สุขภาพ คือ อะไร


เรื่อง การบำบัดทางเลือกและสุขภาพแบบองค์รวม
ที่เกิดขึ้นมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เป็นผลมาจากการตระหนักถึงข้อจำกัดของการแพทย์สมัยใหม่ โดยการแสวงหาทางเลือกสุขภาพใหม่ๆ และการเรียกร้องความเป็นองค์รวมนั้นมีรากฐานมาจากความคิดที่ว่า การแพทย์ตะวันตก หรือการแพทย์สมัยใหม่นั้นมีข้อจำกัดในระดับกระบวนทัศน์ หรือวิธีคิดที่การแพทย์สมัยใหม่ใช้มองความเป็นจริงเกี่ยวกับโรคและชีวิต วิธีคิดของการแพทย์สมัยใหม่มีรากลึกอยู่ในกระบวนทัศน์แบบวิทยาศาสตร์สมัยใหม่(Modern Scientific Paradigm) ซึ่งเป็นวิธีคิดที่มีลักษณะวัตถุนิยมกลไกคือ
1. เน้นความเป็นวัตถุวิสัย (Materialistic) คือ เน้นความสำคัญของสิ่งที่มีอยู่จริงที่เป็นวัตถุที่ดำรงอยู่ด้วยกฎเกณฑ์ทางกายภาพที่แน่นอน
2. เน้นการตรวจวัดได้อย่างเป็นภาวะวิสัย (Objectively Measurable) คือยอมรับความเป็นจริงเฉพาะในส่วนที่ตรวจสอบได้โดยไม่ขึ้นอยู่กับความรู้สึกนึกคิดหรือจิตใจของมนุษย์
3. เป็นการมองที่ลดส่วน (Reductionistic) คือ ลดทอนปรากฏการณ์ทั้งหมดที่สลับซับซ้อนของชีวิตและสุขภาพลงมาเหลือเป็นเพียงกระบวนการทางชีววิทยาหรือการทำงานของอวัยวะต่างๆ การแพทย์สมัยใหม่จึงมีชื่อเรียกว่าการแพทย์ชีวภาพหรือ Bio-medicine
ลักษณะของการลดส่วนของการแพทย์เป็นเช่นเดียวกับวิทยาศาสตร์สมัยใหม่อื่นๆ ที่จำกัดองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไว้ในขอบเขตของวัตถุที่วัดหรือจับต้องได้ ทั้งนี้เนื่องจากวิทยาศาสตร์เริ่มต้นจากสิ่งที่ต้องวัดได้เสมอ สิ่งที่ไม่สามารถวัดได้จึงอยู่นอกขอบเขตความรู้วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ลักษณะเช่นนี้ของวิทยาศาสตร์ทำให้ความรู้ของวิทยาศาสตร์การแพทย์จำกัดอยู่แต่ความเข้าใจทางชีววิทยา
ในทางปรัชญานั้น วิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์สมัยใหม่มีฐานคติอยู่ 3 ฐาน คือ
1. ONTOLOGY หรือภววิทยา เป็นฐานคติที่นิยามว่า อะไรคือความจริงที่ดำรงอยู่ ในวิทยาศาสตร์สมัยใหม่จะถือว่าเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงนั้น จะต้องมีสถานการณ์ดำรงอยู่ทางกายภาพ เช่น เป็นสสารหรือพลังงานที่รับรู้ได้
2. COSMOLOGY หรือจักรวาลวิทยา คือ ฐานความรู้ที่อธิบายว่าสรรพสิ่งสัมพันธ์เกี่ยวโยงกัน อย่างไรในทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ถือว่าเกี่ยวโยงโดยกฎของฟิสิกส์ ในทางการแพทย์ส่วนต่างๆของร่างกายจะสัมพันธ์เกี่ยวโยงกัน โดยกฎของชีวเคมีเป็นสำคัญ
3. EPISTEMOLOGY หรือญาณวิทยา เป็นฐานคิดของการตรวจสอบและพิสูจน์ความจริง ถ้าเป็นวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ถือว่า ต้องวัดได้อย่างเป็นภาวะวิสัย (objectively measurable)
การแพทย์สมัยใหม่จึงมีลักษณะแยกส่วน (มองปัญหาสุขภาพแยกขาดเป็นส่วนๆ ไม่เชื่อมโยงถึงกัน) ลดส่วน (ลดความสัมพันธ์ที่มีพลวัติและเป็นองค์รวมของสุขภาพให้เหลือเพียงกระบวนการทางชีววิทยา) และกลไก (ระบบชีวิตเป็นเพียงกลไกทางชีววิทยาที่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ทางฟิสิกส์และชีวเคมีโดยไม่มีความรู้สึกนึกคิดและมิติทางจิตวิญญาณ) วิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่จึงตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพได้ในระดับหนึ่ง และข้อจำกัดที่กล่าวมาได้ทำให้เกิดการแสวงหาทางเลือกอื่นๆ เพื่อการบำบัดรักษาและดูแลสุขภาพที่มีลักษณะบูรณาการเป็นองค์รวมมากขึ้น


ความหมายขององค์รวม

องค์กรที่ดำเนินงานด้านสุขภาพองค์รวมในหลายๆภูมิภาคทั่วโลกได้ให้ความหมาย และแนวคิดเกี่ยวกับสุขภาพองค์รวมไว้ใกล้เคียงกัน กล่าวคือ Susan Walter ประธานของ American Holistic Health Association (AHHA) ได้เขียนบรรยายในเอกสารชื่อ What is Holistic Health? ซึ่งได้ตีพิมพ์ใน Encyclopedia of Body Mind Disciplines ว่า
สุขภาพแบบองค์รวม หรือ Holistic Health เป็นการมองสุขภาพว่าที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับทั้งชีวิตมากกว่าการเน้นแค่ความเจ็บป่วยหรือการจัดการกับส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย โดยจะพิจารณาที่ “ตัวคน ทั้งคน” ความเกี่ยวเนื่องของร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ รวมถึงปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ที่มีปฏิสัมพันธ์กับคนคนนั้น

สุขภาพแบบองค์รวมมีพื้นฐานอยู่บนกฎเกณฑ์ที่ว่า “ส่วนรวมทั้งหมดถูกสร้างขึ้นมาจากส่วนย่อยๆที่สัมพันธ์เกี่ยวเนื่องและพึงพาต่อกัน” โดยประกอบด้วย อากาศ แผ่นดิน น้ำ พืช และสัตว์ที่ต้องอาศัยและพึ่งพาซึ่งกันและกัน ไม่สามารถแยกจากกันได้ เพราะถ้าส่วนใดส่วนหนึ่งถูกทำลายไป จะทำให้ดุลความสัมพันธ์ระหว่างส่วนต่างๆเสียไปซึ่งจะทำให้ส่วนอื่นๆถูกทำลายไปด้วย เช่นเดียวกับชีวิตมนุษย์ แต่ละคนจะประกอบด้วยร่างกาย (Physical) จิตใจ (Mental) อารมณ์ (Emotional) และจิตวิญญาณ (Spiritual) ถ้าองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งของชีวิตสูญเสียการทำงานไปก็จะส่งผลต่อองค์ประกอบอื่นๆที่เหลือ ในขณะเดียวกันชีวิตและองค์ประกอบของชีวิตแต่ละด้านก็จะเกี่ยวเนื่องและสัมพันธ์กับสรรพสิ่งแวดล้อมเช่นกัน แต่แม้ว่าองค์รวมมีส่วนย่อยหลายอย่างมาประกอบกัน แต่ทว่าองค์รวมก็มีคุณสมบัติใหม่ที่ส่วนประกอบย่อยไม่มี แนวคิดแบบองค์รวมจึงกล่าวว่า “The whole is more than the sum of its parts”
ทัศนะดังกล่าวสอดคล้องกับแนวคิดของ Koshiro Otsuka ประธาน Japan  Holistic  Medical Society    ซึ่งถือว่าการแพทย์องค์รวมมีรากฐานความคิดที่เน้นความสัมพันธ์เชื่อมโยงอย่างผสมกลมกลืนระหว่างชีวิต สังคม ธรรมชาติ และจักรวาล Koshiro Otsuka ยังได้เน้นให้เห็นว่า การแพทย์แบบองค์รวมถือว่า พลังแห่งการบำบัดตนเองตามธรรมชาติ คือ หัวใจของการเยียวยา และฟื้นฟูร่างกาย ดังนั้นหลักการพื้นฐานของการบำบัดรักษา จึงอยู่ที่ว่าทำอย่างไรจึงจะสามารถดึงพลังชีวิตซึ่งเป็นพลังบำบัดตามธรรมชาติในตัวผู้ป่วยให้เป็นประโยชน์ได้ การแพทย์แบบองค์รวมจึงเชื่อว่า ผู้ป่วยคือผู้ที่จะรักษาตนเองได้อย่างแท้จริง ยาหรือสิ่งอื่นๆเป็นเพียงส่วนประกอบที่จะช่วยเหลือเท่านั้น โดยกระบวนการขั้นแรกสุดของการบำบัดรักษานั้นคนไข้ต้องเชื่อมั่นในพลังบำบัดตนเองตามธรรมชาติ “หมอ หรือผู้รักษาเป็นเพียงผู้ให้การแนะนำ หรือให้กำลังใจ คนไข้จำเป็นต้องเข้าใจในเรื่องสุขภาพอย่างถูกต้องเสียก่อน การรักษาจึงจะสัมฤทธิ์ผล
การเน้นถึงบทบาทของบุคคลในการดูแลสุขภาพ และดำเนินวิถีชีวิตให้สอดคล้องและสมดุลเป็นจุดเด่นอีกประการหนึ่งของสุขภาพแบบองค์รวม Canadian   Holistic   Medical   Association ได้นิยามความหมายของสุขภาพองค์รวม โดยเน้นการให้คุณค่าต่อวิถีการดำรงชีวิต และความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้ และการสร้างความรับผิดชอบหรือวินัยให้แต่ละบุคคลได้พยายามดูแลตนเองให้มีสุขภาวะที่สมดุลและสมบูรณ์
Susan Walter ประธานของ American Holistic Health Association (AHHA) ได้เสนอหลักการพื้นฐานของสุขภาพองค์รวมว่า
1. ทัศนะแบบองค์รวมให้คุณค่าของคำว่า “สุขภาพ” ว่ามีความหมายมากกว่าแค่การไม่เจ็บป่วย แต่หมายถึงการปรับ แก้ไข และพัฒนาให้เกิดสุขภาวะที่ดีอย่างต่อเนื่อง สุขภาพองค์รวมจึงเป็นกระบวนการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตลอดวิถีของชีวิต ถือเป็นพันธะสัญญาและความรับผิดชอบส่วนบุคคลที่ต้องพยายามเดินหน้าปรับ แก้ไข พัฒนา และดำรงตนให้มีสุขภาวะที่ดี ไม่ว่ากำลังอยู่ในสภาวะสุขภาพระดับใด จากระดับขั้นความเจ็บป่วย การมีสุขภาพถดถอยชั่วคราว ภาวะที่ยังไม่แสดงออกถึงเจ็บป่วย จนถึงการมีสุขภาพที่ดีเยี่ยม ซึ่งช่วงระหว่างสภาวะ 2 ประการหลังควรได้รับการพัฒนาส่งเสริมสุขภาพ และดำรงสถานะสุขภาพที่ดีไว้เสมอเช่นกัน ไม่ใช้ให้ความสนใจเฉพาะการรักษาพยาบาลในยามเจ็บป่วยเท่านั้น
2. “สุขภาพของเราจะเป็นแบบเดียวกับที่วิถีชีวิตของเราเป็น” หลักการนี้ได้รับการสนับสนุนจากงานวิจัยของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของประเทศสหรัฐอเมริกา (The   U.S.   Centers   for Disease Control and Prevention) ที่พบว่าปัจจัยที่มีผลกระทบต่อสภาวะสุขภาพของบุคคล (ซึ่งพบว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา) เป็นผลกระทบจากคุณภาพของการบริการเพียงร้อยละ 10 จากกรรมพันธุ์ร้อยละ 18 จากสิ่งแวดล้อมร้อยละ 19 และเป็นผลกระทบจากวิถีการดำเนินชีวิตและพฤติกรรมสุขภาพสูงถึงร้อยละ 53

การตัดสินใจของบุคคลในการเลือก “บริโภค” สิ่งใดเข้าสู่ทั้งทางร่างกาย และจิตใจ จะมีส่วนกำหนดสภาวะสุขภาพของบุคคลนั้นๆ เซลล์ของอวับวะต่างๆ ภายในร่างกายจะถูกแทนที่โดยเซลล์ใหม่ที่เป็นองค์ประกอบของสิ่งที่เรา “บริโภค” เข้าไป ในทำนองเดียวกัน ทัศนคติ อารมณ์ และภาวะจิตใจของเราก็จะถูกสร้างขึ้นมาจากสิ่งที่เราเห็นและได้ยิน
ถ้าสืบสาวประวัติย้อนหลังจะพบว่าสาเหตุส่วนใหญ่ของความเจ็บป่วยและการตายก่อนเวลาอันสมควรเกิดจากวิถีการดำรงชีวิตของตน การใช้ยาผิดประเภทและเกินขนาด การดื่มเครื่องดื่มอัลกอฮอล์  การสูบบุหรี่ และพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศเป็นสาเหตุอันตรายที่รับรู้กันทั่วไป แต่สาเหตุที่ยังไม่ค่อยรับรู้หรือยอมรับกันน้อยว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพที่สำคัญก็คือ การบริโภคน้ำตาล คาเฟอีน การมีทัศนคติในทางลบมากเกินไป และปัญหามลพิษในสิ่งแวดล้อม
ในขณะที่การป้องกันความเจ็บป่วยเองเป็นเรื่องสำคัญ หลักการของสุขภาพองค์รวมจะเน้นการพัฒนาระดับการมีสุขภาพดีให้สูงขึ้นเรื่อยๆ จนให้ดีเยี่ยมจนถึงที่สุด โดยให้ทบทวนว่าพฤติกรรมของเราในแต่ละวันส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง ค้นหาและปฏิบัติพฤติกรรมที่เหมาะสม เพื่อเรียนรู้ถึงความรู้สึกที่ดีของการมี “พลัง” ในชีวิตและพร้อมที่จะสร้างและสะสมพฤติกรรมและพลังดังกล่าวต่อไปในอนาคตข้างหน้าเรื่อยๆ
เมื่อมีภาวะความเจ็บป่วยด้วยการติดเชื้อหรือโรคเรื้อรังเกิดขึ้น หลักการของสุขภาพองค์รวมก็สามารถนำมาประยุกต์ได้ และเปลี่ยนจากการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม (Holistic Health) มาเป็นการแพทย์แบบองค์รวม (Holistic  medicine) บุคลากรทางการแพทย์จะใช้หลักการสุขภาพองค์รวมแลกเปลี่ยนเรื่องการรักษาและการดูแลสุขภาพกับคนไข้ โดยจะให้คำแนะนำระบบการเยียวยาแบบธรรมชาติ (Natural Healing  System) และให้พิจารณาสภาวะเงื่อนไขปัจจัยทั่วทั้งตัวคน และสถานการณ์ที่เกี่ยวข้อง
การเยียวยารักษาแบบองค์รวมจะไปไกลกว่าแค่การ “กำจัดอาการ” ตัวอย่างเช่น การกินยาแอสไพรินเมื่อมีอาการปวดศีรษะเปรียบเหมือนกับการตัดสัญญาณที่เตือนว่าร่างกายของเรากำลังมีปัญหา แม้อาการต่างๆอาจถูกกำจัดหายไป แต่ปัญหาที่แท้จริงยังดำรงอยู่ ในหลักการการแพทย์แบบองค์รวม “อาการ” จะถูกพิจารณาว่าเป็นสัญญาณเตือนว่ามีความผิดปกติที่ต้องการการดูแลเอาใจใส่ “อาการ” จึงเป็นตัวนำทางที่จะต้องลงไปค้นหาที่สาเหตุ หรือรากของปัญหา
หมายเลขบันทึก: 445348เขียนเมื่อ 22 มิถุนายน 2011 14:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 19:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท