มีเสียงหนึ่งกำลังดังขึ้นจากข้างใน


จนกระทั้งความทรงจำของผมปลดปล่อยบทสนทนาออกมา ผมพยายามตั้งใจฟัง ไม่ชัด ไม่ชัด ไม่ชัด และสุดท้ายผมก็ปล่อยให้ตัวผมเองและเขายกบทสนทนาเงียบๆ ให้พูดคุยกันอยู่แค่สองคน

มีเสียงหนึ่งกำลังดังขึ้นจากข้างใน

บนผืนผ้าสีฟ้าอ่อนที่ใช้คลุมฟูกขนาดเท่าตัวของผมได้มั้งที่ผมนอนทับมันอยู่ เหนือร่างผมขึ้นไปเป็นช่องว่างของเสรีภาพที่ผมพยายามจะด้นจินตนาการที่ผมต้องวาดเขียนทิ้งไว้บนพื้นนภาสีดำ ช่างมือมิดเกินไปและเงียบสงัดเกินไปในราตรีนี้ เหมือนโลกทั้งใบไม่มีผู้คนเลยซักกะผีก เหมือนก้อนเนื้อที่นอนแน่นิ่งตรงนี้เป็นชิ้นเนื้อสุดท้ายบนโลกใบนี้ บนพื้นนภาสีดำที่ท่องระหว่างการเดินทางของจินตนาการกับความจริงที่เพิ่งเกิด ซึ่งผมมักจะรำรึกในทุกค่ำคืนก่อนนอน ผมชอบจะย้อนเวลาในวันนั้นๆ เสมอ ถึงเรื่องราวที่ผ่านมา ภาพ สี อาจจะผิดเพี้ยนไปตาม จินตนาการที่ผมผสมกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นหรือตอนนี้ ซึ่งมันอาจจะแดงบ้างด้วยความโมโห หรืออาจจะฟ้าบ้างด้วยความสุขเปรมปรี คืนนี้ก็เป็นอีกคืนหนึ่งที่ หรือบางที่ภาพทั้งหมดก็ถูกฉายเพียงขาวกับดำ

            ภาพในคืนนี้ผมปล่อยจินตนาการออกมาเป็นภาพสีเหลืองบางๆ ตาม คงเพราะภาพประทับใจในวันน่าจะเป็นพระนอน  ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปไสยาสน์พระนอนขอนม่วง ซึ่งบรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้ากัสสปะและพระเกศาธาตุพร้อมดินพนะเฝ่า เถ้า (อังคารธาตุ) ของพระโคตรมะสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชน ในที่นี้ผมไปช่วยงานโรงทานของร้านคุญเชิญแจกผัดไทยและน้ำเฉาก๊วย ในงานประเพณีสรงน้ำพระนอน ภายในงานมีพุทธศาสนิกชนนำดอกไม้ธูปเทียนไปสักการะ นำน้ำอบน้ำหอมน้ำขมิ้นส้มป่อยไปสรงน้ำพระนอนและพระธาตุเป็นจำนวนมากด้วยความ เคารพเลื่อมใสศรัทธาในความศักดิ์สิทธิ์ขององค์ “พระนอนขอนม่วง” หรือ “พระนอนพรัง” ตามตำนานกล่าวถึงพระพุทธเจ้าเสด็จมาไสยาสน์ (นอน) บนขอนไม้มะม่วง เนื่องจากวัดตั้งอยู่ใกล้ห้วยแม่ชะเยือง ชาวบ้านจึงเรียกว่า พระนอนแม่ชะเยือง เป็นวัดเก่าแก่แห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ในปีพุทธศักราช 2406 พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ (เจ้าชีวิตอ้าว) ได้บูรณปฏิสังขรณ์ วิหาร แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น วัดพระนอน (ขอนม่วง) ต่อมาปีพุทธศักราช 2416 เจ้าอินทวโรรสและราชชายาเจ้าดารารัศมีเป็นประธานในการสร้างพระบถถวาย (ผ้าที่ปักเป็นรูปพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระอัครสาวกทั้งสองคือพระสารีบุตรและ พระโมคคัลลานะเถระ)

ตำนานพระนอน (ขอนม่วง)[1] และหนังสือพุทธตำนานพระเจ้าเลียบโลก ฉบับชำระสะสาง (คัดลอกจาก หนังสือพุทธตำนานพระเจ้าเลียบโลก ฉบับชำระสะสาง นาคฤทธิ์ รวบรวมชำระสะสาง พุทธศักราช 2540-2545 พิมพ์ครั้งที่ 1 ตุลาคม พุทธศักราช 2545) กล่าวถึงความสำคัญและเป็นมาแต่ครั้งก่อนพุทธกาลของวัดพระนอนไว้ในราย ละเอียดว่า

“หลังจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโกนาคมนะปรินิพพานไปแล้ว และมาถึง ศาสนาของพระกัสสปพุทธเจ้า ในคราวครั้งนั้นเมืองเชียงใหม่เรานี้มีชื่อว่า กุมภมิตตรนคร พระยาเจ้าเมืองชื่อว่ากุมภมิตตราช ได้เป็นสหายกับพระยาอังครัฐนครและพระยาอังครัฐนครองค์นี้มีต้นมะม้วงต้น หนึ่ง มีลูกอันหวานหอมมากนัก พระยาก็ส่งมะม่วงคำ 8 ลูก ถวายแก่พระยากุมภมิตตราช พระยากุมภมิตตราชก็เสวยมะม่วงคำอันนั้นรู้สึกหวานหอมเป็นกัปปิยะยิ่งนัก เลยเอาแก่น(เมล็ด)ในมะม่วงคำ 8 ลูกนั้นบง(เพาะ)ไว้ แต่ออกเพียงลูกเดียว พระยาก็ให้ปลูกไว้ในสวนอุทยานนั้น เดิมไปด้วยของปลูกลูกไม้ส้มหวานออกลวงมากนัก พระยาก็ตั้งจ่าสวนคนหนึ่งชื่อว่า เสตวกะ ให้อยู่เฝ้าสวน และเสตวกะ จ่าสวนผัวเมียเป็นอันซื่อสัตย์ต่อเจ้าแห่งตน ภายหลังทำสวนได้เงินเท่าใด ได้คำเท่าใดก็เก็บรวมไว้รวมได้เงิน 4 แสนกับคำ 1 หมื่น จ่าสวนก็บอกกับพระยาฯ จึงมีอาชญาแก่ตนว่า ท่านจงรักษาไว้ให้ดีก่อนเดอะ(เถอะ) ว่าดังนี้ จ่าสวนก็เอาใส่ไห 4 ไห ไหละแสน และเอาคำใส่ไหหนึ่งฝังไว้ในที่ใกล้กับต้นมะม่วง ระหว่างกลางไม้ประดับทองนั้น และถึงเมื่อพระยาจุติไปพบของอันนั้นก็ปรากฏเมื่อภายหลัง จ่าสวนตายก็ได้เกิดเป็นยักษ์ตนหนึ่ง ชื่อว่ากุมมารยักษ์ อยู่เฝ้าทรัพย์สมบัติ ข้าวของ และไม้มะม่วงต้นนั้น

อยู่ต่อมาเมื่อ พระพุทธเจ้ากัสสปเจ้าเมือง เกิดมาตรัสรู้สัพพัญญตญาณ พระพุทธเจ้าก็จะเดินเทศน์โปรดบรรดาสัตว์ มาพักยังร่มไม้มะม่วงดังนั้น กุมมารยักษ์ไม่เคยเห็นพระพุทธเจ้าในกาละเมื่อก่อน กุมมารยักษ์ก็ไม่ให้พระพุทธเจ้าพัก พระกัสสปเจ้าเทศนาอมตะธรรม 5 ประการแก่มหายักษ์นั้นแล กุมมารยักษ์ได้ฟังธรรมและรักษาศีล 5 เขี้ยวงาแห่งมหายักษ์ใหญ่ 3 ดำ ขาว 3 ศอกก็หลุดออก พระพุทธเจ้าก็ลูบเอาพระเกศาธาตุเส้น 1 ให้แก่ยักษ์เอาไว้สักการบูชา มหายักษ์ก็เอาพระเกศาธาตุไว้ในก๋วงเขี้ยวงา(โพรงฟัน) บรรจุไว้เหนือไหข้าวของที่ฝังไว้นั้น ก็อยู่รักษาพุทธนันดรกัป 1 ระหว่างพระพุทธเจ้ากัสสปและพระโคตมเจ้าเกิดมาตรัสรู้สัพพัญญตญาณ ไม้มะม่วงนั้นก็กิ่งก้านหัก เหตุว่าแก่นักสิ้นอายุ ต้นเหนือดินผุพังลงไป และในสมัยที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าใกล้จะปรินิพพาน ก็ยังเกิดโรค ด้วยเหตุได้ฉันเนื้อสุกรอ่อน (บางแห่งว่าเห็ดสุกรอ่อน) ของนายจุนทะ ซึ่งเป็นพิษ พระองค์ยังอุตสาห์จาริกเพื่อโปรดเวไนยสัตว์ มาถึงไม้มะม่วงคำต้นใหญ่ ที่มีมาแต่สมัยพระพุทธเจ้ากัสสปะแล้ว แต่ได้ล้มลงเป็นขอนผุพังไปบ้าง พระพุทธองค์เหน็ดเหนื่อย จึงให้พระอานนท์เอาผ้าสังฆาปฏิปูลงที่ขอนไม้ม่วงที่ผุพังนั้น เพื่อจะได้ประทับบรรทม


พญายักษ์ที่รักษาสมบัติอยู่ที่นั้นไม่พอใจ ขับไล่พระพุทธองค์ให้หนี พระพุทธองค์จึงกระทำปาฏิหาริย์เปล่งรัศมีให้ใหญ่เท่าพระพุทธเจ้ากัสสปะมีแสง สว่างไปทั่ว มหายักษ์จึงรู้ว่าจักเป็นพระพุทธเจ้าจึงก้มลงกราบนมัสการ พระองค์ได้เทศนาธรรม และให้ศีล 5 แก่ยักษ์แล้วพยากรณ์ว่า พญายักษ์จะได้เป็นพญา จะได้ยกยอพุทธศาสนาต่อไปภายหน้า จึงประทานเกศาธาตุให้ 1 องค์ มหายักษ์รับพระเกศาธาตุ แล้วเขี้ยวงาที่เหลืออีกข้างหนึ่งก็หลุดร่วงหล่นออก แล้วเอาพระเกศาธาตุใส่ไว้ในกลางเขี้ยวงาตนฝังไว้เหนือสมบัติและพระเกศาธาตุ ของพระพุทธเจ้ากัสสปะที่พระองค์ประทานให้ในพุทธันดรก่อน แล้วพระพุทธองค์ก็เสด็จต่อไปที่ดอยคำ (พระธาตุดอยคำ ต.แม่เหียะ จ.เชียงใหม่)

ในขณะที่พระองค์สถิตสำราญอยู่ที่ขอนม่วง พระองค์รู้สึกร้อนกระหายน้ำยิ่งนัก จึงให้พระอานนท์ไปตักน้ำมาถวาย พระอานนท์ก็ถือเอาบาตรไปสู่แม่น้ำ ขณะนั้นพ่อค้าเกวียนผ่านมา ให้วัวควายลงกินน้ำทำให้น้ำขุ่น ยังมีหมู 2 ตัว ได้ช่วยขุดคุ้ยทำเป็นบ่อน้ำ พระอานนท์ก็เอาฝาบาตรวิดน้ำขุดออก ยังไม่ทันใสดีก็กลัวพระพุทธเจ้าจะคอยนาน จึงรีบตักน้ำมาถวายพระองค์ก็ฉันทังซะทังเหยือง (คงหมายความว่าแม้น้ำไม่ค่อยสะอาดก็ฉันจนหมด) จังปรากฏได้ชื่อว่า “แม่ชะเหยือง” แลฯ พระพุทธองค์ทำนายว่า เมื่อตถาคตนิพพานไปแล้วได้ 800 ปีอรหันต์ทั้งหลาย จักเอา ดินพนะเฝ่าเถ้าตถาคต มาจุไว้เป็นที่ไหว้บูชาแก่คนและเทวดาทั้งหลาย เมื่อศาสนาตถาคตล่วงได้ 2 พันกว่าปี เทวสุกกโร คือหมู 2 ตัว จักได้เกิดเป็นพญาอยุทธิยาหล้าน้ำ มหายักษ์ก็จะได้เกิดเป็นพญาเมืองนี้อีก จักมีพี่น้อง 7 ชาย จะได้เป็นไมตรีรักใคร่ชอบพอกันกับพญาเมืองหล้าน้ำ มหายักษ์เป็นพญามีตะบะเดชะมาก ปราบข้าศึกศัตรูไปถึงแคว้นฮ่อได้เป็นพญาเจ้าเมืองกุรุรัฐ แล้วจึงเปลี่ยนชื่อเป็นเมือง “อินตาสังเกต” ด้วยเหตุที่พระอินทร์มานิมิตให้พญาเมืองนำเอาพระเกศาธาตุและสมบัติออกจากใต้ ขอนไม้ม่วงคำ แล้วสร้างพระพุทธรูปเจ้านอนตามรอยขอนม่วงที่พังนั้น บรรจุพระเกศาธาตุและดินพนะเฝ่าเถ้าพระพุทธเจ้า ไว้เป็นที่ไหว้บูชา ปรากฏชื่อว่า “พระนอนพัง” และอีกชื่อหนึ่งว่า “พระนอนแม่จ๊ะเหยือง” กาลต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “พระนอนขอนม่วง” มาจนกระทั่งบัดนี้.... ”

เล่ามาซะไกลเกินกว่าการเดินทางของวันหนึ่งๆ ของที่ผมคิดไว้ซะอีก แต่ก็นั้นแหละคือภาพความจริงที่ผมพยายามจะอธิบายให้เห็นความสำคัญของวัตถุสักชิ้นหนึ่ง ด้วยว่าดินหรือหินซักก้อนอาจได้รับการเคารพสักการะตามความเชื่อ แต่เราจะรู้ด้วยความจริงที่เกิดจากประวัติศาสตร์ต่างหากที่ทำให้เกิดคุณค่าและสถานที่เต็มเปี่ยมไปด้วยมนต์ขลังแห่งพลังศรัทธา

ก่อนที่ผมจะหลับลึกลงไปในคืนนี้ ภาพสุดท้ายที่เลือนรางกลับเป็นภาพของคนที่ยื่นหยิบไมตรีมิตรแก่ผม ช่างงดงามยิ่งนักเจ้าความทรงจำเหล่านั้น ช่างบอบบางและแผ่วเบา อาจจะเป็นเสี้ยวนาทีก่อนที่ผมจะหลับฝันจริงๆ ก็ได้ หรือผมอาจจะกำลังฝันเช่นว่านั้นอยู่ มันสร้างให้ผมอิ่มเอมจนกระทั้งความทรงจำของผมปลดปล่อยบทสนทนาออกมา ผมพยายามตั้งใจฟัง ไม่ชัด ไม่ชัด ไม่ชัด และสุดท้ายผมก็ปล่อยให้ตัวผมเองและเขายกบทสนทนาเงียบๆ ให้พูดคุยกันอยู่แค่สองคน



[1] จาก http://inwesnarat.com/ 30/6/2554

 

คำสำคัญ (Tags): #พระนอน
หมายเลขบันทึก: 446795เขียนเมื่อ 30 มิถุนายน 2011 22:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤษภาคม 2012 21:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท