KM in IR world


KM in intervention

การจัดการความรู้สำหรับงานรังสีร่วมรักษา
Knowledge Manangement in Intervention Radiology world

เอนก สุวรรณบัณฑิต วท.บ., ศศ.ม., ปร.ด.(กำลังศึกษา)
ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

 

เอนก สุวรรณบัณฑิต. การจัดการความรู้สำหรับงานรังสีร่วมรักษาวารสารชมรมรังสีเทคนิคและพยาบาลเฉพาะทางรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาไทย, 2553 ; 4(2) : 134-147

 

ปัจจุบันมนุษยโลกมีนโยบายร่วมกันอย่างพร้อมเพียง ไม่ได้ถูกบีบบังคับหรือชี้นำอย่างเผด็จการใดๆ ในการสร้างสังคมที่มุ่งเน้นการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น โดยมีความเชื่อในอุดมคติ (ideology) อย่างหนึ่งถึงการพัฒนาสู่สังคมฐานความรู้ (Knowledge based society) ซึ่งพัฒนาต่อยอดมาจากแนวคิดที่ว่า “ความรู้คืออำนาจ : Knowledge is power” ซึ่งได้นำพาปัญหาต่างๆ มาอย่างมากมายในยุคอาณานิคมและอุตสาหกรรม การปรับเปรียนกระบวนทรรศน์ของมนุษย์ชาติหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้นำไปสู่การพัฒนาสังคมในทุกๆ ด้าน และผลักดันในเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge-based Economy – KBE) การดำเนินกิจกรรม และการงานต่างๆ จำเป็นต้องใช้ความรู้มาสร้างผลผลิตให้เกิดมูลค่าเพิ่มมากยิ่งขึ้น เพื่อการยึดครองส่วนแบ่งทางการตลาดบน (niche market) ที่สูงขึ้น  การจัดการความรู้เป็นแนวคิดทางการจัดการที่รวมความหมายกว้างๆ ให้ครอบคลุมการจัดการขององค์การต่างๆ เทคนิค กลไกเชิงระบบมากมายเพื่อสนับสนุนให้การทำงานของแรงงานความรู้ (Knowledge Worker) มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น กลไกดังกล่าวได้แก่ การรวบรวมความรู้ที่กระจัดกระจายอยู่ที่ต่างๆ มารวมไว้ที่เดียวกัน การสร้างบรรยากาศให้คนคิดค้น เรียนรู้ สร้างความรู้ใหม่ๆ ขึ้น เกิดนวัตกรรมใหม่ (innovation) การจัดระเบียบความรู้ในเอกสาร และทำระเบียนรวบรวมรายชื่อผู้มีความรู้ในด้านต่างๆ และที่สำคัญที่สุด คือการสร้างช่องทาง และเงื่อนไขให้คนเกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน เพื่อนำไปใช้พัฒนางานของตนให้สัมฤทธิ์ผล

หากต้องนิยามการจัดการความรู้ ได้มีนักวิชาการจำนวนมากนิยามไว้ในหลายความหมาย แต่หากพิจารณาถึงประเด็นเนื้อหาที่สำคัญ อาจสรุปได้ว่า การจัดการความรู้เป็นแนวทางการจัดการที่ต้องการรวบรวม สร้าง จัดหมวดหมู่ แลกเปลี่ยน และประยุกต์ใช้ความรู้ โดยมีแนวคิดในการพัฒนา (คัดกรอง) ข้อมูลไปสู่สารสนเทศ เพื่อให้เกิด ความรู้ และยกระดับเป็นปัญญาในที่สุด

ด้วยความนิยมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1990 การจัดการความรู้ได้มีบทบาทอย่างมากทั้งในภาคเอกชนและภาคราชการ โดย องค์การขนาดใหญ่โดยส่วนมากจะมีการจัดสรรทรัพยากรสำหรับการจัดการองค์ความรู้ โดยมักจะเป็นส่วนหนึ่งของแผนกเทคโนโลยีสารสนเทศหรือแผนกการจัดการทรัพยากรมนุษย์ สำหรับภาคราชการไทย ได้มีการออกพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี เป็นกฎหมายที่ออกมาเพื่อผลักดันแนวคิดธรรมาภิบาล (Good Governance) ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมขึ้น ในมาตรา 11 กำหนดว่า

“ส่วนราชการมีหน้าที่พัฒนาความรู้ในส่วนราชการ เพื่อให้มีลักษณะเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ โดยต้องรับรู้ข้อมูลข่าวสารและสามารถประมวลผลความรู้ในด้านต่างๆ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติราชการได้อย่างถูกต้อง รวดเร็วและเหมาะสมกับสถานการณ์ รวมทั้งต้องส่งเสริมและพัฒนาความรู้ความสามารถ สร้างวิสัยทัศน์และปรับเปลี่ยนทัศนคติของข้าราชการในสังกัดให้เป็นบุคลากรที่มีประสิทธิภาพและมีการเรียนรู้ร่วมกัน”

ดังนั้นจึงมีการประยุกต์ใช้การจัดการความรู้ในระดับต่างๆ อย่างไรก็ตามในทางวิชาการการจัดการความรู้ประกอบไปด้วยชุดของการปฏิบัติงาน (management set) ที่ถูกใช้โดยองค์กรต่างๆ เพื่อที่จะระบุ สร้าง แสดงและกระจายความรู้ เพื่อประโยชน์ในการนำไปใช้และการเรียนรู้ภายในองค์กร อันนำไปสู่การจัดการสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการดำเนินการธุรกิจที่ดี

รูปแบบการจัดการองค์ความรู้โดยปกติจะถูกจัดให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ขององค์กรและประสงค์ที่จะได้ผลลัพธ์เฉพาะด้าน เช่น เพื่อแบ่งปันภูมิปัญญา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เพื่อความได้เปรียบทางการแข่งขัน หรือเพื่อเพิ่มระดับนวัตกรรมให้สูงขึ้น

ความสัมพันธ์ระหว่างระดับแหล่งความรู้

แหล่งความรู้ที่สำคัญได้แก่ ข้อมูล  สารสนเทศ  ความรู้   ความเฉลียวฉลาด และปัญญา ซึ่งมีระดับและการกลั่นกรอง ตกผลึกไปสู่ชั้นความรู้ถัดไปด้วย กระบวนการต่างๆ กัน โดยมีแนวคิดหลักๆ ได้แก่

1. ข้อมูล  (Data)

1)       ข้อมูลดิบที่ยังไม่ได้ผ่านกระบวนการประมวลผล
2)       กลุ่มของข้อมูลดิบที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติงาน

2. สารสนเทศ  (Information)

1)       ข้อมูลที่ผ่านกระบวนการประมวลผลแล้ว
2)       ผลรวมของข้อมูลที่มีความหมาย

3. ความรู้  (Knowledge)

1)       ผลจากการขัดเกลาและเลือกใช้สารสนเทศ  โดยมีการจัดระบบความคิด เกิดเป็น  “ความรู้และความเชี่ยวชาญ”

4. ความเฉลียวฉลาด  (Wisdom)

1)       การนำเอาความรู้ต่าง ๆ มาบูรณาการเข้าด้วยกันเพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการทำงานในสาขาวิชาต่าง ๆ เกิดภูมิปัญญาในด้านนั้นๆ  

5. ปัญญา  (Intelligence)

1)       ผลจากการปรับแต่งและจดจำความเฉลียวฉลาดต่าง ๆ ซึ่งก่อให้เกิด ความคิดที่ฉับไว และการเพิ่มความสามารถในการชี้นำสังคม   

 

ภาพความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูล   สารสนเทศ  ความรู้  ความเฉลียวฉลาดและปัญญา

การเรียนรู้ในการทำงาน

            การเรียนรู้ในการทำงานเป็นแนวคิดของการเรียนรู้ตลอดชีวิต ทั้งในชีวิตการเรียน และชีวิตการทำงาน นั่นคือไม่หยุดเรียนแม้จะเรียนจบแล้ว แต่เรียนรู้จากสิ่งต่าง ๆในการทำงานของตน โดยมีแนวคิดที่สำคัญได้แก่

  • การเรียนรู้เป็นส่วนหนึ่งของงานที่ทุกคนทำ
  • โอกาสที่จะพัฒนาทักษะความรู้มีอยู่ทั่วไปในงาน
  • การเรียนรู้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของผลการปฏิบัติงาน สัมพันธ์กับเป้าประสงค์ขององค์การ
  • ความสามารถในการกำหนดแนวทางการเรียนรู้มีความสำคัญเท่ากับการหาคำตอบที่เฉพาะเจาะจงในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
  • ให้ความสำคัญต่อกระบวนการเรียนรู้  (Learning how to Learning)

 

สำหรับผู้เขียนซึ่งมีประสบการณ์ด้านการบริหารจัดการความรู้มาตั้งแต่ปี 2548 ถึงปัจจุบัน มีมุมมองถึงการจัดการความรู้ว่า เป็น การนำความรู้มาใช้โดยมีกระบวนการในการสรรหาเพื่อถ่ายทอดและแบ่งปันไปยังบุคลากรเป้าหมายได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม  โดยมีเป้าหมายเพื่อ

  1. การพัฒนางานให้มีคุณภาพและผลสัมฤทธิ์ยิ่งขึ้น
  2. การพัฒนาคน
  3. การพัฒนาฐานความรู้ขององค์กร

 

กรอบคิดง่ายๆ กับกระบวนการจัดการความรู้ ได้แก่  

¯         นำใช้        - มีให้ใช้
¯         สรรหา       - ไม่มีให้ใช้
¯         ถ่ายทอด    - มีแล้วส่งต่อให้ทั่วถึง
¯         แบ่งปัน      - มีแล้วให้แก่ผู้เกี่ยวข้อง
¯         ถูกต้อง      - มีแล้วตรวจสอบให้ถูกยิ่งขึ้น
¯         เหมาะสม   -มีแล้วเลือกผู้ที่จำเป็นต้องใช้

 

องค์ประกอบสำคัญของการบริหารจัดการความรู้

1.  คน  (People)  เป็นแหล่งความรู้  และเป็นผู้นำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์
2.  เทคโนโลยี  (Technology) เป็นเครื่องมือเพื่อให้คนสามารถค้นหา  จัดเก็บ  แลกเปลี่ยน รวมทั้งนำความรู้ไปใช้ได้อย่างง่ายและรวดเร็วขึ้น
3.  กระบวนการความรู้  (Knowledge  Process) เป็นการบริหารจัดการเพื่อนำความรู้จากแหล่งความรู้ไปให้ผู้ใช้เพื่อทำให้เกิดการปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงานและเกิดนวัตกรรม

 

ประเภทของความรู้
ความรู้สามารถแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้สองประเภท คือ ความรู้ชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) และความรู้แฝงเร้น หรือความรู้แบบฝังลึก (Tacit Knowledge) ความรู้ชัดแจ้งคือความรู้ที่เขียนอธิบายออกมาเป็นตัวอักษร เช่น คู่มือปฏิบัติงาน หนังสือ ตำรา เว็บไซต์ Blog ฯลฯ ส่วนความรู้แฝงเร้นคือความรู้ที่ฝังอยู่ในตัวคน ไม่ได้ถอดออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร หรือบางครั้งก็ไม่สามารถถอดเป็นลายลักษณ์อักษรได้ ความรู้ที่สำคัญส่วนใหญ่ มีลักษณะเป็นความรู้แฝงเร้น อยู่ในคนทำงาน และผู้เชี่ยวชาญในแต่ละเรื่อง จึงต้องอาศัยกลไกแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้คนได้พบกัน สร้างความไว้วางใจกัน และถ่ายทอดความรู้ระหว่างกันและกัน

ความรู้แบบฝังลึก
ความรู้แบบฝังลึก (Tacit Knowledge) เป็นความรู้ที่ไม่สามารถอธิบายโดยใช้คำพูดได้ มีรากฐานมาจากการกระทำและประสบการณ์ มีลักษณะเป็นความเชื่อ ทักษะ และเป็นอัตวิสัย (Subjective) ต้องการการฝึกฝนเพื่อให้เกิดความชำนาญ มีลักษณะเป็นเรื่องส่วนบุคคล มีบริบทเฉพาะ (Context-specific) ทำให้เป็นทางการและสื่อสารยาก เช่น วิจารณญาณ ความลับทางการค้า วัฒนธรรมองค์กร ทักษะ ความเชี่ยวชาญในเรื่องต่างๆ การเรียนรู้ขององค์กร ความสามารถในการชิมรสไวน์ หรือกระทั่งทักษะในการสังเกตเปลวควันจากปล่องโรงงานว่ามีปัญหาในกระบวนการผลิตหรือไม่

ความรู้ชัดแจ้ง
ความรู้ชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) เป็นความรู้ที่รวบรวมได้ง่าย จัดระบบและถ่ายโอนโดยใช้วิธีการดิจิทัล มีลักษณะเป็นวัตถุดิบ (Objective) เป็นทฤษฏี สามารถแปลงเป็นรหัสในการถ่ายทอดโดยวิธีการที่เป็นทางการ ไม่จำเป็นต้องอาศัยการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นเพื่อถ่ายทอดความรู้ เช่น นโยบายขององค์กร กระบวนการทำงาน ซอฟต์แวร์ เอกสาร และกลยุทธ์ เป้าหมายและความสามารถขององค์กร

 

ระดับของความรู้
หากจำแนกระดับของความรู้ สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ระดับ คือ

  1. ความรู้เชิงทฤษฏี (Know-What) เป็นความรู้เชิงข้อเท็จจริง รู้อะไร เป็นอะไร จะพบในผู้ที่สำเร็จการศึกษามาใหม่ๆ ที่มีความรู้โดยเฉพาะความรู้ที่จำมาได้จากความรู้ชัดแจ้งซึ่งได้จากการได้เรียนมาก แต่เวลาทำงาน ก็จะไม่มั่นใจ มักจะปรึกษารุ่นพี่ก่อน
  2. ความรู้เชิงทฤษฏีและเชิงบริบท (Know-How) เป็นความรู้เชื่อมโยงกับโลกของความเป็นจริง ภายใต้สภาพความเป็นจริงที่ซับซ้อนสามารถนำเอาความรู้ชัดแจ้งที่ได้มาประยุกต์ใช้ตามบริบทของตนเองได้ มักพบในคนที่ทำงานไปหลายๆปี จนเกิดความรู้ฝังลึกที่เป็นทักษะหรือประสบการณ์มากขึ้น
  3. ความรู้ในระดับที่อธิบายเหตุผล (Know-Why) เป็นความรู้เชิงเหตุผลระหว่างเรื่องราวหรือเหตุการณ์ต่างๆ ผลของประสบการณ์แก้ปัญหาที่ซับซ้อน และนำประสบการณ์มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อื่น เป็นผู้ทำงานมาระยะหนึ่งแล้วเกิดความรู้ฝังลึก สามารถอดความรู้ฝังลึกของตนเองมาแลกเปลี่ยนกับผู้อื่นหรือถ่ายทอดให้ผู้อื่นได้พร้อมทั้งรับเอาความรู้จากผู้อื่นไปปรับใช้ในบริบทของตนเองได้
  4. ความรู้ในระดับคุณค่า ความเชื่อ (Care-Why) เป็นความรู้ในลักษณะของความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์ที่ขับดันมาจากภายในตนเองจะเป็นผู้ที่สามารถสกัด ประมวล วิเคราะห์ความรู้ที่ตนเองมีอยู่ กับความรู้ที่ตนเองได้รับมาสร้างเป็นองค์ความรู้ใหม่ขึ้นมาได้ เช่น สร้างตัวแบบหรือทฤษฏีใหม่หรือนวัตกรรม ขึ้นมาใช้ในการทำงานได้

 

ดร. ประพนธ์ ผาสุกยืด แห่งสถาบันส่งเสริมความรู้เพื่อสังคม (สคส)  ได้นำเสนอ “โมเดลปลาทู”เป็นโมเดลที่เปรียบการจัดการความรู้เป็น 3 ส่วนคือ

  1. หัวปลา หมายถึง ส่วนที่เป็นเป้าหมาย วิสัยทัศน์ หรือทิศทางการจัดการความรู้ โดยจะต้องเป็นส่วนของผู้ดำเนินกิจกรรม KM ทั้งหมด
  2. ตัวปลา หมายถึง ส่วนของการแลกเปลี่ยนความรู้ ซึ่งจะต้องกระตุ้นให้ผู้ดำเนินกิจกรรม KM มีการแลกเปลี่ยนความรู้ โดยเฉพาะความรู้ซ่อนเร้นที่มีอยู่ และอำนวยให้เกิดการเรียนรู้แบบเป็นทีมเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนความรู้และเกิดนวัตกรรมในที่สุ
  3. หางปลา หมายถึง ส่วนของคลังความรู้ ที่ได้จากการเก็บสะสม เกร็ดความรู้ที่ได้จากกระบวนการแลกเปลี่ยนความรู้ ซึ่งเราอาจเก็บส่วนของหางปลานี้ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น ICT ซึ่งเป็นการสกัดความรู้ที่ซ่อนเร้นให้เป็นความรู้เด่นชัด นำไปใช้และยกระดับต่อไป

 

 ที่มา : : http://www.opdc.go.th/thai/E_Newsletter/November48/KM.htm

 

เทคนิคการเรียนรู้

ระดับบุคคล

  1. การศึกษาด้วยตนเอง (Self - study) เป็นการศึกษาหาความรู้ในประเด็นเนื้อหาที่ชอบ สนใจ โดยไม่ต้องเข้าชั้นเรียน
  2. การเรียนรู้ที่จะเรียนรู้  (Learning to Learn) เป็นการศึกษาวิธีการเรียนในสาขาวิชานั้นๆ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างเป็นระบบมีประสิทธิภาพ
  3. การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก (Problem Oriented Learning) เป็นการศึกษาต่อยอดเพื่อหาความรู้จากปัญหาทีเกิดขึ้นประจำ หรือปัญหาที่มีผลในระยะยาว เพื่อหาองค์ความรู้สำหรับการแก้ไขปัญหาต่อไป
  4. การใช้วิธีการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ  และมีแบบแผนหรือเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน (Methodical learning) เป็นการศึกษาระเบียบวิธีของแต่ระบบการเรียนรู้อย่างเข้าใจเพื่อจะได้มีกรอบคิดตามวิชานั้นๆ (สำหรับสาขาที่ผู้เรียนไม่รู้มาก่อน)

ระดับกลุ่ม 

  1. การเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีม (Team  Learning) เป็นการศึกษาร่วมกันในกลุ่มผู้ทำงานด้านเดียวกัน หรือแบ่งกันศึกษาแล้วนำมาเล่าสู่กันฟังเพื่อให้ได้เรียนรู้ร่วมกัน
  2. การเรียนรู้โดยการปฏิบัติ (Action   Learning) เป็นการศึกษาโดยลงมือปฏิบัติจริง เพื่อจะได้ทราบบริบทและเกิดความเข้าใจที่แท้จริง
  3. การเรียนรู้ร่วมกัน (Collective   Learning) เป็นการศึกษาโดยการเรียนรู้ร่วมกับผู้อื่นในประเด็นที่ชอบ สนใจร่วมกัน เพื่อให้ได้รับความรู้ที่หลากหลาย

ระดับองค์การ

  1. การเรียนรู้แบบรวมพลังเสริมอำนาจ (Empowerment Learning) เป็นระบบขององค์การที่ส่งเสริมให้พนักงานได้ศึกษาเพิ่มพูนความรู้เพื่อให้การทำงานดีขึ้น อย่างมีแบบแผน  และมีผลต่อการประเมินความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน
  2. การเรียนรู้แบบเครือข่าย (Network Learning) เป็นระบบที่องค์กรจัดให้ โดยเอื้อให้พนักงานได้รู้จักและสามารถติดต่อถึงกันอย่างเป็นเครือข่าย

 

กิจกรรมการเรียนรู้

            กิจกรรมการเรียนรู้เป็นเครื่องมือ (tools) ที่ใช้เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในระดับต่างๆ ซึ่งมีเครื่องมือที่หลากหลายได้แก่

  1. Action  Learning เป็นการจัดให้มีการทดลองปฏิบัติจริง มักเป็นองค์ความรู้เชิงเทคนิค งานช่างต่างๆ
  2. Analyzing  Mistakes เป็นการนำกรณีปัญหาหรือข้อผิดพลาดที่ได้มีการแก้ปัญหาไปแล้วมาร่วมกันวิเคราะห์ และมองหาวิธีป้องกันหรือแนวทางแก้ปัญหาทางเลือกอื่นๆ
  3. Brainstorming เป็นการนำหัวข้อสำคัญในองค์กรมาร่วมกันคิดจากผู้เกี่ยวข้อง เปิดความให้เกิดการคิดที่หลากหลายมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
  4. Coaching เป็นการนำผู้รู้มาช่วยชี้แนะแก่พนักงานให้สามารถทำตามวิธีปฏิบัติต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง
  5. Computer - Mediated  Communications (CMC) เป็นการให้พนักงานได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง ผ่านระบบฐานข้อมูล หรือซีดี รอม
  6. External  Consultants เป็นการเชิญผู้ทรงคุณวุฒิมาให้คำแนะนำ และเปิดโอกาสให้พนักงานได้ซักถามข้อปัญหาต่างๆ และมีผู้จดบันทึกไว้
  7. Learning  Contracts เป็นการทำสัญญากับหน่วยงาน หรือสถาบันการศึกษาให้มาสอนความรู้ที่ทันสมัย (up to date) ให้แก่หน่วยงานหรือองค์กรเป็นระยะๆ
  8. Mentoring เป็นการให้ผู้รู้ทำหน้าที่พี่เลี้ยง ดูแลพนักงานที่มีความรู้แล้วให้ทำงานไปได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
  9. Networking เป็นการสร้างเครือข่ายผู้ทำงานในระดับเดียวกัน หรือเรื่องเดียวกัน ต่างระดับกัน เพื่อจะได้แบ่งปันความรู้ร่วมกันอยู่เสมอ
  10. Portfolios เป็นการกำหนดให้แต่ละคนต้องมีรายความรู้ที่ต้องเรียน หรืออบรมเป็นลำดับให้ครบ เพื่อการประเมินผลการทำงานและการเลื่อนตำแหน่ง
  11. Project  work เป็นการมอบหมายงานที่สำคัญและต้องใช้ความรู้ใหม่ เพื่อให้เกิดการแสวงหาแหล่งความรู้และแหล่งอ้างอิงอื่นๆ ในการดำเนินการให้สำเร็จ
  12. Rotating  jobs เป็นการโยกย้ายให้พนักงานได้ทำงานในตำแหน่งอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานเดิมเพื่อจะได้เรียนรู้เนื้องาน และความต่อเนื่องของเนื้องาน รวมไปถึงรายละเอียดของงานใหม่
  13. Team  working เป็นการทำงานร่วมกัน โดยให้ทำเป็นทีม และอาจมีการให้สลับตำแหน่งหน้าที่ในทีมเป็นระยะ เพื่อการเรียนรู้เนื้องานร่วมกัน
  14. Visioning เป็นการนำผู้รู้มาประชุมร่วม และดำเนินการแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ต่อองค์การ เพื่อทำการ SWOT ซึ่งจะได้เห็นวิสัยทัศน์ร่วม หรือการหาวิสัยทัศน์ใหม่ (revision) ขององค์กร

 

พัฒนาการของการจัดการความรู้

1. การจัดการความรู้ที่ถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ

1)       Best Practises ระบบองค์กรจะทำการแสวงหาและจัดเก็บองค์ความรู้ที่ได้รับรองว่าเป็นวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศไว้ในระบบฐานข้อมูล
2)       Lessons Learned ระบบองค์กรจะทำการแสวงหาและจัดเก็บองค์ความรู้เกี่ยวกับปัญหาข้อผิดพลาดต่างๆ ที่เกิดขึ้นในองค์กร และแนวทางการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นไว้ในระบบฐานข้อมูล

2. การจัดการความรู้ที่มุ่งความสัมพันธ์ของมนุษย์และมิติทางวัฒนธรรม

1)       Tacit  Knowledge เป็นกระบวนการแสวงหาความรู้จากผู้รู้แต่ละคน เช่น ผู้ที่จะเกษียณอายุ หรือหัวหน้างานที่ต้องเลื่อนตำแหน่งไปทำงานที่อื่น หรือลาออก เพื่อให้องค์ความรู้ที่จำเป็นคงอยู่กับองค์กรต่อไป
2)       Community of Practices เป็นกระบวนการในการรวมกลุ่มผู้ที่สนใจในเรื่องเดียวกันได้พูดคุย แลกเปลี่ยนความรู้ และแสวงหาความรู้ใหม่ที่จำเป็นสำหรับเรื่องที่สนใจแล้วกลั่นกรองเป็นองค์ความรู้ของกลุ่ม ซึ่งองค์กรจะอำนวยความสะดวกและรับองค์ความรู้เหล่านั้นไว้เป็นองค์ความรู้ขององค์กรเอง

3. การจัดการความรู้ที่เน้นความสำคัญของเนื้อหา

1)       Content Management เป็นการกำหนดเนื้อหาที่สำคัญต่องาน สร้างระบบการค้นคว้า การมองหาความรู้ที่หลากหลาย และการหาแหล่งความรู้ที่เชื่อถือได้
2)       Taxonomy เป็นการแบ่งเนื้อหาเป็นกลุ่มๆ เพื่อให้ผู้สนใจได้ศึกษาและแสวงหาความรู้แก่ตนเอง
3)       Retrievability เป็นการกำหนดเทคโนโลยีและระบบในการให้พนักงานสามารถเข้าถึงชั้นความรู้ที่แตกต่างกัน ตามความเหมาะสมและจำเป็น

 

การสร้างความรู้  (Knowledge Creation - SECI)

            แนวคิด SECI คือการเสริมสร้างความรู้ด้วยการต่อยอดระหว่างการแสวงหาความรู้และการใช้ความรู้ในระดับ tacit ผ่านการสอนงานและระบบพี่เลี้ยง (socialization) ซึ่งจะทำให้ได้ความรู้ ซึ่งจะต้องนำไปพูดคุย เสวนากับทีม ผู้รู้ และกลั่นกรองเป็นความรู้ชั้นต้น (externalization) ซึ่งหากสามารถปรึกษากับผู้รู้ ผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ ผ่านการสื่อสารนอกองค์กร การรายงานผลการใช้ความรู้ (combination) ต่างๆ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ และนำมาใช้เรียนรู้ร่วมกันใหม่ในองค์กร (internalization) จะทำให้ได้องค์ความรู้ที่แท้ และเหมาะสมกับบริบทขององค์กรนั้น

 

การถ่ายทอดความรู้
การถ่ายทอดความรู้ อันเป็นส่วนประกอบของการจัดการองค์ความรู้ ถูกประพฤติปฏิบัติกันมานานแล้ว ตัวอย่างรูปแบบการถ่ายทอดความรู้ เช่น การอภิปรายของเพื่อนร่วมงานในระหว่างการปฏิบัติงาน, การอบรมพนักงานใหม่อย่างเป็นทางการ, ห้องสมุดขององค์กร, โปรแกรมการฝึกสอนทางอาชีพและการเป็นพี่เลี้ยง ซึ่งรูปแบบการถ่ายทอดความรู้มีการพัฒนารูปแบบโดยอาศัยเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่กระจายอย่างกว้างขวางในศตวรรษที่ 20 ก่อให้เกิดเทคโนโลยีฐานความรู้, ระบบผู้เชี่ยวชาญและคลังความรู้ ซึ่งทำให้กระบวนการถ่ายทอดความรู้ง่ายมากขึ้น

 

สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ในสาขารังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษา การจัดการความรู้ไม่ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ เนื่องด้วยเป็นการเรียนรู้ในการทำงานประจำ อย่างไรก็ตามเนื้อหาความรู้ที่สำคัญที่จะต้องมีการแสวงหาความรู้และจัดหมวดหมู่ที่สำคัญ ได้แก่

  1. เครื่องเอกซเรย์หลอดเลือด ซึ่งมีองค์ความรู้ที่ต้องสนใจได้แก่เทคโนโลยีเครื่อง เทคโนโลยีตัวรับภาพ การจัดซื้อ การออกแบบห้องตรวจและการติดตั้ง
  2. โรคและพยาธิสภาพ ซึ่งมีองค์ความรู้ที่สำคัญคือข้อมูลทางการแพทย์ และพยาธิสภาพของโรคหลอดเลือด และอาการที่เกี่ยวข้องต่างๆ
  3. วิธีการรักษา ซึ่งมีองค์ความรู้ที่สำคัญคือประเภท ชนิดของหัตถการ การเตรียมการตรวจรักษาต่างๆ
  4. อุปกรณ์การแพทย์ ซึ่งมีองค์ความรู้ที่สำคัญคือชนิด คุณสมบัติ การใช้งาน และคู่เทียบของอุปกรณ์การแพทย์ เช่น สายสวนหลอดเลือด ขดลวดนำ วัสดุอุดหลอดเลือด เป็นต้น
  5. การดูแลผู้ป่วย ซึ่งมีองค์ความรู้ที่สำคัญคือ การให้คำปรึกษา การดูแลผู้ป่วยก่อนหัตถการ การดูแลผู้ป่วยระหว่างหัตถการ  การดูแลผู้ป่วยหลังเสร็จหัตถการ และการดูแลผู้ป่วยต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามการจัดการความรู้ในงานรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษามีข้อจำกัด เนื่องจาก

  1. เริ่มมานาน แต่กระจาย ผู้รู้มีภาระงานมาก ขาดการรวมตัวเป็นเครือข่ายผู้ทำงานที่เข้มแข็ง ไม่สามารถสร้างองค์ความรู้ใหม่ได้
  2. มีเฉพาะในโรงพยาบาลรัฐและเอกชนขนาดใหญ่และกลาง ทำให้บริบทการประยุกต์ใช้ไม่ต่างกันมากนัก เนื้องานขาดความหลากหลาย
  3. งบประมาณจัดซื้อจำกัด เนื่องจากอุปกรณ์การแพทย์มีราคาแพง ไม่สามารถทดลองใช้ได้ การขยายงานหรือชนิดหัตถการต้องพิจารณาความเหมาะสมอ
  4. ขาดบุคลากรที่เชี่ยวชาญ เนื่องจากมีผู้รู้และผู้ที่สามารถสอนไม่มากนัก และกระจุกตัว ทำให้ไม่สามารถขยายเครือข่ายความรู้ไปได้อย่างกว้างขวาง

 

พัฒนาการในการจัดการความรู้อย่างหนึ่งสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ในงานรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษา มีหลักไมล์ที่สำคัญ ได้แก่

  • ชมรมพยาบาลเฉพาะทางรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาไทย, 2545
    ริเริ่มโดยนางพรรณี สมจิตประเสริฐ หัวหน้าพยาบาลหน่วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ฯ รพ.ศิริราช โดยการสนับสนุนจาก ศ.นพ.นรา แววศร นายกสมาคมรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาไทย
  • ชมรมรังสีเทคนิคและพยาบาลเฉพาะทางรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาไทย, 2549 ขยายขอบเขตผู้เกี่ยวข้อง โดยนางพรรณี สมจิตประเสริฐ เป็นประธานชมรมมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อให้เกิดเครือข่ายผู้รู้ทางด้านรังสีร่วมรักษาในภูมิภาคต่างๆ โดยมี key person ที่สำคัญได้แก่

–      หน่วยรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษารพ.ศิริราช
–      บริษัทอุปกรณ์การแพทย์ต่างๆ
–      สมาชิกชมรมฯ ที่มาจากรังสีเทคนิคและพยาบาลทั่วประเทศ
–      การจัดพิมพ์วารสารชมรมรังสีเทคนิคและพยาบาลเฉพาะทางรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาไทย ตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบันซึ่งเป็นปีที่ 4 แล้ว
–      การเผยแผ่ผ่านอินเตอร์เน็ต ในชื่อ www.trtnvir.webs.com

 

ปัจจัยหลักที่เอื้อต่อความสำเร็จ

            การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือที่มีฐานคิดอยู่ที่การเสริมคุณค่าให้แก่มนุษย์และการเสริมความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรและพนักงาน จากนายจ้างลูกจ้าง มาเป็นนายจ้างและเพื่อนร่วมงาน ซึ่งมีปัญหาและอุปสรรคจำนวนมากเกิดขึ้นในประวัติการพัฒนาการจัดการ หากแต่นักวิชาการได้มีความเห็นตรงกันว่าปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การจัดการความรู้สำเร็จได้นั้น มี 5 ด้านได้แก่

  1. ผู้นำและยุทธศาสตร์ (Leadership & Strategy) ผู้นำต้องสนใจต่อความรู้ที่จำเป็นและให้ความสำคัญกับบุคลากรภายใน และสร้างแผนยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการดึงความรู้จากบุคลากรมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่องค์กร ก่อนที่จะนำเข้าความรู้จากภายนอก
  2. วัฒนธรรม (Culture) องค์กรแต่ละแห่งมีวัฒนธรรมภายในของตนที่แข็งแกร่ง องค์กรจะต้องสร้างให้เกิดวัฒนธรรมแห่งการแข่งดี และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน และเป็นหน้าที่ของพนักงานทุกคนที่ต้องกระทำเพื่อองค์กร ซึ่งอาจต้องใช้เวลา 3-5 ปี ขึ้นไป
  3. เทคโนโลยี (Technology) มีการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับบุคลากรเพื่อให้เกิดการคิด การเรียนรู้และการแบ่งปันความรู้ อาจเป็นแผ่นพับ หนังสือ หรือสื่อสารสนเทศก็ได้
  4. การวัดผล (Measurement) มีระบบในการแสดงผลกิจกรรมหรือผลงานของการใช้ความรู้ที่เกิดขึ้นและเป็นความสำเร็จขององค์กรในแง่มุมต่างๆ ทั้งคุณภาพและปริมาณ
  5. การจัดการระบบโครงสร้าง (Infrastructure) องค์กรมีการปรับปรุงระบบโครงสร้างต่างๆ เช่น เครือข่ายอินเตอร์เน็ต ห้องสมุด หรือสื่อกระจายเสียงเพื่อให้เกิดบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ที่ง่ายต่อการเข้าถึง

 

การจัดการความรู้เป็นกระบวนคิดในการพัฒนาระบบที่เน้นความสำคัญที่มนุษย์และสิ่งที่มนุษย์คิด คือวิชชา เพื่อกำจัดอวิชชาต่างๆ เกิดเป็นความรู้แท้ ซึ่งต้องมีการถ่ายทอดและบันทึก ขณะเดียวกันก็ต้องการผู้สืบทอดเช่นกัน หัวใจนักปราชญ์ที่ได้เรียนมาแต่สมัยก่อน คือ สุ จิ ปุ ลิ อันได้แก่

-          สุ หมายถึง สุตต แปลว่า ฟัง
-          จิ หมายถึง จินต แปลว่า คิด
-          ปุ หมายถึง ปุจฉา แปลว่า ถาม
-          ลิ หมายถึง ลิขิต แปลว่า เขียน

แต่ชนรุ่นหลังได้เรียนเป็น ฟังพูดอ่านเขียน ก็เลยไม่ได้คิด และไม่ได้ถาม ทำให้ไม่เกิดการคิด รวมความไปถึงการคิดใหม่ การมองหาคำถามใหม่ และสุดท้ายทำให้เกิดการมองไม่เห็นปัญหา ทำให้แรงผลักดันหลักของการจัดการความรู้คือการสนใจใฝ่รู้ได้ลดลงไป คนไม่แสวงหาความรู้ใหม่ เพียงใช้ความรู้ที่มีอยู่เท่าที่จำเป็น ขาดผู้ที่มุ่งหวังพัฒนาตนไปเป็นผู้รู้ ดังนั้นการจัดการความรู้พึงมองไปรอบด้าน เพื่อมองหากรอบกระบวนทรรศน์ของคนที่เกี่ยวข้อง และพัฒนาให้ก้าวไปข้างหน้า โดยชี้ให้เห็นถึงผลของการพัฒนาสังคมไปสู่สังคมฐานความรู้ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

 

บรรณานุกรม

  1. ทิพวรรณ หล่อสุวรรณรัตน์. องค์การแห่งความรู้ : จากแนวคิดสู่การปฏิบัติ. กรุงเทพฯ; พิมพ์ครั้งที่ 3 : รัตนไตร, 2549
  2. เอนก สุวรรณบัณฑิต, ภาสกร อดุลพัฒนากิจ. จิตวิทยาบริการ. กรุงเทพฯ :เพรส แอนด์ ดีไซน์, 2548
  3. เอนก สุวรรณบัณฑิต. องค์การแห่งการเรียนรู้และการบริหารงานทางคลินิกที่ดี. วารสารชมรมรังสีเทคนิคและพยาบาลเฉพาะทางรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาไทย, 2550 ; 1(2): 9-14
  4. เอนก สุวรรณบัณฑิต. นวัตกรรมการบริหารจัดการความรู้. วารสารชมรมรังสีเทคนิคและพยาบาลเฉพาะทางรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาไทย, 2550; 1(1): 15-9
  5. _________. สิ่งดีๆ ที่หลากหลายสไตล์ KM (Best Practice KM Style). รายงานประจำปี 2549 สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) ISBN 974-973-423-1
  6. _________.รายงานประจำปี KM ประเทศไทย (สคส.) 2548 ISBN 974-93722-9-8
  7. _________.การจัดการความรู้โดยใช้โมเดลปลาทู. http://www.suanprung.go.th/km/tuna.htm
  8. _________.สถาบันส่งเสริมความรู้เพื่อสังคม. http://www.kmi.or.th/
  9. _________.การจัดการความรู้. www.th.wikipedia.org/wiki/การจัดการความรู้
คำสำคัญ (Tags): #intervention#km#สุ จิ ปุ ลิ
หมายเลขบันทึก: 442524เขียนเมื่อ 5 มิถุนายน 2011 16:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 14:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

กรอบคิดง่ายๆ กับกระบวนการจัดการความรู้ ได้แก่

¯ นำใช้ - มีให้ใช้ ¯ สรรหา - ไม่มีให้ใช้ ¯ ถ่ายทอด - มีแล้วส่งต่อให้ทั่วถึง ¯ แบ่งปัน - มีแล้วให้แก่ผู้เกี่ยวข้อง ¯ ถูกต้อง - มีแล้วตรวจสอบให้ถูกยิ่งขึ้น ¯ เหมาะสม -มีแล้วเลือกผู้ที่จำเป็นต้องใช้

ชอบค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท