สสส. จะประเมินผลงาน สคส.


panel review

             เช้านี้  ทีมเยือน สสส. มาสนทนาร่วมกับ สคส. เรื่องการจัด  panel review ผลงาน สคส.

             ทีมเยือน คือ นพ.มานิตย์ ประพันธ์ศิลป์, คุณเบญจมาภรณ์  จันทรพัฒน์, คุณเพ็ญศรี สงวนสิงห์ และ คุณมนชยา พลอยเลื่อมแสง

             วัตถุประสงค์ของการประเมินผลงาน (ผลสำเร็จ) ของ สคส. โดยใช้วิธี panel review มี 2 ข้อคือ

            1. เพื่อทบทวนผลงาน/ผลสำเร็จของการดำเนินงาน ตลอดจนประโยชน์ที่เกิดขึ้นจริงต่อการสร้างเสริมสุขภาพของคนไทย

            2. เพื่อเป็นการเรียนรู้และใช้ประโยชน์ในการพัฒนางานทั้งในส่วนของผู้รับผิดชอบโครงการ และคณะกรรมการบริหารแผนของ สสส.

            จากการศึกษาตัวอย่างจากออสเตรเลีย คุณหมอมานิตย์ เล่าให้ฟังว่า ทีมประเมินไม่น่าจะมีเกิน 5 คน จากสหสาขาคือ social, medical, km, general education, organization management

            ทีมผู้ทรงคุณวุฒิที่ สสส.จะทาบทามมี 6 ท่าน ได้แก่  1) ศาสตราภิชานไกรฤทธิ์ บุณยเกียรติ  2) ศ.ดร. ทวีทอง หงษ์วิวัฒน์  3) ดร.วรภัทร ภู่เจริญ  4) นายแพทย์วิพุธ  พูลเจริญ  5) นพ.มงคล ณ สงขลา และ 6) รศ. นิโลบล นิ่มกิ่งรัตน์

            ทีมประเมินศึกษาการดำเนินงานและผลงานของ สคส. โดยการทบทวนเอกสาร วิเคราะห์  ประเมิน จัดประชุมพบปะกัน 2 ครั้ง  ครั้งหลังเป็นการสัมภาษณ์พูดคุยกับผู้เกี่ยวข้อง  คาดว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการภายใน 2-3 เดือน (ภายใน ต.ค. 49)  ซึ่ง สคส. เสนอว่า สถานที่จัดประชุมน่าจะเป็นสถานที่ที่ได้บรรยากาศของการเรียนรู้ร่วมกัน  สามารถจัดเวลาเพื่อแลกเปลี่ยนความในใจลึกๆ ได้ เพราะงานขับเคลื่อนของ สคส. ไม่ใช่งาน โฉบ หรือ ฉาบฉวย  รีบมาแล้วรีบกลับ  ซึ่งเป็นการแตะเพียงผิวๆ

             ในส่วนของ สคส. เอง  ก็คาดหวังจากผลการประเมินครั้งนี้ว่า  ทีมประเมินจะช่วยชี้จุดบอดที่ สคส. เองมองไม่เห็น หรือ ไม่ทันได้มอง  เพื่อนำมาปรับแผนการขับเคลื่อนงานอย่างเป็นพลวัต.

              และหลังจากที่ สคส. ดำเนินงานครบ 5 ปี ในเดือน ก.พ. 51  ก็ต้องคิดต่อว่าจะทำอะไรต่อ เพราะเดินมาถึงจุดหมายปลายทางของระยะเวลาโครงการแล้ว  ที่สำคัญ "ผลผลิต หรือ assets" ที่ สคส. ก่อการไว้ด้วย KM  ควรจะสามารถดำเนินการต่อไปอย่างยั่งยืน เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ  เพราะภาคีมากมายผูกใจสมัครรักใคร่กับ สคส. ในสัมพันธภาพแบบหลวมๆ  เป็นอิสระ  มาร่วมมือกันด้วย "น้ำใจ" และยินดีพร้อมที่จะขยายส่งต่อความดีไปยังภาคีเครือข่ายแห่งตน

              เป็นดั่งเช่นที่ สคส. ส่งคลื่น km ออกไป  เกิดเป็นวงกระเพื่อมต่อๆ กันไป และเกิดการรับลูกต่อกันไปเป็นช่วงๆ ต่อเนื่องกันไป (impact)

              คุณธวัช ให้ความเห็นว่า วิธีการทำงานแบบ สคส. ดูออกจะสวนทางกับวิถีการทำงานแบบเดิมๆ  แบบ command & control, แบบ top-down, แบบทำตามๆ กันไป ตกร่องเดิม

              คุณหมอมานิตย์ ได้โอกาสเสริมต่อว่า อยากรู้ว่า ในขณะที่ สคส. มีวัฒนธรรมอย่างหนึ่งซึ่งแตกต่างออกไป จะสามารถถ่ายทอดวัฒนธรรมนี้ไปสู่ผู้ที่เข้ามาสัมผัสได้อย่างไร และจะเกิดผลกระทบอย่างไร

              สคส. จะรวบรวมข้อมูล ทำ mapping ภาคี ให้ สสส. เห็นภาพ "แห KM" ซึ่งเข้าใจว่า น่าจะนำไปทาบซ้อนกับภาพภาคีของ สสส.  ให้เห็นเป็นภาพใหญ่ได้ดียิ่งขึ้น

หมายเลขบันทึก: 44971เขียนเมื่อ 16 สิงหาคม 2006 20:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อ่านแล้วเห็นมิติใหม่ของการประเมิน คงจะเกิดประโยชน์อย่างยิ่งกับทั้งหน่วยงานผู้ประเมินและผู้ถูกประเมินนะครับ อยากเห็นวิธีการประเมินที่ว่าเป็นคลื่น KM อีกคลื่นหนึ่งที่กระเพื่อมแรงๆในวงการประเมินเมืองไทย...........คุณแกบครั้งเสื้อสามารถรางวัลสุดคะนึงผมได้รับแล้วครับ ขอบคุณมากครับ

  • โห...หายไปนานเลยนะพี่แกบ
  •  เห็นด้วยกับคุณธวัชและชื่นชมคน สคส. มาก ๆ นะคะ
  • อยากเห็นภาพ "แห KM" เร็ว ๆ ค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท