จิตตปัญญาเวชศึกษา 169: อภิชาตศิษย์ ตอนที่ 8


อภิชาตศิษย์ ตอนที่ 8

ผมกำลังคิดว่าจะต้องลองใคร่ครวญหาคำตอบอะไรบางอย่าง เพราะว่าตั้งแต่ผมเริ่มเขียนบทความ series อภิชาตศิษย์ขึ้นมา ตอนแรกในใจก็มี criteria ลึกๆคาดเดาว่าน่าจะมีอะไรทำนองนี้ที่ไหนบ้าง แต่จะ pattern ที่ผ่านมา ปรากฏว่ากิจกรรมที่กระตุ้นให้เกิดบทความนี้มากที่สุดคือ กิจกรรม Health Promotion Presentation ของนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่สี่ block pre- and post-operative care คือ 6 ใน 8 บทความ (อีกสองบทความมาจาก block Clinical Immersion) ด้วยความหวังว่าถ้าสามารถถอดรหัสที่มาของปรากฏการณ์นี้ได้ บางทีเราอาจจะจัดกิจกรรมทำนองเดียวกันนี้เพิ่มขึ้นอีกสักสองสามเท่า น่าจะดีไม่น้อย

ไม่ใช่ไร ในยุคแห่งความบ้าคลั่ง KPI การวัดจับต้องได้ หรือไล่ล่าหารางวี่รางวัลต่างๆ ผมรู้สึกว่าความสุขเรียบง่ายจากงานประจำมันกำลังสูญหายเจือจางไปเรื่อยๆ ในเกมที่ผู้เล่นมีแค่ดารา 11 คนวิ่งบนสนาม แต่ในความเป็นจริงมีคนเกี่ยวข้องหลายพันคน ความสุขไม่น่าจะถูกจำกัดแค่เพียงนิดเดียวคือตอนปลาย seasons ว่าใครได้ไม่ได้รางวัลอะไร ความสุขน่าจะเกิดขึ้นกับแฟนๆทุกคนที่เกี่ยวข้องในความถี่ที่สูงกว่ารายปี เช่น น่าจะเป็นรายวันแทน

และกิจกรรมอย่าง health promotion presentation ของนักเรียนแพทย์ block ศัลย์อย่างที่ผมกำลังจะ (ต้อง) เล่านี้ อาจจะทำให้ภาพชัดเจนยิ่งขึ้น

กติกาสำหรับกิจกรรมนี้ (สั้นๆ เพื่อไม่ต้องไปเปิดดูบทความเก่า) นักศึกษากองศัลย์จะปฏิบัติงานอยู่กับเรา 10 อาทิตย์ ระหว่างนี้มีแซมของวิสัญญีบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะอยู่กับศัลย์ เราแบ่งนักศึกษาออกเป็น 6 กลุ่ม เพราะตอนนี้มีคนประมาณกว่า 50 คนไปแล้ว แต่ละกลุ่มจะได้รับมอบหมายให้ไปดูแลคนไข้ trauma (อุบัติเหตุ) 1 ราย ที่จะใช้เป็น case study เพื่อมานำเสนอ นักเรียนแพทย์มีเวลาประมาณ 4 อาทิตย์ที่จะไปสัมภาษณ์ ดูแล เขียนรายงาน และนำเสนอในอาทิตย์ที่ 5 เป็นต้นไป (ส่วนใหญ่จะได้มา present อาทิตย์ที่ 7 หรือ 8 ก่อนสอบในอาทิตย์สุดท้าย) และตอบคำถามสามข้อ

  1. ความเจ็บป่วยในครั้งนี้ "กระทบ" ต่อผู้ป่วยอย่างไรบ้าง ในมิติทางสุขภาพแบบองค์รวม
  2. สาเหตุของความเจ็บป่วย
  3. และการ empowerment ผู้ป่วยก่อนกลับบ้าน

เงื่อนไขในการ present ก็คือ present อย่างไรก็ได้ ที่คิดว่าจะ "โดน" ใจคนฟัง และได้ตามเป้าประสงค์ คือ ผู้ป่วยและครอบครัวได้รับการ empowerment กลุ่มไหนจะแสดงละครสด เป็น slide powerpoint หรือ clips ตัดต่อ download ฯลฯ ได้ทั้งนั้น

ผมขอเล่าสองรายพอ (ก็เกินพอ) ขออนุญาตปรับเปลี่ยนชื่อใหม่่ ส่วนรูปนั้นได้ขออนุญาตจากผู้ป่วยแล้วที่นำมาเผยแพร่

รายที่หนึ่ง With Biographical Journey

วิธีนำเสนอ: แสดงสดหน้าชั้น + clips ฉากหลัง + clip

Narrative โดยใช้: รายการ talk show (guest + moderator)

อัชรอยด์ หนุ่มน้อยมุสลิม อารมณ์เด็กแว้น อาศัยอยู่กับคุณพ่อที่เป็นอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน คุณแม่ขายอาหาร และน้องชาย สมัยเด็กอัชรอยด์ก็เหมือนเด็กทั่วๆไป ซิ่ง เล่น เพื่อน ดูเหมือนจะเป็นสิ่งสำคัญที่สุด บ้านอัชรอยด์กระนั้นก็ยังเต็มไปด้วยความรักและใกล้ชิด ระหว่างแม่กับอัชรอยด์ น้องกับอัชรอยด์ แต่กับพ่อ ดูเหมือนจะมีความห่างเหิน "ไม่ลงรอย" กันระหว่างทั้งคู่ การสนทนากับพ่อหรือพูดถึงพ่ออาจจะไม่ใช่หัวข้อที่อัชรอยด์จะยินดีที่สุดเท่าไรนัก

ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ข่าวร้ายดูจะเหมือนข่าวประจำวัน แต่ข่าวธรรมดาเหล่านี้วันหนึ่งก็ไม่ธรรมดา เมื่อวันหนึ่งอัชรอยด์รับโทรศัพท์

"อัชรอยด์ใช่ไหม"

"ใช่ครับ" "ชั้นเสียใจด้วยนะ วันนี้มีระเบิดเกิดขึ้นที่นอกเมือง มีคนบาดเจ็บหลายคน"

"ครับ"

"อัชรอยด์ พ่อของเธอก็โดนด้วย ชั้นเสียใจด้วยนะ อัชรอยด์ พ่อเธอเสีียชีวิตแล้ว"

ในวัยเด็กขนาดนั้น แต่ก็โตพอที่จะรู้เรื่อง อัชรอยด์มึนงงกับการสูญเสีย และสิ่งที่ไม่เคยได้แก้ไขระหว่างเขากับพ่อ ทำให้อัชรอยด์เสียใจมาก ซึมเศร้าลงไปอย่างเห็นได้ชัด วันหนึ่งคุณลุงอัชรอยด์มาหา แล้วพูดกับอัชรอยด์ว่า "อัชรอยด์ เธอต้องทำใจ อดทน และสู้ชีวิตต่อไป ชีวิตของท่านนบี ลำบากกว่าเธอหลายสิบหลายร้อยเท่า แต่ท่านทำให้พวกเราทุกคนเห็นเป็นตัวอย่างว่า เรามีอะไรที่ต้องทำก็ต้องทำต่อไป อย่าให้เสียโอกาส หรืออยู่กับความโศกเศร้าไปเลย"

ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา อัชรอยด์ก็เปลี่ยนไป คำสอนทางศาสนาได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของอัชรอยด์ เขาช่วยแม่ซื้อของมาขาย ช่วยเสริฟของในร้านอาหาร ช่วยเลี้ยงน้อง จนกระทั่งฐานะทางบ้านเริ่มกระเตื้องขึ้นจากการสูญเสียเสาหลักของบ้าน ร้านอาหารของแม่มีลูกค้าประจำ อัชรอยด์จึงตัดสินใจ จะไปสมัครเรียนเป็นครูที่วิทยาลัยราชภัฏ ซึ่งแม่ก็ดีใจมาก ให้กำลังใจอย่างเต็มที่

วันสมัครเรียน อัชรอยด์ลาแม่ก่อนออกจากบ้าน แม่เตือนให้พาหมวกกันน็อคไปด้วยซึ่งอัชรอยด์ก็ทำตามอย่างไม่อิดเอื้อน อัชรอยด์ขี่ีรถเครื่องมาด้วยอารมณ์แจ่มใส และมุ่งมั่น

เอี๊ยดดด!! โครม!!!

รู้ตัวอีกที อัชรอยด์ก็มานอนอยู่บนพื้น เจ็บไปหมดทั้งตัว ข้างตัวรถมอเตอร์ไซด์ของตน กับรถมอเตอร์ไซด์อีกคันล้มขวางอยู่ เกิดอุบัติเหตุ! "นี่เราเป็นอะไร โอย เจ็บ" อัชรอยด์สะลึม สะลือ ขณะที่ผู้ใกล้ชิดเหตุการณ์เริ่มเข้ามามุงดู ในที่สุดก็มีคนพาอัชรอยด์มาส่งที่ รพ.สงขลานครินทร์

อาการบาดเจ็บของอัชรอยด์ไม่มากนัก แต่ก็ต้องอยู่โรงพยาบาลหลายวัน

วันต่อมา ก็มีทีมหมอหนุ่มสาวๆกลุ่มหนึ่งเข้ามาหาอัชรอยด์ แนะนำตัวว่าพวกเขาเป็นนักเรียนแพทย์ชั้นปีที่สี่ที่ได้รับมอบหมายมาดูแลอัชรอยด์ พวกเขายังไม่จบเป็นหมอ ยังต้องอีกสองปี แต่ก็ยินดีที่ได้มาดูแลอัชรอยด์

อัชรอยด์รู้สึกดีมาก และเริ่มสนิทสนมกับกลุ่มนักเรียนแพทย์กลุ่มนี้อย่างรวดเร็ว เมื่อได้รับทราบว่าเรื่องราวของเขาจะถูกนำมาศึกษา อัชรอยด์ก็ดีใจ และให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

อัชรอยด์หนุ่มอารมณ์ดีกับทีมน้องๆนักเรียนแพทย์

อัชรอยด์ได้รับคำแนะนำต่างๆจากน้องๆนักเรียนแพทย์แทบจะทุกวัน และเมื่อถูกถามเพ่ิมเติม ก็ไม่รังเกียจที่จะให้ข้อมูล น้องๆประทับใจในการที่อัชรอยด์นำหลักทางศาสนามาใช้ในการเผชิญหน้าปัญหามาก ทั้งในอดีตที่เจอกับเรื่องที่สูญเสียคุณพ่อไป และในคราวนี้ที่ได้รับอุบัติเหตุ เพราะอัชรอยด์ไม่เคยสูญเสียศรัทธา และความมุ่งมั่นตั้งใจของเขาเลย คำถามแรกๆที่ถามคุณแม่ตอนมาเยี่ยมก็คือ เรื่องการสมัครเรียนต่อที่ราชภัฏจะทำอย่างไรดี คุณแม่ก็ตอบว่าไม่ต้องเป็นห่วง มีน้าช่วยจัดการเรียบร้อยแล้ว ทำให้อัชรอยด์เบาใจ และมีกำลังใจมาก

ไม่เพียงแต่ครอบครัวของอัชรอยด์ที่มาเยี่ยม ปรากฏว่าหนุ่มน้อยของเราก็มีเพื่อนวัยรุ่นเดียวกันมาเยี่ยมมากมาย

น้องๆนศพ.เห็นเป็นโอกาสอันดี ก็เลยจัดกิจกรรมเล็กๆ เรื่องการรณรงค์ใส่หมวกกันน็อคในการขับขี่มอเตอร์ไซด์ แล้วยังแถมเรื่องการเลิกบุหรี่ให้อีกต่างหาก เพราะได้ทราบมาว่าอัชรอยด์สูบบุหรี่

อัชรอยด์และเพื่อนๆเป็น presenter หมวกกันน็อคและงดสูบบุหรี่

นศพ.เอา clips อุบัติเหตุจราจรมาให้อัชรอยด์และเพื่อนๆดูและเรียน

กิจกรรมต่างๆเหล่านี้ น้องๆนักเรียนแพทย์เป็นคนคิด เป็นคนทำเอง ไม่มีใครบอก ไม่มีใครแนะนำ และสิ่งที่เราทุกคนเห็นว่าเกิดขึ้นก็คือมิตรภาพระหว่างกลุ่มคนสองกลุ่ม ที่เริ่มต้นด้วยเหตุการณ์โชคร้ายคืออุบัติเหตุ แต่ต่อมาได้กลายเป็นความสัมพันธ์ที่งดงาม การเล่าเรื่องราวที่มีความหมาย การที่ทั้งสองฝ่ายได้กลายเป็นส่วนหนึ่งที่มีความหมาย เติมเต็มให้กับชีวิตทั้งคู่

  

น้องๆยังจ่ายยาไม่ได้ แต่นำเอา ukulele และหนังสืออ่านเล่นมาเยียวยา

การ presentation ทั้งหมดจบลงใช้เวลาประมาณ 20 นาที เป็น 20 นาทีที่ลื่นไหล ดึงดูดความสนใจของเพื่อนๆทั้งชั้นได้ตลอดเวลา ช่วงที่น้องๆแสดงละครสดหน้าชั้น ก็แสดงด้วยความตั้งใจ มีสมาธิ และเห็นได้ว่า in กับบทบาท คำพูด และความหมายของคำพูดตัวละครต่างๆอย่างลึกซึ้ง ไม่ว่าจะเป็นของตัวอัชรอยด์ ของแม่ ของลุง ของน้อง

น้องๆฝากขอบพระคุณอัชรอยด์ ที่กรุณาอนุญาตนำเอาเรื่องราวของเขามาเรียนมาสอนกัน สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆทั้งหมด คนที่ได้เห็นจะเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ตรง แต่ในฐานะคนฟังเรื่องราว ไม่ได้เห็น ได้ยินเอง ยังรู้สึกภาคภูมิใจ และดีใจที่เห็นน้องๆเติบโต สามารถทำให้คนไข้ เพื่อนๆ และครอบครัวยิ้มอย่างเบิกบานสดใสได้ขนาดนี้ ก็เชื่อแน่ว่าคนที่ได้ไปเต็มๆน่าจะมีความสุขมากกว่าอีกหลายเท่า

มนุษย์เป็นสัตว์สังคม และต้นทุนที่สูงมาจากสิ่งแวดล้อมทุกประการ ขอเพียงนำมาใช้ เราจะมีพลังไม่จำกัด จะสร้างสรรค์หรืออย่างไร ขึ้นอยู่กับตัวเราเอง

ขอบคุณน้องๆนศพ.ทุกคนในกลุ่มนี้ด้วยครับ

หมายเลขบันทึก: 442251เขียนเมื่อ 4 มิถุนายน 2011 01:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

เป็นเรื่องเล่าจากประสบการณ์ของผู้ป่่วยจริงๆใช่ไหมครับท่านอาจารย์... แบบนี้น้องคนที่สองก็น่าสงสารมาเลยนะครับ ชีวิตเป็นเรื่องเกินคาดฝันจริงๆ

เป็นเรื่องจริงทั้งหมดครับ น้องๆทั้งทีมต้องใช้เวลาไปเยี่ยม ไปพูดคุย หลายต่อหลายครั้งมากกว่าจะได้ข้อมูลขนาดที่มา present และยังต้องไปช่วยกันคิด จินตนาการว่าจะนำเสนออย่างไรดี ผม demand ไว้สั้นๆว่า "ไม่ต้องพูดทุกอย่างที่มี แต่ให้ทำให้เพื่อนประทับใจ ง่ายที่สุดก็อาจจะเอาสิ่งที่พวกน้องเองประทับใจนั่นแหละมาเล่าก็พอ"

  • ชอบกิจกรรมแบบนี้จังเลยครับ

กติกาสำหรับกิจกรรมนี้ (สั้นๆ เพื่อไม่ต้องไปเปิดดูบทความเก่า) นักศึกษากองศัลย์จะปฏิบัติงานอยู่กับเรา 10 อาทิตย์ ระหว่างนี้มีแซมของวิสัญญีบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะอยู่กับศัลย์ เราแบ่งนักศึกษาออกเป็น 6 กลุ่ม เพราะตอนนี้มีคนประมาณกว่า 50 คนไปแล้ว แต่ละกลุ่มจะได้รับมอบหมายให้ไปดูแลคนไข้ trauma (อุบัติเหตุ) 1 ราย ที่จะใช้เป็น case study เพื่อมานำเสนอ นักเรียนแพทย์มีเวลาประมาณ 4 อาทิตย์ที่จะไปสัมภาษณ์ ดูแล เขียนรายงาน และนำเสนอในอาทิตย์ที่ 5 เป็นต้นไป (ส่วนใหญ่จะได้มา present อาทิตย์ที่ 7 หรือ 8 ก่อนสอบในอาทิตย์สุดท้าย) และตอบคำถามสามข้อ

  1. ความเจ็บป่วยในครั้งนี้ "กระทบ" ต่อผู้ป่วยอย่างไรบ้าง ในมิติทางสุขภาพแบบองค์รวม
  2. สาเหตุของความเจ็บป่วย
  3. และการ empowerment ผู้ป่วยก่อนกลับบ้าน

  ผมเห็นการดูแลแบบองค์รวม การศึกษาจากสภาพจริงของนักศึกษา นอกจากนี้ยังเห็นความเป็นมนุษย์ด้วยครับ  ขอชื่นชม...

ขอบคุณครับอาจารย์ขจิต กำลังคิดว่า เรื่องการดูแลผู้คน มันมี element ของ commonsense อยู่เยอะ เราสอนนิดสอนหน่อยที่เป็นทฤษฎีสุดท้ายให้เด็กลงไปทำเลย จะได้ผลกว่าเยอะ เพราะมันอยู่ใน gene มนุษย์ แทนที่จะจิตตกท่องจำ CPG, caremap กันอยู่

  • ผมเจอกับน้องกลุ่มนี้บางคนตอนสอน Ethics ปีสาม แววออก
  • หวังว่าเราจะประคองเขาให้เป็นอย่างนี้ได้จนเป็นหมอ

อย่างน้อยที่สุดหลักสูตรเราได้ boost ตอนปีสี่ ห้า และหก ปีละหนึ่งครั้ง (ปีหกอาจจะสอง และบางกลุ่มสามครั้ง) ก็ลุ้นครับ แต่ตอนหลังๆผมว่าเรายิ่งลงทุน early เลยพบว่าน้องเขาต้นทุนเยอะอยู่แล้วก็มี ตอนนี้ชักอยาก invest ลงไปปีต้นๆมากขึ้น

พอดีมีอีก model ที่วลัยลักษณ์ แม่มะให้พวกผมไปทำกิจกรรมน้องปีหนึ่งขึ้นปีสองมาสามรุ่นแล้ว ประสบการณ์ของกระบวนกรดีมากครับ ยิ่งอยากรู้ว่าต่อไปจะเป็นอย่างไร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท