กระบวนการสร้างครูที่เพลินกับการพัฒนา (๑๑) : ความรู้ปฏิบัติ


 

เป็นเรื่องปกติที่ครูมักจะพบว่าในการจัดกิจกรรมแต่ละครั้งที่แม้ว่าจะเตรียมตัวมาดีอย่างไร  ก็ยังจะมีเด็กบางคนที่ยังไม่เข้าใจอยู่....

 

เช้าวันหนึ่งหลังจากที่เข้าแถวเสร็จ  ฟลุ๊ค นักเรียนห้อง ๒/๒  เดินเข้ามาหาคุณครูแคท – คัทลียา ที่กำลังยืนอยู่ตรงโถงที่จัดมุมไม้ดอกไม้ประดับไว้  แล้วก็ชี้ไปที่กระถางต้นไม้ที่แขวนอยู่พร้อมทั้งบอกกับครูแคทว่า  “นี่ใบเลี้ยงเดี่ยวใช่ไหมครับครูแคท”

 

ทันทีที่ได้ยินเสียงนี้ครูแคทก็มองตามไปที่ต้นไม้ในกระถาง  ครูแคทรู้สึกผิดหวังนิดๆ   เพราะเมื่อวานนี้คุณครูเพิ่งให้เด็กๆ ไปเก็บใบไม้มาคนละ ๓ ใบแล้วนำมาถู (rubbing) ให้เกิดลายบนสมุด  พร้อมทั้งสังเกตลักษณะของใบไม้แต่ละใบ  แล้วนำมาจัดกลุ่มตามความเข้าใจของนักเรียน 

 

ในขณะที่จัดกลุ่มนั้น  นักเรียนสามารถจัดจำแนกใบไม้ที่ตัวเองเก็บมาได้ถูกต้องเกือบทุกคน สำหรับบางคนที่ยังสับสน เมื่อครูบอกก็สามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้  และยังสามารถบอกลักษณะพิเศษของใบไม้ทั้งกลุ่มใบเลี้ยงเดี่ยวและใบเลี้ยงคู่ได้อย่างถูกต้องด้วย  

 

เรื่องที่เราเรียนรู้กันคือ พืชใบเลี้ยงคู่จะมีเส้นใบที่เป็นเป็นร่างแห (เด็กๆ จะพูดว่าเส้นใบมันมีขีดๆ พร้อมทั้งทำไม้ทำมือประกอบการตอบให้เห็นภาพชัดเจน)  ส่วนพืชใบเลี้ยงเดี่ยวเส้นใบจะขนานกันไป ที่เด็กจะบอกว่ามีเส้นใหญ่ๆ ตรงกลาง ๑ เส้น)  ลักษณะต่างๆ ที่เด็กๆ พูดออกมานี้เป็นการค้นพบที่เกิดขึ้นในขณะกำลังที่ถูใบไม้ลงในสมุด และจากการสังเกตใบไม้อย่างละเอียด  จากทั้งการสัมผัส  การดู  การดม รวมถึงการฉีกใบไม้ดูด้วย  

 

สิ่งที่ฟลุ๊คบอกครูแคทในตอนเช้าจึงทำให้ครูสงสัยมากว่า “เกิดอะไรขึ้น ทำไมฟลุ๊คถึงยังสับสนอยู่” พอให้ฟลุ๊คมาสังเกตใบไม้ให้ครูดูอีกทีก็พบว่าฟลุ๊คยังแยกไม่ออกว่าความแตกต่างของพืชใบเลี้ยงเดี่ยวและใบเลี้ยงคู่อยู่ที่ไหน

 

เมื่อเป็นเช่นนั้นในตอนกลางวันก่อนพักรับประทานอาหาร  ครูจึงเข้าไปทบทวนอีกครั้งด้วยการให้เพื่อนๆ ช่วยบอกว่าลักษณะเด่นของใบเลี้ยงเดี่ยวและใบเลี้ยงคู่เป็นอย่างไร   แล้วครูก็วาดตามที่เด็กบอกบนกระดาน  และใช้สีที่แตกต่างกันเน้นในส่วนที่เด็กๆ บอกอีกด้วย

 

เมื่อรับประทานอาหารกลางวันเสร็จ  ครูจึงเรียกฟลุ๊คมาหาอีกครั้ง  แล้วให้ฟลุ๊คไปเก็บใบไม้มา ๒ ใบ  เป็นใบเลี้ยงเดี่ยวและใบเลี้ยงคู่อย่างละใบ   ฟลุ๊ควิ่งลงไปข้างล่างและวิ่งกลับมาพร้อมใบไม้อย่างรวดเร็ว  และเมื่อครูเห็นว่าเก็บมาถูกต้อง  จึงถามว่า “รู้ได้อย่างไรว่าใบไหนเป็นใบเลี้ยงเดี่ยว ใบเลี้ยงคู่” ฟลุ๊คชี้ไปที่เส้นใบของใบเลี้ยงเดี่ยว แล้วบอกว่าเส้นนี้ใหญ่ ชัดเจน และไม่มีเส้นขีดไปข้างๆ 

 

จากกรณีของฟลุ๊คเรื่องที่ได้เรียนรู้คือ  หลายครั้งที่ครูมักจะคิดว่ากระบวนการของเราดีแล้ว  และตรวจสอบความเข้าใจของพวกเขาจากการถามเด็กด้วยคำถามที่ให้ทั้งห้องช่วยกันตอบ  เมื่อได้ยินเสียงตอบกลับมาว่าถูกต้องก็เผลอคิดไปว่านั่นคือเสียงของเด็กทั้งหมด 

 

ในการทำกิจกรรมในห้องแม้ว่าฟลุ๊คจะได้สังเกต  ได้ถูใบไม้เหมือนเพื่อนทุกประการ  แต่สิ่งที่ฟลุ๊คยังไม่ได้คือการสรุปหลักการที่ใช้ในการจำแนกใบไม้  ฟลุ๊คจึงยังตอบผิดบ้างถูกบ้างอยู่ตลอด    

 

กระบวนการเรียนรู้ที่ให้เด็กได้มีโอกาสค้นพบหลักการด้วยตนเอง  ก่อนที่ครูจะสรุปให้ฟังอีกครั้ง ทำให้เด็กๆ รู้สึกชอบและรู้ที่จะเรียนรู้  เพราะพวกเขาจะรู้สึกภาคภูมิใจว่าเขาค้นพบความรู้ที่ครูนำไปใช้เป็นสรุปได้ด้วยตัวเอง และพวกเขายังสามารถใช้ชุดความรู้ที่ค้นพบนี้ตอบคำถามของครูได้ครั้งแล้วครั้งเล่า  และยิ่งตอบถูกบ่อยครั้งมากขึ้น  ก็ยิ่งสร้างความภาคภูมิใจและมั่นใจขึ้นในตัวเองมากขึ้นตามไปด้วย

 

ความสนุกในการเรียนรู้ไม่ได้หยุดอยู่แค่ในชั้นเรียน หรือในโรงเรียนเท่านั้น คุณแม่ของน้องบุ๋ม ๒/๒ โทรศัพท์มาหาครูแคท  แล้วถามว่าคุณครูให้เด็กๆ ทดลองอะไรเหรอคะ  น้องบุ๋มอยากทำมากๆ  แล้วมาถามแม่ว่า “แม่รู้จักใบเลี้ยงเดี่ยวใบเลี้ยงคู่ไหม?” พร้อมทั้งอธิบายให้แม่ฟัง คุณแม่บอกว่าน้องชอบเรียนวิชาของครูแคทมากๆ ขอบคุณครูแคทมากนะคะ

 

คุณพ่อน้องกำปั่นห้อง ๒/๒ เขียนมาในจดหมายสื่อสารประจำสัปดาห์ว่า  “ช่วงนี้น้องกำปั่นสนใจเรียนเรื่องพืชมากๆ เดินผ่านต้นไม้ก็จะลูบใบไม้ทุกครั้ง แล้วบอกว่าเป็นใบเลี้ยงเดี่ยวหรือใบเลี้ยงคู่”

 

การเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ใช้ผัสสะต่างๆ เข้ามาช่วยสร้างการเรียนรู้ด้วยวิธีการที่หลากหลาย

  • ทำให้เด็กๆได้เรียนรู้ด้วยวิธีที่ตนถนัด ดังเช่นกรณีของกำปั่นที่เขาไม่ได้สรุปความรู้จากการมองเห็น แต่ใช้การสัมผัสใบไม้เพื่อบอกว่าแต่ละต้นเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวหรือใบเลี้ยงคู่
  • ช่วยให้มีการความรู้ขยายจากความจำระยะสั้น เป็นความจำระยะยาว ด้วยความเข้าใจและการทดลองใช้ความรู้ในต่างบริบท
  • เปิดโอกาสให้เด็กได้ค้นพบหลักการด้วยวิธีการของเด็กเอง  ทำให้ความรู้ที่ได้มาเป็นความรู้ของเขาอย่างแท้จริง

 

ตัวครูเองต้องมีสายตาที่ไวพอที่จะเห็นว่ามีเด็กคนใดบ้างที่ยังจับหลักการไม่ได้  แล้วลองหาวิธีใหม่ๆ ที่จะพาให้เด็กเข้าถึงความรู้นั้นด้วยตนเอง

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 445369เขียนเมื่อ 22 มิถุนายน 2011 16:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เป็น AAR ที่สุดยอดครับ

วิจารณ์

ขอบพระคุณมากค่ะอาจารย์

ครูแคท

ขอบคุณค่ะ..เหมือนๆกับที่พี่ใหญ่เรียนรู้จากการปลูกผักในบ้านว่า..ดอกฟักทองดอกนี้ ไม่มีกะเปาะที่โคนดอก..เป็นดอกเพศผู้..หมดหวังเห็นผลฟักทอง..(ไม่ได้รู้เองค่ะ..น้อง ดร.ขจิต เจ้าของเมล็ดพันธุ์ ตั้งข้อสังเกตตอนเก็บภาพไปอวดเธอ)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท