ครดี ครูเพื่อศิษย์ : ครูแป๋ว ปฐมวัย...


ในวันแรกของการเดินป่า ข้าพเจ้าและคณะเดินทาง ได้รับความเมตตาจากคุณครูท่านหนึ่งให้เข้าไปพักใต้ชายคา "ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านห้วยหยวก" ที่มีหลังคากันแดด กันฝน

เช้าวันรุ่งขึ้น ก่อนที่จะเดินทางมุ่งหน้าตามเส้นทางขึ้น "วัดหลวงขุนวิน" ก็ได้มีโอกาสคุยกับคุณครูผู้ดูแลเด็ก ๆ ที่โรงเรียนนี้ว่า

"คุณครูขาดอะไรไหม อุปกรณ์การเรียน หนังสือ สื่อ วัสดุ...?"

คุณครูตอบว่า

"ขาดห้องน้ำค่ะ..."

ตอนแรกเราก็งง ๆ ว่า ก็เห็นมีห้องน้ำอยู่ 5 ห้องเรียงแถวกันอยู่ แล้วคุณครูบอกว่า ขาดห้องน้ำได้อย่างไร

จากนั้นคุณครูก็อธิบายว่า ห้องน้ำนี้เป็นของอีกหน่วยงานหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ติดกัน เขาจะล็อคไว้ แล้วเปิดให้ใช้อยู่ 2 ห้อง และที่สำคัญบางครั้ง เด็กปวดท้อง ก็วิ่งไปเข้าไม่ทัน เพราะอยู่ค่อนข้างไกล

ด้วยเหตุนี้เอง ข้าพเจ้าและทีมงานจึงปรึกษากันว่า พวกเรามีหลังคา Metal Sheet และเศษเหล็กกล่องขนาดต่าง ๆ รวมถึงกระเบื้องที่กระจัดกระจายในที่พักของเรา จึงลงความเห็นและบอกกับคุณครูว่า จะมาสร้างห้องน้ำให้...

หลังจากสิ้นสุดการเดินป่า ข้าพเจ้าและทีมงาน ก็ได้ตระเตรียมวัสดุอุปกรณ์ เก็บเศษเหล็ก เศษกระเบื้อง เศษหินแกรนิต หลังคา Metal Shett แผ่นสั้น ๆ และที่สำคัญได้รับความเมตตาจากผู้มีจิตศรัทธาร่วมสมทบทุนสร้างห้องน้ำในครั้งนี้

เมื่ออวัสดุอุปกรณ์พร้อม คนพร้อม "ใจพร้อม" ข้าพเจ้าจึงเดินทางขึ้นมาร่วมสร้างห้องน้ำ ณ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแห่งนี้ โดยมีโอกาสพักอาศัยอยู่กับช่างผู้ชายและคุณพ่อผู้ใจดีอีกสองคนอยู่เป็นเวลากว่า 1 สัปดาห์

สิ่งที่ข้าพเจ้าประทับใจในครั้งนี้ มิใช่การได้มาอุทิศแรงกาย แรงใจในการสร้างห้องน้ำ

แต่เป็นภาพที่ข้าพเจ้าได้พบ ได้เห็น "คุณครู" ผู้หนึ่งซึ่งเป็น "ครู" ที่แท้จริง

คุณครูท่านนี้ข้าพเจ้ามาทราบภายหลังว่าชื่อ "ครูแป๋ว" ได้ยินจากเด็ก ๆ และคนแถว ๆ นั้นเรียก

กิจวัตรตอนเช้า (ประมาณ 7.00 น.) จะไปนั่งรออยู่บริเวณปากทางของหมู่บ้าน ซึ่งเป็นชุมชนของพี่น้องชาวกระเหรี่ยงเผ่าปะกากะญอซึ่งอยู่อาศัยกันประมาณ 70 ครัวเรือน

ครูแป๋วก็จะนั่งรอเด็ก ๆ ที่พ่อแม่กำลังจะออกเดินทางไปในเรือกสวน ไร่นา พ่อแม่ไปทาง ลูกไปอีกทาง

แต่ทางที่ลูกไปนั้น มีครูแป๋วคอยนำทาง จูงมือ เดินมา "โรงเรียน"

สถานที่นั้น ข้าพเจ้าเรียกว่า "โรงเรียน" แต่ดูจากการดำเนินชีวิตแล้วเป็นเหมือน "บ้าน" หลังที่สองของเด็ก ๆ

 

ครั้นมาถึงโรงเรียนกัน ซึ่งโรงเรียนนี้มีอาคารหลังเดียว แบ่งเป็น 3 ล็อค ล็อคแรกทางขวามือสุดเป็นห้องกว้าง ๆ มีกระดานดำ มีวัสดุ อุปกรณ์การเรียน ล็อคกลางเป็นที่โล่ง ๆ และล็อคทางซ้ายเปรียบเสมือน "ห้องครัว"

เสียงที่เล็ดรอดออกจากห้องเรียนเล็ก ๆ นั้น ในตอนเช้าครูแป๋วจะพาเด็ก ๆ ร้องเพลงชาติ และสวดมนต์

จากนั้นก็พาเด็ก ๆ อ่าน ก ไก่ ข ไข่ ท่อง A B C D One Two Three Four Five

แต่ท่องไปท่องมา ซักพักก็ได้ยินเด็กเล่นกัน บางครั้งหัวเราะ บางครั้ง "ร้องไห้"

เด็กที่ศูนย์ฯนี้มีประมาณ 15 คน เป็นเด็กอายุ 3-7 ปี เป็นเด็กที่ยังมีนิสัยที่ "บริสุทธิ์"

เล่นกัน สนุกสนานกัน ทะเลาะกันก็ต้องมี "ร้องไห้"

ครูที่ข้าพเจ้าเห็น ไม่ใช่แต่เพียงทำหน้าที่สอนหนังสืออีกแล้ว จะต้องคอยดูแลเด็กที่หัวเราะ และคอยปลอบประโลมเด็กเมื่อคราวที่ "ร้องไห้"

บางครั้งข้าพเจ้าเห็นเด็ก ๆ ออกมาอุจจาระ ปัสสาวะ บนพื้นปูนข้างหน้าห้องเรียน ซึ่งก็ไม่ใช่หน้าที่ใครที่จะต้องเช็ด ต้องล้าง นอกจาก "คุณครู"

ซึ่งก็เป็นเหตุผลสนับสนุนจากข้อมูลเบื้องต้นที่คุณครูบอกว่า "ห้องน้ำไกล..."

ตอนกลางวัน ครูแป๋ว จะมีกระทะไฟฟ้าสีแดง ๆ ใบหนึ่ง ทำกับข้าวให้เด็ก ๆ แล้วก็นั่งล้อมวงกันกิน

เมื่อกินกันเสร็จก็ได้เวลาเล่นและ "นอน"

เมื่อนอนตื่น ก็ต้องพาไปอาบน้ำ ทาแป้ง

ครั้นเมื่อถึงเวลาบ่ายสามโมง คุณครูก็พาเข้าแถวแล้วเดินพากลับไปส่งที่ "บ้าน"

กิจวัตรประจำวันที่ข้าพเจ้าเห็นเป็นเช่นนี้

ข้าพเจ้าไม่เคยจินตนาการออกเลยว่า "คุณครู" จะมีภาระหน้าที่เช่นนี้

ที่พูดกันตรง ๆ ว่า จะต้องมีหน้าที่ "เช็ดขี้ เช็ดเยี่ยว" ของลูกคนอื่น

ต้องคอยอาบน้ำ ปะแป้ง และดูแลแบบ "ไข่ในหิน"

นี่เองที่ครูบาอาจารย์ท่านทรงเมตตาสอนว่า เด็กอายุ 1-7 ปีต้องดูแลแบบไข่ในหิน วันนี้ข้าพเจ้าเห็นภาพที่ครูแป๋วดูแลเด็ก ๆ จึงเริ่มเข้าใจได้ว่าไข่ในหินนั้นเป็นเช่นไร...?

ย้อนกลับไปวันแรกที่ข้าพเจ้าขนอุปกรณ์ขึ้นมาเริ่มงานก่อสร้างนั้น ครูแป๋วบอกว่า จะขอ "ห้องอาบน้ำ" สักห้องได้ไหม คือ ขอเป็นห้องส้วมสองห้อง และห้องอาบน้ำหนึ่งห้อง เอาไว้อาบน้ำให้เด็ก ๆ

ตอนนั้นข้าพเจ้าเองก็งง ๆ ว่าต้องอาบน้ำให้เด็กด้วยเหรอ

ข้าพเจ้าจึงตอบว่า เตรียมโถส้วมมา 3 อัน คงจะต้องทำห้องส้วมสามห้อง แต่ก็ไม่เป็นไร จะกั้นทำห้องอาบน้ำในห้องนั้นให้ด้วย

ด้วยเหตุและปัจจัยเบื้องต้น ที่เพียงคิดว่าจะเก็บวัสดุอุปกรณ์ที่เหลือทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ ที่บ้านของเรามาทำห้องน้ำในเด็ก ๆ

แต่เมื่อทำไป ทำไป ใครมาเห็นก็ประทับใจในพลังของความเป็น "ครู" ใครต่อใครก็ยื่นมือเข้ามา "สนับสนุน"

แผนงานที่กะว่าจะทำง่าย ๆ 1 สัปดาห์เสร็จ ก็กินเวลาเข้าไปเกือบ 2 สัปดาห์

ข้าพเจ้าและทีมงาน แต่งโน่น เติมนี่ มีพลังผุดขึ้นมาจากจิตใจเพราะได้เห็นภาพที่ดี ๆ ที่ครูมีให้แก่ "ศิษย์"

ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงสะท้อนภาพครูดี ครูเพื่อศิษย์คนหนึ่งมาให้สังคมไทยได้รับทราบ

ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าคุณครูแป๋วเรียนจบที่ไหน

แต่ไม่ว่าคุณครูเรียนจบที่ใด ข้าพเจ้าคิดว่าเป็นความภาคภูมิใจของสถาบันแห่งนั้น

ถ้าหากครูแป๋วเรียนจบในสาขาวิชา "การศึกษาปฐมวัย" นี่ก็เป็นดัชนีชี้วัดคุณภาพของครูไทยในสาขาวิชานั้นที่น่ายกย่อง

ขอบพระคุณคุณครูทุกท่านที่เสียสละและแบ่งปันกำลังกาย กำลังใจเพื่อดูแล "ลูกศิษย์" ไทยให้มีอนาคตที่สดใสและดีงาม...

ครูไทยคนหนึ่ง ที่มีหัวใจรักลูกศิษย์

ครูไทยที่เป็นครูดี ครูเพื่อศิษย์ อย่างแท้จริง...


ป.ล. ตอนหลังข้าพเจ้ามาทราบว่าคุณครูท่านนี้ไม่ได้เงินเดือนมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ก็ยังไม่ไป ยังดูแลเด็ก ๆ ให้กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแห่งนี้อยู่

สิ่งนี้เป็นสิ่งที่น่าคิดต่อไปว่าทำไมครูไทยถึงอยู่ได้โดยไม่มี "เงิน..."

 

หมายเลขบันทึก: 444161เขียนเมื่อ 15 มิถุนายน 2011 17:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ขอบคุณคุณครูแป๋วที่ช่วยเยาวชนไทยอย่างเต็มศักยภาพ และแสนจะทุ่มเท และเสียสละ

สวัสดีค่ะ

ชื่นชมคุณครูแป๋ว ครูเพื่อศิษย์ ครูดีในดวงใจ ที่สุดของคุณครู

เธอคงเป็นครูจ้างสอน ที่ยังไม่ได้บรรจุ

ไม่ทราบว่าหน่วยงานใดเป็นผู้ดูแลเธอนะคะ

ทำงานด้วยใจของคนเป็นครูแท้...จริงๆครับ

สิ่งนี้เป็นสิ่งที่น่าคิดต่อไปว่าทำไมครูไทยถึงอยู่ได้โดยไม่มี "เงิน..."   อยากให้ครูไทยทั้งโลกได้อ่านบทความนี้จัง..

ครูไทยคนหนึ่ง ที่มีหัวใจรักลูกศิษย์

ครูไทยที่เป็นครูดี ครูเพื่อศิษย์ อย่างแท้จริง...

ชอบถ้อยคำนี้มากนะครับ

ขอบคุณอาจารย์มากนะครับ

การสอนเด็กว่ายากแล้ว แต่การเลี้ยงเด็กนั้นยากกว่า

ครูที่ต้องทำหน้าที่ทั้งเลี้ยงและสอนจึงเป็น "ยอดครู..."

ช่วงเริ่มต้นของการสร้างห้องน้ำให้กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแห่งนี้ คุณครูบอกว่าจะไปคุยกับทาง อบต. ในเรื่องของการหยุดการเรียนการสอนชั่วคราวเพื่อที่จะเปิดทางให้การทำงานและการพักอาศัยของทีมงานของข้าพเจ้าทำได้อย่างสะดวก

ทาง อบต. ตอบกลับมาว่า "ปิดไม่ได้ เพราะช่วงนี้พ่อแม่เขาต้องทำนา..."

จากคำพูดนี้ข้าพเจ้าจึงเริ่มรู้ว่า สถานที่นี้ไม่ใช่เป็นเพียงแค่โรงเรียนแต่เป็นสถานที่ฝากลูกฝากหลานในยามที่พ่อแม่จะต้องออกไปทำงาน

ข้าพเจ้าจึงเริ่มย้อนกลับไปดูวงจรชีวิตของคุณครูประจำวัน (Job Description) ที่ต้องไปรับเด็ก ๆ ในหมู่บ้านตอนเจ็ดโมงเช้า เดินเข้าแถวมาโรงเรียน ร้องเพลงชาติ สวดมนต์ สอนหนังสือ ทำอาหารกลางวันให้กิน พานอน พาอาบน้ำ ปะแป้ง แล้วบ่ายสามโมงก็พากลับไปส่งที่บ้าน แล้วยังไม่นับรวมถึงเก็บกวาด ทำความสะอาด ล้างจาน ล้างห้องน้ำ ดูแลความสะอาดรอบบริเวณโรงเรียน

คุณครูที่ทำหน้าที่เสมือนพ่อแม่ ซึ่งต้องดูเด็ก ๆ ซึ่งเปรียบเสมือนลูก เป็นทั้งครู เป็นทั้งแม่ เป็นทั้งแม่บ้าน เป็นทั้งภารโรง...

ในตอนกลางวันคุณครูจะมีกระทะไฟฟ้าหนึ่งใบทำอาหารให้เด็ก

อาหารก็ไม่ใช่อะไรที่เลิศหรู ต้มจืด 1 ถัง

ต้องเรียกว่า 1 ถัง เพราะต้มแล้วใส่ในถัง ไม่ได้ใส่ในหม้อ

ทำไมถึงต้องเป็นเช่นนั้น...?

ครั้งหนึ่ง ทีมงานถามคุณครูว่ายังขาดอะไรอีกไหม

คุณครูตอบว่า ขอถังน้ำกับขันด้วยค่ะ เพราะไม่มีโอกาสลงไปซื้อ...

ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแห่งนี้ ตั้งอยู่ห่างจากถนนใหญ่ขึ้นเขามาประมาณ 5 กิโลเมตร

รถเก๋งเข้าไม่ได้ เข้าได้แต่รถปิคอัพ

ตอนแรกเราวางแผนว่า จะให้ทีมงาน CPAC นำคอนกรีตผสมเสร็จเข้ามาส่ง ทีมงานของแพลนท์สันป่าตองผู้ใจดี ได้ขับรถเข้ามาสำรวจแล้วก็พบว่า รถใหญ่ไม่สามารถเข้ามาได้เนื่องจากถนนเล็กและคดโค้ง

ดังนั้นเราจึงต้องสั่งปูน หิน ทราย ขึ้นมาผสมเทกันเอง

ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างจึงสูงขึ้นพอสมควร เพราะรถที่จะขึ้นมาส่งทรายคิดค่าขนส่งเที่ยวละ 1,500 บาท (ไม่รวมค่าทราย) เพราะสภาพการเดินทางค่อนข้างลำบาก

ดังนั้นข้าพเจ้าจึงเริ่มเข้าใจภาพของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กว่าเป็นบ้านหลังที่สองอย่างแท้จริง

เป็นสถานที่ฝากลูก ๆ ใว้ในยามที่พ่อแม่ไปทำงาน

ฝากไว้ให้กับคุณครู ช่วยเลี้ยง ช่วยดู ช่วยสอน ช่วยอบรม

พูดไม่เพราะ ก็หัดให้พูดครับ พูดค่ะ

สอนให้ร้องเพลงชาติไทย สอนให้สวดมนต์เพื่อเข้าถึงพระรัตนตรัย

สอนบวก ลบ คูณ หาร เพื่อให้มีความรู้ไว้ใช้ในสังคม

ดูแลเรื่องกิน เรื่องนอน

ตอนแรกที่ไป เด็ก ๆ ไม่มีมุ้ง

เราก็เห็นแต่อาคารเรียนมีตาข่ายขึงรอบ ๆ อยู่เพื่อกันยุง แต่ก็คงกันไม่ได้มากเพราะมีรูรั่วที่ใหญ่ขนาดมือรอดได้อยู่โดยรอบ

ยุงที่นี่ดุมาก โดยเฉพาะ "แมงอีลัก" เป็นสมญานามที่คนแถวนั้นเรียกแมลงชนิดหนึ่งซึ่ง "ปากเบา" มาก ตอนกัดไม่เจ็บเหมือนยุง แต่พอผ่านไปสักพักหนึ่ง "คัน" น่าดู คันกว่ายุงหลายเท่า

สิ่งที่ครูขอเรา ไม่เคยขอให้กับตัวเอง

ขอห้องน้ำ ห้องอาบน้ำ ขันน้ำ มุ้งครอบให้กับเด็ก ๆ

คนที่ไปเห็นต่างก็เต็มใจที่จะให้ เพราะให้แล้วใช้จริง เกิดประโยชน์จริง

อุปกรณ์การเรียนนั้นไม่ขาด เพราะรัฐบาล ราชการ จัดให้

แต่อุปกรณ์ในการเลี้ยงดูลูกนั้นใครจะจัดให้...

ชีวิตของคน ๆ หนึ่งที่ทำหน้าที่เป็นทั้งพ่อ ทั้งแม่ ทั้งครู คือ ปูชนียบุคคลที่น่ายกย่อง...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท