กระบวนการสร้างครูที่เพลินกับการพัฒนา (๖) : เรียนรู้จากกันและกัน


 

การพัฒนาครูตามกระบวนการของ lesson study นั้น ไม่เพียงแต่จะเป็นการเพิ่มคุณภาพในการจัดการเรียนการสอน และการพัฒนากลุ่มครูผู้สอน ด้วยการเปิดโอกาสให้มีการถ่ายทอดความรู้ฝังลึกสู่กันในจังหวะและเวลาที่เหมาะสมเท่านั้น กระบวนการของการเรียนรู้นี้ยังเอื้อโอกาสให้ทุกคนได้เรียนรู้ และเกิดมุมองใหม่ๆ ที่ครูจะได้เรียนรู้จากครู และได้เรียนรู้จากการเรียนรู้ของผู้เรียนไปในขณะเดียวกัน

 

ก่อนสอน  มีประเด็นเรียนรู้ที่ทั้งผู้สอนและผู้นิเทศ และผู้ร่วมสังเกตการณ์สอน จะได้มาเรียนรู้ร่วมกันที่สำคัญ คือ

  • ทบทวนผลการเรียนการสอนของครั้งก่อน เพื่อทำการปรับปรุงแผน และทรัพยากรการเรียนรู้ของตนให้ดีขึ้น
  • ทดลองบทเรียน โดยเฉพาะสถานการณ์ปัญหาที่จะนำไปใช้ในการเปิดชั้นเรียน ที่จะเป็นประเด็นสร้างแรงจูงใจ และการเรียนรู้ต่อไปในคาบเรียนนั้น
  • ปรับแก้บทเรียน ก่อนเข้าชั้นเรียน

 

ระหว่างการเรียนการสอน  ประเด็นเรียนรู้สำคัญที่ควรชวนกันมอง คือ 

  • การส่งเสริมดูแลเอาใจใส่ให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง
  • การประเมินผู้เรียนในขณะเรียนรู้
  • การทำความรู้จักกับวิธีการเรียนรู้ของผู้เรียนที่มีความแตกต่างกันออกไป เพื่อให้ครูพัฒนาความสามารถในการ “อ่านเด็ก” และ “สังเกตเด็ก” ทั้งจากการพฤติกรรมการเรียนรู้  ลีลาการเรียนรู้ (learning style)  และชิ้นงานที่เป็นผลลัพธ์ของการเรียนรู้

 

หลังสอน  ประเด็นเรียนรู้ที่จะก่อให้เกิดการพัฒนาในคาบถัดไป

  • สิ่งที่ทำได้ดีในคาบที่ผ่านมา และวิธีการขยายผลความสำเร็จนั้นออกไปอีก
  • สิ่งที่เป็นปัญหาติดขัด และวิธีการแก้ไข
  • ประเด็นเน้นที่จะนำไปพัฒนาในคาบถัดไปให้เห็นผล

 

ในมุมของการเรียนรู้  กระบวนการนี้ช่วยสร้างให้การเรียนรู้จากกันและกันเกิดขึ้นได้ในทุกวงรอบ และในทุกขณะ  เช่นเดียวกับการประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนที่เกิดขึ้นได้อยู่ทุกเมื่อจากครูผู้มีสายตาในการ “อ่านเด็ก” และ “สังเกตเด็ก”

 

ในมุมของการทำงาน การทำงานที่มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในลักษณะดังกล่าว ยังช่วยให้เกิดการมองเห็นงานของตนจากการเรียนรู้วิธีการทำงานของคนอื่นด้วย ดังเรื่องเล่าที่คุณครูสุ – สุภาพร กฤตยากรนุพงศ์ คุณครูวิชาการหน่วยคณิตศาสตร์ ได้นำมาเล่าให้วงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของกลุ่มครูวิชาการ และครูจากช่วงชั้นที่จัดขึ้นทุกเย็นวันจันทร์ เพื่อติดตามความเป็นไป และวางแผนการขับเคลื่อนงาน lesson study คราวหนึ่งว่า  

 

วันนี้ครูสุไปสังเกตกระบวนการเรียนการสอนที่ห้อง ๖/๒ ในคาบ ๑-๒ ที่กำลังเรียนเรื่อง ค่าประจำหลักของจำนวน  การสังเกตการณ์สอนของครูรุ่นน้องในวันนี้ ทำให้ได้เห็นข้อดีของการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ของเขาเขา ซึ่งเป็นเรื่องที่ตัวเราเองลืมคิดไป นั่นคือเรื่อง “การเรียนรู้ของเด็ก” ที่สามารถเห็นได้จากการการที่ครูจัดช่วงเวลาให้เขาได้ทำแบบฝึกในชั้นเรียน

 

ทำให้เกิดความตระหนักขึ้นมาว่า ช่วงเวลาที่เด็กกำลังนั่งทำแบบฝึกนี้ คือช่วงเวลาที่ครูจะได้เห็นว่าเขายังไม่เข้าใจอะไร ทำให้ครูได้เห็นว่าเขาเข้าใจเรื่องนี้อย่างไร ความเข้าใจนี้มีที่มาอย่างไร

 

ทั้งหมดนี้เป็นภาพซ้อนที่เกิดขึ้น เป็นการเห็นการทำงานของตนเองไปบนการทำงานการจัดกระบวนการเรียนรู้ในห้องของน้องที่เป็นคู่สังเกตการณ์  นอกจากจะได้เห็นการทำงานกับชั้นเรียนของน้องแล้วยังได้เห็นภาพการสอนของตนเองตั้งแต่ต้นจนจบคาบด้วย

 

 

หมายเลขบันทึก: 444135เขียนเมื่อ 15 มิถุนายน 2011 14:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท