ชีวิตที่พอเพียง : ๑๒๖๖. ไปเจนีวา (๕) เรียนรู้การเมืองเรื่องงบประมาณของ WHO


 
          ในวงข้าวเหนียวส้มตำ ลาบ ไก่ย่าง มื้อเย็น ที่ห้อง ๖๒ โรงแรมเจด ที่ อ. บุ๋ม และวิม ทำเลี้ยงหมอสุวิทย์ วินัย และผม แกล้มไวน์ฝรั้งเศส ที่หมอสุวิทย์ซื้อมา   ผมได้เรียนรู้ว่า งบประมาณของ WHO เพียงร้อยละ ๒๔ (หมอสุวิทย์ว่าตัวเลขใหม่ ๑๘) ที่มาจากค่าธรรมเนียมจากประเทศสมาชิก   อีกร้อยละ ๗๖ (๘๒) มาจากการบริจาคโดยประเทศร่ำรวย   เงินบริจาคเหล่านี้มากับเงื่อนไข ที่มักจะสร้างผลประโยชน์แก่ประเทศผู้บริจาค   ไม่ใช่บริจาคจริง

          ผมจึงเห็นด้วยกับคำพูดของหมอสุวิทย์ว่า   สภาพของ WHO จึงเป็นคล้ายๆ กับประเทศสมาชิกออกเงินเป็นค่าเงินเดือน (และค่าตอบแทนพิเศษมากมาย) ของพนักงาน WHO   เพื่อให้เขาทำงานให้แก่ประเทศผู้บริจาค (ซึ่งเป็นประเทศร่ำรวย) ตามเงื่อนไขของเงินบริจาค

          สภาพนี้ จึงทำให้หมอสุวิทย์มีข้อเสนอให้ยุบหรือยกเลิก WHO ไปเลย   แล้วจึงค่อยตั้งองค์กรใหม่ ภายใต้กติกาใหม่ สำหรับทำงานดูแลระบบสุขภาพของโลก

          หมอสุวิทย์อีกนั่นแหละ ที่บอกว่า สำนักงานภูมิภาคของ WHO ที่มีอยู่ ๗ แห่ง ใช้เงินร้อยละ ๗๐ ของ WHO   แต่ทำงานไม่ได้ผล   ที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับคือ PAHO   ส่วน SEARO ที่ไทยอยู่ในภูมิภาคนี้ ทำงานไม่ได้ผล   นอกจากนั้น การแบ่งเขตก็ใช้วิธีคิดที่ล้าสมัย ตั้งแต่สมัยสงครามเย็น ซึ่งจบไปกว่า ๓๐ ปีแล้ว   การแบ่งเขตแบบเดิมทำให้ WHO ทำงานเชื่องช้า ไม่ทันการณ์ โดยเฉพาะการป้องกันการติดเชื้ออุบัติใหม่   เช่น ลาวอยู่ใน WPRO มีสำนักงานภูมิภาคที่มานิลา   ไทยอยู่ใน SEARO มีสำนักงานอยู่ที่เดลฮี   ความร่วมมือป้องกันหวัดนกทำผ่านกลไกของ WHO ล่าช้ามาก

          งบประมาณของ WHO ปีละ ๒,๔๐๐ ล้านเหรียญ   

          เอกสารประกอบการประชุมที่ผมชอบมากคือหมายเลข A64/4 The future of financing for WHO. World Health Organization reforms for a healthy future. Report by the Director-General  ที่ชี้ให้เห็นว่าเวลานี้องค์การระหว่างประเทศที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการประสานงานเชื่อมโยงเรื่องสุขภาพมีมาก ทำให้มีการทำงานซ้ำซ้อนโดยไม่จำเป็น   และ WHO ก็อยู่ในฐานะที่ขยายงานมากเกินไป   ขาด strategic focus

          เขาบอกว่า strategic focus จะได้แก่ PHC, สุขภาพของผู้หญิงและเด็ก, การลดความยากจน, ลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ, การวางมาตรฐานเพื่อความปลอดภัยของน้ำ อาหาร อากาศในเมือง ยา และสารเคมีทางอุตสาหกรรม, การดำเนินการด้าน NCD และสุขภาพจิต

          การวิเคราะห์ความซับซ้อนของเรื่องสุขภาพในเอกสารนี้ ผมชอบมาก เขาชี้ให้เห็นว่า   จะบรรลุเป้าหมาย “health as global public good” ได้ ต้องจัดการ complexities ของเรื่องสุขภาพ   ทั้งบทบาทขององค์กรหลากหลายประเภท จำนวนมากมาย   ทั้งปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ก็ซับซ้อนมาก ได้แก่ การค้า ทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิมนุษยชน การศึกษา เกษตรกรรม และสิ่งแวดล้อม   เป็นประเด็นที่มองผิวเผินดูจะไม่เกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บโดยตรง   แต่จริงๆ แล้วเกี่ยวขอ้งกับ “สุขภาวะ” เป็นอย่างยิ่ง 

          ที่สำคัญคือ บทบาทหรือผลกระทบต่อสุขภาพ โดยปัจจัยที่ซับซ้อนและดูผิวเผินน่าจะให้ผลเชิงบวกนี้   ไม่ได้หยุดนิ่ง มีบทบาทที่เปลี่ยนแปลงเป็นพลวัต   ความสามารถของประเทศต่างๆ ในการสร้างความรู้เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง จึงมีความสำคัญยิ่ง   อย่างกรณีของเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ เป็นดาบสองคม มีทั้งคุณและโทษ   การที่ประเทศไทยมี HITAP ทำหน้าที่ประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ จึงมีประโยชน์อย่างยิ่ง   ช่วยให้เราไม่ถูกหลอกหรือหลอกตัวเอง

          รายงานนี้ระบุ Core Business ของ WHO ดังนี้

๑. Convening for better health


๒. Generating evidence on health trends and determinants


๓. Providing advice for health and development


๔. Coordinating health security


๕. Strengthening health systems and institutions

          อ่านเอกสารนี้แล้วก็รู้สึกชื่นชมในกระบวนการเพื่อปฏิรูป WHO ครั้งนี้   ว่ามีการศึกษาและดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอนดียิ่ง


          แต่เมื่อเอาคุยกับ อ. บุ๋ม ท่านบอกว่า ปัญหาอยู่ที่คนของ WHO ไม่มีวัฒนธรรมการทำงานอย่างจริงจัง มีแต่ความเฉื่อยชา   ท่านมีประสบการณ์ทำงานกับ Global Fund    วัฒนธรรมการทำงานต่างกันโดยสิ้นเชิง

          หมอสุวิทย์ บอกว่า WHO ดีแต่ทำเอกสาร   แต่ไม่ลงมือทำอย่างจริงจัง   คนของ WHO เสวยผลประโยชน์สูง จึงกอดเก้าอี้แน่น   แต่ไม่ค่อยทำงาน

หมายเลขบันทึก: 443857เขียนเมื่อ 13 มิถุนายน 2011 14:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เรียนท่านอาจารย์หมอที่เคารพ

บรรยายซะเห็นภาพเลยครับผม ในประโยคที่ หมอสุวิทย์กล่าวไว้ว่า "...คนของ WHO เสวยผลประโยชน์สูง จึงกอดเก้าอี้แน่น แต่ไม่ค่อยทำงาน" แล้วสังคมไทยส่วนใหญ่เราเป็นไหมเน้อ ^=^

ด้วยความเคารพครับผม

นิสิต

ดิฉันเป็นครูนอกระบบนะคะ(ยังสอบบรรจุไม่ได้คะ) มีความคิดเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่ทุกอย่างต้องเริ่มต้น...เราเดินหน้ากันมาถึงจุดสุดทางแล้ว...พอหลังกลับไปต้องใช้ระยะเวลาเดินทางกลับ...ซึ่งระยะทางไม่ต่างกับการเดินทางไปเลย...เหตุนี้เองเราทุกคนต้องย้อนกลับมาที่จุดเริ่มต้น...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท