การแปลเพื่อชีวิต


เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจในวิชาการแปลอย่างดี และเห็นการแปลแต่ละประเภทที่หลากหลาย ซึ่งเป็นแนวทางที่จะให้ผู้อ่านนำไปปฏิบัติได้

หลักวิธีแปลโดยย่อ

๑. อ่านทั้งหมด ดูหน้าที่คำ (ไวยกรณ์แตก) เลือกตำราดีๆ เริ่มจากหนังสือติวเข้ม ไปจนถึงคัมภีร์ไวยกรณ์ต่างๆ

๒. คำไหนไม่ทราบความหมาย ให้เปิดดิกช์ (อังกฤษ-อังกฤษ) เลือกความหมายที่ใช่ โดยดูจากเนื้อความรอบข้าง (ใช้ดิกช์เก่ง เลือกยี่ห้อที่ดี ถ้า Webster จะใช้ศัพท์สูง คือ คำหลัก กับคำแปลมีระดับนามธรรมใกล้กันมาก แนะนำ Oxford Advance Learner และ Longman Contemporary)

๓. แปลเป็นไทย ใช้วาทศิลป์ ภาษาไทยแตก อ่านวรรณกรรมไทยเยอาะๆ เลือกที่ภาษาดี

 

หลักสำคัญในการแปลหนังสือ

 

       ดิฉันเข้าไปที่เว็บไซต์หนึ่ง และได้ไปพบกับคำกล่าวของ นักเขียน  นักแปลและล่ามอิสระ เกี่ยวกับหลักสำคัญในการแปลหนังสือ ที่ผู้แปลจะต้องคำนึงถึง อาจจะมีประโยชน์กับเพื่อนๆ ลองอ่านดู

        นางสุดจิต ภิญโญยิ่ง นักเขียน นักแปลและล่ามอิสระ ซึ่งมีประสบการณ์ทั้งงานแปลและงานข่าวมานาน ในฐานะผู้สื่อข่าวและคอลัมนิสต์อาวุโสของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ โฆษกสถานีวิทยุบีบีซี กรุงลอนดอน หัวหน้าฝ่ายสารนิเทศ องค์การยูนิเซฟ สำนักงานภาคพื้นเอเชียตะวันออกและปากีสถาน ฯลฯ ได้กล่าวถึงหลักสำคัญในการแปลหนังสือว่า ผู้แปลจะต้องคำนึงถึงสิ่งต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

        ๑. ผู้อ่าน เป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก ผู้แปลต้องคำนึงว่า กลุ่มผู้อ่านเป้าหมายเป็นใคร และทำอย่างไรจึงจะทำให้ผู้อ่านเข้าใจในบทแปลนั้นได้ดี

        ๒. ประเภทของหนังสือ แบ่งเป็น ๒ ประเภทใหญ่ คือ ประเภทวรรณกรรม และประเภทวิชาการ ดังนั้น ผู้แปลต้องรู้ว่าหนังสือที่จะแปลเป็นหนังสือประเภทใด หากเป็นวรรณกรรมต้องรู้ว่าเป็นร้อยแก้วหรือร้อยกรอง และอยู่ในยุคสมัยใด และหากเป็นวิชาการจะอยู่ในกลุ่มวิชาใด เช่น อักษรศาสตร์ นิติศาสตร์ เกษตรศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ฯลฯ

        ๓. ลีลาการเขียน หนังสือประเภทวรรณกรรม จะมีลักษณะของภาษาที่ไม่เป็นทางการ ส่วนหนังสือวิชาการ ควรใช้ภาษาที่เป็นทางการและจริงจัง

        ๔. วัฒนธรรม ต้องเข้าใจถึงวัฒนธรรมของแต่ละท้องที่ว่ามีวัฒนธรรมความเป็นอยู่อย่างไร เพื่อให้เข้าใจถึงระดับชั้น ความเป็นอยู่ของสังคม และนำมาถ่ายทอดได้ถูกต้อง สอดคล้องกัน

        ๕. ภาษา ผู้แปลต้องให้ความสำคัญว่าท้องถิ่นแต่ละแห่งใช้ภาษาอย่างไร และถ่ายทอดเป็นภาษาไทยให้ถูกต้องเหมาะสม สอดคล้องกับวัฒนธรรมและระดับชั้น เช่น ภาษาถิ่น ภาษาที่ผู้ใหญ่พูดกับเด็ก การใช้สร้อยคำ ฯลฯ

        สิ่งต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้นล้วนเป็นหลักใหญ่ ๆ ที่ผู้แปลหนังสือต้องทราบและเรียนรู้ และเนื่องจากภาษาไม่หยุดนิ่ง แต่จะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องยึดการใช้ภาษาที่เป็นแบบแผนตายตัว แต่ควรให้ความสำคัญต่อการสื่อความหมาย สิ่งสำคัญที่สุดในการแปลคือ ต้องมีเนื้อหาที่ตรงตามต้นฉบับ ครบถ้วน มีความชัดเจนไม่กำกวม และเป็นภาษาไทย

    

 หลักการแปลภาษาให้น่าอ่าน

 

รศ. ดร.ชลดา เรืองรักษ์ลิขิต ภาคีสมาชิก สำนักศิลปกรรม บรรยายเรื่อง หลักการใช้ภาษาแปลให้น่าอ่าน ใจความว่า

        การแปล คือ การถ่ายทอดความหมายจากภาษาหนึ่งไปเป็นอีกภาษาหนึ่ง แบ่งได้เป็น ๒ ประเภท คือ

        ๑. แปลตามรูปแบบของโครงสร้างภาษาเดิม เป็นการแปลตามพยัญชนะ เรียกว่า Literal Translation มักแปลคำต่อคำโดยมุ่งรักษารูปแบบในภาษาเดิม

        ๒. แปลตามความหมาย มี ๒ แบบ คือ

             - Less Literal Translation เป็นการแปลโดยเน้นการใช้ภาษาที่สละสลวย และเป็นธรรมชาติมากที่สุด

               - Idiomatic Translation เป็นการแปลแบบเน้นลีลาภาษา 

สิ่งที่ควรระมัดระวังในการแปล มีดังต่อไปนี้

แปลให้เป็นสำนวนน่าอ่าน

 ๑. แปลให้ตรงความหมายและกระชับมากที่สุด

               - เลือกใช้คำแปลที่ถูกต้องและเหมาะสม ไม่ฟุ่มเฟือย คำนึงถึงคำที่แยกใช้ตามเพศ คำที่แยกใช้ตามสถานภาพของบุคคล คำที่ใช้ให้เหมาะแก่กาลเทศะ คำที่ใช้เพื่อความสุภาพ

               - ต้องเลือกความหมายให้เข้ากับบริบท

               - พยายามแปลโดยรักษาเค้าคำเดิม

        ๒. กรณีที่แปลตรงตัวไม่ได้ ต้องพยายามแปลให้ได้ความหมายใกล้เคียงที่สุด

        ๓. ใช้คำและสำนวนที่เป็นไทยและสอดคล้องกับความคิดความเชื่อรวมทั้งวัฒนธรรมไทย

        ๔. แปลให้ได้ความที่มีชีวิตชีวา ลึกซึ้ง กินใจ

        ๕. แปลให้สละสลวย

        การแปลที่ดีต้องรักษาความหมายให้ใกล้เคียงกับต้นฉบับเดิมให้มากที่สุด ให้คนอ่านเข้าใจชัดเจน และใช้ภาษาเป็นธรรมชาติมากที่สุด

               

 ปัญหาการแปลคำใหม่ และการทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

 

ศ. ดร.มงคล เดชนครินทร์ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ และ รศ. ดร.นิตยา กาญจนะวรรณ ภาคีสมาชิก สำนักศิลปกรรม บรรยายเรื่อง

ปัญหาการแปลคำใหม่ และการทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ  

        ศ. ดร.มงคล เดชนครินทร์ กล่าวถึงการแปลงานวิชาการภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทยว่า ปัญหาที่ผู้แปลมักประสบคือ การขาดแคลนศัพท์บัญญัติภาษาไทย โดยเฉพาะงานวิชาการสาขาที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว เป็นผลให้นักแปลใช้คำทับศัพท์เป็นจำนวนมาก ใช้ประโยคที่ไม่ได้แปล หรือแปลผิดความหมาย

        ประเด็นของการแปลผิด เนื่องมาจาก

        ๑. ศัพท์วิชาการบางคำมีความหมายแตกต่างจากความหมายทั่วไป เช่น

lead ศัพท์ทั่วไปแปลว่า ตะกั่ว แต่สาขาวิศวกรรมไฟฟ้าแปลว่า สายอ่อน

baby ศัพท์ทั่วไปแปลว่า เด็กอ่อน แต่สาขาเทคโนโลยีทางภาพ หมายถึง ไฟสปอตเล็ก ฯลฯ

        ๒. ศัพท์ภาษาต่างประเทศมีหลายความหมาย ขึ้นอยู่กับสาขาวิชา

        ๓. มีศัพท์หลายคำที่มีความหมายใกล้เคียงกัน ผู้แปลต้องใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง เช่น

                    diagram = แผนภาพ, charge = แผนภูมิ ฯลฯ

        ๔. หน่วยงานทางวิชาการแปลศัพท์ภาษาต่างประเทศคำเดียวกันเป็นภาษาไทยต่างกัน ทำให้ผู้ใช้ศัพท์สับสน

    ๕. ศัพท์วิชาการบางคำที่เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานจนเป็นที่ยอมรับกันแล้วก็ให้ใช้ตามนั้น แต่ผู้แปลบางคนไม่ได้ตรวจสอบจึงสะกดการันต์ผิด เช่น

balance มักเขียนผิดเป็น ดุลย์ แต่คำที่ถูกคือ ดุล

vacuum มักเขียนผิดเป็น สูญญากาศ แต่คำที่ถูกคือ สุญญากาศ

        ผู้ทำงานแปลควรศึกษาหลักภาษาต่างประเทศและภาษาไทยให้เข้าใจ เลือกใช้คำให้เหมาะกับบริบท และค้นคว้า ตรวจสอบข้อมูลหรือสอบถามการใช้คำและความหมายที่ถูกต้องจากผู้รู้หรือนักแปลเฉพาะทาง ราชบัณฑิตยสถานเป็นสถาบันที่เป็นแหล่งข้อมูลและเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ทางวิชาการต่าง ๆ ผู้แปลสามารถสอบค้นได้จากเอกสารที่พิมพ์เผยแพร่ เช่น พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ศัพท์บัญญัติและพจนานุกรมเฉพาะวิชา ซึ่งมีหลายสาขา นอกจากนี้ ยังมีซีดีรอมศัพท์บัญญัติอังกฤษ-ไทย ไทย-อังกฤษ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน รุ่น ๑.๑ ซึ่งรวมศัพท์บัญญัติวิชาการถึง ๒๙ สาขาวิชา ซึ่งจะช่วยให้สอบค้นและเลือกใช้คำที่เหมาะสม

 

 เจตคติและวิธีคิดของผู้แปล

นางสาวพิมพ์อนงค์ ริมสินธุ บรรณาธิการบริหาร บริษัทนานมีบุ๊ค จำกัด ได้กล่าวว่า จากการที่ได้ตรวจบรรณาธิกรหนังสือและบทแปล ทำ

ให้พบสิ่งต่าง ๆ จากหนังสือแปล รวมถึงเจตคติ วิธีคิดของผู้แปลแต่ละคน และเห็นว่าผู้แปลควรมีสิ่งเหล่านี้

        ๑. ความเข้าใจในการแปล ผู้แปลจะต้องเข้าใจเนื้อเรื่อง คำ และความหมายของภาษา ต้นฉบับ จึงจะเกิดความสุขในการอ่าน และเก็บรสของภาษานั้นได้อย่างชัดเจน แล้วนำมาถ่ายทอดสู่ผู้อ่าน ดังนั้น ผู้แปลที่ดีจึงควรมีความรู้ความเชี่ยวชาญทั้งภาษาต้นฉบับและภาษาไทย

        ๒. การใช้คำ เลือกให้เหมาะกับช่วงเวลา เนื่องจากวรรณกรรมมีทั้งเรื่องในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ผู้แปลจึงควรพิจารณาเหตุการณ์หรือภาวะของเรื่อง แล้วเลือกใช้คำ ทั้งบทบรรยายและบทพูด รวมทั้งสรรพนามแทนตัวบุคคลให้เหมาะสม และตรงกับอารมณ์ในขณะนั้น

        การใช้คำที่เป็นภาษาพูด บางครั้งอาจไม่เหมาะสม เช่น แบบว่า ประมาณว่า ฯลฯ ผู้แปลควรพิจารณาเลือกคำที่ดีกว่า เช่น ใช้คำ ทำนองว่า แทน

        การพูดไม่ปรกติ บางครั้งในหนังสือต้นฉบับอาจมีการพูดที่แปลกออกไป เช่น พูดไม่ชัด พูดไม่เต็มเสียง ลิ้นคับปาก ฯลฯ ผู้แปลจึงต้องเลือกสะกดคำดังกล่าวให้ผู้อ่านทราบด้วย เพื่อไม่ให้เสียอรรถรส

        ๓. โครงสร้างของประโยคหรือไวยากรณ์ ผู้แปลควรปรับปรุงแบบโครงสร้างของประโยคให้เป็นภาษาไทยที่ถูกต้องได้ใจความครบถ้วน ไม่ควรมีโครงสร้างของประโยคที่เป็นแบบภาษาเดิม

        ๔. ลูกเล่นในการแปล บางครั้งผู้เขียนเดิมอาจมีการเล่นคำ เล่นสำนวน หรือที่เรียกว่า มุข เพื่อความสนุกสนานของเนื้อเรื่อง หากแปลตรง ๆ จะไม่ได้อรรถรส เพราะเราไม่มีสำนวนนั้น ผู้แปลจึงควรปรับใช้สำนวนไทยให้ตรงตามที่ผู้เขียนภาษาต้นฉบับต้องการ

        ๕. ภาษาที่แตกต่าง เมื่อมีการใช้ภาษาที่ต่างไปจากภาษาในเนื้อเรื่อง เช่น ภาษาถิ่น ภาษาฝรั่งเศส ภาษาญี่ปุ่น แทรกเข้ามา ผู้แปลควรมีคำแปล คำอธิบาย ฯลฯ ที่แสดงให้ผู้อ่านทราบความหมายด้วยว่าคืออะไร มิฉะนั้นอารมณ์จะขาดหายไป

        ๖. ความรู้สึกที่มีต่อบทละคร เนื่องจากตัวละครแต่ละตัวจะมีลักษณะแตกต่างกันออกไป ทั้งฐานะ ระดับของสังคม อารมณ์ ฯลฯ การเลือกใช้คำตามแบบฉบับ จะไม่ได้อารมณ์ในการอ่าน เช่น บทสนทนาระหว่างแม่กับลูก ก็ไม่จำเป็นต้องลงท้ายด้วย จ๊ะ ตลอดเวลา ผู้ร้ายก็ไม่จำเป็นต้องใช้คำหยาบ แต่ผู้เขียนต้องเข้าใจภาพในเนื้อเรื่องว่ากำลังอยู่ในภาวะใด อารมณ์แบบใด แล้วถ่ายทอดในบทแปลให้ถูกต้อง

        กล่าวโดยสรุปคือ การถ่ายทอดต้องไม่ใช้อารมณ์หรือแบบฉบับของผู้แปล แต่จะต้องนึกว่าตัวเองคือผู้เขียนเรื่องนั้น แต่เขียนในภาคภาษาไทย ด้วยภาษาไทยที่สละสลวยและได้ความครบถ้วน ชัดเจน และได้ครบทุกรส จึงจะได้งานแปลที่ดี

  

 ที่มา http://www.royin.go.th

       http://board.dserver.org

 

 

หมายเลขบันทึก: 442747เขียนเมื่อ 6 มิถุนายน 2011 21:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • ชอบการแปลอย่างยิ่งครับ
  • สอนวิชาการแปลมาด้วย
  • เรียนการแปลมาด้วย
  • อยากเรียนรู้ให้มากยิ่งขึ้น

ขอบคุณกำลังใจจากอาจารย์โสภณ ส่วนผมนั้นได้เรียนแต่วิชาการแปล ยังไม่มีโอกาสได้แปลงานจริง ๆ อาจารย์สั่งให้แปลงานก็เลยต้องจำใจทำ พยายามทำใจให้ชอบแต่ก็ยังทำไม่ลงครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท