เรื่องเล่า(เมาท์)เหล่าลูกศิษย์(2)...ฮ่องเต้น้อยๆ


"...ครอบครัวที่รับราชการจะถูกจำกัดให้มีลูกได้เพียงคนเดียว หากครอบครัวไหนมีมากกว่านั้นจะถูกให้ออกจากราชการทันที...ด้วยเหตุนี้เองทำให้"เด็กๆ"ในครอบครัวชาวจีนไม่เพียงเป็นแก้วตาดวงใจของพ่อแม่ หากแต่ยังเป็นฮ่องเต้น้อยๆของครอบครัวอีกด้วย..."

          "วันเด็ก" ของประเทศจีนในปีนี้ตรงกับวันอังคารที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา ผมเองไม่ได้เห็นกิจกรรมเนื่องในวันนี้อย่างที่ตั้งใจไว้หรอกครับ ทั้งนี้เพราะไม่ได้อยู่ในเวลาและสถานที่ซึ่งเขาจัดงาน ใจหนึ่งก็อยากปลีกตัวไปดู-ไปรู้ว่าเขาจะจัดกิจกรรมเหมือนกับบ้านเราหรือเปล่า แต่ด้วยภาระงานที่ต้องรับผิดชอบประกอบกับความอับจนด้านภาษา (หลายคนอาจจะเกิดคำถามว่า แล้วผมอยู่ในคุนหมิงได้อย่างไรในเมื่อพูดภาษาจีนไม่ได้สักคำ...ไว้จะถอดบทเรียน"การอยู่อย่างเป็นสุขในสังคมต่างภาษา-วัฒนธรรม"มาแบ่งปันกันในคราวหน้านะครับ) ทำให้ไม่อาจแยกตัวไปตามใจหวังไว้ แต่กระนั้นโชคก็ยังเข้าข้างผมอยู่บ้างเมื่อได้มีโอกาสพูดคุยและได้รับความรู้เกี่ยวกับ"เด็กๆ"ในครอบครัวชาวจีน จากอาจารย์ Gao Shuang Lian เพื่อนครูคนหนึ่งซึ่งสอนภาษาไทยอยู่ที่โรงเรียนการท่องเที่ยวคุนหมิง จากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับ"เด็ก"ในประเทศจีน มาเล่าและแลกเปลี่ยนกับทุกท่านดังนี้

          1. "เด็ก" ในมิติของรัฐและนโยบายควบคุมประชากร ... เรามักจะได้ยินเรื่องเล่า เรื่องราวเกี่ยวกับความเข้มงวดในการจำกัดจำนวนคนของประเทศจีนกันมานาน แต่กระนั้นประเทศจีนก็ยังได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก อาจารย์ Gao เล่าให้ผมฟังว่า ในครอบครัวหนึ่งๆนั้นจะมีเด็กๆ(ลูก)ได้ไม่เท่ากัน ซึ่งเกณฑ์ที่จะพิจารณานั้น จะใช้พื้นที่และอาชีพมาเป็นตัวตัดสิน กล่าวคือ หากครอบครัวใดอยู่ในพื้นที่ชนบท(ครอบครัวกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร) ก็จะสามารถมีลูกได้ไม่เกิน 2 คน อย่างไรก็ดีหากครอบครัวมีพื้นที่การเพาะปลูกค่อนข้างเยอะ ก็อาจจะมีลูกได้มากขึ้นอีก  1 หรือ 2 คน (ข้อมูลนี้สอดคล้องกับการสอบถามเกี่ยวกับครอบครัวของเด็กๆที่ผมสอนซึ่งพบว่า คนที่มีพี่น้องมักจะอยู่ต่างเมืองซึ่งไกลจากคุนหมิงหลายร้อยกิโลเมตร) โดยต้องเสียเงินให้กับรัฐต่อจำนวนเด็กที่เกินมาตามข้อกำหนดคนละ 1 หมื่นหยวน (ประมาณสี่หมื่นห้าพันบาท) ทีแรกผมก็งงนะครับว่ามีพื้นที่เยอะแล้วทำไมให้มีลูกได้มากกว่าบ้านอื่นๆ อาจารย์ Gao ก็ยิ้มๆครับ เธอบอกผมว่า มีพื้นที่เยอะก็ปลูกได้เยอะ ก็รวยกว่าบ้านอื่นทำให้มีเงินไปจ่ายให้รัฐบาลไง...(อืมนะ... ที่จริงผมก็น่าจะคิดได้เอง ฮ่าๆ)

          สำหรับครอบครัวที่พักอาศัย(ต้องมีข้อมูลปรากฏตามทะเบียนบ้าน)ในเขตเมือง เช่น เมืองคุนหมิงจะมีลูกได้เพียง 1 คนเท่านั้น หากต้องการมีมากกว่า 1 คนก็จะต้องเสียค่าใช้จ่ายให้รัฐในอัตรา 1 : 1 หมื่นหยวน เช่นเดียวกัน  อย่างไรก็ดีหากมาทำงานอยู่ในคุนหมิงแต่ทะเบียนบ้านอยู่ในพื้นที่ชนบทก็อาจสามารถมีลูกๆได้ถึง 2 คน ใช้เกณฑ์เดียวกับกลุ่มอยู่ในชนบท (สังเกตว่ากลุ่มนี้มีให้เห็นไม่มากนักเพราะลำพังมาเช่าที่อยู่ในเมืองใหญ่ก็แพงมากแล้ว ไหนจะต้องเสียค่าใช้จ่ายอื่นๆอีก เช่น ค่าเช่าที่ทำธุรกิจ ค่าเล่าเรียนของลูกๆ เรียกได้ว่าหากไม่มีเงินจริงๆจะไม่มีครอบครัวใดยอมเสี่ยงให้มีเด็กมากกว่า 1 คน)

          อย่างไรก็ดี ยังมีอีกกลุ่มอาชีพหนึ่งซึ่งถือว่าได้รับโอกาสมากกว่าอาชีพอื่นๆ นั่นคือ กลุ่มอาชีพข้าราชการ คนกลุ่มนี้จะมีสวัสดิการที่ดีกว่าคนทั่วไป เช่น มีสิทธิในการซื้อบ้าน รถ ฯลฯ ในราคาที่ถูกกว่าคนอื่นๆ แต่ด้วยสิทธิพิเศษนี้เองทำให้ต้องรับผิดชอบต่อการถูกจำกัดในลักษณะพิเศษในเรื่องการมีลูกไปด้วย กล่าวคือ สามารถมีลูกได้เพียงครอบครัวละ 1 คนเท่านั้น หากมีคนที่สองจะต้องถูกออกจากราชการทันที (ไม่ว่าจะฝ่ายชายหรือฝ่ายหญิงหากทำราชการแล้วก็ถือให้อยู่ในข้อกำหนดเดียวกันนี้ด้วย)

          อาจารย์ Gao เล่าว่า คนจีนบางคนจะใช้วิธีเอาลูกคนที่สองไปฝากญาติๆเลี้ยงให้เป็นลูกไปก่อน ไม่ก็เอาเด็กไปฝากไว้กับปู่ย่าตายายในชนบทที่ห่างไกล ระหว่างนี้พ่อแม่จะรีบเก็บเงินให้ได้1หมื่นหยวนเพื่อนำเด็กไปขึ้นในทะเบียนราษฎร์ หลังจากนั้นเด็กก็จะกลายเป็นบุคคลในกฎหมายมีสิทธิเข้าเรียนในระบบการศึกษาและรับสวัสดิการได้เช่นเดียวกับคนทั่วไป (ก่อนหน้านั้นจะเป็นคนเถื่อน...หลายครั้งจึงมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับสถานที่หลบซ่อนตัวของพวกเด็กๆเช่น หุบเขา ถ้ำ ป่าหลังบ้าน เป็นต้น)

          2. "เด็ก" ในมิติทางวัฒนธรรม ... เคยมีหลายคนสงสัยว่าทำไมคนจีนจึงอยากได้ลูกผู้ชายกันนัก (คนไทยก็เหมือนกันนะผมว่า) เหตุหนึ่งผมสรุปจากการพูดคุยกับอาจารย์ Gao ว่าเป็นเพราะระบบสืบสายตระกูลจากผู้ชายและประเพณีไหว้บรรพบุรุษในวันเชงเม้ง (ในวันเชงเม้งทุกคนในสายตระกูลจะไปรวมกันที่สุสานบรรพบุรุษ ที่นี่จะมีการเล่าเรื่องราวประวัติของตระกูลว่ามาจากไหน มีใครบ้าง ฯลฯ ในวันนี้หากลูกหลานไม่ไปทำพิธีจะถูกมองว่าเป็นคนไม่ดี จะโดนเหยียดหยามว่าไม่เหลียวแลบรรพชน และยิ่งไปกว่านั้นคือ หากตระกูลใดไม่มีทายาทสืบสกุลจะถือว่าอกตัญญูต่อบรรพบุรุษ ทำให้สายตระกูลขาด) อย่างไรก็ดีประเทศจีนสมัยใหม่เช่นปัจจุบันนี้ อาจไม่เคร่งครัดเท่ากับยุคที่ผ่านมา ทั้งนี้เพราะระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่กำลังหลากเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย ทำให้คนเริ่มมองที่การอยู่ดีกินดีและความสะดวกสบายของบุตรหลานมากกว่า กล่าวคือ เมื่อมีการแต่งงานเกิดขึ้นฝ่ายชายจะเป็นฝ่ายซื้อบ้านและรถ (ที่คุนหมิงส่วนใหญ่จะเป็นคอนโดมิเนียม ราคาห้องเปล่าๆ ณ ขณะนี้อยู่ที่ตารางเมตรละ 4-6 พันหยวน(18000-28800บาท/ตร.ม.) ส่วนบ้านเดี่ยวอย่างเช่นประเทศไทยนั้นต้องระดับมหาเศรษฐีเท่านั้นจึงจะได้อยู่หรือเป็นเจ้าของ) ส่วนฝ่ายหญิงเป็นผู้จัดการเรื่องพิธีการและงานเลี้ยง ดังนั้นหากตระกูลไหนมีหลานชายแล้วสักคน พี่น้องคนอื่นๆก็ไม่จำเป็นต้องแบกภาระนี้ไว้กับตัว สามารถมีลูกสาวได้อย่างสบายใจ เพราะสิ่งสำคัญคือ ไม่ต้องกลัวหรือห่วงว่าลูกสาวจะต้องแบกรับภาระเรื่องบ้านหรือรถในอนาคตนั่นเอง

 

          จึงอาจกล่าวได้ว่า "เด็ก" ที่เกิดมาในครอบครัวชาวจีนในปัจจุบัน มักอยู่ในครอบครัวที่ "พร้อม" เกือบทุกด้าน โดยพ่อแม่จะเป็นผู้หาเลี้ยงและให้ปู่ย่าตายายดูแลเด็กที่บ้าน (บางครอบครัวที่ไม่มี"คนแก่"ดูแลก็จะให้คุณแม่ออกจากงานมาดูแลเองหรือจ้างพี่เลี้ยงแทน) เด็กๆจะถูกเลี้ยงดูเป็นอย่างดี ระหว่างวันปู่ย่าจะคอยเอาใจส่วนกลางคืนและวันหยุดพ่อแม่จะประคบประหงมอยู่ไม่ห่าง ด้วยเหตุนี้เองทำให้"เด็กๆ"ในครอบครัวชาวจีนไม่เพียงเป็นแก้วตาดวงใจของพ่อแม่ หากแต่ยังเป็นฮ่องเต้น้อยๆของครอบครัวอีกด้วย

          สำหรับบทความนี้ผมไม่ต้องการให้เอาไปเป็นข้อติติงเด็กจีนว่าทำไมเขาจึงชอบเถียงหรือหากไม่พอใจก็ชักสีหน้าใส่เราทันที ผมอยากให้มันเป็นข้อมูลให้กับคนเป็นครูได้ใช้สำหรับ"เข้าใจเขา"เพื่อที่เราจะสามารถพัฒนาเขาได้ในทางที่ถูกต้องและเหมาะสม ดังที่ผมเคยได้ภูมิใจเล็กๆตอนไปพบผู้ปกครองของเด็กที่ไปเรียนกับเราที่ลำปาง ผมถามคุณแม่ของเด็กคนหนึ่งว่า 1 ปีที่ลูกชายไปเรียนที่เมืองไทย เขากลับมาแล้วมีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง คุณแม่มองหน้าลูกชายแล้วยิ้มๆ ตอบผมว่า "กลับมาคราวนี้ไม่เถียงพ่อแม่เลย" (เพื่อนอาจารย์คนจีนเขาแปลให้นะครับ) เพียงเท่านี้ก็ทำให้หัวใจของคนเป็นครูได้ชุ่มฉ่ำขึ้นแล้วล่ะครับ

 ปล. ทั้ง 3 รูปที่เห็นนี้ผมได้ถ่ายไว้เมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ในงานเทศกาลดอก ying hua (ซากุระ) ที่สวนสัตว์คุนหมิงครับ วันที่ไปนั้นคนเยอะมาก ส่วนใหญ่ไปกันเป็นครอบครัว กิจกรรมที่ได้รับความนิยมก็คือ การใส่ชุดโบราณ(จีน-ญี่ปุ่น)ถ่ายรูปกับดอกไม้นั่นแหละครับ

หมายเลขบันทึก: 442529เขียนเมื่อ 5 มิถุนายน 2011 16:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

วันนี้ระบบมีปัญหา หรือเน็ตที่จีนไม่ดีก็ไม่รู้นะครับ เพราะผมกดบันทึกแล้ว errer ไปหลายครั้งทีเดียว

  • เมื่อวาน เมืองไทยก็เป็นครับอาจารย์
  • เพิ่งอ่านข่าว เด็กหนุ่มจีนหนีพ่อแม่ไปขายไตเพื่อเอาตังค์ไปซื้อ ไอ้แป๊ด กับ ไอ้ฟ่น iPad & iPhone แล้วคงพอจะเป็นตัวอย่าง ความเป็น ฮ่องเต้น้อยๆได้นะครับ

ยังมีอีกหลายกรณีให้อึ้งกว่านี้ครับท่านอาจารย์หมอเต็ม...ค่อยๆเล่ากันไปตามแต่เวลาจะอำนวยครับผม

มาเยี่ยมหนานวัฒน์ และมาดูฮ้องเต้น้อยนะครับ


เพิ่งเข้ามาอ่าน เฮ้อ โชคดีแล้วที่เกิดเป็นคนไทย ...อาจารย์กลับมาเมืองไทยเมื่อไรครับ จะฝากซื้อ.....

สวัสดีค่ะอาจารย์

มาเรียนรู้ด้วยคนค่ะ ภาพสวยมาก ขอบคุณค่ะ

มาถามอีกรอบ อาจารย์แอบให้ใครที่คณะติดต่อผมหรือเปล่าครับ 555

ได้เฮียนฮู้ เรื่องใหม่ที่บ่าเคยฮู้

ขอบคุณอาจารย์จั๊ดนัก

จะรออ่านเรื่องดีๆแบบนี้แฮ๋มเน้อเจ้า

เป็นฮ่องเต้น้อยของครอบครัว...ลูกคนไทยเราก็เหมือนกันค่ะ

ขอบคุณพี่ๆทุกท่านที่เข้ามาเรียนรู้ด้วยกันครับผม จากการมาอยู่ที่นี่ได้หลายเดือน สิ่งหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้ก็คือ คนจีนเขาเป็นคนซื่อตรงต่ออารมณ์ครับ ที่สำคัญคือไม่มีการเก็บกั๊กให้หนักใจไปที่บ้านระบายมัน ณ จุดเกิดเหตุให้รู้กันไปเลย...เช่น บทจะทะเลาะกันก็ยืนด่ากันตรงนั้นเลยครับ (เป็นชั่วโมงก็ไม่มีใครยอมใคร) หรือบทจะมีอารมณ์รักก็จูบกันมันตรงนั้นเลยครับ... กลางคืนผมไม่กล้าเดินเข้ามอเลยล่ะ กลัวเจอภาพบาดตา.. ฮ่าๆ

เด็กๆ ลูกคนจีน เป็น ฮ่องเต้น้อย

เด็กๆ ลูกคนไทย เป็น ลูกเทวดา

เด็กๆ แถวบ้าน เป็น ลูกชาวนา

เป็นอย่างใหนดีกว่ากันค่ะเนี๊ยะ

.........

ได้เปิดหูเปิดตาดีค่ะ ขอบคุณ..ที่นำมาเล่าสู่กันฟัง(อ่าน)

เป็นลูกที่ดีของพ่อแม่...ดีที่สุดครับคุณศรัณยา

ขอบคุณมากครับที่ติดตามอ่าน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท