บาดแผลกระสุนปืน


ที่มา: เอกสารการอบรมหลักสูตรการชันสูตรพลิกศพ สำหรับเจ้าหน้าที่ตรวจชันสูตรพลิกศพแทนแพทย์ ระหว่างวันที่ 12-13 กรกฎาคม 2554

ก่อนอื่นเรามารู้จักปืนกันก่อนสักเล็กน้อย

อาวุธปืน แบ่งตามลักษณะภายในลำกล้องปืน เป็น 2 ประเภท

1. ปืนที่มีเกลียวในลำกล้อง ได้แก่
     - ปืนลูกโม่ (Revolver pistol) ยิงได้ทีละนัด
     - ปืนพกกึ่งอัตโนมัติ (Semi-automatic pistol) ยิงต่อติดกันได้หลายนัด โดยไม่ต้องขึ้นไกทุกครั้งที่ยิง  
     - ปืนเล็กยาว (Rifled)
     - กลุ่มปืนกลอาวุธสงคราม เช่น M16 
*** โดยแต่ละยี่ห้อ จะมีเกลียวที่หมุนซ้าย-ขวาไม่เท่ากัน***  

                ปืนลูกโม่                                       ปืนกึ่งอัตโนมัติ

2. ปืนที่ไม่มีเกลียวในลำกล้อง ได้แก่
     - ปืนลูกซองยาว
     - ปืนลูกซองสั้น
     - ปืนแก๊ป

กระสุนปืน แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

1. กระสุนลูกโดด ประกอบด้วยส่วนต่างๆ ได้แก่
     - หัวกระสุนปืน (bullet)
     - ปลอกกระสุนปืน (bullet case or cartridge case)
     - ดินปืน (Propellant or gunpowder)
     - ชนวนหรือแก๊ปปืน (primer)
2. กระสุนปืนลูกปราย
     - ฝาปิดปลอก (crimping or hull)
     - เม็ดกระสุนลูกปราย (pellet)
     - หมอนรองกระสุน (wad)
     - ดินปืน (charge or gunpowder)
     - ชนวนหรือแก๊ปปืน (primer)

ส่วนประกอบที่เกิดจากการยิง
1. เปลวไฟ (flame)
2. ควันไฟ (smoke)
3. เขม่าดินปืนที่เผาไหม้ และที่เผาไหม้ไม่สมบูรณ์
    (burn and unburn gunpowder)
4. หัวกระสุนปืน (bullet or pellet)

พอรู้จักปืนกันบ้างแล้วก็ลองมารู้จักบาดแผลจากกระสุนปืนกันบ้าง

บาดแผลจากกระสุนปืนลูกโดด
แบ่งเป็น บาดแผลทางเข้าและบาดแผลทางออก
บาดแผลทางเข้ากระสุนปืนลูกโดด
- มีผิวหนังทะลุลักษณะเป็นวงกลมหรือ รี ส่วนใหญ่มีขนาดบาดแผลใกล้เคียงกับขนาดหัวกระสุน อาจแตกฉีกออกเป็นรูปดาวหลายแฉกได้ ถ้ายิงระยะประชิดและมีกระดูกรองใต้ผิวหนังนั้น เช่น กะโหลก
- พบรอยถลอกรอบแผล จากกระสุนเสียดสีผิวหนัง
   (abrasion collar or marginal abrasion)
- พบรอยน้ำมันรอบแผล (grease ring) มักพบกรณีกระสุนสัมผัสผิวหนังโดยตรงไม่ผ่านเสื้อผ้า หรือ ตัวกลางอื่นมาก่อน
- พบเศษวัสดุชิ้นส่วนของเสื้อผ้า หรือตัวกลางอื่นที่กระสุนทะลุผ่าน
- พบองค์ประกอบที่เกิดจากการยิงบริเวณบาดแผล ได้แก่ เปลวไฟ ควันไฟ เขม่าดินปืน ที่เผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ที่มากระแทกผิวหนังเกิดลักษณะคล้ายรอยสัก หรือรอยโรยพริกไทย ซึ่งสามารถกะระยะยิงโดยประมาณได้ โดยนำปืนกระบอกที่ยิงและกระสุนชนิดเดียวกันมาทดสอบเพื่อประเมินหาระยะยิง
- กรณียิงทะลุกระดูกใต้ผิวหนัง จะทิ้งลักษณะพิเศษไว้ที่กระดูกเป็นรูรอยแตกคล้ายรูปครก (Beveling)
บาดแผลทางออกกระสุนปืนลูกโดด
- ส่วนใหญ่ลักษณะไม่แน่นอน อาจกลม รี แฉก หรือเป็นรูปเหลี่ยม ก็ได้ และมักมีขนาดใหญ่กว่าบาดแผลทางเข้า
- อาจพบเศษอวัยวะ หรือเนื้อเยื่อต่างๆ จุกอยู่บริเวณบาดแผล

บาดแผลจากกระสุนปืนลูกปราย แบ่งเป็นบาดแผลทางเข้าและบาดแผลทางออกเช่นกัน
บาดแผลทางเข้ากระสุนปืนลูกปราย มีลักษณะต่างกันตามระยะยิงดังนี้
     - ระยะประชิด เป็นรูเดียวขนาดใหญ่ ขนาดใกล้เคียงกับเส้นผ่าศูนย์กลางลำกล้องปืน (ในปืนลูกซองมาตรฐานอาจพบลักษณะเช่นนี้ได้ในระยะยิงไม่เกิน 1 เมตร) หากมีกระดูกรองใต้ผิวหนัง เช่นกระดูกแกนกลางอก กะโหลก แผลจะฉีกขาดหลายแฉกร่วมกับพบเขม่าดินปืนใต้บาดแผล หรือรอยไหม้จากเปลวไฟ ควันไฟ บริเวณรอบแผล
-  ระยะใกล้ แผลจะเป็นรูเดียวขนาดใหญ่ใกล้เคียงเส้นผ่าศูนย์กลางลำกล้องปืนร่วมกับพบเขม่าดินปืนที่เผาไหม้ไม่สมบูรณ์ กระแทกผิวเป็นสัก (Tattooing) ได้
- ระยะยิงปานกลาง แผลจะมีรูใหญ่ตรงกลางร่วมกับมี รูเล็กๆ ที่เกิดขึ้นจากเม็ดลูกปรายที่เริ่มกระจายตัวรอบๆ ไม่พบรอยเขม่าควัน หรือรอยกระแทกของดินปืน อาจพบรอยกระแทกจากหมอนรองกระสุนบริเวณบาดแผล (ประมาณระยะยิง 1-3 หลา หากยิงจากปืนลูกซองมาตรฐาน
- ระยะไกลหรือค่อนข้างไกล พบลักษณะรูบาดแผลขนาดใกล้เคียงเม็ดลูกปรายหลายรูกระจายตัว และอาจพบรอยกระแทกจากหมอนรองกระสุนบริเวณบาดแผลได้ (ซึ่งเจอได้ในระยะยิงประมาณ 2-5 เมตร)
บาดแผลทางออกกระสุนปืนลูกปราย
มีได้หลายลักษณะขึ้นอยู่กับชนิดของปืนลูกปรายที่ใช้ยิง ระยะยิง และตำแหน่งที่ถูกยิง
- กรณียิงประชิดหรือค่อนข้างใกล้  หรือถูกบริเวณที่อ่อนเช่นลำคอ จะทำให้แผลฉีกขาดขอบรุ่งริ่งและมีขนาดใหญ่ แต่หากเป็นบริเวณที่ค่อนข้างหนาเช่นลำตัว ทรวงอก บาดแผลจะเป็นรูที่เกิดจากลูกปราย โดยจะมีเม็ดลูกปรายบางส่วนค้างอยู่ ถ้าระยะยิงค่อนข้างไกล
ก็จะมีเม็ดลูกปรายส่วนใหญ่ค้างอยู่ในร่างกาย

***การนำอาวุธปืนและกระสุนที่ใช้ยิงในรายนั้นๆ มาลองยิงในระยะต่างๆ จะเป็นการประเมินที่ใกล้เคียงจริงที่สุด

 

   บาดแผลกระสุนปืนลูกโดด                  บาดแผลกระสุนปืนลูกปราย

อ่านจบแล้ว BY Jan มีคำถามค่ะ
Gunshot wound กับ Shotgun wound เหมือนหรือต่างกันหรือไม่ อย่างไร?

หมายเลขบันทึก: 449565เขียนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2011 17:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 20:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ในรูปคนถูกยิงขวามือจริงหรือแต่งคะ น่ากลัวจัง

แหวว......

ขอบคุณความรู้ครับ ... เกิดมาก็นาน เพิ่งเคลียร์เรื่องนี้จากบันทึกนี้ครับ .... ไม่เคยค้นอ่านเองเสียที วันนี้ได้รู้ชัดเจนว่า ชนิดปืน กระสุน และบาดแผล แตกต่างกัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท