การบริหารตามแนวคิดของพระธรรมโกศาจารย์
พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต)[1] ได้ให้ความชัดเจนถึงการบริหารตามแนวของพระพุทธศาสนาว่า พุทธวิธีบริหารยึดหลักธรรมาธิปไตยเป็นสำคัญด้วยเหตุผลที่ว่าผู้บริหารเองต้องประพฤติธรรมและใช้ธรรมเป็นหลักในการบริหาร พุทธวิธีบริหารจึงไม่เป็นทั้งเป็นอัตตาธิปไตย ผู้บริหารที่เป็นอัตตาธิปไตยก็มักจะคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนตนหรือความพอใจของตนเป็นที่ตั้งโดยยึดคติว่าถูกต้องคือถูกใจข้าพเจ้า ผู้บริหารประเภทนี้มักลงท้ายด้วยการเป็นเผด็จการ ส่วนผู้บริหารที่เป็นโลกาธิปไตยก็พยายามเอาใจทุกคนเพื่อให้ตนเองอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้ เขาพยายามทำให้ถูกใจทุกคนซึ่งก็เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ผู้บริหารประเภทนี้มักหนีปัญหา เมื่อมีปัญหาขัดแย้งเกิดขึ้นภายในองค์กรก็พยายามลอยตัวหนีปัญหา ผู้บริหารที่ดีต้องเป็นธรรมาธิปไตย เขายึดถือคติว่าถูกต้องไม่จำเป็นต้องถูกใจข้าพเจ้าหรือต้องถูกใจทุกคน เขากล้าตัดสินใจลงมือทำในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรมโดยไม่พยายามลอยตัวหนีปัญหา เขาถือคติว่าอำนาจหน้าที่ มาพร้อมกับความรับผิดชอบ เขายอมเสียสละประโยชน์สุขส่วนตนเพื่อประโยชน์สุขที่ยิ่งใหญ่กว่านั่นคือประโยชน์สุขส่วนรวม ดังพุทธพจน์ที่ว่า[2] “ถ้าเห็นว่าจะได้ประโยชน์สุขที่ยิ่งใหญ่เพราะสละประโยชน์สุขเล็กน้อย บุคคลควรสละประโยชน์สุขเล็กน้อยเพื่อเห็นแก่ประโยชน์สุขที่ยิ่งใหญ่”
ควรกล่าวไว้ในที่นี้ว่า ธรรมาธิปไตยไม่ใช่ระบอบการปกครอง แต่เป็นวิธีการปกครองที่ถือธรรมเป็นใหญ่ ธรรมาธิปไตยใช้ได้กับการปกครองในระบบต่างๆ นั่นคือการปกครองไม่ว่าจะเป็นระบอบใดก็ถือว่าดีแท้ยังไม่ได้ถ้าไม่เป็นธรรมาธิปไตย แม้แต่ประชาธิปไตยก็อาจจะกลายเป็นเผด็จการโดยเสียงข้างมากถ้าไม่เป็นธรรมาธิปไตย
ในระบอบการปกครองที่เป็นธรรมาธิปไตย ผู้บริหารสูงสุดต้องมีทั้งอัตตหิตสมบัติคือยึดธรรมประจำใจและมีปรหิตปฏิบัติคือมุ่งบำเพ็ญประโยชน์สุขส่วนรวมเมื่อผู้นำประพฤติธรรมสังคมส่วนรวมก็อยู่เป็นสุข ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า [3]
“เมื่อฝูงโคข้ามฟากแม่น้ำ ถ้าโคผู้นำฝูงไปตรง โคเหล่านั้นย่อมไปตรงทั้งหมดในเมื่อโคผู้นำฝูงไปตรง ในหมู่มนุษย์ก็เหมือนกัน ผู้ใดได้รับสมมติให้เป็นผู้นำ ถ้าผู้นั้นประพฤติธรรม ประชาชนนอกนี้ย่อมประพฤติธรรมเหมือนกัน ประชาชนทั้งประเทศย่อมอยู่เป็นสุข ถ้าพระราชาทรงดำรงอยู่ในธรรม”
๑. แนวคิดการบริหาร
การบริหาร หมายถึง[4] การทำงานให้สำเร็จโดยอาศัยคนอื่น (getting things done through other people) การบริหารในพระพุทธศาสนาเริ่มมีขึ้นเป็นรูปธรรมสองเดือนนับจากวันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ นั่นคือในวันอาสาฬหบูชา เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเทศนาเป็นครั้งแรกแก่พระปัญจวัคคีย์ซึ่งทำให้เกิดพระสังฆรัตนะขึ้น เมื่อมีพระสังฆรัตนะเป็นสมาชิกใหม่เกิดขึ้นในพระพุทธศาสนาอย่างนี้ พระพุทธเจ้าก็ต้องบริหารคณะสงฆ์
วิธีการที่พระพุทธเจ้าทรงใช้ในการบริหารกิจการคณะสงฆ์ซึ่งดำรงสืบต่อมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า ๒,๕๐๐ ปีเป็นข้อมูลให้เราได้ศึกษาเรื่องพุทธวิธีบริหาร นอกจากนี้ยังมีพุทธพจน์ที่เกี่ยวเนื่องกับการบริหารกระจายอยู่ในพระไตรปิฎก การศึกษาพุทธพจน์เหล่านั้นก็จะทำให้ทราบถึงพุทธวิธีบริหาร
การศึกษาพุทธวิธีบริหารในครั้งนี้ขอใช้หน้าที่ของนักบริหารเป็นกรอบในการพิจารณา หน้าที่ (function) ของนักบริหารมีอยู่ ๕ ประการตามคำย่อในภาษาอังกฤษว่า POSDC
P คือ Planning หมายถึง การวางแผน เป็นการกำหนดแนวทางดำเนินงานในปัจจุบัน เพื่อความสำเร็จที่จะตามมาในอนาคต ผู้บริหารที่ดีต้องมีวิสัยทัศน์เพื่อกำหนดทิศทางขององค์กร
O คือ Organizing หมายถึง การจัดองค์กร เป็นการกำหนดโครงสร้างความสัมพันธ์ของสมาชิกและสายบังคับบัญชาภายในองค์กร มีการแบ่งงานกันทำและการกระจายอำนาจ
S คือ Staffing หมายถึง งานบุคลากร เป็นการสรรหาบุคลากรใหม่ การพัฒนาบุคลากรและการใช้คนให้เหมาะสมกับงาน
D คือ Directing หมายถึง การอำนวยการ เป็นการสื่อสารเพื่อให้เกิดการดำเนินการตามแผน ผู้บริหารต้องมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี และมีภาวะผู้นำ
C คือ Controlling หมายถึง การกำกับดูแล เป็นการควบคุมคุณภาพของการปฏิบัติงานภายในองค์กรรวมทั้งกระบวนการแก้ปัญหาภายในองค์กร
๒. ภาวะผู้นำของผู้บริหาร
ผู้นำ คือ[5] ผู้ชักพาให้คนอื่นเคลื่อนไหวหรือกระทำการในทิศทางที่ผู้นำกำหนดเป้าหมายไว้หลายคนมีบทบาทเป็นผู้นำกันอยู่แล้ว เช่น เป็นผู้นำองค์กร ผู้นำสมาคม ผู้นำวัดและแม้กระทั่งหัวหน้าครอบครัวก็จัดว่าเป็นผู้นำ ปัญหาของผู้นำก็คือทำอย่างไรจะให้เป็นที่ยอมรับของผู้ตาม เริ่มตั้งแต่หาทางให้ได้รับการเลือกตั้งเข้าสู่ตำแหน่งผู้นำ เมื่อได้รับเลือกตั้งแล้วก็ยังได้รับความร่วมมือจากสมาชิกช่วยกันทำงานและมีผลงานเป็นที่ประจักษ์จนพร้อมที่จะได้รับเลือกตั้งให้กลับมาดำรงตำแหน่งอีกในสมัยหน้า
ผู้นำจะประสบความสำเร็จตามขั้นตอนดังกล่าวได้ก็ต้องมีธรรมะประจำใจ ธรรมะข้อหนึ่งสำหรับผู้นำก็คือ นิวาตะ หมายถึงความอ่อนน้อมถ่อมตน คำว่า นิวาตะ แปลว่าตามตัวอักษรว่าไขลมออกบางคนพอได้รับเลือกเป็นผู้นำหรือเป็นกรรมการบอร์ดต่างๆ ชักกร่างหรือวางท่าพองลมด้วยทิฐิมานะว่าข้าเป็นผู้นำแล้วนะ สวมหัวโขนแล้วใส่ประจำไม่เคยถอด ไปไหนก็ใส่หัวโขนข่มคนอื่น คนประเภทนี้ต้องไขลมออกบ้าง คือ หัดถอดหัวโขนออกบ้างแล้วจะสบายขึ้น
ผู้นำมี ๒ ประเภทคือ
๑) ผู้นำที่นั่งอยู่บนหัวคน หมายถึง ผู้นำที่สวมหัวโขนข่มคนอื่นตลอดเวลา
๒) ผู้นำที่นั่งอยู่ในหัวใจคน หมายถึง ผู้นำที่หัดถอดหัวโขนออกทำตัวเป็นกันเองมีนิวาตะ คืออ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ใช่เป็นการแสดงถึงความอ่อนแอ ผู้นำที่นั่งอยู่ในหัวใจคนจะเป็นคนที่แข็งแรง แต่ไม่แข็งกระด้าง อ่อนโยน แต่ไม่อ่อนแอ
๓. คุณธรรมสำหรับนักบริหาร
พระพุทธเจ้าตรัสว่า โรคมี ๒ อย่าง คือ โรคทางกาย (กายิกโรค) และโรคทางจิตวิญญาณ (เจตสิกโรค) พระองค์ทรงประกาศคำสอน เพื่อรักษาโรคทางจิตวิญญาณ และได้รับการยกย่องจากพระสาวก ว่าเป็นแพทย์ผู้เยียวยารักษาโรคของชาวโลกทั้งปวง ยาที่พระองค์ทรงใช้รักษาโรคก็คือ ธรรมโอสถ
ในครั้งพุทธกาล ใครป่วยเป็นโรคทางจิตวิญญาณใด พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมสำหรับรักษาโรคนั้น การฟังธรรมได้ผลชะงัดนัก แต่ในสมัยปัจจุบันที่พระพุทธเจ้าดับขันธ ปรินิพพานไปนานแล้ว เหลือไว้แต่ธรรมโอสถจำนวน ๘,๔๐๐๐ พระธรรมขันธ์ในพระไตรปิฎก ใครจะนำธรรมโอสถไปใช้ คงต้องเลือกขนานที่เหมาะสมกับโรคทางจิตวิญญาณที่รุมเร้าตน เช่นเดียวกับคนที่เป็นโรคทางกาย ก็ต้องเลือกใช้ยาที่เหมาะกับโรคของตน “เพราะลางเนื้อชอบลางยา”
การรู้จักเลือกธรรมโอสถที่เหมาะสมไปใช้ในชีวิต เรียกว่า ธัมมานุธัมมปฏิบัติ แปลว่าปฏิบัติธรรมน้อยให้คล้อยตามธรรมใหญ่ หมายความว่า ปฏิบัติข้อธรรมที่สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของเรา เช่น ถ้าเป้าหมายของเราคือเป็นเศรษฐี เราต้องปฏิบัติธรรมที่เรียกว่า”หัวใจเศรษฐี” หรือทิฏฐิธัมมิกัตถประโยชน์ ๔ ประการ ถ้าเราต้องการความสำเร็จในชีวิต เราต้องปฏิบัติธรรมคืออิทธิบาท ๔ ประการ
การเลือกข้อธรรมมาปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่เราต้องการเช่นนี้ จัดเป็นการประยุกต์ธรรมมาใช้ประโยชน์ในชีวิตจริงคำถามที่ตามมาก็คือ เมื่อเราตั้งเป้าหมายว่าจะเป็นนักบริหารที่เก่งและดีเราควรปฏิบัติข้อธรรมอะไรบ้าง
๔. คุณลักษณะของนักบริหาร
นักบริหารจะทำหน้าที่สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ถ้ามีคุณลักษณะ ๓ ประการ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในทุติยปาปณิกสูตร ดังนี้
๑) จักขุมา หมายถึง มีปัญญามองการณ์ไกล เช่น ถ้าเป็นพ่อค้าหรือนักบริหารธุรกิจ ต้องรู้ว่าสินค้าที่ไหนได้ราคาถูก แล้วนำไปขายที่ไหนจึงได้ราคาแพง ในสมัยนี้ต้องรู้ว่าหุ้นจะขึ้นหรือจะตก ถ้าเป็นนักบริหารทั่วไปต้องสามารถวางแผนและฉลาดในการใช้คนคุณลักษณะข้อแรกนี้ตรงกับภาษาอังกฤษว่า conceptual skill คือความชำนาญในการใช้ความคิด
๒) วิธูโร หมายถึง จัดการธุระได้ดี มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น พ่อค้าเพชรต้องดูออกว่าเป็นเพชรแท้หรือเพชรเทียม แพทย์หัวหน้าคณะผ่าตัดต้องเชี่ยวชาญการผ่าตัด คุณลักษณะที่สองนี้ตรงกับภาษาอังกฤษว่า technical skill คือ ความชำนาญด้านเทคนิค
๓) นิสสยสัมปันโน หมายถึง พึ่งพาอาศัยคนได้ เพราะเป็นคนมีมนุษยสัมพันธ์ดี เช่น พ่อค้าเดินทางไปค้าขายต่างเมืองก็มีเพื่อนพ่อค้าในเมืองนั้น ๆ ให้ที่พักอาศัยหรือให้กู้ยืมเงิน มีเครดิตดี นักบริหารที่ดีต้องผูกใจคนไว้ได้ คุณลักษณะที่สามนี้สำคัญมาก “นกไม่มีขน คนไม่มีเพื่อน ขึ้นสู่ที่สูงไม่ได้” ข้อนี้ตรงกับคำว่า human relation skill คือ ความชำนาญด้านมนุษยสัมพันธ์
คุณลักษณะทั้งสามประการมีความสำคัญมากน้อยต่างกันนั่นขึ้นอยู่กับระดับของนักบริหาร ถ้าเป็นนักบริหารระดับสูงที่ต้องรับผิดชอบในการวางแผนและควบคุมคนจำนวนมาก คุณลักษณะ ข้อที่ ๑ และข้อที่ ๓ สำคัญมาก ส่วนข้อที่ ๒ มีความสำคัญน้อยเพราะเขาสามารถใช้ผู้ใต้บังคับบัญชาที่มีความชำนาญเฉพาะด้านได้
สำหรับนักบริหารระดับกลาง คุณลักษณะทั้งสามข้อมีความสำคัญพอ ๆ กัน นั่นคือ เขาต้องมีความชำนาญเฉพาะด้าน และมนุษยสัมพันธ์ที่ดีต่อเพื่อนร่วมงานและผู้ใต้บังคับบัญชา ในขณะเดียวกันเขาต้องมีปัญญาที่มองภาพกว้างและไกล เพื่อเตรียมตัว สำหรับขึ้นเป็นนักบริหารระดับสูง นักบริหารระดับกลางบางคนไม่ได้เตรียมตัวให้พร้อมในด้านสติปัญญา เมื่อขึ้นสูงก็ถูกผู้ใต้บังคับบัญชานินทาว่า “โง่แล้วยังขยัน” เหมือนกับภาษิตอังกฤษที่ว่า “สัญชาติลิงยิ่งปืนสูงขึ้นไปเท่าไร คนก็รู้ว่าเป็นลิงมากขึ้นเท่านั้น”
สำหรับนักบริหารระดับต้นที่ต้องลงมือปฏิบัติงานที่ร่วมกับพนักงานหรือผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างใกล้ชิดนั้น คุณลักษณะข้อที่ ๒ และข้อที่ ๓ คือ ความชำนาญเฉพาะด้าน และมนุษยสัมพันธ์สำคัญมากแต่กระนั้นเขาก็ต้องพัฒนาคุณลักษณะข้อที่ ๑ คือ ปัญญาเอาไว้เพื่อเตรียมเลื่อนสู่ระดับกลางต่อไป
ขงจื้อเตือนว่า “อย่าห่วงว่าใครไม่รู้ว่าท่านเก่ง หรือมีความสามารถ จงห่วงแต่ว่า สักวันหนึ่งเมื่อคนเขายกย่องหรือเลื่อนตำแหน่งท่าน ท่านมีความเก่ง และความสามารถสมกับที่เขายกย่องหรือเลื่อนตำแหน่งหรือเปล่า”
๕. วิธีการบริหาร
นักบริหารที่ดีจะต้องมีคุณลักษณะทั้งสามประการดังกล่าวมาแล้ว สไตล์หรือวิธีการบริหารก็เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความสำเร็จหรือความล้มเหลวในการบริหาร นักบริหารที่มีคุณลักษณะทั้งสามประการ อาจใช้วิธีบริหารงานที่ตนเคยชิน วิธีการบริหารต่าง ๆ พอสรุปได้เป็น ๓ ประการ ตามนัยแห่งอธิปไตยสูตร ดังนี้คือ อัตตาธิปไตย โลกาธิปไตย และ ธรรมาธิปไตย ดังได้กล่าวมาแล้ว
๖. ธรรมะเพื่อการบริหาร
วิธีบริหารงานที่ดี คือ ธรรมาธิปไตยที่ใช้ทั้งพระเดชและพระคุณ ซึ่งทำให้ได้ทั้งน้ำใจคนและของงาน นักบริหารแบบธรรมาธิปไตยยึดธรรมเป็นหลักในการบริหาร เขามีธรรมที่เรียกว่าพละ ๔ ประการอยู่ในใจ คือ[6]
๑)ปัญญาพละ หมายถึง กำลังความรู้หรือความฉลาด กำลังแห่งความรอบรู้ เกี่ยวกับงานในหน้าที่และบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยสรุปนักบริหารต้องทำหน้าที่บริหารตน บริหารคน และบริหารงาน ดังนั้นเขาต้องมีความรอบรู้เกี่ยวกับตนเอง คนอื่น และงานในความรับผิดชอบนั้นคือนักบริหารต้องมีความรู้ ๓ เรื่อง ได้แก่ รู้ตน รู้คน และรู้งาน
๒) วิริยะพละ หมายถึง กำลังแห่งความเพียรหรือความขยัน คนมีความขยันต้องมีกำลังใจเข้มแข็ง อาจกล่าวได้ว่าวิริยพละก็คือกำลังใจนั่นเอง กำลังใจต้องมาคู่กับกำลังปัญญาเสมอ คนมีกำลังใจแต่ไม่มีกำลังปัญญาจะเป็นคนบ้าบิ่น คนมีกำลังปัญญาแต่ขาดกำลังใจจะเป็นคนขลาด คนที่มีทั้งกำลังใจและกำลังปัญญาจึงจะเป็นคนกล้าหาญ นักบริหารที่มีกำลังปัญญาแต่ขาดกำลังใจ มักถือนโยบายหลบภัยหนีปัญหา เหมือนกับนักมวยชั้นเชิงที่เอาแต่ถอยตลอด ๑๒ ยก แม้ว่าคู่ต่อสู้เพลี่ยงพล้ำ เขาก็ไม่กล้าใช้หมัดเด็ดเก็บคู่ต่อสู้ คนดูเบื่อนักมวยประเภทนี้ลูกเดียวฉันใด ประชาชนก็เบื่อผู้บริหารที่เอาแต่หลบภัยหนีปัญหาฉันนั้น
๓) อนวัชชพละ หมายถึง กำลังการงานที่ไม่มีโทษหรือข้อเสียหาย ได้แก่ นักบริหารต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ดังพุทธพจน์ที่ว่า “ธมฺมญฺจเร สุจริตํ” บุคคลควรปฏิบัติธรรม (หน้าที่) ให้สุจริต”
๔) สังคหพละ หมายถึง กำลังการสงเคราะห์ หรือมนุษยสัมพันธ์ ซึ่งเป็นธรรมที่สำคัญมากสำหรับนักบริหาร ผู้ทำงานให้สำเร็จโดยอาศัยคนอื่น ถ้านักบริหารบกพร่องเรื่องมนุษยสัมพันธ์ ก็จะไม่มีคนมาช่วยทำงาน เมื่อไม่มีใครช่วยทำงานเขาก็เป็นนักบริหารไม่ได้ พระพุทธเจ้าทรงสอนหลักการสร้างมนุษยสัมพันธ์ไว้เรียกว่า สังคหวัตถุ หมายถึงวิธีผูกใจคน ได้แก่ ทาน คือ การให้ ปิยวาจา คือ การพูดถ้อยคำไพเราะอ่อนหวาน อัตถจริยา คือ การทำตัวให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น หรือสงเคราะห์ประชาชน และ สมานัตตา คือ การวางตัวสม่ำเสมอ
พละหรือกำลังแห่งคุณธรรมทั้ง ๔ ประการนี้ ช่วยทำให้นักบริหารปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวคือ นักบริหารจะสามารถวางแผน จัดองค์การ แต่งตั้งบุคลากรอำนวยการ และควบคุมได้ดีต้องมีความฉลาด ขยัน สุจริต และมนุษยสัมพันธ์ ยิ่งเขามีคุณธรรมทั้ง ๔ ข้อนี้ เพิ่มมากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น ตรงกันข้ามถ้าใครคนใดขาดคุณธรรมทั้ง ๔ ประการ แม้เพียงบางข้อ เขาก็เป็นนักบริหารที่ดีไม่ได้
นักบริหารต้องเป็นคนฉลาดรอบรู้และขยันขันแข็ง เรื่องนี้เข้าใจได้ง่ายว่าเพราะเหตุใด คนโง่และเกียจคร้านเป็นนักบริหารเมื่อใดก็พาให้องค์กรล่มจมเมื่อนั้น
กล่าวโดยสรุป นักบริหาร คือ ผู้ทำงานให้สำเร็จโดยอาศัยคนอื่น บริหารงานด้วยธรรมาธิปไตย ที่ถือหลักการและความสำเร็จของงานเป็นใหญ่จึงเป็นผู้นำที่นั่งอยู่ในหัวใจของคนร่วมงาน ทั้งนี้เพราะนักบริหารมีธรรมเป็นพลังในการบริหาร ๔ ประการคือ ปัญญาพละ วิริยะพละ อนวัชชพละ และสังคหพละ นักบริหารผู้มีธรรมอยู่ในหัวใจ ย่อมเป็นศูนย์รวมใจของคนร่วมงาน และสามารถจัดการให้งานในหน้าที่ลุล่วงไปด้วยดี
[1] พระธรรมโกศาจารย์, ศ., (ประยูร ธมฺมจิตฺโต), การบริหารตามแนวของพระพุทธศาสนา, ใน www.watlaharn.org/study/chapter1.doc
[2]ขุ.ธ. (ไทย) ๒๕ /๘/ ๙.
[3]อง.จตุกก. (ไทย) ๒๑ /๗๐/ ๙๘.
[4]พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺจิตฺโต), พุทธวิธีบริหาร, (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๙), หน้า ๓-๕.
[5] เรื่องเดียวกัน. หน้า ๒๖-๒๗.
[6] อง. นวก. ๒๓ / ๕ / ๓๙๒.
ไม่มีความเห็น