ร้อน เย็น นิ่ง สงบ ... (นิ้วกลม)


คนที่ยึดความคิดเห็นของตัวเองเป็นใหญ่ ครอบครองคำว่า "ถูก" ไว้แต่เพียงผู้เดียว ไม่แบ่งที่เหลือให้คนอื่นถูกบ้าง

 

อยากรู้ว่านิ้วกลมเวลา "อารมณ์ร้อน" สุด ๆ เป็นอย่างไร และสาเหตุที่ทำให้อารมณ์ร้อน + วิธีบำบัดร้อน

อยากรู้ว่านิ้วกลมเวลา "อารมณ์เย็น" สุด ๆ เป็นอย่างไร และอะไรคือตัวช่วยดีสุดที่ทำให้อารมณ์เย็นเป็นน้ำแข็งได้

อยากรู้ความหมายของคำว่า "ใจเย็น" กับ "นิ่งสงบ" ของนิ้วกลมว่าแตกต่างกันอย่างไร

ป.ล. เอ๊ะ ! แล้วคนไทยส่วนใหญ่ตอนนี้ควรเลือก "ลดระดับ/เพิ่มระดับ" สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นอย่างไรดี

ป.ล. (อีกครั้งหนึ่ง) จะไม่ตอบคำถามใน ป.ล.แรกก็ได้นะ

ป.ล. สุดท้าย ชอบทัศนคติและมุมมองในการตอบของนิ้วกลมมาก ๆ (อันนี้ชมอย่างเดียว ไม่ต้องตอบจ๊ะ)

Aoy

  

 

ไม่ได้อารมณ์ร้อนมานานมากแล้วครับ ถ้าจะมีสาเหตุที่ทำให้อารมณ์ร้อนก็คือ คนใจแคบครับ คนที่ยึดความคิดเห็นของตัวเองเป็นใหญ่ ครอบครองคำว่า "ถูก" ไว้แต่เพียงผู้เดียว ไม่แบ่งที่เหลือให้คนอื่นถูกบ้าง

วิธีบำบัดร้อน คือ ทำใจกว้างสู้เสือ ยิ่งเสือดุก็ยิ่งต้องขยายพื้นที่ให้เสือวิ่งเยอะ ๆ เสือจะได้ไล่กัดเราไม่ได้ ไล่ไปเรื่อย ๆ เสือก็จะเหนื่อยเอง

ผมว่า "อารมณ์" บางครั้งก็เหมือนกับ "อากาศ" เราต้องเตรียมเสื้อผ้าไว้ให้เหมาะกับ "ฤดูที่แตกต่าง" ในเมื่อเรามีเครื่องแต่งกายต่างไปตามฤดู เราก็น่าจะมีเครื่องแต่งใจเตรียมไว้สำหรับหลายฤดูเช่นกัน

 

เราปรับอุณหภูมิภายนอกให้หนาวน้อยลงหรือร้อนน้อยลงก็ไม่ได้ แต่เราปรับเปลี่ยนเครื่องแต่งกายของเราให้เข้ากับอากาศ ณ ช่วงเวลานั้นได้ หนาวไปก็ใส่เนื้อหนา ร้อนไปก็ใส่เสื้อบาง

การเปลี่ยนเครื่องแต่งกายคือความสามารถพิเศษที่มนุษย์มี นั่นคือ การปรับตัวตามสภาพแวดล้อม และนั่นทำให้เราอยู่รอดปลอดภัย ไม่ว่าโลกภายนอกจะหนาวร้อนแค่ไหน แต่อุณหภูมิร่างกายก็ยังอบอุ่นเสมอ

เครื่องแต่งใจก็คล้ายกัน การปรับเปลี่ยน "ชุด" ของใจไปตามสถานการณ์เป็นวิธีการคิดถึงสิ่งที่มากระทบมากกว่าตัวเอง ไม่ยึดติดกับความเป็นตัวของตัวเองมากเกินไป หาอะไรมาป้องกันและปรับใจไปตามสิ่งที่เข้ามากระทบ เวลาต้องพบสถานการณ์หรือผู้คนที่ร้อน - หนาว คาดเดาไม่ได้ ถึงกระนั้นก็ไม่เสียตัวตนไปเหมือนที่เราใส่เสื้อกันหนาวหลายชั้น แต่ข้างในก็ยังเป็นคนเดิม

 

"อารมณ์" ดูเหมือนจะแปรปรวนยิ่งกว่า "อากาศ" ด้วยซ้ำ หากมี "ชุดความคิด" ไว้เยอะ ๆ ก็น่าจะปรับความคิดให้เข้าใจสภาพอากาศที่หลากหลายได้ดีขึ้น เปลี่ยนชุดตาม "ข้างนอก" เพื่อรักษาอุณหภูมิกำลังสบายของ "ข้างใน"

ผมว่าคนที่พยายามเข้าใจคนอื่นอยู่เสมอ น่าจะมีอุณหภูมิภายในใจในระดับ "กำลังดี"

"ใจเย็น" กับ "นิ่งสงบ" จะว่าไปมันก็เป็นแค่คำ คงแล้วแต่ใครจะตีความมั้งครับ แต่ถ้าจะให้ลองตีความเล่น ๆ ผมว่าใจเย็นเกินไปก็ไม่ดี เพราะบางทีก็ทำให้ "หนาว" อย่างเวลามีงานต้องทำ แต่ดันใจเย็นไม่ยอมทำ พอถึงกำหนดส่งก็หนาวสันหลังกันไป

 

"นิ่งสงบ" ดูจะเข้ากันได้กับการปรับอุณหภูมิภายในใจ ภาวะนิ่ง + สงบ เป็นภาวะที่เกิดขึ้นตอนอุณหภูมิภายในกำลังดี เมื่อมันกำลังดีเราจะไม่อยากหนีไปไหน อยู่ตรงนั้นตอนนั้นได้อย่างสบาย ๆ ก็เหมือนกันกับอากาศละมั้งครับ เวลาร้อนไป เราก็อยากหลบเข้าห้องแอร์ หนาวเกินไปก็อยากวิ่งเข้าหาห้องที่เปิดฮีตเตอร์อุ่น ๆ แต่ถ้าเรารู้สึกกำลังดี เราจะไม่อยากหนีไปไหน อยากอยู่ตรงนั้นนิ่ง ๆ สงบ ๆ นาน ๆ ซึ่งบางทีเราอาจจะเรียกภาวะนั้นได้ว่า "ความพอใจ"

ผมว่าคนไทยมีความสามารถด้านการปรับอุณหภูมิใจไม่แพ้ชาติใดในโลก ไม่ว่าสถานการณ์ภายนอกจะเป็นอย่างไร เราก็ปรับใจให้สนุกได้เสมอ ณ ตอนนี้ก็เห็นมีคนร้อนกันอยู่ไม่กี่คน แถมยังพยายามชวนให้คนอื่นร้อนตาม คนร้อนนี่ยิ่งอยู่ในห้องแคบ ๆ ก็ยิ่งร้อน ถึงอากาศข้างนอกจะหนาว เขาก็ยังร้อนอยู่ดี เพราะเขาไม่มีเครื่องแต่งใจเหลือเผื่อใส่ในอุณหภูมิอื่น คนที่มีเสื้อผ้าใส่ชุดเดียว พออากาศเปลี่ยนก็อาจจะเพี้ยนเอาได้

 

ได้ข่าวว่าบ้านเราอากาศกำลังเย็นสบาย ขอให้ใจสงบครับผม

 

นิ้วกลม

 

 

 

ขอบคุณหนังสือดี ๆ

นิ้วกลม.  ปอกกล้วยในมหาสมุทร.  พิมพ์ครั้งที่ 6.  กรุงเทพฯ : แพรวสำนักพิมพ์, 2554.

 

หมายเลขบันทึก: 442179เขียนเมื่อ 3 มิถุนายน 2011 18:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:45 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • อารมณ์เหมือนกับอากาศจริง ๆ ด้วยค่ะ วันนี้แปรปรวนทั้งวัน

อ่านด้วยใจสงบเย็น

ได้ความสุขุมดีจัง

ในเมืองเชียงใหม่ฝนตกแล้ว แต่ที่บ้าน (นอก) ไม่ตกเลยครับ ท่านอาจารย์นพลักษณ์ ๙ Sila Phu-Chaya ;)...

ขอบคุณนะครับ ;)...

ขอบคุณครับ ท่านอาจารย์ โสภณ เปียสนิท ที่แวะมาเยี่ยมบันทึกนี้ครับ ;)...

ผมเริ่มเชื่อแล้วครับว่า...หนังสือ คือ "ใครก็ไม่รู้ แวะมาเล่าให้ฟัง แล้วก็ไป โดยไม่ต้องการคำขอบคุณ" ... แต่ผมเป็นคนมีเลือดเนื้อและจิตใจครับ แม้ไม่ต้องการผมก็จะกล่าวว่า "ขอบคุณ" คนแรกคือคุณนิ้วกลมที่เขียนเรื่องราวที่นำเสนอแง่คิดด้านบวกให้ได้อ่านได้คิดตามกันอยู่เสมอ และคนต่อมาก็คือท่านอาจารย์ที่นำบันทึกดีๆมาแบ่งปัน ได้แนวคิดและวิธีการ"ปรับอุณหภูมิภายใน"เยอะเลยทีเดียวครับผม ... ขอบคุณครับ

ยินดีและขอบคุณมากครับ ท่านอาจารย์ หนานวัฒน์ ;)...

ถือว่า ท่านอาจารย์เป็นคนช่างสังเกตคนหนึ่งครับ

ที่ได้มองเห็น "คำอธิบาย" ของบล็อกนี้ สมุดเล่มนี้

นั่นเป็นความรู้สึกเบื้องต้นของการสร้างสมุดเล่มนี้เอาไว้ครับ ;)...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท