เทคโนโลยีสำหรับครูอังกฤษ


เทคโนโลยีสำหรับครู

ครูกับเทคโนโลยีในปัจจุบัน

 

                นับตั้งแต่คอมพิวเตอร์ได้อุบัติขึ้นในโลกจากการพัฒนาแนวคิดในการใช้เครื่องจักรกลทำงานแทนมนุษย์  และมีการพัฒนาก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เป็นไปตามกฎของมัวร์ (Moore’s law) ซึ่งกล่าวว่า อัตราการพัฒนาของคอมพิวเตอร์มีอัตราเป็น 2 เท่าทุก 12 – 18 เดือน ไม่ว่าจะเป็นด้านความเร็วของ CPUหรือความจุของฮาร์ดดิส นอกจากการพัฒนาฮาร์ดแวร์แล้วการประยุกต์ใช้งานคอมพิวเตอร์ในรูปแบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT : Information  and  Communication Technology ) ก็มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วไม่แพ้กัน มีการใช้ ICT  กับกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์อย่างหลากหลายสาขา  ทางด้านการศึกษาICT เข้ามาเกี่ยวข้องใน 3 ลักษณะ คือ การเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศ ( Learn  about technology  and  computer ) ซึ่งเป็นการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับองค์ประกอบของคอมพิวเตอร์ ระบบการทำงาน  และการใช้งานคอมพิวเตอร์ ประการหนึ่ง  ประการที่สอง คือการใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เพื่อฝึกฝนทักษะการเรียนรู้และการสืบค้น (Learning  by  technology) เป็นการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนการสอน เช่น ในรูปแบบของบทเรียนคอมพิวเตอร์  บทเรียนเครือข่าย  การสืบค้นข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต เป็นต้น  ประการที่สามเป็นการใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนการสอนในลักษณะการสื่อสาร 2 ทาง (Interactive) เช่น  การฝึกทักษะการแก้ปัญหากับสถานการณ์จำลอง (Simulation)  การฝึกทักษะประเภทให้ข้อมูลย้อนกลับ ( feed back ) ด้วยจุดเด่นที่คอมพิวเตอร์ทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย สามารถจัดการกับข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ ไม่มีข้อจำกัดด้านเวลาและสถานที่ สามารถนำเสนอข้อมูลได้หลากหลายรูปแบบทั้งที่เป็น รูปภาพ ข้อความอักษร หรือเสียง  ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงทำให้มีการพัฒนาการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนการสอนมากขึ้นเรื่อย ๆ ในทุกระดับการศึกษา ทั้งการศึกษาในระบบ  การศึกษานอกระบบโรงเรียน และการศึกษาตามอัธยาศัย 

ดังนั้นเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการนำเทคโนโลยีและสารสนเทศมาใช้ในการเรียนการสอน กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดนโยบายและมาตรฐานการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษา เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2550 ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้ในสถานศึกษา และเพื่อป้องกันภัยทางอินเตอร์เน็ต  โดยหวังให้ผู้เรียน ผู้สอนบุคลากรทางการศึกษาและประชาชน ได้ใช้ประโยชน์และเข้าถึงบริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารตามความเหมาะสม โดยประกอบด้วยนโยบายส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสารเพื่อการศึกษา 6 ข้อ มาตรฐานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อการศึกษาสำหรับสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งหมด 6 ด้าน ได้แก่ 

¯ด้านการบริหารจัดการภายในสถานศึกษา  มีสาระสำคัญคือ ให้กำหนดการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในแผนปฏิบัติการประจำปี จัดงบประมาณสนับสนุน เพื่อพัฒนาการเรียนการสอน ประสานเครือข่ายจากชุมชน องค์กรภาครัฐ และเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุน มีระบบกำกับ ติดตาม ประเมินผลการดำเนินงาน และรายงานผลอย่างต่อเนื่อง  จัดระบบข้อมูลสารสนเทศที่เป็นปัจจุบันตามมาตรฐานของกระทรวงศึกษาธิการ และมีบุคลากรรับผิดชอบโดยตรง

¯ด้านโครงสร้างพื้นฐาน กำหนดให้มีระบบเครือข่ายอินทราเน็ต และระบบเครือข่ายภายในพื้นที่ในสถานศึกษา เพื่อการบริหารจัดการและการจัดการเรียนการสอน มีซอฟต์แวร์ที่จำเป็นและไม่ละเมิดลิขสิทธิ์   จัดห้องเรียนที่หลากหลาย  มีระบบการบำรุงรักษา

¯ด้านการเรียนการสอน ซึ่งถือว่าเป็นมาตรฐานที่ต้องอาศัยบุคลากรที่มีความรู้ ความเข้าใจ ในการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับครูโดยตรงก็ว่าได้ ประกอบด้วยสาระสำคัญคือ  ให้มีหลักสูตรและแผนจัดการเรียนการสอนแต่ละสาระการเรียนรู้ ที่ใช้เทคโนโลยีสาร สนเทศและการสื่อสารเป็นเครื่องมือ มีการจัดการเรียนรู้ตามแผนฯที่กำหนด  ด้วยรูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลาย  ผู้สอนเป็นแบบอย่าง และใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นเครื่องมือในการออก แบบและจัดกิจกรรมการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ  โดยคำนึงถึงกฎหมาย คุณธรรม และจริยธรรม มีระบบแนะแนวและให้คำปรึกษาทางการเรียนรู้ แก่ผู้เรียน และประชาชนผู้รับบริการ

¯ด้านกระบวนการเรียนรู้ เป็นมาตรฐานที่เน้นตัวผู้เรียนเป็นเป้าหมาย มีสาระสำคัญประกอบด้วย ผู้เรียนได้เรียนรู้จากการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในรูปแบบที่หลากหลาย ในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ ตามความสนใจ  มีทักษะการใช้และ ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ อย่างมีคุณธรรม จริยธรรม และมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนด

¯ ด้านทรัพยากรการเรียนรู้ ซึ่งจะเอื้อต่อการจัดการเรียนการสอนได้กำหนดให้มีเว็บไซต์ที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอนให้กับผู้เรียน จัดการแหล่งการเรียนรู้ ในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ รวบรวมสื่อ นวัตกรรมการเรียนการสอน ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอย่างเป็นระบบ จัดเป็นคลังแหล่งเรียนรู้ ศูนย์สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารหรือห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ ตามศักยภาพของสถานศึกษา

¯ด้านความร่วมมือภาครัฐ เอกชน และชุมชนเป็นมาตรฐานที่มุ่งให้สถานศึกษาแสวงหาความร่วมมือจากองค์กรภาครัฐ เอกชน และชุมชน มีการให้บริการความรู้กับชุมชน โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นเครื่องมือ รวมทั้งให้มีการ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน   ซึ่งแนวทางการดำเนินงานตามนโยบายและมาตรฐานเหล่านี้ยังสอดคล้องกับ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 มาตรา 22   (2)  มาตรา 25  หมวดที่ 9  เทคโนโลยีเพื่อ

การศึกษา  มาตรา 63 ,64, 65,66,67,68 และ 69  มาตรฐานการประเมินภายนอกสถานศึกษาของ สมศ.ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้แก่ มาตรฐานที่ 5 ผู้เรียนมีความรู้และทักษะที่จำเป็นตามหลักสูตร ตัวบ่งชี้ที่ 5.5    สามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการเรียนรู้  มาตรฐานที่ 10 ครูมีความสามารถในการจัดการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพและเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  ตัวบ่งชี้ที่ 10.4 มีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาการเรียนรู้ของตนเอง และผู้เรียน นอกจากนั้นยังมีบางมาตรฐานที่เอื้อต่อการนำสื่อ เทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการเรียนการสอน ได้แก่ มาตรฐานที่  6  ผู้เรียนมีทักษะในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง รักการเรียนรู้  และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง  มาตรฐานที่ 9 ครูมีคุณธรรม จริยธรรม มีวุฒิ/ความรู้ความสามารถตรงกับงานที่รับผิดชอบ หมั่นพัฒนาตนเอง  ซึ่งบรรดานโยบาย  มาตรฐานต่าง ๆ เหล่านี้เป็นเป้าหมายที่ท้าทายที่ครู  บุคลากรทางการศึกษาต้องก้าวไปให้ถึง และคงจะเป็นไปไม่ได้หากขาดบุคลากร ( people  ware)ที่มีความรู้ ความสามารถ  ความเข้าใจ มาทำหน้าที่ขับเคลื่อนแนวนโยบายรวมถึงมาตรฐานด้านเทคโนโลยีดังกล่าว  ซึ่งจากการศึกษาการประเมินประสิทธิภาพการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่ผ่านมา ( สุทธนู  ศรีไสย์ และคนอื่น ๆ : 2547 ) พบว่า ประสิทธิภาพการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานในภาพรวมของประเทศอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ (51.22%) เมื่อเปรียบเทียบกับเกณฑ์ที่ตั้งไว้ ด้านที่ต้องปรับปรุง 2 อันดับแรกคือ ด้านบุคลากร (33.36%) และด้านบริหารจัดการ (44.18%)  โดยมีประสิทธิภาพการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อการศึกษาสถานศึกษาขั้นพื้นฐานในเขตกรุงเทพมหานคร (68.11%)เขตภาคเหนือ (60.18%)เขตภาคกลาง (56.93%)  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (41.26%)  ภาคใต้ (34.99%)ตามลำดับ  ด้านบุคลากรพบว่าในโรงเรียนแต่ละแห่งร้อยละ 62.96 ใช้งานคอมพิวเตอร์ได้ดี (ร้อยละ 7.32 สำเร็จการศึกษาในสาขาคอมพิวเตอร์โดยตรง )นอกจากนี้ต่ำกว่าร้อยละ 30 ใช้อินเทอร์เน็ตเป็น รายวิชาที่ใช้คอมพิวเตอร์มากที่สุด 5 อันดับแรกได้แก่ คอมพิวเตอร์ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และภาษาไทย ตามลำดับ สำหรับกิจกรรมที่ครูผู้สอนให้ทำมากที่สุด 3 อันดับแรกได้แก่ พิมพ์รายงาน/เอกสาร/แบบฝึกหัด ค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต และวาดภาพ/สร้างตาราง/กราฟิก  ข้อมูลเหล่านี้พอจะชี้ให้เห็นถึงมูลเหตุประเด็นปัญหาและอุปสรรคต่อมาตรฐานการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษาใน 4 ประเด็นประเด็นแรก เกี่ยวกับHard ware  สถานศึกษาหลายแห่งโดยเฉพาะที่อยู่ชนบทห่างไกล หรือเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีจำนวนเครื่องไม่เพียงพอ ขาดงบประมาณสนับสนุน  เครื่องที่ได้จากการบริจาคบางที่เป็นเครื่องที่ล้าสมัย  ความเร็วต่ำ จำนวนเครื่องต่อคนใช้ในอัตราสูง ( สถานศึกษาร้อยละ 55 ใช้คอมพิวเตอร์ 1 เครื่องต่อนักเรียน 20 คน ร้อยละ 25 ใช้คอมพิวเตอร์ 1 เครื่องต่อนักเรียน 21-40 คน ส่วนที่เหลือมีสัดส่วนนักเรียนมากกว่า 40 คนต่อ 1 เครื่อง : ข่าวสด หน้า 28 - วันที่ 05 มีนาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 17 ฉบับที่ 6306 )

ประเด็นที่สองเกี่ยวกับ Soft ware เนื่องจากการพัฒนาของเทคโนโลยีด้านโปรแกรม เป็นไปอย่ารวดเร็ว ดังนั้นในการพัฒนาโปรแกรมใช้งานของโรงเรียนให้ทันสมัยอยู่เสมอก็เป็นเรื่องลำบาก ติดปัญหาตรงที่สภาพเครื่องไม่รองรับโปรแกรมบ้าง  ขาดบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจบ้าง  ประเด็นที่สาม คือด้านการบริหารจัดการ โรงเรียนให้ความสำคัญกับการมีเครื่องคอมพิวเตอร์และระบบเครือข่ายเพื่อใช้ในกิจกรรมต่าง ๆในโรงเรียน (เพราะมีผลต่อการประเมินภายนอกของ สมศ. ในมาตรฐานที่ 5 และ 10 ด้วย)  แต่ยังประสบปัญหาด้านงบประมาณในการจัดหา  ดูแลรักษา  ระบบการวางแผนใช้งาน และการติดตามประเมิน ประเด็นที่สี่ คือด้านบุคลากรซึ่งถือว่าเป็นประเด็นปัญหาที่สำคัญ เพราะเหล่านโยบาย มาตรฐานต่าง ๆ ที่เขียนขึ้นมาต้องอาศัยการขับเคลื่อนจากบุคลากร โดยเฉพาะครู  ปัญหาการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่เกี่ยวกับบุคลากรซึ่งมักจะได้ยินได้ฟัง หรือพบเห็นตามสื่อสิ่งพิมพ์  บนกระทู้ต่าง ๆ จากอินเตอร์เน็ต เช่น โรงเรียนขาดครูที่จบทางด้านนี้โดยตรง   ครูไม่มีความรู้ด้านการใช้งาน ICT ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะจัดงบประมาณส่งเสริมด้านนี้ในแต่ละปีมากพอสมควร แต่พฤติกรรมหลังการอบรมแล้วครูไม่ได้ใช้ความรู้จากการอบรม หรือใช้ก็ส่วนน้อย อาจจะติดขัดที่เรื่องประเด็นเวลา  หรือภาระงานที่มากเกินไป หรือบางครั้งเมื่อนำไปใช้แล้วประสบปัญหาเกิดความท้อถอย   ปัญหาด้านทัศนคติของครูต่อการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ  อาจจะเห็นว่าการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นเรื่องยุ่งยาก ซึ่งอาจจะมาจากเรื่องของภาษาในโปรแกรม โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ  การใช้เครื่องมือต่าง ๆ ในโปรแกรมซับซ้อนเข้าใจยาก

ปัญหาด้านพฤติกรรมการใช้งาน ที่พบบ่อย ๆ คือ การใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องพิมพ์ดีดราคาแพง  นักเรียนใช้เครื่องเพื่อการบันเทิงเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกมส์ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้มีมากกว่าการใช้เพื่อการเสาะแสวงหาความรู้จากเทคโนโลยีสารสนเทศ 

                ปัญหาเหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อความสำเร็จของการดำเนินงานตามนโยบายและมาตรฐานการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษา ที่ทุกคนทุกฝ่ายต้องการเห็นการนำมาใช้อย่างจริงจังเพื่อการพัฒนาการศึกษาของชาติก้าวหน้ากว่าที่เป็นอยู่  คำตอบที่สำคัญจึงอยู่ที่ตัวครู ทั้งผู้บริหารและผู้ปฏิบัติการ  เพราะครูคือพลังขับเคลื่อนการศึกษาที่สำคัญ  หากครูไม่ให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้กับการเรียนการสอน อย่างจริงจัง  ครูยังใช้วิธีการสอนแบบเดิม ๆ และไม่พัฒนาศักยภาพด้านการนำเทคโนโลยีมาใช้แล้ว แนวนโยบายและมาตรฐานการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษาที่กำหนดขึ้นมาก็คงเป็นแค่ความหวังที่อยากให้มี มากกว่าที่จะเป็นรูปธรรมจริง

 
ที่มา

สุทธนู  ศรีไสย์  และคนอื่น ๆ.(2547)รายงานการวิจัยการประเมินประสิทธิภาพการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน.กรุงเทพฯ : ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

หนังสือพิมพ์ข่าวสด  หน้า 28 - วันที่ 05 มีนาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 17 ฉบับที่ 6306

 

 

หมายเลขบันทึก: 444031เขียนเมื่อ 14 มิถุนายน 2011 16:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 19:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท