ผู้บริหารระดับสูงในศตวรรษที่ 21(POSDCORB)3


บทบาทหน้าที่ของผู้บริหารระดับสูงในศตวรรษที่ 21 ซึ่งประยุกต์มาใช้จากหลักการของ POSDCORB   ชื่อว่า (POSDCORB)3

P = Policy&Planning  + Process Management+ Performance Management

                เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าหน้าที่สำคัญของผู้บริหาร คือการวางแผน (Planning) และการกำหนดนโยบาย (Policy) นอกจากนี้ผู้บริหารในยุคปัจจุบันที่มุ่งจะบริหารองค์การสู่ความเป็นเลิศ จะต้องให้ความสนใจในเรื่องของการวางแนวทางในการปฏิบัติและกระบวนการทำงานภายในองค์การเพื่อบรรลุเป้าหมายและนโยบายที่วางไว้ ตลอดจนต้องใช้ความสามารถใน การบริหารกระบวนการทำงาน (Process Management) อย่างมีประสิทธิภาพ

                นอกจากนี้บทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งของผู้บริหารในยุคปัจจุบัน คือ การบริหารผลงานขององค์การ (Performance Management) กล่าวคือ ในขณะที่วางแผนงาน ผู้บริหารที่มีความรอบคอบจะต้องคิดด้วยว่า จะวัดผลงานหรือความสำเร็จของแผนนั้นอย่างไร โดยการกำหนดดัชนีวัดความสำเร็จของงาน (Performance Indicators) ตลอดจนวิธีการหรือเครื่องมือวัดผลงาน (Performance Measurement)ไว้ล่วงหน้าด้วย และใช้เครื่องมือดังกล่าวประเมินความสำเร็จของงาน

O = Organizing + Objective Awareness + Operation Information System

หน้าที่สำคัญถัดมา คือ การจัดองค์การ (Organizing) เพื่อให้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบปฏิบัติงานให้บรรลุเป้าหมายขององค์การ ซึ่งผู้บริหารจะต้องตระหนักถึง วัตถุประสงค์ขององค์การ (Objective Awareness) เป็นหลัก ทั้งนี้เพื่อจะได้จัดแบ่งหน่วยงานให้เหมาะสม กับลักษณะของงาน และวัตถุประสงค์ของหน่วยงานเหล่านั้น นอกจากนี้สิ่งที่องค์การสมัยจะขาดไม่ได้เลย ก็คือ ระบบข้อมูลเพื่อการปฏิบัติการ (Operation Information System) ซึ่งเป็นหน้าที่ที่ผู้บริหารต้องจัดการให้มีขึ้นและนำไปใช้ในการตัดสินใจ

 S = Staffing    +     Shaping Corporate culture       +      Symbol Leader

                บทบาทหน้าที่ของผู้บริหารระดับสูงในปัจจุบัน นอกเหนือจาก การจัดคนเข้าทำงาน (Staffing) ให้เหมาะสมกับความรู้ความสามารถแล้ว ผู้บริหารระดับสูงควรมีบทบาทในการเป็นผู้นำในการสร้างคนในองค์กรของตนให้มีทัศนคติ (Attitude) ที่ดีต่อองค์การ ซึ่งในปัจจุบัน องค์การทั้งภาครัฐและภาคเอกชน กำลังให้ความสนใจในเรื่องของทัศนคติเป็นอย่างมาก โดยการสร้างกลไกที่จะหล่อหลอมความคิดและพฤติกรรมของพนักงานให้เป็นไปในทางที่องค์การคาดหวัง คือ การสร้าง วัฒนธรรมองค์การ (Shaping Corporate culture) ซึ่งก็เป็นบทบาทที่สำคัญอีกประการหนึ่งของผู้บริหาร โดยการแสดงวิสัยทัศน์(Vision) และเป็นผู้นำในการปฏิบัติตน ตามวัฒนธรรมองค์การเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่พนักงาน

                นอกจากนี้ ผู้บริหารเองก็ควรประพฤติปฏิบัติตนให้เป็น ผู้นำที่เป็นสัญลักษณ์ (Symbol Leader) ที่ดีขององค์การ เพราะผู้บริหารระดับสูงจะถือเป็นตัวแทน (Representative)ขององค์การ

D = Directing              +     deployment         +      Development

                การอำนวยการหรือสั่งการ(Directing) เป็นหน้าที่สำคัญอีกประการหนึ่งของผู้บริหาร องค์การชั้นนำที่ประสบความสำเร็จโดยรวดเร็ว ส่วนใหญ่เป็นองค์การที่ผู้บริหารกำหนดทิศทางขององค์การ(Direction)ไว้อย่างชัดเจน เพื่อให้พนักงานรับรู้และเข้าใจถึงทิศทางขององค์การ จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้บริหารจะต้องกระจายข้อมูลและบทบาทหน้าที่ต่าง ๆ (Deplorment)ลงไปสู่ผู้บริหารและพนักงานในระดับต่าง ๆ อย่างชัดเจนด้วยเนื่องจาก การทำงานในองค์การในปัจจุบันต้องแข่งขันกับเวลาและคู่แข่งทางธุรกิจ ไม่สามารถจะรอการตัดสินใจของผู้บริหารเพียงผู้เดียวได้ องค์การที่ประสบความสำเร็จ หลายแห่งใช้วิธีการกระจายอำนาจในการตัดสินใจ (Empowerment)ลงไปสู่พนักงานแต่ละระดับตามความเหมาะสม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถของพนักงานด้วยว่าจะสามารถตัดสินใจได้ในระดับใด จึงเป็นหน้าที่ของผู้บริหารอีกประการหนึ่งซึ่งจะต้องมี การพัฒนา(Development) พนักงาน เพื่อให้สามารถรับผิดชอบงาน และตัดสินใจในสิ่งที่รับผิดชอบได้ นอกจากนี้คำว่า Development ในที่นี้ หมายถึง หน้าที่ในการพัฒนาองค์การให้เจริญก้าวหน้าอีกด้วย

Co = Coordinating     +     Communicating              +      Controlling

                ตามข้อเสนอของ Gulick และ Urwick เสนอว่าผู้บริหารจะต้องทำหน้าที่ ประสานงาน (Coordinating) ระหว่างหน่วยงานย่อย ๆ ในองค์การ เพื่อให้การทำงานสอดประสานไปในทิศทางเดียวกันกับเป้าหมายขององค์การ นอกจากการทำหน้าที่ประสานงานในองค์การดังกล่าวแล้ว ผู้บริหารระดับสูงจะต้องทำหน้าที่ประสานกับหน่วยงานและบุคคลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับองค์การได้แก่ หน่วยงานต่าง ๆ ในภาครัฐ องค์การทางการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ ลูกค้า และผู้เกี่ยวข้องอื่น ๆ เป็นต้น

                หน้าที่ต่อมาที่เป็นหน้าที่ของผู้บริหารที่สำคัญมากคือ การติดต่อสื่อสาร (Communicating) ผู้บริหารที่ดีจะต้องมีความสามารถในการติดต่อสื่อสารกับบุคคลทุกระดับ และทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเข้าใจทั้งภายในองค์การและระหว่างองค์การกับบุคคลภายนอก ถัดมาคือทำหน้าที่ในการควบคุม(Controlling) การดำเนินการต่าง ๆ ให้เป็นไปตามนโยบายและแผนงานที่ได้กำหนดไว้

R = Reporting            +     Resources Management +      Responsibility

                ในส่วนของการรายงาน(Reporting) นอกเหนือจากที่ Gulick และ Urwick เสนอว่าผู้บริหารมีหน้าที่ต้องรายงานความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับงาน ให้ทุกฝ่ายในองค์การทราบแล้ว ผู้บริหารระดับสูงขององค์การควรมีการรายงานผลการดำเนินงานในส่วนที่สามารถเปิดเผยได้ ให้สังคมภายนอกองค์การได้ทราบด้วย แสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสขององค์การ(Transparence) หน้าที่ที่สำคัญอีกประการคือการบริหารทรัพยากร (Resources Management) ที่มีอยู่ในองค์การทั้งหมดให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อองค์การ

ในส่วนของความรับผิดชอบ(Responsibility) บทบาทหน้าที่ของผู้บริหารระดับสูงจะมีความคาดหวังสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในสังคมที่มีผู้คน มีการศึกษาและมีความเจริญเพิ่มขึ้น

B = Budgeting            +     Balance Satisfactions     +      Business Growth

                ด้านงบประมาณ(Budgeting) ผู้บริหารระดับสูงในยุคปัจจุบันต้องทำหน้าที่ใน การจัดหา การอนุมัติ และควบคุมการใช้งบประมาณขององค์การให้เกิดประโยชน์สูงสุดไม่ให้ขาดสภาพคล่อง และในบางครั้งอาจต้องทำหน้าที่เป็นตัวแทนขององค์การไปเจรจากับสถาบันทางการเงินต่าง ๆ เพื่อหาแหล่งเงินทุนให้กับองค์การ ปัจจุบันการประเมินความสำเร็จขององค์การไม่เพียงแต่จะพิจารณาจากงบดุลในการดำเนินงานว่าได้กำไรหรือขาดทุนเป็นตัวเงินเท่านั้น ผู้บริหารยังต้องพิจารณาประเด็นอื่น ๆ ประกอบด้วย เช่น ความพึงพอใจของผู้ถือหุ้น ผู้บริหาร ลูกค้า พนักงานในองค์การ ตลอดจนผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ และผู้บริหารระดับสูงมีหน้าที่ในการบริหารเพื่อให้เกิด ดุลยภาพความพึงพอใจ(Balance Satisfactions) หน้าที่ภาระอันยิ่งใหญ่ของผู้บริหารระดับสูง คือ การสร้างความเจริญเติบโตให้กับองค์การ (Business Growth) ทั้งนี้จะทำได้มากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับการทำหน้าที่ทั้งหมดที่กล่าวมาว่าได้สมบูรณ์เพียงใด

 

อ้างอิงข้อมูลมาจาก  http://isc.ru.ac.th

http://hrm.siamhrm.com/

หมายเลขบันทึก: 446191เขียนเมื่อ 27 มิถุนายน 2011 13:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท