การลงโทษอาญา กรณี : เปรียบเทียบกับกฎหมาย ๓ ฉบับ คือ


กฎหมายคือกฎ กติกา และข้อบังคับ ซึ่งถือว่าเป็นกติกาทางสังคมทุกคนจะต้องรับรู้และปฏิบัติตาม จะอ้างมิได้ว่าไม่รู้กฎหมายไม่ปฏิบัติตามทำไม่ได้ กฏหมายเป็นธรรมนูญอันสูงสุด เพื่อนำมาใช้ควบคุมบุคคลทั่วไปที่กระทำผิดหรือล่วงละเมิดกฎหมายที่บัญญัติไว้ว่าคนไทยทุกคนหรือคนต่างชาติที่เข้ามาอาศัยพึ่งบุญบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในผืนแผ่นดินไทยต้องปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศไทย

เรื่อง  กฎเหล็ก

                                                                        ผศ. คนอง  วังฝายแก้ว

                                                                                                                              หัวหน้าสาขาวิชารัฐศาสตร์ /อาจารย์ประจำ

     การลงโทษอาญา  กรณี : เปรียบเทียบกับกฎหมาย ๓ ฉบับ คือ

            มังรายศาสตร์(กฎหมายพระเจ้ามังราย) กฎหมายปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) พ.ศ. 2535 และพระวินัยปิฎก(กฎหมายที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติขึ้น)

  กฎหมายคือกฎ กติกา และข้อบังคับ ซึ่งถือว่าเป็นกติกาทางสังคมทุกคนจะต้องรับรู้และปฏิบัติตาม จะอ้างมิได้ว่าไม่รู้กฎหมายไม่ปฏิบัติตามทำไม่ได้ กฏหมายเป็นธรรมนูญอันสูงสุด  เพื่อนำมาใช้ควบคุมบุคคลทั่วไปที่กระทำผิดหรือล่วงละเมิดกฎหมายที่บัญญัติไว้ว่าคนไทยทุกคนหรือคนต่างชาติที่เข้ามาอาศัยพึ่งบุญบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในผืนแผ่นดินไทยต้องปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศไทย  แม้แต่สมัยพระเจ้ามังรายเป็นกษัตริย์ผู้ปกครองเมืองเชียงใหม่ใน ปี พ.ศ. 1835 ซึ่งเป็นช่วงที่พ่อขุนรามคำแหงทรงปกครองอาณาจักรสุโขทัย พระองค์ก็ทรงบัญญัติกฎหมายขึ้นปกครองประชาชนของพระองค์ ที่เรียกว่า มังรายศาสตร์ คือกฎหมายของพระเจ้ามังรายผู้สร้างเมืองเชียงใหม่ สาระสำคัญของเนื้อหาของกฎหมายมังรายศาสตร์ เป็นการกล่าวถึงวิธีพิจารณาความและตัดสินความในแง่มุมต่าง  ๆ  ของคนในสมัยนั้น  ซึ่งแตกต่างกันไปตามลักษณะของแต่ละรูปคดี  คล้ายกับเป็นคู่มือการพิจารณาของศาลมากกว่าการตัดสิน  โดยมีบทกำหนดโทษตั้งแต่เบาที่สุด ถึงหนักที่สุด  โทษเบาที่สุดก็ให้ขอขมาซึ่งกันและกัน โทษหนักที่สุดก็ให้ประหารชีวิต  ส่วนโทษขนาดกลางก็คือให้ปรับหรือริบทรัพย์สิน  ในคัมภีร์ใบลานฉบับนี้ไม่ได้แยกประเภทของกฎหมายออกเป็นหมวดหมู่อย่างชัดเจนนัก  คงกล่าวปะปนกันไปเป็นเรื่อง  ๆ  ติดต่อกันไป นอกจากจะบอกวิธีตัดสินพิจารณาความแล้วยังมีการยกตัวอย่างจากคัมภีร์ต่าง ๆ  ของพระพุทธศาสนามาเปรียบเทียบตัดสินด้วย ที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่ง กฎหมายมังรายศาสตร์จะมีลักษณะสำคัญอยู่ 2 ส่วน คือ[1]

1.ส่วนที่เป็นความผิดทางอาญา

2.ส่วนที่เป็นความผิดลักษณะการลงโทษ

การกำหนดโทษทางอาญาสถานหนัก มีอยู่ 3 สถานคือ

1.ประหารชีวิต

2.ตัดเท้าตัดมือ

                    3.นำไปขายต่างเมือง

          จะเห็นได้ว่าโทษสถานหนักทั้งสามข้อ จะลงโทษผู้ที่กระทำความผิดเฉพาะสาเหตุที่ทำความผิดทั้ง 12 ข้อ

                   1. ฆ่าผู้ไม่มีความผิด

                   2. ฆ่าท่านเอาทรัพย์

                   3. ทำลายกุฏิ,วิหาร,พระพุทธรูป

                   4. รุกล้ำที่

                   5. ชิงทรัพย์

                   6. ขโมยของพระสงฆ์

                   7. ลูกฆ่าพ่อ

                   8. ลูกฆ่าแม่

                   9. น้องฆ่าพี่

                   10.ฆ่าเจ้า

                   11.เมียฆ่าผัว

                   12.รับผู้คนของท้าวพระมาพักในบ้าน

         จะเห็นได้ว่ากฎหมายมังรายศาสตร์ จะมีลักษณะการลงโทษจากเบาไปหาหนัก ตามโทษานุโทษ ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับกฎหมายอาญาในปัจจุบัน สิ่งที่น่าสังเกตว่าในสมัยก่อนความผิดที่เกี่ยวข้องกับครอบครัวจะมีการลงโทษเด็ดขาด เช่น มารดามีอำนาจเหนือบุตรจะฆ่าทิ้งหรือขายเสียก็ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าลูกฆ่าพ่อหรือฆ่าแม่จะได้รับโทษสถานหนัก เช่นเดียวกันกับเมียฆ่าผัว ต้องถูกลงโทษสถานหนักเช่นกัน

สิ่งที่น่าสังเกตว่า ตัดสินคดีความเพื่อความยุติธรรมของกฎหมายมังรายศาสตร์ เมื่อเกิดคดีขึ้น ก็จะมีการไต่สวนพิจารณาความกันอย่างรอบคอบ  มีการอ้างสักขีพยานบุคคล  หรือพยานวัตถุ  เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย มีการเปรียบเทียบตัดสินโดยอาศัยหลักธรรมและตัวอย่างในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาเป็นหลัก  มีการแนะนำหลักของพิจารณาตัดสิน  และกำหนดลักษณะของผู้ไต่สวนหรือตัดสินด้วย นั้นก็คือผู้ตัดสินไต่สวนต้องมีคุณธรรมประจำใจ  ฉลาดทั้งทางคดีโลกและคดีธรรม ในกฎหมายมังรายศาสตร์ ได้ใช้คำว่า เป็นผู้ฉลาดในศาสตระศิลป์ทั้งทางคดีโลกและคดีธรรม   และที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่ง  ถึงแม้ว่าในสมัยนั้นจะมีการซื้อขายทาสกันอยู่  แต่สังคมในสมัยนั้นก็ยังให้เกียรติและเคารพสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตัดสินพิจารณาบทลงโทษหรือการแบ่งทรัพย์สินจะมีการให้เกียรติและเห็นความสำคัญของผู้หญิงมากเป็นกรณีพิเศษ  เพราะถือว่าผู้หญิงเป็นเพศแม่และเป็นเพศที่อ่อนแอ

         ส่วนของกฎหมายปกครองคณะสงฆ์ หมวดที่ 4 ที่ว่าด้วยนิคหกรรมและการสละสมณเพศ จะมีการลงโทษพระสงฆ์ไปตามลำดับขั้นตอนตามความผิดที่ได้กระทำลงไป จากโทษเบาไปหาโทษสถานหนักเช่นเดียวกัน คือต้องสละสมณะเพศ(สึกจากความเป็นพระภิกษุ)ซึ่งได้บัญญัติไว้ในมาตรา 26 ว่า “พระภิกษุรูปใดล่วงละเมิดพระธรรมวินัยและได้มีคำวินิจฉัยถึงที่สุดให้ได้รับนิคหกรรมให้สึก ต้องสึกภายใน ยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่ได้ทราบคำวินิจฉัยนั้น” 

          คำว่า”นิคหกรรม” คือ การลงโทษตามพระธรรมวินัยหรือสังฆกรรมประเภทลงโทษผู้ทำความผิด มีทั้งหมด 6 ข้อ คือ[2]

                         1.ตัชชะนียกรรม คือ กรรมอันสงฆ์พึงทำแก่ภิกษุอันจะพึงขู่ เช่น พระภิกษุก่อความทะเลาะวิวาท ก่ออธิกรณ์ขึ้นในสงฆ์เป็นผู้มีอาบัติมาก และคลุกคลีกับคฤหัสถ์ในทางที่ไม่สมควร

                         2.นิสยกรรม คือ กรรมอันสงฆ์พึงทำให้เป็นผู้ไร้ยศได้แก่การถอดยศเป็นชื่อนิคหกรรมที่สงฆ์ทำแก่ภิกษุผู้มีอาบัติมาก หรือคลุกคลีกับคฤหัสถ์ ด้วยการคลุกคลีอันไม่สมควร โดยปรับให้ถือนิสัยใหม่อีก
                         3.ปัพพาชนียกรรม คือ กรรมอันสงฆ์พึงทำแก่ภิกษุอันพึงจะไล่เสียหรือการไล่ออกจากวัดกรรมนี้สงฆ์ทำแก่ภิกษุผู้ประทุษร้ายสกุลและประพฤติเลวทรามเป็นข่าวเซ็งแซ่หรือแก่ภิกษุผู้เล่นคึกคะนองอนาจารลบล้างพระบัญญัติและมิจฉาชีพ
                        4. ปฏิสารณียกรรม คือ กรรมอันสงฆ์พึงทำแก่ภิกษุให้ไปขอขมาคฤหัสถ์ เช่น ภิกษุด่าคฤหัสถ์ผู้มีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นทายกอุปฐากสงฆ์ด้วยปัจจัยสี่เป็นทางจะยังคนผู้ยังไม่เสื่อมใสมิให้เลื่อมใส จะยังคนผู้เลื่อมอยู่แล้วให้เป็นอย่างอื่นไปเสีย
                        5. อุกเขปนียกรรม คือ กรรมอันสงฆ์พึงทำแก่ภิกษุอันจะพึงยกเสีย เช่นวิธีการลงโทษที่สงฆ์กระทำแก่ภิกษุผู้ต้องอาบัติแล้ว ไม่ยอมรับว่าเป็นอาบัติหรือไม่ยอมทำคืนอาบัติหรือมีความเห็นชั่วร้าย (ทิฏฐิบาป) ไม่ยอมสละซึ่งเป็นทางเสียสีลสามัญญตา หรือทิฏฐิสามัญญตา โดยยกเธอเสียจากการสมโภคกับสงฆ์ คือ ไม่ให้ฉันร่วมไม่ให้อยู่ร่วม ไม่ให้มีสิทธิเสมอกับภิกษุทั้งหลายพูดง่ายๆว่าถูกตัดสิทธิแห่งภิกษุชั่วคราว
                        6. ตัสสปาปิยสิกากรรม คือ กรรมอันสงฆ์พึงทำแก่ภิกษุนั้นเป็นผู้เลวทราม

กรรมนี้สงฆ์ทำแก่ภิกษุผู้เป็นจำเลยในอนุวาทาธิกรณ์ ให้การกลับไปกลับมา เดี๋ยวปฏิเสธ เดี๋ยวสารภาพพูดถลากไถล พูดกลบเกลื่อนข้อที่ถูกซักพูดมุสาซึ่งหน้า สงฆ์ทำกรรมนี้แก่เธอเป็นการลงโทษตามความผิดแม้ว่าเธอจะไม่รับ หรือเพื่อเพิ่มโทษจากอาบัติที่ต้อง

             ถ้าพระภิกษุได้กระทำความผิดทางอาญาตามมาตรา 29 ว่า ”พระภิกษุรูปใดถูกจับโดยต้องหาว่ากระทำความผิดอาญาเมื่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการไม่เห็นสมควร ให้ปล่อยตัวชั่วคราว และเจ้าอาวาสแห่งวัดที่พระภิกษุรูปนั้นสังกัดไม่รับมอบตัวไว้ควบคุมหรือพนักงานสอบสวนไม่เห็นควรให้เจ้าอาวาสรับตัวไปควบคุมหรือพระภิกษุรูปนั้นไม่ได้สังกัดในวัดใดวัดหนึ่งให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจจัดดำเนินการให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณะเพศเสียได้”

          จะเห็นได้ว่า กฎหมายปกครองคณะสงฆ์ มีการกำหนดโทษพระภิกษุที่ได้กระทำผิดพระธรรมวินัย เป็นอาจิณ จนไม่สามารถอยู่ในวงศ์จรของสังคมสงฆ์หรือหมู่สงฆ์ได้ จะต้องได้รับการลงโทษสถานหนัก คือการสละสมณะเพศจากความเป็นพระภิกษุ มาเป็นคฤหัสถ์ ดังนั้น ขั้นตอนต่อไปก็เป็นการดำเนินการตามขั้นตอนของเจ้าหน้าที่ทางบ้านเมืองที่จะลงโทษบุคคลนั้นให้เป็นไปตามกฎหมายที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 29 ของกฎหมายปกครองคณะสงฆ์ข้างต้น  สิ่งที่น่าสังเกตว่ากฎหมายปกครองคณะสงฆ์ในมาตรา 26 ที่พระภิกษุทำความผิดและได้รับนิคหกรรมให้สึกภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงถือว่าเป็นการลงโทษสถานหนักสำหรับพระภิกษุ แต่ว่าสึกมาแล้วเป็นคฤหัสถ์ ปรับปรุงตนเอง เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเก่าๆที่เคยกระทำมา ถ้ามีศรัทธาในพระพุทธศาสนาก็สามารถเข้ามาอุปสมบทเป็นพระภิกษุใหม่ได้ เพราะว่ามิใช่ความผิดทางอาญา ถึงขั้นศาลสั่งจำคุก หรือต้องอาบัติปาราชิกสี่

          สำหรับกฎหมายที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น (พระวินัยบัญญัติ) พระองค์จะไม่ทรงบัญญัติข้อห้ามก่อนเหตุการณ์จะเกิดขึ้น เมื่อมีเหตุการณ์การกระทำความผิดเกิดขึ้น พระองค์ก็ทรงบัญญัติข้อห้ามมิให้ภิกษุรูปต่อไปกระทำความผิดซ้ำ ๆ อีก เป็นการปรามภิกษุรูปอื่น ๆ ที่จะกระทำความผิดในกรณีเช่นเดียวกันในอนาคต ส่วนสาระสำคัญของพระวินัยหรือศีล คือ ข้อห้ามสำหรับพระภิกษุ มีทั้งหมด 227 ข้อ  ส่วนที่เกี่ยวข้องหรือสอดคล้องกับกฎหมายอาญาของบ้านเมือง มีอยู่ 4 ข้อ ที่เรียกว่า ปาราชิกสี่  ส่วนข้อที่สำคัญหรือเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดทางอาญา มีอยู่ 3 ข้อคือ

                   1.เสพเมถุน (ร่วมสังวาสกับคนหรือสัตว์)

                   2.ถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของไม่ได้ให้ (ขโมย)

                   3.พรากกายมนุษย์จากชีวิต (ฆ่าคน)

       จะเห็นได้ว่า พระวินัยที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ เพื่อเป็นการห้ามปรามพระภิกษุหัวดื้อ ที่จะล่วงละเมิดพระธรรมวินัย โดยเฉพาะข้อห้ามทั้ง 3 ข้อ ถ้าพระภิกษุรูปใด ไปกระทำความผิดในข้อใดข้อหนึ่ง จะต้องขาดจากความเป็นพระภิกษุทันที ถึงแม้ว่าพระภิกษุรูปอื่นหรือบุคคลทั่วไปไม่รู้ว่าพระภิกษุรูปนั้นต้องอาบัติปาราชิกสี่ ข้อใดข้อหนึ่งก็ตาม ถือว่าพระภิกษุรูปนั้นขาดจากความเป็นพระภิกษุโดยทันที (เป็นคฤหัสถ์) โดยไม่มีเงื่อนไข ถ้าพระภิกษุรูปนั้นรู้ตัวว่าตนเองมิใช่พระภิกษุ ยังดื้อ ไม่มีความละอาย ยังดื้อดึงเข้าร่วมสังฆกรรมนั้น จะทำให้ สังฆกรรม (กิจกรรมที่พระสงฆ์จัดทำขึ้นจำนวนสี่รูปขึ้นไป) ไม่สมบูรณ์หรือด่างพล้อย ดังนั้น จะเห็นได้ว่าขั้นตอนต่อไปเป็นเรื่องเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่จะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายกับภิกษุรูปนั้นที่ต้องอาบัติปาราชิกสี่โดยเฉพาะข้อที่สาม คือ การฆ่าคน ตามกฎหมายที่ได้บัญญัติไว้ตามความผิดจากโทษเบาไปหาโทษสถานหนัก คือ ประหารชีวิต สิ่งที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งว่า พระภิกษุที่ต้องอาบัติหนักคือปาราชิกสี่ข้อใดข้อหนึ่ง ถูกสั่งให้สึกออกมาเป็นคฤหัสถ์ ไม่สามารถเข้ามาอุปสมบทเป็นพระภิกษุใหม่ได้ เปรียบเสมือนต้นตาลยอดด้วน ไม่งอกงามในพระพุทธศาสนา.

          กล่าวโดยสรุป กฎหมายทั้ง 3  ฉบับ  คือ กฎหมายมังรายศาสตร์  กฎหมายการปกครองคณะสงฆ์ 2505 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม 2535)  และพระวินัยบัญญัติ (กฎหมายที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติขึ้น) เป็นกฎหมายมีระบบการไต่สวนพิจารณาความที่สอดคล้องกันอย่างรอบคอบ  มีการอ้างสักขีพยานบุคคล  หรือพยานวัตถุ  เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย มีการเปรียบเทียบตัดสินโดยอาศัยหลักธรรมและตัวอย่างในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาเป็นหลัก  มีการแนะนำหลักของพิจารณาตัดสิน  และกำหนดลักษณะของผู้ไต่สวนหรือตัดสินด้วย นั้นก็คือผู้ตัดสินไต่สวนต้องมีความเป็นกลาง มีความเที่ยงตรง และมีคุณธรรมประจำใจ



 [1] มังรายศาสตร์ใบลานฉบับวัดหย่วน ตำบลหย่วน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา

 [2]พระธรรมปิฎก  (ป.อ.  ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสตร์  ฉบับประมวลศัพท์, หน้า 125.

หมายเลขบันทึก: 442704เขียนเมื่อ 6 มิถุนายน 2011 15:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 01:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท