ระวัง ! อย่าพยายามนั่งสมาธิ ยามมีทุกข์หนัก อันตราย


เพราะสมาธิไม่ใช่ยาบำบัดความทุกข์...แต่สมาธิคือเครื่องป้องกันการเกิดทุกข์

          ช่วงเดือนที่ผ่านมา มีญาติโยม สนทนาปรึกษาปัญหาธรรมหลายท่าน ส่วนใหญ่กำลังมีความทุกข์ ความขัดข้องใจในชีวิต ไม่พบทางออกในปัญหาที่กำลังเผชิญ บางท่านพยายามแก้ปัญหาด้วยการนั่งสมาธิ เจริญภาวนา เพื่อต้องการทำใจของตนให้สงบในยามทุกข์หนัก เพื่อจักผ่อนคลายได้บ้าง แต่ในความเป็นจริงแล้ว หากมนุษย์เรากำลังมีความทุกข์ ความวุ่นวายเกิดขึ้นในจิตแล้ว ขณะจิตมีความสับสนเป็นทุน เมื่อเราพยายามนั่งภาวนาเพื่อควบคุมความรู้สึกตนเอง ย่อมหาความสงบไม่ได้ เพราะเมื่อจิตถูกบังคับในท่ามกลางความวุ่นวาย ความทุกข์อย่างหนัก จิตยิ่งไปเพิ่มกำลังแห่งความทุกข์ที่มี ให้มีกำลังยิ่งขึ้น ยิ่งนิ่ง ยิ่งเพิ่ม เพราะจะเปิดโอกาสให้คิดแต่เรื่องเดียว ๆ เรื่องเดิม ๆ ที่ตนกำลังประสบอยู่นั้น เหมือนกับว่า รถที่กำลังวิ่งเร็วแล้วเบรคกระทันหันอย่างแรง ถ้าระบบเบรคดีก็ทำให้รถหยุดได้ แต่ถ้าหากเบรคไม่ดีย่อมทำให้เสียหลักได้

              เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะแนะนำก็คือ หากท่านกำลังมีความทุกข์ ความขัดข้องขุ่นมัว มืดมนอันธการในชีวิต อย่าพยายามนั่งสมาธิ เพราะนั่นจะเป็นการปิดตัวเองทางอารมณ์ ซึ่งอาจไม่มีที่ระบาย เหมือนหลาย ๆ ชีวิตที่พบปัญหาหลบลี้หนีสังคม ปิดตนเองไม่ยอมคบหากับใคร ๆ อย่างที่เคยเป็น สุดท้ายก็ไม่สามารถพบทางออกให้ตนเอง ทำร้ายตัวเองบ้าง ฆ่าตัวตายอย่างที่เคยเห็นมามากต่อมากแล้ว

               วิธีการ..หากท่านกำลังมีทุกข์  ขอให้พยายามดำรงชีวิต อย่างปกติ เคยคุยกับใคร เคยคบค้ากับใคร ก็ปฏิบัติตนปกติ หาทางปรึกษาปัญหาชีวิตกับเพื่อนหรือคนที่รู้ใจ ที่ท่านไว้ใจ อย่าปิดตัวเองเป็นอันขาดเพราะนั่นจะเป็นการเปิดโอกาสให้อกุศลเข้ามาครอบงำจิตอย่างรวดเร็ว อาจจะตั้งสติกำหนดรู้เหตุแห่งทุกข์ว่าเป็นเพราะอะไร มาจากไหน อะไรเป็นต้นเหตุ  และพิจารณาด้วยตนเองว่า เหตุเกิดที่ใด ก็ต้องไปดับที่เหตุนั้น ปัญหาเกิด ก็ต้องแก้ที่ปัญหาด้วยปัญญา  ทุกข์เกิดก็ต้องดับที่ทุกข์ไม่ใช่ดับด้วยชีวิต เพราะการดับชีวิตไม่ใช่การดับทุกข์ จบชีวิตจากภพนี้ชาตินี้ ก็ไปเกิดทุกข์ในภพหน้าภพใหม่ต่อไปไม่รู้จบ แถมทุกข์หนักกว่าที่เป็นอยู่ในชาตินี้อีกต่างหาก

              การที่จะได้ผล...ก็คือ การหมั่นฝึกฝน หมั่นภาวนา เจริญสมาธิอยู่เนือง ๆ อย่าได้ขาดตอน เป็นการยั่งจิตใจของเราให้มีความเข้มแข็ง มั่นคง เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นั่นเอง  หากวันใดก็ตามที่ท่านประสบกับความทุกข์ จิตที่หมั่นอบรมไว้แล้วฝึกไว้แล้วย่อมไม่หวั่นไหวได้ง่าย ย่อมทนต่อความทุกข์ในชีวิตได้ ย่อมมีสติรู้เท่าทันปัญหาที่เกิดขึ้นได้และมีปัญหารู้ทางแก้ไขอย่างถูกต้องได้นั่นเอง  จิตตัง ทันตัง สุขาวะหัง..เพราะจิตที่ฝึกดีแล้วย่อมนำความสุขมาให้..จิตที่ถูกฝึกแล้วย่อมทนรับสภาพแห่งความทุกข์ได้ หากจิตไม่เคยฝึกไว้แล้ว จะรับความทุกข์ได้อย่างไร จะพยายามไปฝึกตอนที่กำลังประสบทุกข์นั้นย่อมไม่ทันการณ์  เหมือนทหารต้องหมั่นซ้อมรบ เมื่อถึงสงครามย่อมรบได้ทันที ไม่ใช่จะไปซ้อมรบขณะศึกสงครามฉะนั้น

             ดังนั้น...การหมั่นเจริญภาวนา นั่งสมาธิอย่างต่อเนื่องทุก ๆ วัน เมื่อมีโอกาสไม่ขาดตอน ก็เท่ากับว่าเราเตรียมพร้อมและไม่ประมาทในชีวิตนั่นเอง เพราะอย่างไรเสียมนุษย์เราไม่ว่าใครทั้่งนั้นย่อมมีทุกข์กันทั้่งนั้่น ไม่ว่าจะทุกข์มาก ทุกข์น้อย แต่ไม่มีใครเลยที่เกิดมาแล้วจะไม่มีทุกข์ เมื่อเราทราบว่าจะพบกับความทุกข์ ก็หาทางป้องกัน เตรียมความพร้อมด้วยตนเอง ด้วยความไม่ประมาทเถิด..เพราะเมื่อถึงคราวที่ทุกข์มาเยือนจะได้เห็นทุกข์อย่างเท่าทันกันเถิดฯ

ขอเจริญพร

ท่านคมสรณ์/อินเดีย

๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๔

หมายเลขบันทึก: 449515เขียนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2011 14:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เรียนพระคุณเจ้าครับ

หากใช้การกำหนดรู้ว่า "ทุกข์หนอไปเรื่อยๆ จะได้ไหมครับ ดีหรือไม่ดีอย่างไร" โปรดอนุเคราะห์ด้วยครับ

เจริญพรคุณโยมโสภณ

การมีสติกำหนดรู้ตัวทุกข์ ว่าทุกข์หนอ ๆ ก็เป็นการกำหนดรู้ทุกข์ ทุกข์กำลังเกิด ก็สามารถปฏิบัติได้ แต่เมื่อรู้ว่าเป็นทุกข์ก็ควรกำหนดละ และต้องกำหนดต่อไปเรื่อย ๆ จนรู้ตัวว่า ละตัวทุกข์นี้ได้แล้ว ก็จักเป็นการปฏิบัติธรรมตามหลักที่พระพุทธองค์แสดงไว้ใน พระธรรมจักรกัปปวัตนสูตร

ขอเจริญพร

เรียนพระคุณเจ้า

ผมกลับเห็นต่างออกไป ถ้าจิตมีสมาธิแล้วมองเห็นทุกข์ เห็นที่มาที่ไปของความคิดความเชื่อ

ที่ทำให้ทุกข์ ทุกข์คงจะคลายลงจากที่เราเห็นมัน แต่เห็นด้วยครับว่าไม่ควรหมกหมุ่นนั่งสมาธิ ความทุกข์

ทำให้คนเราเติบโต สมาธิก็น่าจะนั่งได้ถ้ารู้วิธี นั่งดูความคิด ไม่ใช่นั่งคิดเลยเถิดไป แต่ถ้าให้ดีควรมีผู้แนะนำ

ก็จะดี แต่ถ้าปฏิบัติเองโดยไม่ทราบวิธีที่ถูกต้อง ตามอารมณ์ความคิดไม่ทันก็อาจเป็นปัญหาได้

เจริญพรคุณหมอศักดิ์

สมาธิที่ที่ฝึกดีแล้ว ตั้่งมั่นด้วยดีแล้วย่อมเห็นความเป็นจริงตามกองทุกข์ทั้งปวงได้..

แต่สมาธิ ที่พยายามเจริญในช่วงที่มีทุกข์ ย่อมไม่อาจเจริญขึ้นมาได้เพราะเหตุแห่งการไม่ฝึกฝนไว้แต่ก่อน...

เจริญพร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท