มหาวิทยาลัยอิสลามอินโดจีน (ฉบับที่ ๑)


การก่อตัวแห่งองค์ความรู้อิสลามที่ไม่มีขีดจำกัดแค่ ๓ จังหวัดชายแดนใต้ของไทย

มวลการสรรเสริญเป็นของอัลลอฮฺ ความจำเริญและความศานติจงมีแด่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ฉันขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺองค์เดียว โดยไม่มีภาคีใดๆ สำหรับพระองค์ และฉันขอปฏิญาณว่าท่านนบีมุหัมมัดคือบ่าวและศาสนทูตของพระองค์

มีคำคมหนึ่งจากปรัชญาจีน กล่าวว่า ความหิวแก้ด้วยอาหาร ความเขลาแก้ด้วยการศึกษา บ่งบอกได้ว่าเป็นสัจจะธรรมของชีวิตมนุษย์ที่จะต้องพึงพาอาศัยปัจจัยยังชีพด้วยสิ่งดังกล่าว หากขาดอาหารแล้วไซร้ แน่นอนชีวิตคงจะดำรงอยู่ไม่ได้ ในขณะเดียวกันหากมนุษย์ขาดการศึกษาแน่นอนจิตวิญญาณแห่งความรู้ ความคิด การตัดสินใจในการดำรงชีวิตที่สมบูรณ์มิอาจก้าวต่อไปได้

วันนี้ ได้ข้อคิดจากอิสลามในมุมมองที่สนับสนุนให้มุสลิมศึกษาเรียนรู้ แม้จะอยู่ห่างไกลไปจนถึงเมืองจีนก็ตาม สิ่งเหล่านี้ได้ถูกระบุไว้ในหะดีษหรือจริยวัตร คำสอนของท่านศาสดาด้วยซ้ำ ดังนั้นแล้ว หนทางของการศึกษาไม่ได้จำกัดด้วยสถานที่แต่อย่างใด ที่สำคัญศาสนาอิสลามสนับสนุนให้มุสลิมศึกษาได้ตั้งแต่ในเปลจนถึงหลุมฝังศพ

ในประเด็นที่เราจะกล่าวถึงในวันนี้ คือ ความคาดหวังจากส่วนลึกที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนในสังคมมุสลิมกลุ่มน้อยหรือมุสลิมที่ไม่มากในสังคมของคนต่างศาสนิก ที่มีการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ศาสนาอิสลามในระดับสูงหรือเรียกง่ายๆว่าความรู้ขั้นสูงสุดที่ชี้นำสังคมได้ นั้นคือ ความรู้ระดับอุดมศึกษา โดยเน้นไปที่สถานที่หรือภูมิภาคที่ไม่มีมุสลิมเป็นตัวกำหนด ทุกครั้งที่เราจะกำหนดสถานศึกษาใด เรามักจะกำหนดให้มีผู้ต้องการก่อนเป็นอันดับ ซึ่งบางครั้งก็ส่วนทางการแนวคิดการตลาด การสงคราม ที่มุ่งเน้นให้เจาะตลาดในกลุ่มใหม่ที่ยังขาดไป ไม่จำเป็นต้องเอาใจคนกลุ่มใหญ่ที่มีการเรียนรู้ วิถีชีวิตอยู่ดังเดิมอยู่แล้ว

สิ่งที่ปรารถนาล่าสุดนั้นคือ มหาวิทยาลัยอิสลามอินโดจีน คงจะเป็นชื่อที่แปลกใหม่ในสายตาหรือมุมมองของนักวิชาการ นักศึกษา หรือบุคคลทั่วไปที่คิดว่าจะทำทำไม จัดตั้งที่ไหน เพื่ออะไร สิ่งเหล่านี้ มิใช่ประเด็นคำตอบเลย เป็นส่วนหนึ่งของการวัดแรงศรัทธาของเราที่จัดต่อต้านสิ่งที่ไม่ใช่อิสลามมากน้อยเพียง และไม่คำนึงถึงคำกล่าวที่ว่าการเข้ารับศาสนาอิสลามเป็นหน้าที่ของพระองค์อัลลอฮฺเท่านั้นที่จะดลใจให้ใครเข้ารับอิสลามโดยสุดดี แต่ถึงกระนั้น หน้าที่ของมุสลิมที่แท้จริง คือ อยู่บนโลกใบนี้ เพื่อทำความจงรักภักดีของพระเจ้าผู้ทรงสร้างอย่างแท้จริง ไม่มีหน้าที่การงานใดจะประเสริฐไปกว่าการทำงานด้านศาสนาและการเสียสละตัวเองเพื่อนำอิสลาม ศึกษาอิสลามให้เข้าใจ ให้บรรลุถึงความต้องการ และถ่ายทอดเจตนารมณ์แห่งอิสลามอย่างแท้จริง บนการทดสอบที่หนักในแต่ละโอกาส

การเรียนรู้อิสลามในระดับอุดมศึกษาเป็นการต่อยอดจากการศึกษาเชิงระบบ โดยอิสลามไม่ได้กำหนดว่าความเข้าใจศาสนาของมุสลิมทุกคนจะอยู่ในระดับใดที่พระเจ้าจะรับรอง หากแต่ปัจจุบันสังคมมีการกลั่นกรองความรู้ กำหนดระยะเวลา เพื่อสะดวกแก่การดำรงชีวิตอย่างเหมาะสม แน่นอนเราก็ต้องเรียนรู้อยู่ในระบบ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว การต่อยอดดังกล่าวจะต้องเริ่มจากการศึกษาระดับเตรียมอนุบาล ในระยะเวลา ๑ ปีหรือมากกว่านั้น หลังจากนั้นก็ต่อช่วงอีกในระดับอนุบาล ๓ ปี ไปจนถึงเข้าสู่ระดับประถมศึกษาอีก ๖ ปี ไปจนถึงมัธยมศึกษาอีก ๖ นั้นคือการศึกษาอิสลามในมุมมองของโรงเรียนสามัญศึกษาทั่วไป ตามกรอบการศึกษาหลักสูตรอิสลามศึกษา พ.ศ.๒๕๕๑ ที่นักวิชาการอิสลามได้กลั่นกรองออกมา แต่ในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามนั้น จะมีข้อแตกต่างออกไปแต่ไม่มากนั้น คือ จะเรียนระดับเตรียมอนุบาล อนุบาล ประถม ที่ใดก็ได้ แต่ถ้ามาต่อมัธยมเราจะจัดให้เรียนในหลักสูตรตามลำดับคือ ชั้น ๑-๑๐ ถ้านักเรียนคนใดเคยศึกษาในระดับตาดีกา ที่มีหลักสูตรเบื้องต้น ตั้งแต่ชั้น ๑-๔ ก็สามารถนำมาปรับชั้นการศึกษา เมื่อเข้า ม.๑ ในระดับ ชั้น ๕ ได้ ก็จะทำให้จบการศึกษา ม.๖ ไปกับ ชั้น ๑๐ ได้

เมื่อจบการศึกษาชั้นพื้นฐานที่บังคับโดยประเทศไทย หากนักเรียนใดสนใจจะศึกษาระดับสูงเพื่อประกอบอาชีพ แน่นอนก็ต้องเข้าอุดมศึกษา แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดที่เราอยากนำเสนอนั้น คือ การศึกษาอิสลามอย่างเต็มรูปแบบ หรือการสร้างมหาวิทยาลัยที่มีสิ่งแวดล้อมอิสลาม สร้างแนวคิด สร้างจิตวิญญาณในกรอบอิสลาม ไม่ว่าเราจะศึกษาสาขาใด แต่ก็ยังมีอิสลามอยู่ในใจอย่างถาวร

การกำหนดขอบเขตของความเป็นอินโดจีนนั้น ครอบคลุมไปตั้งแต่ไทย พม่า จีน ลาว เวียดนาม กัมพูชา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย หรือส่วนหนึ่งที่อยู่ในกรอบของกลุ่มประเทศอาเซียน สิ่งที่คาดหมายไว้ล่วงหน้านั้น คือ กำหนดในจัดตั้งมหาวิทยาลัยอิสลามอินโดจีน ในพื้นที่อีสานของไทย โดยเฉพาะจังหวัดหนองคาย จากประสบการณ์ที่ได้ศึกษา เรียนรู้ และทำงานด้านการศึกษาอิสลามในระดับหนึ่ง จึงได้เล็งเห็นว่า จังหวัดหนองคายเหมาะสมที่สุด อีกทั้งเป็นจังหวัดที่ติดอันดับ ๗ ของโลกที่น่าอยู่อาศัยมากที่สุด หากเรามองไปที่ประเทศอื่นๆตั้งแต่ พม่านั้น การปกครองยังไม่เอื้อต่อการศึกษาอิสลาม แม้ว่าภูมิประเทศจะอุดมสมบูรณ์แต่ก็ยังเต็มไปด้วยกลุ่มคนที่แบ่งการปกครองจนเกิดการสู้รบกันอยู่ หากมองลึกๆลงไปพม่าเป็นดินแดนประตูทางออกไปยังประเทศซาอุดิอารเบียด้วยซ้ำไป ถ้าไปต่อที่จีนส่วนตรงนี้จะได้รับการยอมรับจากผู้ที่ต้องการศึกษาอิสลามในระดับหนึ่ง เป็นประเทศที่เหมาะสมแต่ก็ยังเป็นอุปสรรคด้านความเป็นกลางทั้งการเมืองและภูมิประเทศ แม้ความเป็นอยู่มีอากาศที่ดีหนาวเย็นหรือแห้งแล้ง เป็นบางฤดู แต่ก็ยังไม่เอื้อต่อการนำเสนอแต่อย่างใด ที่กล่าวมาข้างต้นโดยส่วนตัวมิได้เดินทางไปแต่ได้รับจากการศึกษาเรื่องราวและดูจากภาพถ่ายมาตลอด

ข้ามไปยังลาว ตรงนี้น่าสนใจมาก เดิมที ลาวเป็นเป้าหมายอันดับหนึ่งที่อยากจัดตั้งมหาวิทยาลัยอิสลาม เพียงสังคมที่นั้นเอื้อต่อการนำความรู้แห่งสัจธรรมเข้าสู่จิตใจได้ง่ายกว่า สังคมที่เรียบง่าย การปกครองที่เข้าใจ ยอมรับซึ่งกันและกัน ส่วนมุมมืดของสังคมในประเทศนี้นั้น ขอไม่กล่าวนับรวมมาเพราะเป็นแค่ส่วนน้อย ยังสามารถปรับแก้ไขได้ถ้าในสังคมเข้าใจตรงกันในสิ่งที่ดี แต่แล้วการบริหารจัดการในลาวนั้นยังยากอยู่ ยังไม่สามารถหาตัวตั้ง ตัวแทนได้อีก ข้ามไปสู่เวียดนาม ประเทศนี้น่าสนใจมากแต่คิดว่าลำบากเพียงเพราะเป็นประเทศที่มีการพัฒนาไปไกลเกินกว่าที่จะนำสิ่งเล็กๆน้อยๆในสายตาของประชาชนเวียดนามให้ได้รับหนทาง จนมาถึงกัมพูชา ประเทศนี้เหมาะสมอย่างยิ่งเพราะมีประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวของมุสลิมจามอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยการเมืองในประเทศทำให้ไม่สามารถจะดำเนินการให้ลุล่วงได้เสมอไปได้ จนมาถึงดินแดนที่มุสลิมมากที่สุดนั้นคือ อินโดนีเซียและมาเลเซีย สองประเทศนี้ เราไม่ต้องการแล้วเพราะมีความก้าวหน้าด้านอิสลามเต็มที่แล้ว สุดท้ายฟิลิปปินส์นี้ มีชาวศริสเตียนมากที่สุด ทำให้การเผยแผ่อิสลามในระดับดังกล่าวค่อนข้างจะลำบากในมุมมองที่เห็น จึงกำหนดที่สุดท้ายเป็นประเทศไทย เพราะส่วนตัวก็เป็นชาวไทย จึงไม่อยากไปสนับสนุนโดยตรงแต่อยากให้คนเจ้าของประเทศมาศึกษาด้วยตนเองและนำไปพัฒนาโดยตรงด้วยตนเองเช่นกัน

ความได้เปรียบของพื้นที่จังหวัดหนองคายในการจัดตั้งสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษานั้น หากมีเบื้องต้นในพื้นที่แล้ว (โปรดติดตามฉบับที่ ๒)

มวลการสรรเสริญเป็นของอัลลอฮฺ พระผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก และขอโปรดให้อัลลอฮฺทรงประทานการสรรเสริญและความศานติแด่ท่านนบีมุหัมมัดของเราและแด่เครือญาติของท่าน ตลอดจนบรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านทั้งปวงเทอญ

หมายเลขบันทึก: 446182เขียนเมื่อ 27 มิถุนายน 2011 13:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 เมษายน 2012 12:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท