ผู้ช่วยเภสัชกร พื้นที่สีเทาที่ไม่เคยเข้าใจ


ผู้ช่วยเภสัชฯ หลายคนมากที่เคยพบไม่มีความรู้เรื่องยาอย่างถูกต้อง


มีโอกาสทำงานในวิชาชีพในฐานะเภสัชกรไม่มากนัก แต่ช่วงก่อนหน้านี้ได้เจอเพื่อนๆ พี่ๆ ที่เปิดร้านยาบ่นเรื่องการหาผู้ช่วยเภสัชกรมาช่วยงานที่ร้านลำบากขึ้น เลยมีความคิดว่าไหนๆ คนบ่นมากๆ ก็เปิดโรงเรียนสอนผู้ช่วยมันซะเลย หาเพื่อนเก่งๆ มาช่วยกันสอน จะได้ช่วยผลิตผู้ช่วยฯ อย่างน้อยก็พยายามควบคุมคุณภาพส่วนหนึ่งเข้าตลาดไปบ้าง ความพาซื่อหลังทำระบบเรียบร้อยก็โทรหาสภาเภสัชฯ ว่าอยากเปิด รร.สอนผู้ช่วยฯ ต้องทำอย่างไรบ้างให้ถูกกฎระเบียบ คำถามที่ได้ก็ทำเอาเหว๋อไปพักใหญ่ว่าทางสภาฯไม่มีนโยบายให้เปิด ที่เปิดอยู่คือผิดจรรยาบรรณวิชาชีพ และผิดใดๆ อีกยาวมาก คำถามแรกที่ยิงไปคือ ผิดแล้วทำไมยังมีคนเปิดอยู่เต็มเลย หาได้ในอินเตอร์เน็ตคะ เค้าก็แจ้งกลับมาว่าถ้าพบเป็นเภสัชกรเปิดก็จะถูกพักใบอนุญาตค่ะ ยิ่งงงไปใหญ่เพราะน้องผู้ช่วยฯ และน้องเภสัชที่รู้จักหลายคนก็ยังพูดถึง รร.สอนผู้ช่วยฯ ของเพื่อนๆ เค้าที่เปิดอยู่ ล่วงหน้าก่อนโทรไปสภาฯ ไม่กี่วัน 

 

ด้วยเหตุผลที่สภาฯให้ ว่าเราต้องใช้เวลา 5-6 ปีจึงจะจบปริญญาเภสัชศาสตร์บัณฑิตมาประกอบวิชาชีพร้านยาได้ น้องๆ บางคนยังสอบใบประกอบฯ ไม่ผ่านด้วยซ้ำแล้วทำไมถึงคิดว่าผู้ช่วยฯ ที่ผ่านการอบรมในระยะเวลาไม่กี่สัปดาห์จะทำงานในร้านยา จ่ายยาให้คนป่วยหรือลูกค้าของเราเหมือนเภสัชกรได้ เหตุผลนี้ก็หยุดความคิดเรื่อง รร.ผู้ช่วยฯ ไปได้พักใหญ่ แต่สถานการณ์ปัจจุบันนี้ที่มีโอกาสได้คุยกับทั้งพี่ๆ น้องๆ เภสัชและน้องๆ ผู้ช่วย ก็พบความจริงที่ยังเกิดขึ้น คือ

 

1.เภสัชกรเองส่วนใหญ่ก็ไม่ได้อยู่ร้านยาที่เปิดได้ตลอดเวลา จะจ้างเภสัชกรพาร์ทไทม์มาอยู่ก็หายากเหลือแสน พาร์ทไทม์ที่มาบางคนก็ห่างหายวิชาชีพไปนานจนจ่ายยาแทบไม่เป็นแล้ว ที่สำคัญคือค่าใช้จ่ายในการจ้างเภสัชกรมาอยู่ก็มากมายกว่าจ้างผู้ช่วยเภสัชมากนัก การจ้างผู้ช่วยก็ยังเป็นทางเลือกหนึ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ด้วยความที่เปิดร้านยาแล้วก็ไม่สามารถปิดทิ้งร้านทิ้งคนไข้หรือลูกค้าของร้านไปได้อยู่ดี

 

2. ผู้ช่วยเภสัชฯ หลายคนมากที่เคยพบ ไม่มีความรู้เรื่องยาอย่างถูกต้อง จ่ายยาตามความคาดเดา ฟังมาอีกทีจากเภสัชฯที่เคยมาอยู่ร้านก็จำๆ แต่ก็จำไม่ได้หมด บางคนไม่เคยเจอเภสัชกรประจำร้านเลยเพราะต้องอยู่ร้านเองตลอดเวลาตั้งแต่เปิดจนปิดร้าน ไม่เคยมีใครสอนเรื่องยาจริงจัง บางคนสอนก็จำไม่ได้ เรื่องน่ากลัวที่สุดที่เคยประสบพบเจอกับตัวเอง คือ ผู้ช่วยฯ จ่ายยาผิดถามหายาโรคกระเพาะไปจ่ายยาฆ่าเชื้อเจ็บคอ ถ้าเราไม่ใช่เภสัชกร(ที่พอรู้ยาอยู่บ้าง) ได้ยากลับไปบ้านก็คงไม่ทราบว่าได้รับการจ่ายยาผิดๆ มา ไม่ตรงโรคไม่ตรงอาการ บางทีอาจเกิดการแพ้จนเป็นอันตรายไปก็ได้ และเลวร้ายสุดคือลูกค้าหรือคนไข้อาจคิดว่าผู้ขายยาที่อยู่ตรงหน้าเป็นเภสัชกรจริงๆ และคาดหวังให้ช่วยให้หายจากอาการทางสุขภาพที่เป็นอยู่ 

 

3. ร้านยาระบบสาขาหลายร้าน จ้างน้องผู้ช่วยฯ มาอยู่ประจำและมีเภสัชกรมาทำพาร์ทไทม์ แต่สอนน้องเรื่องการทำเป้าการขายและกดดันเรื่องยอดขายเมื่อไม่ถึงเป้าทำให้น้องผู้ช่วยฯ เริ่มหาทางออกโดยการจ่ายยาให้ลูกค้าไปมากๆ ยาบางอย่างฟุ่มเฟือยแบบลูกค้าไม่ต้องกินก็ได้ แต่ก็จ่ายและเชียร์ไปเพื่อให้ร้านถึงเป้าการขายและไม่โดนต่อว่าจากทางบริษัทฯ 

 

เรื่องราวมากมายที่เกิดขึ้นในร้านที่ผลกระทบมักตกไปอยู่กับคนไข้ ลูกค้าหรือใดๆ ที่มีปัญหาทางสุขภาพอยู่ แล้วไม่ทราบถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับตัวเองว่าได้รับบริการทางสุขภาพเช่นไร

 

ทางออกที่น่าจะเป็นไปได้ก็ยังคงก้ำกึ่ง ระหว่างสภาฯ อนุญาตให้เปิด รร.สอนผู้ช่วยฯ อย่างถูกต้อง ในหลักสูตรที่ผ่านการรับรอง และเป็นคนควบคุมระบบการผลิตผู้ช่วยฯ หรือสภาฯ ยังคงห้ามไม่ให้เปิด รร.สอนผู้ช่วยฯ ไม่ส่งเสริมการมีผู้ช่วยเภสัชกรประจำร้าน ตรวจตราให้มีเภสัชกรประจำร้านต่อไป โดยยังมีร้านที่ก็ยังหาผู้ช่วยเภสัชกรที่มีคุณภาพบ้างไม่มีคุณภาพบ้างมาประจำอยู่ดี 

 

เรื่องนี้ในฐานะที่ยังเป็นเภสัชกรทื่ไม่ได้เปิดร้านยากับเค้าบ้าง ก็ยังไม่เข้าใจนโยบายของผู้ใหญ่ในองค์กรวิชาชีพ ว่าจะให้ทิศทางเรื่องนี้อย่างไร หรือปล่อยมันไปให้มันคลุมเครือแก้ไม่ได้ไปแบบนี้อีกนาน

หมายเลขบันทึก: 446353เขียนเมื่อ 28 มิถุนายน 2011 15:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กรกฎาคม 2020 12:10 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ผมว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใกล้ตัวเรามากเลยนะครับเนี่ยเพราะว่าผลกระทบก็ตกกับเราประชาชนคนธรรมดาไม่มีความรู้เรื่องยาและไปซื้อยามารับประทาน ก็หวังว่าจะได้ยาที่มาช่วยบรรเทาอาการเจ็บป่วยเล็กๆน้อยๆ ที่เกิดกับเราและหวังพึ่งพาปรึกษากับเภสัชกรใกล้บ้าน โดยไม่ต้องไปโรงพยาบาลหรือคลีนิคให้เปลืองค่าใช้จ่าย

แน่นอนว่าเราไปซื้อยาก็ต้องคิดว่าคนที่ขายยาให้เราต้องเป็นเภสัชกรจริงๆ หรือมีความรู้เรื่องยามากกว่าเราและมากพอเพราะเรากำลังจะไปหวังพึ่งพาเขาเพื่อช่วยบรรเทาอาการของเราละครับ

ผมว่าเหตุผลที่สภาไม่อนุญาติเรื่องผู้ช่วยเภสัชกรก็มีเหตุผลอยู่ว่าระยะเวลาการอบรมผู้ช่วยเภสัชอาจจะน้อยไปเมื่อเทียบกับเภสัชกรจริงๆที่เรียนกันมาถึง 5 ปี 6 ปี ความเข้าใจในตัวยาและการจ่ายยาจึงเทียบกันไม่ได้หรอกก็จริงอยู่แต่ก็น่าจะมีทางแก้ไข

ส่วนเภสัชกรเจ้าของร้านยาที่เปิดร้านยาคุณภาพอยู่แล้วจริงๆแล้วถ้าไม่มีเวลาอยู่ร้านยาก็น่าจะต้องจ้างหาเภสัชกรพาร์ทไทม์ที่มีความสามารถใกล้เคียงกันมาแทน หรือถ้ารับภาระเรื่องค่าจ้างไม่ไหว จึงต้องหาผู้ช่วยมาแทน ก็ต้องหาผู้ช่วยที่มีความชำนาญและมีประสบการณ์มากพอ แนะนำให้ศึกษาจากหนังสือวิธีเปิดร้านขายยาอย่างมีคุณภาพ

แสดงว่าบ้านเราอาจยังมีเภสัชกรไม่เพียงพอ รัฐบาลจึงน่าจะให้ความสำคัญกับเรื่องที่เกี่ยวกับปัจจัยที่สี่คือยารักษาโรคให้มากกว่านี้

อีกอย่างเรื่องของยา ทำไมยาบางตัวไม่บอกสรรพคุณให้รู้ มีแต่ภาษาอังกฤษ ที่อาจเป็นศัพท์เฉพาะทางหรือเปล่า มีแต่หมอที่รู้ บางท่านอาจบรรจุซองไว้แล้วเขียนข้างซอง แต่พอซองหายไปเหลือแต่แพ็คยาก็จำไม่ได้อีกว่ายานี้แก้โรคอะไร

หรือนี่มันซับซ้อนเกินกว่าที่เราจะเข้าใจได้สำหรับวงการยาในบ้านเรา

ขอบคุณคุณ"หนังสือ"ที่ให้ความคิดเห็นในฐานะผู้ใช้บริการร้านยาค่ะ ทุกๆ คนเป็น 1 เสียงสำคัญที่จะช่วยเรียกร้องสิทธิในฐานะผู้บริโภคเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบใหญ่ได้ค่ะ

ตอนนี้ประชาชนคนทั่วไปที่ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ไปหาซื้อยาหรือบริการทางสุขภาพจากร้าน ทางองค์กรวิชาชีพก็สร้างระบบความปลอดภัยไว้ระดับหนึ่งค่ะ คือ ให้มองหาป้าย "ร้านยาคุณภาพ" ที่จะช่วยยืนยันได้ว่าร้านนั้นมีเภสัชกรอย่างแน่นอน ถ้าเข้าไปในร้านที่ไม่แน่ใจว่ามีเภสัชกรหรือไม่ คงทำได้แค่ถามหาเภสัชกรหรือเหลือบดูป้ายใบประกอบวิชาชีพแสดงเวลาปฏิบัติการของเภสัชกร บางร้านที่เห็นใบแสดงเวลาเป็นเภสัชกรผู้ชาย คนที่ยืนตรงหน้าเป็นผู้หญิงก็มี แต่ก็เกิดขึ้นได้ว่าอาจเป็นเภสัชกรที่มาทำงานพาร์ทไทม์ เรื่องนี้ถึงจะดูเป็นการแก้ป้ญหาที่ปลายเหตุและผลักภาระไปให้ผู้มาใช้บริการส่วนหนึ่ง แต่อยากให้เราทุกคนเรียกร้องสิทธิ์อันพึงได้จากบุคลากรทางการแพทย์ให้รับผิดชอบในจรรยาบรรณที่เค้าถืออยู่ด้วยน่ะค่ะ ความเจ็บไข้ได้ป่วยไม่ใช่เรื่องล้อเล่นที่ใครๆ จะทำอะไรกับเราก็ได้

ส่วนเรื่องฉลากยา ทางสคบ.ก็มีออกกฎระเบียบมาควบคุมการแสดงฉลากของสินค้าให้รอบคอบรัดกุมขึ้น โดยเห็นชัดเจนมากในกรณียาแบบแบ่งบรรจุหรือยานับเม็ดค่ะ ตามที่ถูกต้องก็ควรจะไม่ค่อยพบเห็นการนับเม็ดยาหรือแบ่งบรรจุแบบไม่แสดงฉลากแล้ว เพราะต้องแสดงรายละเอียดของสินค้าเหมือนข้างกล่องหรือฉลากของยาที่แบ่งบรรจุมาเลยค่ะ พรบ.นี้ชื่อ "พระราชบัญญัติความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551" หรือที่ตอนออกมาใหม่ๆ เรียกกันว่า Product Liability Law (PL-Law) ค่ะ พรบ.นี้มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2552 คงช่วยให้ผู้บริโภคเบาใจได้ส่วนหนึ่งค่ะ

เนื้อหาที่น่าจะเกี่ยวข้องกับเภสัชกรกับมาตรฐานการจ่ายยา สภาฯ ได้แจกแจงมาอีกครั้งแบบนี้ค่ะ

(ร่าง) ประกาศสภาเภสัชกรรม

ที่….. / 2551

เรื่อง มาตรฐานการจ่ายยา

เพื่อเป็นการประกันความปลอดภัยในการใช้ยาของผู้ป่วย ในขั้นตอนการจ่ายยาของผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม สภาเภสัชกรรม ในการประชุม ครั้งที่…………. จึงกำหนดมาตรฐานการจ่ายยา สำหรับผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ดังนี้

1. ต้องคัดกรองคำสั่งใช้ยา อย่างน้อย 4 ด้าน คือ ข้อบ่งใช้ ประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และความสามารถในการใช้ยาตามสั่ง โดยอาศัยข้อมูลที่จำเป็นในการจ่ายยา เช่น การวินิจฉัย ข้อมูลทางห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยา และให้ความสำคัญกับผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ป่วยเด็ก ผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ป่วยโรคตับ ผู้ป่วยโรคไต เป็นต้น

2. กรณีที่พบปัญหาการสั่งใช้ยา ต้องตรวจสอบกลับกับผู้สั่งใช้ยา ก่อนจ่ายยาทุกครั้ง

3. ต้องมีการตรวจสอบซ้ำ ทั้ง ชื่อยา ความแรง ขนาดยา วิธีการใช้ยา และจำนวนยาที่จ่าย ให้ตรงกับคำสั่งใช้ยา รวมทั้ง วันหมดอายุของยา ก่อนการส่งมอบยาให้ผู้ป่วย

4. ต้องมีฉลากยา ที่แสดง ชื่อยา ความแรง ขนาด และวิธีการใช้ ที่ชัดเจนทุกครั้ง รวมถึงฉลากช่วยที่จำเป็น วันสิ้นอายุของยาบางกลุ่ม และ ที่อยู่ หรือหมายเลขโทรศัพท์ ของสถานที่จ่ายยา

5. ต้องชี้บ่งตัวผู้ป่วย อย่างน้อย 2 ตัวชี้บ่ง ได้แก่ ชื่อ-สกุล และ สิ่งอื่นที่สามารถแสดงตน เช่น บัตรคิว สำเนาใบสั่งยา ใบเสร็จ ใบรับยา บัตรประจำตัว เป็นต้น

6. ต้องสื่อสารเพื่อให้ได้ข้อมูลที่จำเป็นก่อนการจ่ายยา ได้แก่ ประวัติการแพ้ยา ข้อมูลความเจ็บป่วย ข้อมูลการใช้ยา การตั้งครรภ์ หรือ ให้นมบุตร

7. ต้องให้คำแนะนำเกี่ยวกับยาที่จ่าย ได้แก่ ชื่อยา ข้อบ่งใช้ ขนาดและวิธีการใช้ ผลข้างเคียง (ถ้ามี) และอาการไม่พึงประสงค์อื่นจากการใช้ยาที่อาจเกิดขึ้น ข้อควรระวังและข้อควรปฏิบัติในการใช้ยา และ การปฏิบัติเมื่อเกิดปัญหาจากการใช้ยา และอื่นๆ ตามที่สภาเภสัชกรรม กำหนด

8. ต้องจัดทำบันทึกประวัติการใช้ยาและติดตามการใช้ยา ในกรณีที่พิจารณาว่าผู้ป่วยอาจเกิดปัญหาจากการใช้ยา

9. ต้องบันทึกการปฏิบัติกรณีที่คิดว่าจะเกิดปัญหาจากยา รวมถึงรายงานการแพ้ยา และอาการไม่พึงประสงค์อื่นที่สำคัญ แล้วแจ้งผู้เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไข และหาแนวทางการป้องกัน ต่อไป

ทั้งนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ ….. เดือน ตุลาคม พ.ศ. 2551

อยากได้ความรู้คำแนะนำเกี่ยวกับการจ่ายยาอีกมากมายคะ เพราะตอนนี้มีปัญหากับทาง รพ เอกชนอยู่

เพราะ  รพ จ่ายยาหยอดตามาไม่ตรงกับที่แพทย์สั่งคะ 

ผิดในขั้นตอนการอ่านลายมือแพทย์ ยาที่ได้รับออกฤทธิ์ตรงกันข้ามกับที่แพทย์สั่ง ผู้ป่วยใช้ยาตัวที่จ่ายผิดไปแล้วด้วยคะ กำลังเป็นเรื่องราวทาง รพ อยู่คะ



ทั้งหมดทั้งมวล เกิดจากระบบสาธารณสุขในประเทศไทยที่เมื่อแพทย์วินิจฉัยโรคแก่ผู้ป่วยเรียบร้อยแล้วไม่เขียนใบสั่งยาให้คนไข้มาซื้อยาที่ร้านขายยาได้เอง แต่กลับจ่ายยาให้แก่ผู้ป่วยจากคลินิกหรือโรงพยาบาลเลย ซึ่งในทางตรงกันข้ามถ้าแพทย์เขียนใบสั่งยาให้แก่คนไข้เพื่อมาซื้อยาที่ร้านขายยาได้เอง ดังนั้นใครก้อได้ที่ผ่านการอบรมและมีประสบการณ์มีความรู้ที่อ่านใบสั่งยาจากแพทย์ได้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นเภสัชกรที่จะต้องอยู่ประจำที่ร้านก็สามารถจ่ายยาที่ถูกต้องและปลอดภัยให้แก่คนไข้ได้เช่นกัน แต่เพียงเพราะเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนเชิงระบบธุรกิจของโรงพยาบาลและคลินิกที่ต้องการรายได้ที่มหาศาลจากยา สุดท้ายมาแก้ปัญหาว่าควรต้องมีเภสัชกรอยู่ประจำที่ร้านซึ่งมีความยากมากเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุด โดยแก้ปัญหาที่ปลายเหตุแทนการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ สิ่งที่สำคัญยิ่งนอกจากฝากภาระทั้งหมดไว้ที่เภสัชกรแล้วยังทำให้เกิดผลเสียมากที่สุดต่อตัวคนไข้เองคือคนไข้ทานยาอะไรยังไม่รู้เลยเพราะไม่เคยเห็นใบสั่งยาของตัวเอง ขาดความรู้ความเข้าใจในโรคของตัวเอง ซึ่งประเทศไทยมีความแตกต่างจากอีกหลายประเทศทั่วโลก จึงขอฝากบทความนี้เอาไว้ช่วยกันพิจารณาและหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันในทุกมิติเพื่อก่อให้เกิดผลดีต่อสุขภาพคนไทยทุกคนถ้วนหน้า เพื่อเป้าหมายสำคัญในวิชาชีพที่เห็นคนไข้เป็นศูนย์กลาง ประเทศไทยของเราก็จะเป็นประเทศที่เรารักและภูมิใจตลอดไป

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท