มิชิแกน (๓): เวลาที่เกินมา


จงกล้าที่จะทำตามหัวใจและความใฝ่ฝันของตนเอง

เครื่องบินร่อนลงจอดสนิทที่สนามบินนานาชาติลอสแองเจลิส เมื่อเวลาราว ๑๐.๓๕ น. ของเช้าวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๔ ของเมืองไทย แต่เวลาท้องถิ่นยังคงอยู่ที่ ๒๐.๓๕ น. ของวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๕๔ เป็นความแตกต่างของเวลาตามภูมิภาคของโลก แม้ผมจะผ่านช่วงวันและเวลาตรงนี้มาแล้วก็ตาม คล้ายกับว่าบินกันมาตั้งนานเพิ่งสองทุ่มกว่าๆนี่เอง

การกำหนดเวลาของโลกจะสอดคล้องตามแนวของเส้นแวงหรือลองติจูด โดยมีเวลากลางอยู่ที่เมืองกรีนิช ผมไม่ได้ย้อนอดีต ผมยังอยู่กับปัจจุบันเพียงแต่เวลาเท่านั้นที่เป็นเวลาของอดีตที่ผมเคยผ่านมาแล้วเท่านั้น พื้นที่บนโลกที่อยู่แนวเหนือใต้ตรงกัน ก้จะมีเวลาเหมือนกัน ยกเว้นที่สิงคโปร์ที่เวลาน่าจะเท่ากับไทย แต่เขาปรับให้เร็วกว่าของไทย ๑ ชั่วโมง นัยว่าตลาดหุ้นจะได้เปิดก่อนและล้ำหน้าไทยได้

ส่วนเรื่องอุณหภูมิ จะแปรไปตามแนวเหนือใต้ของเส้นศูนย์สูตร ตามเส้นรุ้งหรือละติจูด ถ้าใกล้เส้นศูนย์สูตรก็จะร้อน ถ้าห่างออกไปก็จะหนาว ทั้งห่างไปทางเหนือและห่างไปทางใต้ นั่นหมายถึงยิ่งใกล้ขั้วโลกเท่าไหร่ ก็หนาวลงมากเท่านั้น ตอนสมัยล่าอาณานิคม ชาวยุโรปอพยพโยกย้ายถิ่นฐานก็มักจะเลือกถิ่นฐานที่มีอากาศเย็นคล้ายๆกับยุโรป จนเกิดประเทศใหม่ๆอย่างสหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลียหรือแอฟริกาใต้ ที่ฝรั่งไปอยู่กันเยอะ ส่วนพื้นที่ร้อนๆ ฝรั่งมักไม่ค่อยไปอยู่เพราะไม่เคยชิน

เครื่องบินจอดสนิทแต่ผู้โดยสารยังลงจากเครื่องไม่ได้เพราะตามข้อกำหนดของอเมริกา เครื่องจะต้องจอดก่อนแล้วจะมีรถลากมาลากเครื่องบินไปยังทางขึ้นชานชาลาอีกต่อหนึ่ง ในขณะที่เมืองไทยเครื่องบินสามารถจอดถึงที่ได้เลย คาดเอาเองว่า อเมริกาคงกลัวคนร้ายขับเครื่องบินชนอาคารสนามบิน (กระมัง...)

ก่อนเดินทางจากเมืองไทย ผมมีเวลาเตรียมตัวไม่มาก ตั้งใจจะเตรียมตัวมากๆเรื่องฝึกใช้ภาษาอังกฤษแต่ก็ทำได้ไม่มาก ทำได้เพียงแค่ฟังเพลงฝรั่งและฟังเทปเสียงภาษาอังกฤษในช่วงนั่งรถยนต์เวลาไปราชการเท่านั้น ผมจึงไม่ค่อยมั่นใจมากนัก คราวก่อนไปเบลเยียมคะแนนสอบภาษาอังกฤษของกรมวิเทศฯทำได้แค่ร้อยละ ๕๐ คราวนี้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องสอบ แต่ผมก็แอบไปลองสอบดู ดีขึ้นมานิดนึงได้ร้อยละ ๖๑ เท่านั้น

ตอนสมัครเข้ารับการอบรม ทาง ก.พ.มีตัวอย่างหลักสูตรให้เลือกหลายแห่ง ที่ผมสนใจก็มีของมิชิแกน ของวอร์ตันสคูลมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ลอนดอนบิสิเนสสคูลของมหาวิทยาลัยลอนดอน และของฮาวาร์ดบิสิเนสสคูล ซึ่งใช้เวลาเกือบสองเดือน ด้วยความไม่ชัวร์เรื่องภาษาอังกฤษ ผมจึงตัดใจไม่เลือกของฮาร์วาด เกรงว่าจะไปอภิปรายกับผู้เข้าอบรมไม่ได้แล้วจะเครียดเกินไป ซึ่งฮาร์วาร์ดเขามีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับกันมาก

หลังจากกรอกใบสมัครของมิชิแกนแล้ว และได้ตอบรับเข้าเรียนแล้ว ก็นำหลักฐานมาสมัครที่สำนักงาน ก.พ. และผ่านการคัดเลือก ก็จะต้องทำหนังสือตอบรับยืนยันการรับทุน จัดทำสัญญารับทุน หลังจากนั้นทาง ก.พ.จะประสานกับทางมหาวิทยาลัยในเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆในการเล่าเรียนพร้อมทั้งจัดซื้อตั๋วเครื่องบินให้เลย

ผมไม่เคยไปอเมริกามาก่อน ก็หวั่นๆอยู่เหมือนกัน แต่ก็ได้รับข้อแนะนำทั้งเรื่องเรียน เรื่องเที่ยว ที่พักและการเดินทาง ได้ข้อมูลพร้อมแผนที่เป็นอย่างดีจากพี่ตู่ (นายแพทย์เกษม ตั้งเกษมสำราญ) รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก พี่ชายที่แสนดีที่เคยไปเรียนเบลเยียมมาด้วยกันเมื่อสามปีก่อน ข้อมูลเรื่องเรียนนะไม่เท่าไหร่ แต่ข้อมูลเรื่องเที่ยวนี่เป็นประโยชน์มาก ทั้งเรื่องการเช่ารถขับไปเที่ยวไนแองการา การนั่งรถไฟไปชิคาโก การเที่ยวในลอวแองเจลิส เป็นต้น

พี่ต้อย (สุดาวรรณ สุขเจริญ) พี่สาวที่แสนดีก็แนะนำและเชียร์ให้ไปเที่ยวชิคาโก โดยแนะนำให้รู้จักหลานชายที่ทำงานอยู่ชิคาโกที่จะคอยอำนวยความสะดวกให้ได้ ส่วนรองผู้กำกับฯเจี๊ยบ (พ.ต.ท.มณเฑียร เบ้าทอง) เพื่อนสมัยเป็นนักเรียนมัธยมที่โรงเรียนสวรรค์อนันต์วิทยาก็แนะนำให้ไปเที่ยวที่แอลเอโดยไปหาน้องสาวของเขาที่ทำงานอยู่ที่นั่น การมีข้อมูลที่พร้อมพอควรก็ทำให้อุ่นใจไปได้เยอะ ผมมักจะเป็นอย่างนี้ หาข้อมูลมากๆ ซักถามเยอะๆก่อน จะได้ไม่เงอะงะมากนัก เวลาไปจริงๆ

ก่อนเดินทาง ๑ สัปดาห์ ก็ไปเบิกค่าใช้จ่ายที่กองคลัง สำนักงาน ก.พ. ที่ถนนพิษณุโลก แต่กว่าจะเข้าไปได้ก็วนอยู่หลายรอบเพราะมีม๊อบปิดถนนอยู่ ต้องอ้อมไปอีกทางหนึ่ง ผมไปพบคุณเหมียว (ประภาพร ยิ้มละม้าย) ผู้รับผิดชอบก็ได้รับคำแนะนำและการบริการที่ดีมาก ค่าใช้จ่ายที่ได้มีทั้งค่าเบี้ยเลี้ยง วันละ ๓,๑๐๐ บาท ค่าที่พักตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินคืนละ ๑๒,๕๐๐ บาท ค่าประกันสุขภาพ ๓,๑๒๔ บาท ค่าใช้จ่ายเหมาจ่ายก่อนเดินทาง ๑๑,๐๐๐ บาท ซึ่งเป็นไปตามระเบียบของทางราชการ ค่าใช้จ่ายต่างๆนี้ก็ถือว่ามากพอสมควร ถ้าใช้จ่ายประหยัดก็เหลือเงินไปเที่ยวได้อีกมาก

ผมติดต่อกับหมอพนา (นายแพทย์พนา พงศ์ชำนะภัย) ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชหล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ หรือหมอป่า (สมกับชื่อจริงเลย) ทางโทรศัพท์และอีเมล์เป็นส่วนใหญ่ ผมกับพนารู้จักกันมาหลายปีแล้ว เคยเข้าประชุมร่วมกันในหลายๆเวที พนาเป็นคนน่ารัก นิสัยดี พนาเป็นคนจองโรงแรมที่พักที่แอลเอ ตอนแรกเราจะจองที่พักที่เมืองดีทรอยต์อีก ๑ คืน ก่อนเข้ามหาวิทยาลัย แต่สุดท้ายก็เปลี่ยนใจขอเข้าที่พักที่มหาวิทยาลัยก่อน ๑ คืน ซึ่งเขาก็อนุโลมให้ เหตุที่ต้องเดินทางก่อนกำหนด ๑ วันก็เพราะตั๋วเครื่องบินเต็ม ทำให้เราได้เดินทางก่อน ๑ วัน

ผมกับหมอพนาตกลงกันว่า จะอยู่เที่ยวต่ออีก ๑ สัปดาห์ โดยต้องลาพักร้อนกันอีก ๓-๔ วัน เพราะตามข้อกำหนดเราต้องบินกลับทันทีหลังการฝึกอบรม เมื่อกำหนดวันกลับได้แน่นอนจึงขอให้ทาง ก.พ.ซื้อตั๋วไปตามนั้น ไม่ต้องไปขอเลื่อนตั๋วเครื่องบินกันอีก การเตรียมตัวที่ดีก็เท่ากับมีชัยไปแล้วครึ่งหนึ่ง...จริงๆ

ถึงแม้จะไม่มีเวลาจัดเตรียมข้าวของ แต่ผมก็ใช้วิธีจัดทำรายการของใช้ที่จำเป็นไว้ ทั้งเสื้อผ้า ของกิน ของใช้ส่วนตัว เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆที่จำเป็น รวมทั้งดิคชันนารีอิเล็คโทรนิกส์ที่ขาดไม่ได้ ส่วนเรื่องเงินสดก็ไม่จำเป็นต้องนำติดตัวไปมากนักเพราะสามารถใช้บัตรเครดิตได้สะดวก ของกินที่ขาดไม่ได้คือบะหมี่สำเร็จรูป และเอ้(ภรรยา)ได้ซื้ออาหารไทยสำเร็จประเภทซองไปด้วย ทั้งข้าวกล้อง ลาบหมู นำพริกหนุ่ม แกงฮังเล เป็นต้น กับของที่ระลึกสำหรับอาจารย์และเพื่อนๆ

ตอนที่ผมเรียนบริหารรัฐกิจที่นิด้า อาจารย์ท่านหนึ่งบอกว่า รัฐประศาสนศาสตร์กับบริหารธุรกิจ มีรายวิชาที่แตกต่างกันสัก ๓๐ % เท่านั้น ที่ รปศ. ไม่ได้เรียนก็เป็นวิชาการตลาด การเงิน เท่านั้น ซึ่งผมเคยคิดจะเรียนบริหารธุรกิจเพราะคิดว่า เราน่าจะสามารถนำแนวคิดทางบริหารธุรกิจมาปรับใช้ในการบริหารภาครัฐได้ แต่ก็ยังหาโอกาสเรียนไม่ได้สักที ต่อมาได้ไปเรียนการบริหารระบบสาธารณสุข ก็เลยคิดว่าคงไม่เรียนบริหารธุรกิจแล้ว ซื้อหนังสือมาอ่านเองก็ได้

แต่พอมีหลักสูตรฝึกอบรมนี้เข้ามาก็พบว่า มีเนื้อหาหลักๆไปทางบริหารธุรกิจพอดี ก็เหมือนกับการเติมเต็มความใฝ่ฝันอยากเรียนรู้ของตนเองได้  "จงกล้าที่จะตามหัวใจและความใฝ่ฝันของตนเอง" แม้จะคิดว่าการสื่อสารภาษาอังกฤษของตนเองจะไม่ดีเท่าไหร่ แต่ถ้ามีความกล้า หัวใจก็จะพาให้ผ่านพ้นไปได้ไม่ยากนักเหมือนกับตอนที่เรียนบริหารสาธารณสุขเมื่อ ๓ ปีที่แล้ว

ผมชอบเรื่องการบริหารจัดการพอๆกับชอบเป็นหมอ ตอนหลังๆผมมานั่งคิดดูว่า ผมนั่งตรวจคนไข้ทุกวัน มีคนไข้จำนวนมาก หลายคนก็เจ็บป่วยซ้ำๆ...หลายคนรักษาดูแลกันมาตั้งแต่เริ่มคลอด จนโตเป็นวัยรุ่น หลายโรค หลายคนก็เป็นอย่างนั้น ในขณะเดียวกันเมื่อออกไปเยี่ยมเยียนชาวบ้านที่อยู่บนดอย ชนบทห่างไกล เราคิดว่าที่เราตรวจคนไข้อยู่ในโรงพยาบาลก็แทบตรวจกันไม่ทันอยู่แล้ว ในชุมชนกลับยังคงมีคนเจ็บไข้ได้ป่วยที่ไม่ไปโรงพยาบาลหรือไปโรงพยาบาลไม่ได้อีกเยอะ การมาออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ก็มาได้ชั่วครั้งชั่วคราว นานทีปีหนเท่านั้น

หากเราสามารถบริหารจัดการให้คนเจ็บป่วยน้อยลง ช่วยกันส่งเสริมสุขภาพ ช่วยกันป้องกันโรค แนะนำให้ผู้คนสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพได้ ก็น่าจะลดจำนวนคนป่วยและคนไข้ลงไปได้ หรือคนที่เจ็บป่วยแต่มาโรงพยาบาลลำบากหรือมาไม่ได้ ถ้าเราสามารถบริหารจัดการให้มีหมอหรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขออกไปดูแลเขาในชุมชนได้ ก็น่าจะดีกว่าให้เขาดั้นด้นหรือปล่อยเขาทิ้งไว้ตามยถากรรม...สิ่งเหล่านี้จึงเป็นเหตุดลใจให้ผมออกจากโรงพยาบาลอำเภอ ออกจากห้องตรวจแคบๆ มาอยู่ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่ต้องมาช่วยอำนวยความสะดวกแก่คนทำงานและมีขอบเขตการทำงานที่ครอบคลุมทั้งจังหวัด ต้องประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆมากมาย และได้มีโอกาสสร้างนวัตกรรมในการพัฒนาบุคลากรที่จะช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการและคุณภาพบริการของประชาชนทั้งอสม.ผู้นำการเปลี่ยนแปลง พนักงานสุขภาพชุมชนชายแดน แพทย์แผนไทย พนักงานสุขภาพชุมชน หมออนามัยติดปีก เป็นต้น

ยิ่งขอบเขตของงานยิ่งกว้าง ปัญหายิ่งซับซ้อน เราไม่ได้ลงมือปฏิบัติงานเอง ไม่ได้ตรวจคนไข้เอง แต่เราต้องช่วยจัดการให้คนหน้างานหรือผู้ปฏิบัติ เขาสามารถทำงานได้สะดวก มีคนไปทำงาน มีของไปใช้งาน มีบริการไปให้ถึงชาวบ้านเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการและเพิ่มคุณภาพบริการ สิ่งเหล่านี้คือ การบริหารหรือการจัดการ

การบริหารหรือการจัดการ คือการทำงานให้สำเร็จโดยไม่ต้องลงมือทำเอง เป็นการจูงใจให้ทีมงานหรือผู้อื่นทำงานให้สำเร็จ ผู้บริหารจึงเป็นผู้จูงใจให้ทีมงาน ทำงานให้สำเร็จ ผมชอบความมหายของคำว่า "บริหาร" คำหนึ่งที่ว่า "Make it possible" ผู้บริหารจึงต้องเจอกับปัญหาและอุปสรรค ต้องช่วยแก้ไขปัญหา ช่วยลดอุปสรรคให้คนทำงาน ถ้าไม่มีปัญหา ผู้บริหารก็ไม่สำคัญ

ภาษิตจีน กล่าวไว้น่าสนใจว่า "ผู้บริหารชั้นธรรมดา ทำงานสำเร็จโดยใช้กำลังความสามารถของตนเองอย่างเต็มที่ ผู้บริหารชั้นกลาง ทำงานสำเร็จโดยใช้สติปัญญาของตนเองอย่างเต็มที่ และผูบริหารชั้นยอด ทำงานสำเร็จโดยใช้สติปัญญาของผู้อื่นอย่างเต็มที่"

อุปสรรคที่สำคัญในชีวิตคนเรา ไม่ได้มาจากปัจจัยภายนอก ส่วนใหญ่มาจากปัจจัยภายในตัวเราเอง เรามักสร้างอุปสรรคหรือเครื่องกีดกั้นขึ้นในใจเราเอง กลัวอย่างนั้นกลัวอย่างนี้ กลัวผิดพลาด กลัวล้มเหลว กลัวเสียหน้า...กลัวไปสารพัด เมื่อใดก็ตามที่เราทำใจให้กล้า...กล้าที่จะแพ้ กล้าที่จะล้มเหลว...เมื่อนั้นเราก็กล้าที่จะฝัน...กล้าที่จะก้าวเดินไปในเส้นทางที่เราไม่รู้...และก็กล้าที่จะประสบความสำเร็จ...ดั่งใจปรารถนา ในไม่ช้าก็เร็ว

มหาวิทยาลัยมิชิแกน ไม่ใช่มหาวิทยาลัยรัฐมิชิแกน (เป็นคนละที่กัน) ได้รับการจัดอันดับจากยูเอสนิวส์และเวิร์ลด์รีพอร์ต ว่าเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ ๔ ที่ดีที่สุดในสหรัฐอเมริกา ประจำปี ๒๐๐๘ โดยสามอันดับแรกคือมาหวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย (เบิร์กเลย์) มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียและมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย (ลอสแองเจลิส) ดังนั้นเวลาหนึ่งเดือนในการเข้าร่วม มิชิแกน เอ๊กซิคิวทีฟ โปรแกรมของรอส สคูล อ๊อฟ บิสิเนส น่าจะได้ประโยชน์มากพอสมควร

มหาวิทยาลัยมิชิแกนมีศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียงหลายคน เช่น ไมเคิล เฟลส์ นักว่ายน้ำ ๑๑ เหรียญทองกีฬาโอลิมปิก แลร์รี เพจ หนึ่งในสองผู้ก่อตั้งกูเกิ้ล ส่วนคนไทยก็มีผู้มีชื่อเสียงหลายคนเช่น บัณฑิต อึ้งรังษี วาทยากรมีชื่อระดับโลก ศ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เชาว์ สายเชื้อ ดร.นพดล กรรณิกา ศ.ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ และที่สำคัญอีกท่านหนึ่งที่เป็นปรมาจารย์ด้านการจัดการความรู้คือ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช

เครื่องบินจอดที่สถานีนานาชาติทอม แบรดเลย์ ของสนามบินนานาชาติแอลเอ (LAX) สนามบินแห่งนี้สร้างตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๒๙ และปรับปรุงใหม่ในปี ๑๙๘๒ มีสถานีในประเทศ ๘ สถานี (T1-T8) สนามบินอยู่ห่างจากตัวเมืองแอลเอ ๒๐ ไมล์ ไม่มีรถไฟเข้าเมือง มีรถบัสใช้เวลา ๖๐ นาที ถ้าใช้รถแท๊กซี่ ๓๐ นาที แต่สามารถต่อรถบริการของสนามบิน (Shuttle bus) ไปที่สถานีเมโทรได้ในเวลาสัก ๑๕ นาทีเท่านั้น สนามบินนี้เป็นสนามบินธุรกิจการค้าที่ใหญ่เป็นอันดับ ๕ ของโลกและอันดับ ๓ ของอเมริกา

ช่วงเวลากว่า ๒๐ นาที ที่เครื่องบินจอดรอการลากเข้าไปจอดบริเวณทางออกของผู้โดยสาร ทุกคนหยิบกระเป๋าถือ เป้หรือกระเป๋าลาก เตรียมลงจากเครื่อง ผมเปลี่ยนเวลานาฬิกาเป็นเวลาแอลเอแล้ว เราออกจากเครื่องบินในเวลา ๒๐.๕๕ น. เดินไปตามทางเดินงวงช้าง เข้าไปในอาคาร ตามทางเดินที่มีป้ายบอกไปที่ทางออกและรับกระเป๋า...อีกชั่วอึดใจก็จะเหยียบแผ่นดินอเมริกาแล้ว ผมรู้สึกว่าตนเองเป็นเหมือนเด็กๆเลย เฮ้อ... ตื่นเต้นจัง!  

หมายเลขบันทึก: 444612เขียนเมื่อ 18 มิถุนายน 2011 15:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 22:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เขียนดีมากเลยครับ ละเอียด ครบถ้วน ได้ทั้งความรู้ อารมณ์ ประสบการณ์ มุมมองและแง่คิด

ตอนแรกผมคิดว่าจะบันทึกของตนเองด้วย แต่ได้อ่านของพี่แล้ว เลยลังเล ไม่รู้จะเขียนอย่างไรให้ดีกว่านี้ 555....

เรียนคุณหมอพนาครับ

"สองมุมมอง สองอรรถรส" ครับ พี่ดูจากฝีมือการวาดดอกกุหลาบและการถ่ายรูปแล้ว พนาน่าจะถ่ายทอดบันทึกออกมาได้อย่างละเมียดละมัย พี่จะรออ่านครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท