทะเยอทะยานที่จะมีชีวิตที่ทันสมัยโดยการ แย่งชิงบางสิ่งบางอย่าง ให้ตัวเองมีสถานะเหนือคนอื่น การศึกษาต้องทำให้ มีความรู้ที่จะดูแลเพื่อนร่วมสังคมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เช่นเดียวกับที่เราคิดจะดูแลชีวิตเรา แล้วการศึกษาเช่นนี้ก็จะรับประกันได้ว่า ได้สร้างภูมิคุ้มกันไห้มนุษย์ได้อย่างแท้จริง  และแก้ปัญหาที่กำลังเกิดอยู่ในปัจจุบันได้ ไม่เช่นนั้นเราก็จัดการศึกษาแบบเหนื่อยฟรี   สมศ. ก็เหนื่อยฟรี เปลื้องเวลา เปลื้องกระดาษ เปลื้องไฟฟ้า สำหรับการประชุมครั้งแล้ว ครั้งเล่า และเปลื้องเวลาที่จะมากล่าวหากันเอง ซึ่งดัชนีและตัวชี้วัดมันไม่ควรจะปรากฏอยู่เพียงบนกระดาษ แต่ควรจะวัดจากสภาพสังคมที่แท้จริง ดังนั้นพวกเราในฐานะผู้เกี่ยวข้องโดยตรง ควรเสนอทางสว่างแก่ สมศ.  ด้ เพราะเขาอาจมีขีดจำกัดบางอย่างที่ไม่สามารถข้ามพ้นได้แต่ที่เสนอความคิดเห็นเช่นนี้ไม่ได้มีเจตนาให้เลิกทำ แต่ควรมีการพัฒนาระบบการประกันคุณภาพการศึกษาให้ตรงกับปัญหาที่มนุษย์กำลังประสบอยู่ และ ปัญหาที่กำลังเผชิญกันอยู่ทุกวันนี้ ก็คือวิธีคิดหรือวัฒนธรรมแห่งการแย่งชิงสิ่งใดสิ่งหนึ่ง โดยเข้าใจผิดว่าหากได้สิ่งนั้นแล้วตัวเราและสังคมจะมีความสุขเพราะสิ่ง ๆ นั้น สุดท้ายเราก็ควบคุมความอยากของเรามิได้ นี่แสดงให้เห็นว่าเราเริ่มต้นจากความไม่รู้ แต่คิดว่ารู้ ท่านพุทธทาส  เรียกสิ่งนี้ว่า ความมืดสีขาว ซึ่งร้ายกว่าความมืดสีดำเสียอีก เพราะเรามองมันเป็นสีขาว เพราะฉะนั้นสิ่งที่อยากเสนอให้พัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษา ให้แก้ปัญหาตรงตามที่มนุษย์มีปัญหาคือ มีปัญหาเรื่องสติปัญญา คือ รู้ความจริงไม่ถึงที่สุด ดังนั้นวิธีแก้ไขคือ สถาบันการศึกษาต้องรับประกันว่า                 1. ตัวเองมีความรู้ชนิดรู้แจ้งจนถึงที่สุด (รู้ความจริงสากลที่ไม่เปลี่ยนแปลง) ไม่ใช่รู้จักแต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้เท่านั้น การรู้จักแต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้   เราก็จะถูกการเปลี่ยนแปลงนั้น     โยกคลอน และเคลื่อนไหวไปมา ยากที่จะหลุดออกจากวงจรนั้นได้ ซึ่งสังเกตได้จากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม                 2. เมื่อมีความรู้ชนิดรู้แจ้งแล้ว (การรับรู้สิ่งสากล)  ต้องประกันกระบวนการทั้งในทางทฤษฏี และ การฝึกปฏิบัติ ว่าเป็นการฝึกเพื่อให้รู้แจ้ง ทฤษฏีและวิธีการเหล่านี้ อาจพบได้จากทฤษฏีเศรษฐกิจพอเพียง การพึ่งตัวเอง การมีชีวิตที่เรียบง่าย ไม่ฟุ้งเฟ้อ แต่ปัจจุบันกำลังตรงกันข้าม มาตรฐานการประกันคุณภาพในปัจจุบันไม่สามารถทำให้มนุษย์พึ่งตนเอง และ ระงับความฟุ้งเฟ้อได้ สังเกตได้จาก พฤติกรรมของนักศึกษา และผู้ที่เกี่ยวข้อง                3. เมื่อทำข้อ 1 และ 2 ได้แล้ว   ต้องประกันได้ว่า ผู้ผ่านระบบการศึกษาเช่นนี้ จะมองสิ่งรอบข้างในฐานะเป็นมิตรมากกว่าเหยื่อ และ สามารถปรองดองกันได้  แม้จะมีความต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา และ เศรษฐกิจ หากสภาพสังคม ยังแยกคนออกเป็นชั้น ๆ แยกวรรณะ  แยกตำแหน่ง โอกาสปรองดองกันได้ก็จะยากขึ้น                 แม้ว่ามาตรฐานทั้ง 3 ข้อที่เสนอมาจะมีลักษณะเป็นนามธรรมสูง แต่ก็ใช่ว่าจะจัดทำตัวชี้วัดไม่ได้ และ มันก็ท้าทายกว่าตัวชี้วัดเดิมๆ  ที่มีขึ้นในครั้งที่เราจัดการศึกษาเมื่อ 200 ปีที่แล้วเป็นต้นมา ที่เสนอความคิดเช่นนี้ไม่ได้ประสงค์ จะลบล้างทัศนะและความเชื่อเดิม แต่เสนอทางเลือกที่ช่วยพัฒนา ระบบเดิมที่ได้กระทำกันอยู่แล้วในปัจจุบัน เพราะทุกคนมีเสรีภาพในการคิดและกระทำและถูกต้องตามสติปัญญาของตัวเองกันทั้งสิ้น   การจะกล่าวว่าตัวเองคิดถูกและผู้อื่นคิดผิดเป็นเรื่อง ที่ไม่ควรกระทำ เพราะถูกผิดเป็นการรับรู้เฉพาะตัว มิใช่ความจริงแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามระบบประกันคุณภาพการศึกษาเริ่มต้นจากการประกันตัวเอง รู้จักตัวเอง รู้จักความจริงสากล และสิ่งนี้จะเป็นเครื่องประกันความวุ่นวายของสังคมได้อย่างแน่นอน ส่วนเครื่องมือที่คิดขึ้นจนรุงรัง  นั้นควรคัดเลือกเฉพาะที่จำเป็น คือ จำเป็นสำหรับการรู้แจ้ง หรือ รู้จักสิ่งไม่เปลี่ยนแปลง จะได้มีภูมิคุ้มกันชีวิตด้วย 
หมายเลขบันทึก: 45022เขียนเมื่อ 17 สิงหาคม 2006 10:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 11:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

การประกันคุณภาพศึกษาที่เห็นกันทุกวันนี้เป็นการประกันแบบหลอก ๆ เพราะการศึกษาก็จัดแบบหลอก ๆ ผู้บริหารก็บริหารหลอก ๆ  ครูก็สอนหลอก ๆ  นักเรียนก็เรียนแบบหลอกๆและลอก ๆ  ชาวบ้านก็เลยถูกหลอกให้ส่งลูกไปเรียน

จริง ๆ แล้วการศึกษาไม่ต้องไปคิดปฏิรูปอะไรมาก แค่สอนให้ทุกคนทำตัวปกติตามศีล 5 และสอนให้มีความรู้ที่เชื่อมโยงหลากหลายจนสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปสร้างอาชีพที่เหมาะสมกับตัวเองได้ ไม่ใช่สอนให้ไปเป็นข้าราชการ หรือแรงงานของทุนนิยม

เห็นด้วยกับอาจารย์อย่างยิ่ง เพราะตอนนี้ทุกระดับ ต้องประชุม แม้ระดับผู้ปฏิบัติ ต้องทำเอกสารเยอะแยะ ประชุมนับไม่ถ้วนต่อเดือน สิ้นเปลือง ผลที่ได้รับ แค่ หลอกๆ เช่น การรักษาวัฒนธรรมของแต่ละที่ ก็เป็นแค่เขียนในกระดาษ เป็นแค่สัญลักษณ์ ไม่มีส่วนร่วมกับท้องถิ่น หรือส่งเสริมอย่าง จริงใจ เป็นแค่ให้เห็นว่า มีผลงาน ได้ผ่านการประเมิน เพื่อต้องการเงิน หรือเป็นแรงงานของทุนนิยิม ครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท