การเขียนคำที่ออกเสียงอะ


หลักการเขียนคำที่ออกเสียง อะ

หลักการเขียนคำที่ออกเสียง อะ 

             การเขียนคำที่ออกเสียง อะ เขียนได้ ๒ วิธี คือ ประวิสรรชนีย์ เช่น สะดวก สะอาด และไม่ประวิสรรชนีย์ เช่น ตวาด ชอุ่ม สบู่  เป็นต้น  คำที่ประวิสรรชนีย์มีหลักในการสังเกต   ดังนี้

               ๑.  คำไทยแท้ทุกคำที่ออกเสียง อะ ให้ประวิสรรชนีย์ เช่น กะทิ กระพรวน กระทะ ปะขาว ทะนง ทะนาน มะลิ กระชับ ตะแคง ชะลอ ละไม คะมำ ตะโกน ขยะ ขะมุกขะมอม

               ๒.  คำซึ่งเกิดจากการกร่อนเสียงมาเป็นเสียง อะ ให้ประวิสรรชนีย์ ดังนี้

                   ๒.๑  กร่อนเสียงจาก ต้น เป็น ตะ เช่น         ต้นเคียน                เป็น    ตะเคียน ต้นไคร้     เป็น ตะไคร้   ต้นแบก  เป็น ตะแบก     ต้นคร้อ   เป็น   ตะคร้อ ฯลฯ                                           

                   ๒.๒  กร่อนเสียงจาก หมาก เป็น มะ   เช่น หมากเฟือง  เป็น  มะเฟือง

หมากม่วง      เป็น  มะม่วง  หมากพร้าว เป็น  มะพร้าว   หมากดัน       เป็น       มะดัน  ฯลฯ

                  ๒.๓  กร่อนเสียงจาก ตัว เป็น ตะ เช่น     ตัวเข้            เป็น        ตะเข้ ตัวเข็บ  เป็น         ตะเข็บ     ตัวกวด  เป็น     ตะกวด

                  ๒.๔  คำ ๒ พยางค์ อื่น ๆ ซึ่งเกิดจากการกร่อนเสียงก็ให้ประวิสรรชนีย์ทั้งสิ้น เช่น ตะปู (ตาปู)   ตะวัน (ตาวัน)   สะดือ (สายดือ)   สะใภ้ (สาวใภ้)  ฉะนั้น (ฉันนั้น)  ฉะนี้ (ฉันนี้)

นอกจากนี้คำกร่อนจากคำซ้ำ (อัพภาส) เป็นเสียงอะในคำแรก ซึ่งเป็นคำซ้ำในคำประพันธ์ ให้ประวิสรรชนีย์ เช่น ยะยิบ (ยิบยิบ)  ระเรื่อย (เรื่อยเรื่อย)  ระรัว (รัวรัว) ฯลฯ

                  ๒.๕   คำที่มี ๓ พยางค์ ซึ่งออกเสียง อะ ในพยางค์ที่ ๒ มักประวิสรรชนีย์ เช่น รัดประคด บาดทะยัก เจียระไน สับปะรด คุดทะราด เป็นต้น

                  ๒.๖  คำที่ยืมจากภาษาบาลี - สันสกฤต ถ้าออกเสียงอะที่พยางค์ท้ายของคำ    ให้ประวิสรรชนีย์ที่พยางค์ท้ายของคำนั้น เช่น สาธารณะ ลักษณะ สรณะ อิสระ สัมปชัญญะ พละ อักขระ ภาชนะ ฯลฯ

ตัวอย่างคำที่ประวิสรรชนีย์

ชะตา  ชะงัก สะคราญ ทะนง คะนึง สะอื้น สะดุด สับปะรด สะอาด สะพาน ชะล่า สะกด จะละเม็ด ฉะนั้น มักกะสัน ประณีต พะทำมะรง สะเพร่า สะพัด สะบัด สะระตะ สะระแหน่ สะอิดสะเอียน สะลึมสะลือ จระเข้ สะตอ ตะลีตะลาน ตะลุมบอน ตะขิดตะขวง ชะรอย ซังกะตาย ธุระ  ศิลปะ  อารยะ สัจจะ ละเอียด รำมะนาด อังกะลุง กะจ้อยร่อย  กะทกรกกะหนุงกะหนิง  กะโหลก   กระจก   ขะมักเขม้น   ขะมุกขะมอม   คะนอง คะแนนจระเข้  จะละเม็ด  ฉะฉาน  ฉะนั้น  ชะงัก   ชะเง้อ  ตะกร้อ  ตะบองเพชร  ตะเพิด ทะมัดทะแมง   ทะลาย (ช่อมะพร้าว) บะหมี่

 

ตัวอย่างคำที่ไม่ประวิสรรชนีย์ 

อารยธรรม ศิลปกรรม ธุรกิจ คณบดี อิสรภาพ ปิยมหาราช พลศึกษา อาชีวศึกษา จริต จรุง ลออ สบาย สูบ่ ขมา ปรัมปรา พนัน ทมิฬ ตวัด ฉบับ ฉบัง ฉมัง ฉวัดเฉวียน สลัว  สลอน สลอด สลวย สลัก สราญ สลุต สว่าน เสนาะ อหังการ อสรพิษ ทวาร ฉลาด ถวิล ชโลมกลาโหม  กษัตริย์ขจัด  ขจี  ขยุกขยิก  คชาธาร  ฆราวาส  จริต  ฉวัดเฉวียน  ฉลุ  ณรงค์  เตลิด  ถลำ  ทมิฬ  ทวาย ทวีป  ธนาณัติ  ผกา  พยากรณ์  ภมรรโหฐาน  ลลนา  วสันต์  สกาว  สดมภ์  สถูป  สลาตัน

                                      หลักภาษาไทยเล่ม ๓ กระทรวงศึกษาธิการ

 

บัตรกิจกรรมกลุ่ม

เรื่อง การเขียนคำออกเสียง อะ

คำชี้แจง   ๑. ให้นักเรียนแข่งขันตอบปริศนาในข้อต่อไปนี้ เขียนคำสะกดที่ถูกต้องให้รับ  กับความหมายของคำในกลอนแต่ละวรรค  โดยใช้คำที่ออกเสียง อะ กึ่งมาตรา ไม่ประวิสรรชนีย์

                 ๑.  “สะ”  อะไรคนนำไปถวายพระ………………………

                 ๒. “สะ”  อะไรใช้ชำระฟอกล้างถู………………………..

                 ๓.  “สะ”  อะไรคือใจรื่นชื่นชู…………………………….

                 ๔.  “สะ”  อะไรยอดพธูห่มวิไล………………………….

                 ๕.  “สะ”  ใดเป็นวิธีจับผู้ร้าย…………………………….

                 ๖.  “สะ”  ใดหมายความว่าขาวและสดใส………………..

                 ๗.  “สะ”  ใดแปลว่าฟังอย่างตั้งใจ………………………

                 ๘.  “สะ”   คำไหนแปลว่าข้างขวาเอย…………………….

             ๒.  จงเติมคำสองพยางค์ลงในช่องว่างในโคลงสี่สุภาพต่อไปนี้  โดยสะกดให้ถูกต้องและให้รับสัมผัสหรือให้เข้ากับโคลงแต่ละวรรค ให้พยางค์แรกขึ้นต้นด้วย สะ

                                      ………….ใช้ทอดข้าม             ธารา

                                       ………….ตรงเอวพา              ………..

                                       …………จิตวาจา                   กายก่อ  สุขเฮย

                                       …………มีม่านมุ้ง                 จัดไว้รับรอง

เฉลยบัตรคำตอบกิจกรรม

เรื่อง การเขียนคำออกเสียง อะ

๑.  “สะ”  อะไรคนนำไปถวายพระ………………………สบง

           ๒. “สะ”  อะไรใช้ชำระฟอกล้างถู………………………..สบู่

           ๓.  “สะ”  อะไรคือใจรื่นชื่นชู…………………………….สบาย

           ๔.  “สะ”  อะไรยอดพธูห่มวิไล………………………….สไบ

           ๕.  “สะ”  ใดเป็นวิธีจับผู้ร้าย…………………………….สกัด

           ๖.  “สะ”  ใดหมายความว่าขาวและสดใส………………..สกาว

           ๗.  “สะ”  ใดแปลว่าฟังอย่างตั้งใจ………………………สดับ

           ๘.  “สะ”   คำไหนแปลว่าข้างขวาเอย…………………….สดำ

      ๒.  จงเติมคำสองพยางค์ลงในช่องว่างในโคลงสี่สุภาพต่อไปนี้  โดยสะกดให้ถูกต้องและให้รับสัมผัสหรือให้เข้ากับโคลงแต่ละวรรค ให้พยางค์แรกขึ้นต้นด้วย สะ

                           สะพาน ………….ใช้ทอดข้าม             ธารา

                           สะกิด………….ตรงเอวพา              ………..สะดุ้ง

                           สะอาด…………จิตวาจา                   กายก่อ  สุขเฮย

                           สะดวก…………มีม่านมุ้ง                 จัดไว้รับรอง

หมายเลขบันทึก: 448449เขียนเมื่อ 10 กรกฎาคม 2011 19:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

คุณครูเดี๋ยวนี้ทันสมัยจริง ๆ ครับ ที่สามารถนำ ICT มาใช้ประกอบการเรียนการสอนได้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท