บทความน่ารู้


สร้างบ่อเก็บน้ำ
บทความเรื่องการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำ มาเล่าสู่กันฟังตอนที่ 4ว่าด้วยเรื่องน้ำ ต้นทุนจากบ่อจิ๋ว (Nano-cistern) กับการแก้ปัญหาน้ำของชาติ---------------------------------- 

                การพัฒนาประเทศในระดับรากหญ้า (grassroots)  ต้องเป็นความต้องการจริงๆ ของประชาชน ผู้อยู่ในพื้นที่นั้นๆ  จากแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่เริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2504 ซึ่งเป็นแผนฉบับที่ 1  เป็นการมุ่งสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การลงทุน การกระจายสาธารณูปโภคพื้นฐาน กระจายรายได้ การสร้างเสถียรภาพมุ่งเน้นไปด้านเศรษฐกิจ  แต่กลับส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ว่าถูกต้องก็ต้องว่าไม่ใช่  จะว่าผิดทิศทางก็ไม่เชิง  เพราะการวิเคราะห์อนาคตนั้นเป็นเรื่องยาก เพราะมองไม่เห็น  ดังนั้น ธรรมชาติ ป่าไม้ ทรัพยากร ทุกชนิดจึงถูกนำมาใช้อย่างมากมาย  เป็นการใช้อนาคตล่วงหน้า  ก่อให้เกิดปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ ตามมา  เป็นการมุ่งพัฒนาด้านกายภาพของประเทศ Infra Structure   นั้นมีถนนหนทาง  การคมนาคม  ไฟฟ้า  ถ้าสร้างความรู้ให้แก่คนที่ต้องพัฒนาไปตามนั้น  โดยเฉพาะด้านจิตใจที่เป็นสหจิต (consensus) หรือสังคมประกฤติ คือเข้าใจว่าไฟฟ้า ถนน มีมาให้ทำอะไร  แต่เกือบทั้งหมดกลายเป็นการพัฒนาที่ไม่เป็นจริง  มีไฟฟ้าต้องมีเครื่องอำนวยความสะดวก ตู้เย็น พัดลม วิทยุโทรทัศน์ ถนน ก็พากเพียรไปหาซื้อรถยนต์มาใช้ หนี้สินก็เกิด ไฟฟ้าแทนที่จะใช้ทำงานเพาะปลูก จักสาน หรืองานต่างๆ  ก็กลายเป็นไปดูโทรทัศน์ดึกๆ งานไม่ทำ ตื่นสาย อ่อนเพลีย  รถยนต์ก็เพิ่มภาระค่าใช้จ่าย หนี้สินก็ตามมา  ถ้ารู้จักใช้ประโยชน์จากโครงสร้างที่ให้ก็จะมี  แต่เพราะการขาดผู้นำ ผู้แนะ และการทำความเข้าใจที่แท้จริง จึงเป็นปัญหามาอย่างต่อเนื่องจนครบแผน 8  หากว่ากันไปก็ต้องกลับมาคิดใหม่ทำใหม่ เพื่อทดแทนสิ่งที่ถูกกลืนไปกับความเจริญทาง Westernization  เรามาดูทางตะวันออก ภูมิปัญญาของชาวเอเชียว่าเก่งกล้ามากเพียงใด  สิ่งมหัศจรรย์ของโลกอยู่ที่ไหน  อารยธรรมต้นๆ ของโลกอยู่ที่ไหน  สังคมอุตสาหกรรมนั้นเกิดจากวงล้อที่เปรียบเสมือนกงล้อแห่งประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงของมนุษยชาติ (โปรดศึกษาจากประวัติศาสตร์โลก)

                มาดูหัวข้อที่กล่าวไว้เบื้องต้นในเรื่องบ่อจิ๋ว (Nano cistern)  กันอีกครั้ง  ถ้าท่านเข้าใจเทคโนโลยีจิ๋ว (Nano-technology) ท่านก็จะเริ่มเข้าใจที่พูดว่าบ่อจิ๋วได้เพราะเป็นการเทียบกับจำนวนมหาศาลคือ 1 ในพันล้านส่วน  บ่อจิ๋วก็จะเป็นเสมือน 1 ในล้านของเขื่อนขนาดใหญ่นั่นเอง  อย่าไปคิดมากว่าเป็นวิทยาศาสตร์ที่ต้องทำกันในห้อง Lab

                ในแผนพัฒนาประเทศมีการดำเนินการโดยฝ่ายรัฐบาลเป็นหลัก  รัฐทำให้ประชาชนโดยเฉพาะหากศึกษาข้อมูลต่างๆ ให้ดี  โครงการเงินผันสมัยปี 2518 จำนวน 2500 ล้าน  ชนบททุกแห่งรับเงินกันไป  ถนน คลอง บ่อ ดูกันให้ลึกๆ  การบริหารจัดการของสภาตำบลในสมัยนั้น พูดว่าไม่โปร่งใส  ที่ขุดกัน เบิกเงินจัดจ้างกันซ้ำซาก  บางหมู่บ้านถ้าทำจริงๆ  คงกลายเป็นสระน้ำไปทั้งหมดแล้ว  เพราะการเบิกจ่ายเงินค่าขุดมันมากพอจะทำให้กลายเป็นบึงน้ำขนาดเท่าหมู่บ้านได้ แล้วทุกวันนี้มีเหลือให้เห็นอะไรบ้าง มีแต่ขาดการบำรุงรักษา

                นั่นเป็นเพราะอะไร

                คำตอบเพราะมิใช่ความต้องการพื้นฐานจากใจจริงของผู้รับบริการ คือ ประชาชน ซึ่งนักการเมือง นักคิด หรือกลุ่มอนุรักษ์ NGOs  ก็บอกว่าประชาชนคือเจ้าของประเทศ  ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน  หากว่าเขามีผู้นำในหมู่บ้านที่ดี  ในตำบล อำเภอ จังหวัด  ชี้แนะแนวทางที่ถูกต้อง  ใช้ประโยชน์จากสิ่งที่ให้  เป็นของที่พัฒนาให้เกิดผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ การสร้างความเข้าใจให้ประชาชนผู้รับประโยชน์ต้องเข้าใจว่ารัฐเสริม ราษฎร์ลงมือ รักษาสมบัติสาธารณะที่มีให้คงอยู่ ไม่ทำลายความคิดดีๆ  สิ่งดีๆ  รัฐได้มอบให้แล้วอย่างมากมาย  แต่ผู้รับคือประชาชน  ไม่อาจจะรับได้ รักษาไว้ได้  ที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้าน แหล่งน้ำสาธารณะ  ถนนหนทาง ฯลฯ  ไม่คำนึงถึงมูลค่าที่ได้ลงทุนให้  ถ้าเราสร้างจิตสำนึกให้เกิดความเข้าใจ รักษา ดูแล ร่วมมือ ร่วมใจ ร่วมประสานความคิดให้ได้ผลก็จะเกิดต่อประเทศชาติได้

                ย้อนมาดูแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 8 (2540-2544)  มาเน้นเรื่องคนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาทั้งปวง  แทนการเน้นด้านเศรษฐกิจ หรือแม้แต่รัฐธรรมนูญปี 2540  ก็มีเรื่องการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ประชาชนมีสิทธิมีเสียงในการพัฒนาประเทศ  มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ  เพราะผลสุดท้ายของการพัฒนาจะตกอยู่กับประชาชน  ซึ่งเป็นรากหญ้าของประเทศ  เป็นผู้ต้องอยู่กับธรรมชาติ  และได้รับผลกระทบจากธรรมชาติใกล้ตัว  สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปตามการพัฒนาตกอยู่กับผู้อยู่ในพื้นที่นั้นๆ

                ถ้ามาดูแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับปัจจุบัน แผน 9  รัฐมาเน้นเรื่องการบริหารจัดการที่ดี  โดยมีประชาชนมีส่วนร่วม เสริมรากฐานของสังคมไทย  รัฐบาลได้มีการจัดการปรับเปลี่ยนระบบบริหารจัดการประเทศ  เปลี่ยนระบบราชการใหม่ จัดกระบวนการ จัดทำยุทธศาสตร์ การพัฒนาประเทศ การจัดทำงบประมาณ เน้นมุ่งผลงาน (Outcomes)  ให้เห็นผล  มีการลดจำนวนข้ารัฐการ (คนรับเงินเดือนจากรัฐ)  จัดองค์กรต่างๆ ให้มีการบริหารที่รวดเร็ว โปร่งใส เป็นธรรม เรามาดูผลกันต่อไป

                พูดกันไปยาวแล้วเรื่องแผนพัฒนาการเศรษฐกิจฯ  มาย้อนต้นเรื่องการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำกันจักดีกว่า  ว่าทำอย่างไรจะทำให้ประชาชนทุกคนเห็นคุณค่าของสมบัติส่วนรวมที่ต้องเริ่มต้นมาจากทุกคน  เห็นคุณค่าของจิตใจ  คิดเป็นประโยชน์สาธารณะ  เห็นสมบัติของชาติ  ต้องร่วมกันรักษาป่าไม้ บึง สระน้ำ คลอง แม่น้ำ  ทุกคนต้องรักษา  อันเป็นต้นทุน ทุนสำหรับชีวิตของการเริ่มต้นการดำรงชีวิต  ย่อลงไปให้เข้าเรื่องที่พูดคือ น้ำ  น้ำเป็นต้นทุนของชีวิต  มาพูดในแง่เศรษฐศาสตร์  เพื่อให้ท่านที่มีการศึกษาระดับสูงเข้าใจว่าทุนคืออะไร  การประกอบการทุกชนิดต้องมีทุนเป็นเงิน มีวัสดุ มีคน ฯลฯ  ยิ่งมีทุนมากก็สามารถดำเนินการทางธุรกิจได้มาก  จะทำอะไรก็ต้องมีทุน  โดยเฉพาะถ้าทำไปแล้วก็ต้องมีทุนสำรอง  ถ้ามองให้ใหญ่ในระดับประเทศ  รัฐบาลก็ต้องมีทุนสำรองระหว่างประเทศ  มีทุน มีเงินใช้  พูดมาแค่นี้คงเข้าใจแจ่มแจ้งแล้ว  แต่ที่เน้นในบทความนี้คือ ทุนของชีวิต  นั่นคือน้ำ  เพราะน้ำเป็นจุดเริ่มของการดำเนินกิจกรรมทุกอย่างของชีวิต  ทั้งการอุปโภคบริโภค  การเกษตรกรรม  อุตสาหกรรม  ท่องเที่ยว  ฯลฯ  แล้วเราจะมาสร้างทุนได้อย่างไร  เพราะปัจจุบันปัญหาในเรื่องการเพิ่มของประชาชน  การขยายที่ทำมาหากิน  การขยายของเมือง  ปัญหาการใช้ทรัพยากรธรรมชาติจนร่อยหรอลงจนต้องรีบแก้ไขเพราะเมื่อเราทำลายธรรมชาติไปมากๆ  ธรรมชาติต้องทำลายมนุษย์เช่นกัน  ถ้าเรามีแหล่งทุนของชีวิตคือน้ำ  การพัฒนาต่างๆ ก็จะตามมา    ทุกวันนี้เราจะเห็นแม่น้ำลำธาร  สระน้ำ  บึงใหญ่  ว่ามีน้ำ  แต่ในสายน้ำต่างๆ  มีภาวะของการเสื่อมสภาพของน้ำอันสืบเนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรม น้ำเสียจากชุมชน น้ำยาสารเคมีจากการเกษตรแผนใหม่  ยากำจัดวัชพืช  ฯลฯ  ทำให้ภาวะน้ำเสื่อมสภาพไปเป็นอย่างมาก  การทำลายต้นน้ำคือ ป่าไม้ในบริเวณภูเขาต่างๆ  ทำให้ไม่มีที่ชุ่ม(อุ้ม)น้ำ  เกิดการไหลบ่าที่รุนแรง ทำลายหน้าดิน  กัดเซาะพังทลายพัดพาตะกอน ถมบ่อ คลอง บึงธรรมชาติ ที่สร้างปัญหาน้ำท่วมอันเป็นที่ทราบกันอยู่ในปัจจุบัน  เราต้องช่วยกันแก้ไขต่อไป  ความเชื่อ ความศรัทธาที่แน่แน่วจะเป็นพลังให้สำเร็จได้

                แล้วเราจะมาสร้างทุนคือน้ำ ได้อย่างไร  จากธรรมชาติที่ถูกทำลายไปจะคืนมานั้นคงยากจนถึงขั้นไม่สามารถทำได้อีก  แต่นั่นไม่ต้องห่วงเพราะเรามีข้อเสนอที่เป็นทางแก้ให้แล้ว นั่นคือการขุดบ่อจิ๋ว (Nano-cistern)  ให้ได้มากที่สุด  แล้วเราจะต้องทำให้ประชาชนทุกคนที่มีที่ดินตั้งแต่ 1 ไร่ขึ้นไปจัดทำบ่อกักเก็บน้ำไว้ใช้สำหรับตนเอง  ต้องสร้างทัศนคติว่า การจะให้ใครช่วยนั้นต้องช่วยตัวเองก่อน มีที่ดินต้องมีทุนคือน้ำสำหรับปลูกต้นไม้ทำการเกษตรกรรม หรืออุตสาหกรรม  ต้องมีทุนคือบ่อน้ำในพื้นที่นั้น  เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เข้าหลักการว่าเรามีทุนแล้ว ย่อมนำไปลงทุนเพื่อสร้างผลผลิตหรือรายได้ให้กับตนเอง  หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ  จนถึงระดับประเทศต่อไป  เห็นคุณค่าของทุนคือน้ำแล้วหรือยัง  เน้นว่า น้ำคือชีวิต

                หลักการที่กล่าวมาแล้ว  บ่อจิ๋วที่จะขุดขึ้นนั้น  หลักการ ป่าไม้ 2 ส่วน น้ำ 1 ส่วน รูปร่างหน้าตากว้างลึกอย่างไรไม่ว่ากัน แต่ต้องเป็นน้ำ 1 ป่าไม้ 2  มีที่มากก็ขุดมาก  ขุดให้เพียงพอต่อการนำน้ำขึ้นมาใช้ ร่วมใจกันทำ  ทุกคนที่มีพื้นที่และต้องการนำมาใช้ต้องสละที่ดินเพื่อขุดบ่อจิ๋ว และปลูกป่าไม้ริมบ่อน้ำด้วย กันดินพังทลาย และใช้ประโยชน์จากป่าที่ปลูกนั้นๆ  เช่น ไม้กินได้ ไผ่ ฯลฯ

                คนมีเงินก็ต้องช่วยเงิน  รัฐบาลก็ต้องช่วยโดยมีเงื่อนไขว่า ขุดให้แล้วต้องรักษาและใช้ประโยชน์  ถ้าทำกันได้จริงๆ  นำไปลงกินเนสบุ๊คส์ ไปเลยว่าเราทำได้  การจัดกักเก็บน้ำมีน้ำต้นทุนทั้งบนผิวดินและซึมลึกลงไปสู่ใต้ดิน  เป็นน้ำบาดาลอีกทางหนึ่ง คนมีความรู้ต้องช่วยคิด  เมื่อประชาชนระดับ grassroots  มีทุนสำรองของชีวิต คือน้ำแล้ว  เราต้องมาช่วยกัน เปลี่ยนน้ำใจให้เป็นน้ำจริง  เปลี่ยนน้ำเงินให้เป็นน้ำจริง เป็นแหล่งต้นทุนให้แก่ชีวิตให้ได้  ประโยชน์มากมายจากน้ำ ทุกคนก็รู้  การแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ  น้ำท่วม  น้ำแล้ง  ก็จะลดปัญหาลงไปเป็นลำดับ  ความร่ำรวยก็จะคืบคลานมาหาประชาชนผู้อยู่บนแผ่นดินไทย  ตามที่ท่านนายกทักษิณพูดอยู่เสมอๆ ว่า ไม่เกิน 6 ปี  ไม่มีคนจน

                ที่ต้องอัญเชิญมาก็คงเรื่องพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  เรื่อง ภัยแล้งหรืออุทกภัย  เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง  ทฤษฎีใหม่ที่สามารถนำมาเป็นแนวปฏิบัติของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ ซึ่งจะสร้างความเจริญ  ความมีกินมีอยู่ของประชาชน  ความยากจนก็จะลดลง  ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรจะผ่อนคลายไปเป็นลำดับ

                เราต้องมาร่วมกันหาหนทางสร้างทุนคือน้ำและบ่อจิ๋ว (Nano-cistern)  จะเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำได้อีกทางหนึ่ง

                ในฉบับต่อไปจะพูดถึงสิ่งแวดล้อมไทยกันบ้างว่าเป็นอย่างไร

  

นายทันดร   ธนะกูลบริภัณฑ์

10     ธันวาคม  2546

       
คำสำคัญ (Tags): #แก้ไขปัญหาน้ำ
หมายเลขบันทึก: 44943เขียนเมื่อ 16 สิงหาคม 2006 16:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท