กระบวนการสร้างครูที่เพลินกับการพัฒนา (๑๕) : มองมุมใหม่


 

ภาคเรียนนี้นักเรียนชั้น ๑ เรียนรู้เรื่องของสิ่งมีชีวิต และสิ่งไม่มีชีวิต คุณครูโอ่ง – นฤนาท สนลอย และคุณครูเอม – ภานุมาศ จีรภัทร จึงได้ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ให้เด็กๆ ได้ทำการสำรวจพื้นที่ในโรงเรียนเพื่อเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง

 

ก่อนออกไปทำกิจกรรม คุณครูเริ่มต้นด้วยการเล่าประวัติของชาร์ลส์  ดาร์วิน ตั้งแต่ตอนเด็กๆ จนกระทั่งถึงตอนที่เขาเดินทางออกสำรวจนอกเกาะอังกฤษให้ฟังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานสำรวจ  จากนั้นจึงอธิบายขั้นตอนในการสำรวจ  วิธีใช้ และวิธีการดูแลอุปกรณ์ต่างๆ ได้แก่

  • กรอบกำหนดพื้นที่ ที่ทำจากท่อร้อยสายไฟสีเทา ขนาด ๕๐ x ๕๐ ซม.
  • แว่นขยาย
  • กล่องเก็บตัวอย่าง
  • พลั่วขุดดิน
  • ถาดใส่ของ
  • แผ่นรองเขียน
  • กระดาษ ๘๐ ปอนด์ สำหรับบันทึกภาพ

 

โจทย์สำหรับวันนี้คือ ให้นักเรียนเลือกพื้นที่ที่คิดว่าจะได้พบกับสิ่งต่างๆ มากที่สุด  พร้อมทั้งให้ทำการสังเกต เก็บตัวอย่าง และบันทึกอย่างละเอียด โดยใช้เวลา ๑๕ นาที

 

แล้วเด็กๆ ก็พากันออกเดินทางไปสำรวจพื้นที่นอกห้องเรียนกันเป็นกลุ่มๆ กลุ่มละ ๕ คน  

 

การสังเกต การสำรวจ และการจดบันทึกเป็นทักษะสำคัญที่ต้องฝึกฝน เนื่องจากเป็นทักษะที่สำคัญต่อการเรียนรู้ และการสร้างความรู้ ไม่เพียงแต่ในวิชาวิทยาศาสตร์เท่านั้น การเรียนรู้ในลักษณะนี้ทำให้ครูได้เห็นเด็กได้ดีว่าเด็กคนไหนมีทักษะมากน้อยเพียงไร

 

ตอนที่ให้นำเสนอว่าใครไปสำรวจที่ไหน ได้พบอะไรบ้าง เด็กบางกลุ่มไม่พบสัตว์เลยก็จะได้วิธีการหาความรู้ที่เป็นความรู้ปฏิบัติจากเด็กกลุ่มนี้ว่าให้ทำอย่างนี้ ไปตรงนี้แล้วจะได้พบกับตัวนั้นตัวนี้นะ

 

การมีกรอบกำหนดพื้นที่มาช่วยกำหนดให้ความสนใจของกลุ่มชัดเจน  มีแว่นขยายช่วยขยายการรับรู้ให้เกิดขึ้นมากกว่าที่เคย มองเห็นสิ่งต่างๆ ได้ชัดเจนขึ้น ทำให้ความเข้าใจแจ่มชัดขึ้น  กล่องเก็บตัวอย่างก็ช่วยให้พวกเขาประณีตกับงานที่ทำมากขึ้น เพราะทุกคนต้องมั่นใจแล้วว่าพวกเขาได้ทำความรู้จักกับทุกอย่างที่เก็บเข้าไปในกล่องนั้นเป็นอย่างดี จนสามารถอธิบายให้ทุกคนฟังได้ว่า สิ่งนี้คืออะไร ได้มาจากไหน มีลักษณะอย่างไร

 

กิจกรรมนี้ช่วยให้ครูได้เห็นเด็กในมุมใหม่ว่า ส่วนใหญ่แล้วเด็กที่มีทักษะการสังเกตที่ดี ไม่ใช่เด็กที่เรียนเขียนอ่านเก่ง  เมื่อกลับมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในชั้นเรียน เด็กกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่มีอะไรมาแลกเปลี่ยนมากมาย ทำให้เด็กได้ค้นพบตัวเองว่าเขาก็ทำอะไรได้หลายอย่าง ในขณะที่เพื่อนๆ ก็ได้เรียนรู้ว่าจะไปเรียนรู้อะไรจากเพื่อนได้บ้าง ช่วยให้เกิดการมองตัวเอง รวมถึงการมองเห็นเพื่อนในมุมใหม่ด้วย

 

ประวัติชาร์ลส์ ดาร์วิน พร้อมทั้งรูปภาพของเขาในวัยเด็ก  รวมถึงอุปกรณ์ในการสำรวจ และการวางแผนการสำรวจที่ครูเตรียมมาก่อน ล้วนเป็นเครื่องช่วยให้การเรียนรู้ของวันนี้มีพลัง และส่งเสริมให้เด็กได้ขับเคลื่อนการเรียนรู้ด้วยตัวเอง เพื่อสร้างความรู้ และการทำความรู้จักกับวิธีการเรียนรู้ในมุมมองใหม่ด้วยตัวของเขาเอง

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 447686เขียนเมื่อ 6 กรกฎาคม 2011 12:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

น่าสนุกดีจังค่ะ ...

ทำให้นึกถึงตอนเด็ก ๆ การได้ออกไปในดง(คล้ายป่าเล็ก ๆ) หน้าบ้าน มีความสนุกมาก ๆ ชมนกชมไม้ไปเรื่อย ของเล่น คือ พืชพันธ์ละแวกนั้น อาทิ ใส้ในของดอกพู่ระหง จะมีเมือกเหนียว ๆ เอามาติดปลายจมูกทำเป็นงวงช้าง ...

เด็ก ๆ อาจจะไม่ได้เจอธรรมชาติเฉกเช่นสมัยก่อน แต่ก็ถือว่ามีโอกาสที่ดีกว่านั่งเรียน

สวัสดีครับครูใหม่ ครูโอ่ง ขอบคุณที่บอกเล่าเรื่องราวการเรียนรู้ดีๆของเด็กๆประถมต้น แรงบันดาลใจที่ดีๆเหล่านี้ ช่วยทำให้เด็กๆตั้งเข็มทิศฉันทะได้อย่างประสบความสำเร็จได้จริง และจะอยู่ในใจของพวกเขาตลอดไป ทำให้ผมนึกไปถึงภาพยนตร์ของ BBC ในช่วงครบรอบ 200 ปี ดาร์วิน เล่าเรื่องชีวิตที่ยากลำบากและขัดแย้งของดาร์วินตอนที่เขากำลังเขียน The Origin of Life หนังสือนอกรีตในยุคนั้นที่กลายมาเป็นต้นธารแห่งวิวัฒนาการอันโด่งดัง แต่ที่ผมประทับใจคือการเลี้ยงลูกของดาร์วิน โดยเฉพาะลูกสาวคนโต ในทัศนะของผมคิดว่าลูกสาววัย 10 ขวบคนนี้แหละ คือผู้จุดประกายและเป็นกำลังใจให้ดาร์วินเขียนงานที่ยิ่งใหญ่ให้กับโลกนี้ได้ สายตาที่เปี่ยมไปด้วยความตื่นเต้นของพ่อเมื่อได้อธิบายเรื่องราวต่างๆในแทบทุกมุมโลกที่เดินทางไปให้ลูกสาวผู้ใคร่รู้ คนเป็นพ่อย่อมทุ่มเทประสบการณ์ทุกซอกหยักสมองเมื่อได้สอนลูกที่กระหายความรู้อย่างแอนนี่ เหมือนมหาสมุทรที่ถมไม่มีวันเต็ม ในมุมของคนเป็นพ่อ ดูจบผมอยากแสดงโลกให้ลูกอย่างดาร์วินขึ้นมาทันที ผมเชื่อว่าหากคุณครูได้ดู และอยากสอนเด็กอย่างที่ดาร์วินสอนลูก ก็ไม่ต้องห่วงเรื่องการศึกษาของชาติแล้ว .........

พิชิต

ขอบคุณค่ะ คุณแม่ลูก2 และคุณพ่อพิชิต

ปิดเทอมนี้เราจะหาภาพยนต์ของ BBC ที่แนะนำไว้มาดูกันค่ะ จะได้มีแรงไปสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กๆ เพิ่มเติม :)

ครูใหม่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท