การวิจัยเชิงคุณภาพ (๒):การประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การวิจัยเชิงคุณภาพ” ระยะที่ ๑ ตอนที่ ๒ บทเรียนจากการอ่านตำราอาจารย์


ถ้าเราพูดถึงคำว่า “การวิจัยเชิงคุณภาพ” ก็จะมีชื่ออาจารย์ติดมาด้วยคล้ายเป็นแบรนด์ ... คล้ายกับหากเราพูดถึงการ์ตูนดิสนีย์ก็จะมีภาพมิ๊กกี้ เมาส์ ลอยตามมาด้วย อะไรประมาณนั้น

เมื่อผู้เขียนทราบว่าวิทยากรผู้อบรมหลัก คือ ศ.ดร.ศิริพร จิรวัฒน์กุล ผู้เขียนก็คว้าหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งได้พยายามหาและซื้อมาไว้อ่าน เนื่องจากมี ศ.นพ.สมบูรณ์ เทียนทอง เจ้านายเก่าของผู้เขียนซึ่งปัจจุบันท่านเป็นผู้บริหารระดับสูงของคณะฯแนะนำ

ผู้เขียนจำได้ว่าท่านเคยพูดไว้นานแล้วว่า

“...มีหนังสือวิจัยเชิงคุณภาพเล่มหนึ่งเป็นภาษาไทย เขียนโดยอาจารย์คณะพยาบาลเรานี่แหละ อ่านแล้วเข้าใจง่าย..."

“...อาจารย์ศิริพร..."

“...วิจัยเชิงคุณภาพ..."

คำพูดนี้เหล่านี้ที่ได้ยินบ่อยๆและมักจะมาเป็นชุด จนผู้เขียนรู้สึกคล้ายๆกับว่าถ้าเราพูดถึงคำว่า “การวิจัยเชิงคุณภาพ" ก็จะมีชื่ออาจารย์ติดมาด้วยคล้ายเป็นแบรนด์ของสินค้า หรือคล้ายกับว่าหากเราพูดถึงการ์ตูนวอลท์ ดิสนีย์ ก็จะมีภาพมิ๊กกี้ เมาส์ ลอยติดตามมาด้วยอะไรประมาณนั้น (ดูกุ๊กกิ๊กไปสำหรับอาจารย์หรือเปล่าเนี่ย...)

และนี่เป็นที่มาของการหาหนังสือเล่มนี้ แล้วก็ได้มาเป็นเจ้าของในวันเกิดเมื่อปีที่แล้ว

ตอนแรกๆก็อ่านไปเท่าที่โอกาสอำนวย ไม่จบ... เพราะไม่เข้าใจ

แต่พอรู้ว่าจะได้เรียนกับเจ้าของตำราก็ดีใจ เอามาอ่านอีกก่อนเข้าอบรม... ดูเหมือนว่าจะเข้าใจ แต่ก็ไม่ค่อยเข้าใจเหมือนเดิม เพราะผู้เขียนมีนิสัยไม่ชอบอ่านเรื่องยาวๆ มีตัวอักษรติดกันเป็นพรืดแบบนิยายเรื่องยาวๆก็ไม่ชอบ แต่ชอบอ่านเรื่องสั้นๆ... เลยเดาเอาเองว่าตัวเองเป็นพวก สมาธิสั้น เบื่อง่าย ผู้เขียนจึงเลือกอ่านแต่หลักการ แนวคิด ทฤษฎี... เลือกเฉพาะที่ตนสนใจ ข้ามการอ่านที่เป็นตัวอย่างเรื่องเล่ายาวๆติดๆกันในพื้นสีดำ...

หารู้ไม่ว่า... สิ่งที่ตัดสินใจข้ามไปไม่อ่าน เรียกว่ายกเว้นการอ่าน คือหัวใจของ“การวิจัยเชิงคุณภาพ" เพราะนั่นคือภาพสะท้อนของงานวิจัยเชิงคุณภาพ

และเมื่อวันได้เข้าชั้นเรียน ก็ได้หนังสือของอาจารย์มาอีกเล่มหนึ่ง เหมือนกันเลยกับเล่มที่มีอยู่เดิมเพราะนำติดไปเรียนด้วย ควักมาดูก็รู้ว่าที่ได้รับแจกเป็นการพิมพ์ครั้งที่สองแล้ว แปลว่าได้รับความนิยมมาก และยิ่งได้ฟังอาจารย์สอน ได้แลกเปลี่ยนความคิด ได้ฟังตัวอย่างที่อาจารย์หยิบยกมาเล่าก็เข้าใจมากยิ่งขึ้น

แค่เข้าใจนะ...ไม่มากไปกว่านั้นจริงๆ

และเชื่อว่าต้องอ่านๆๆอีก...โดยละเอียด อ่านหลายๆรอบ จึงจะ “ดื่มด่ำ" “ซาบซึ้ง" กับ “การวิจัยเชิงคุณภาพ" ซึ่งผู้เขียนคิดว่าจำเป็นมาก

ที่ว่าเช่นนี้เพราะผู้เขียนเชื่อว่า การเป็นนักวิจัยเชิงคุณภาพนั้นอย่างน้อยๆก็ต้องเข้าใจ เรียกว่า “IN" ในบทหรือ “บทบาท"ของนักวิจัยเชิงคุณภาพก่อนเป็นสำคัญจึงสามารถก้าวออกไปใช้ตนเองเป็นเครื่องมือวิจัยที่ดีได้

จริงๆแล้วผู้เขียนไม่ได้อยากเป็นนักวิจัยเชิงคุณภาพ แต่ผู้เขียนชอบที่วิจัยเชิงคุณภาพเป็นการศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์... ผู้เขียนกล้าพูดกลางห้องเรียนว่า "...เพราะเป็นการศึกษาที่มองเห็นคน เป็นคน..." ด้วยเพราะผู้เขียนยังติดอยู่ในใจเสมอว่า การมอบหมายงานในปัจจุบันของผู้ปฏิบัติงานบริการสาธารณสุขบางที่ยังกระทำเสมือนคนเป็นหุ่นยนต์ที่ไม่มีความอ่อนล้า...ไม่มีความเสื่อมถอยของสังขาร(หรือแก่ไม่เป็น) ทั้งๆที่รู้อยู่เต็มอกว่าความอ่อนล้าและความชรานำมาซึ่งความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานพยาบาลระงับความรู้สึกที่วิสัญญีพยาบาลมีบทบาทสำคัญในการดูแลผู้ป่วยใกล้ชิดแบบหัวหก ก้นขวิด

นั่นคือแรงบันดาลใจ ไฟปรารถนาที่ผู้เขียนรู้สึกว่า"การวิจัยเชิงคุณภาพ" อาจนำมาตอบคำถามที่ค้างคาภายในใจของผู้เขียนในบทบาทของวิสัญญีพยาบาลที่ผู้เขียนต้องการได้

เครื่องมือทางปัญญาที่ผู้เขียนคาดว่าจำเป็นต้องอ่านเพิ่มเติมเพราะคิดว่าหากวิจัยเชิงคุณภาพเป็นการศึกษาพฤติกรรมต่างๆของมนุษย์ก็น่าจะรู้และเข้าใจมนุษย์ให้ลึกซึ้งขึ้น จึงน่าจะเป็นเรื่องของมนุษยวิทยา จิตวิทยา หรือปรัชญาละกระมัง

ถึงตอนนี้ผู้เขียนอยากนำหนังสือดังว่า พร้อมคำอวยพรให้กำลังใจจากอาจารย์มาให้เพื่อนๆได้เห็น เผื่อว่าเพื่อนๆนึกสนุกอยากหยิบหนังสือเล่มนี้มาอ่านบ้าง...

แล้วอย่าอ่านข้ามๆ อ่านผ่านๆอย่างที่ผู้เขียนเคยทำมาก็แล้วกัน...

ไม่งั้นจะเสียดายแย่...

หมายเลขบันทึก: 446793เขียนเมื่อ 30 มิถุนายน 2011 22:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2014 09:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ต้องเริ่มจากอ่านผ่านๆscan รอบสองรอบก่อน แล้วค่อยมาอ่านแบบจริงจังใช่มั้ยคะ อิอิ...

ใช่ค่ะ อ.ชาดา

...อ่านผ่านๆ...อ่านคร่าวๆ 2-3 รอบค่ะ แล้วค่อยอ่านเอาเรื่องเอาราว...สุดท้ายคงเข้า่ข่ายว่า อ่านแล้วเอาไปช่วยการทำจริงได้อย่างไร

นี่ตนเองยังอยู่ในรอบอ่านคร่าวๆอยู่ค่ะ

ขอบคุณนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท