น้องน้ำ: The Daughter from Australia


ในวงการ palliative care มีคำเฉพาะคำหนึ่ง คือ The Daughter from California ถ้าแปลเป็นแนวไทยๆ ก็อาจจะเทียบได้กับ ลูกที่กลับมาจากกรุงเทพฯ (เวลาพูด ควรใส่สำเนียงท้องถิ่นหน่อยๆ จะได้อารมณ์มาก)

คำนี้ เราใช้เรียกคนในครอบครัวคนไข้ระยะสุดท้าย อาจเป็นลูกชาย ลูกสาวหรือญาติสนิทที่ไม่ได้อยู่ดูแลคนไข้อย่างใกล้ชิดมาก่อน เมื่อเดินทางมาเยี่ยมหรือ..ดูใจ..คนไข้ในช่วงสุดท้าย ก็จะมีความคิดเห็น ความต้องการแตกต่างจากลูกๆหรือญาติคนอื่น ทั้งนี้เป็นเพราะ ส่วนใหญ่คนกลุ่มนี้จะเป็นคนที่มีฐานะ การศึกษาดีกว่า แตกต่างจากคนอื่น แต่เนื่องจากไม่ได้อยู่ดูแลคนไข้มาก่อน จึงอาจรู้สึกว่าตนเองยัง'ดูแล'ผู้ที่กำลังจะจากไปไม่พอ และต้องการให้'ทำโน่นทำนี่'ต่อไป ทั้งๆที่ตัวคนไข้และญาติคนอื่นบอกว่าพอแล้ว

คนกลุ่มนี้จะมีโอกาสขัดแย้งกับญาติพี่น้องคนอื่น รวมถึงบุคลากรสุขภาพที่ดูแลคนไข้ด้วย หลายครั้งก็เป็นคนที่สร้างความเจ็บปวดให้กับญาติที่เป็นคนดูแลหลักซึ่ง ตรากตรำมาตลอด ด้วยคำพูดชนิด "ดูแม่ยังไง ปล่อยให้ผอมแบบนี้ ..เงินที่ส่งมาให้ ไม่พอรึไง" หรือเป็นคนที่พลิกสถานการณ์ทุกอย่างชนิดหน้ามือเป็นหลังเท้า จากความตายอย่างสงบเป็นทำทุกอย่างที่เทคโนโลยีทางการแพทย์มี เพราะจะพูดไปแล้ว คนกลุ่มนี้จะเป็นคนที่มี'อำนาจทางสังคมหรือในครอบครัว'สูง

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะวาดภาพว่า คนกลุ่มนี้เป็นเสมือนตัวร้าย พาลคิดไปถึงนางอิจฉาในละครหลังข่าว แต่ประเด็นที่ผมอยากจะนำเสนอในบันทึกนี้ คือ คนกลุ่มนี้เป็นคนที่เราต้องเยียวยาด้วยเช่นกัน และถ้าเราช่วยเขาได้ ก็หมายถึง ช่วยคนไข้ได้ด้วย


คนไข้ระยะสุดท้ายของผมคนหนึ่งเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยในวัยใกล้เกษียณ ซึ่งผมขอใช้คำว่า 'อาจารย์' แทน 'คนไข้' ในบันทึกนี้ อาจารย์ได้แสดงเจตจำนงอย่างชัดเจนว่า ไม่ขอใส่ท่อช่วยหายใจหรือปั๊มหัวใจ เมื่อถึงภาวะวิกฤต รวมถึงการให้ยาละลายลิ่มเลือดเพื่อรักษาอาการขาบวมจากลิ่มเลือดอุดตันที่เป็นอยู่ อาจารย์แสดงเจตนานี้ด้วยวาจา ทุกคนในครอบครัว บุคลากรสุขภาพที่ดูแลทุกคนรู้เรื่องนี้ดี

แต่น้องน้ำ..ลูกสาวของอาจารย์ ซึ่งมีครอบครัวอยู่ที่ออสเตรเลีย ได้เดินทางกลับมาเยี่ยม กลับมีความเห็นแตกต่าง อยากให้ทำ

ความคิดเห็นที่แตกต่างนี้ไม่ได้รุนแรงอะไร เพราะทุกคนปรึกษากันด้วยเหตุและผล รับฟังซึ่งกันและกัน แต่ก็นำไปสู่การกลับไปเริ่มให้ยาละลายลิ่มเลือดให้อาจารย์ใหม่ จนกระทั่งอาจารย์ต้องแสดงเจตนาของตนเองย้ำอีกครั้งอย่างหนักแน่น คราวนี้เป็นลายลักษณ์อักษร ที่เขียนด้วยลายมือของตนเองอย่างกระท่อนกระแท่น ทำให้เราหยุดดำเนินการรักษาส่วนนั้นตามความประสงค์ของอาจารย์จริงๆ

ผมรับรู้ปมขัดแย้งเล็กๆนี้ จึงขึ้นไปคุยกับอาจารย์ แล้วบอกว่า เราคงจะดำเนินการทุกอย่างตามที่อาจารย์บอก แต่ก็อยากรู้ว่าน้องน้ำรู้สึกอย่างไรด้วย จึงขออนุญาตอาจารย์ออกมาคุยกับน้องน้ำ ซึ่งกำลังดูแลหลานสาวตัวน้อยๆน่ารักคนหนึ่งอยู่นอกห้อง อาจารย์บอกว่า "ขอให้มาคุยกันข้างใน" ซึ่งหมายถึง ขอให้มาคุยกันต่อหน้าตัวอาจารย์เอง

พี่สาวของอาจารย์ซึ่งเป็นคนดูแลหลักมาตลอด จึงต้องรับหน้าที่ออกไปสลับดูหลานนอกห้องแทน เพื่อให้น้องน้ำได้มาคุยกับผมและคุณแม่

"หนูรู้สึกว่า หนูยังไม่ได้ทำอะไรให้คุณแม่เลย" น้องน้ำพูดประโยคนี้

ผมขอให้น้องเขาอธิบายเพิ่มเติม..หมายความว่าอย่างไร

"หนูกลับมาเยี่ยมคุณแม่ แต่ก็ต้องมัวแต่ดูแลลูกตัวเอง ภาระดูแลแม่ก็ตกอยู่กับป้า"

ผมถามถึง สิ่งที่น้องน้ำอยากจะ"ทำ"

น้องเขาตอบว่า "อยากให้รักษาให้เต็มที่ อย่างน้อยก็ให้คุณแม่มีชีวิตอยู่ได้นานขึ้น .."  "..แต่เมื่อทำแล้ว คุณแม่เจ็บ หนูก็เลยยอมให้เลิกทำ" น้องน้ำพูดมาถึงจุดนั้น

"น้องเลยรู้สึกว่า ยังทำอะไรให้คุณแม่ไม่พอ" ผมสะท้อน แล้วเริ่มออกความเห็นบ้าง "การที่น้องทิ้งครอบครัวที่ออสเตรเลียกลับมาหาคุณแม่ เอาหลานที่น่ารักมาให้คุณแม่ได้เห็นหน้าทุกวัน ผมคิดว่าก็เป็นสิ่งที่น่าชื่นชม" ผมพูดจากใจ เพาะผมรู้สึกว่า น้องน้ำก็ได้ทำสิ่งที่ดีที่สุดในฐานะลูกคนหนึ่งแล้วเช่นกัน

ผมบอกน้องน้ำว่า "ถ้ายังมีอะไรที่อยากทำ อยากบอกคุณแม่ ตอนนี้ก็ยังทำได้" เพื่อ ทิ้งประเด็นให้น้องเขาได้คิดต่อ แล้วผมก็หันไป 'ขอบคุณ' อาจารย์ ซึ่งสลืมสลือหลับเป็นพักๆตลอดการสนทนาของเรา เป็นตัวอย่างอีกครั้ง ก่อนออกจากห้อง


ก่อนหน้าที่น้องน้ำจะเข้ามาในห้อง ผมพูดกับอาจารย์ว่า "อาจารย์ครับ ผมอยากจะขอบคุณอาจารย์ที่สอนผมด้วย"

อาจารย์แย้งว่า "ไม่ได้สอน สอนอะไร"

ผมตอบว่า "สอนการใช้ชีวิตให้กับผม เป็นตัวอย่างเรื่องความเข้มแข็ง การดูแลครอบครัวอย่างดีให้พวกเราทุกคนให้เห็น"


ครับ น้องน้ำคนนี้ เป็นลูกสาวจากแดนไกล The Daughter from Australia ไม่ใช่ California เป็นคนที่มีความเห็นแตกต่างจากคนไข้และญาติคนอื่น แต่ก็ยอมตาม แล้วตนเองก็รู้สึกผิดอยู่ลึกๆ ความรู้สึกที่ต้องมีคนรับรู้และเยียวยา เช่นกัน

หมายเลขบันทึก: 441982เขียนเมื่อ 2 มิถุนายน 2011 20:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

เราเจออยู่เนืองๆนะครับ และสำนวนนี้ก็เริ่ม catch ติดปาก และเข้าใจตรงกัน

เลยนึกขึ้นมาได้ว่า "เราไม่ค่อยได้คุยกันต่อว่าเราควรจะทำอย่างไรต่อไปสำหรับสถานการณ์เช่นนี้" และอาจจะนำไปสู่ "กับดัก" เช่นเดียวกับหลายๆกิจกรรมที่คนมักเข้าใจว่าถ้าทำ palliative care แล้ว จะต้องมี preference แบบนี้ อาทิ การ no-tube, no-CPR การกลับไปตายที่บ้าน

ประเดี๋ยวใครเจอ daughter from California หรือ กทม. New York อะไรก็แล้วแต่ อาจจะเริ่มอุทานในใจ "อา... ตูเจอแล้ว นังตัวร้ายของ palliative care"

หลักการคงจะเหมือนกับดักอื่นๆ ก็คือ เราต้องเลิกใช้ preferences ของเรา (ที่เราเชื่อว่าดี ที่เราเชื่อว่าอย่างนี้ใช่เลย) แต่ทำหน้าที่ของเราคือ "เยียวยาผู้คน"

และตรงนี้จะท้าทาย เพราะอะไรที่เราทำไปแล้วตรงกับ idea ของเรามันจะง่าย ต้องฝืนทำเพราะมันตรงกับข้ามกับเรานี่แหละ...

จึงจะทราบว่าเรา empathy และเรา respect คนอื่นจริงหรือไม่จริง

เข้าใจทั้งสองฝ่ายนะครับ เป็นตัวอย่างที่ทำให้เราไม่ประมาท ต้องทำตัวเหมือนทุกวันเป็นวันสุดท้าย อยากพูด อยากทำอะไรให้คนที่เรารัก ก็ต้องลงมือวันนี้เลย... ถึงจะเป็นลูกที่มาจากเมืองใหญ่ แต่อย่างน้อยผมว่าพวกเขาก็มาด้วยใจนะครับ

ที่คุณหนานวัฒน์พูดมาเนี่ยสำคัญมากที่สุดเลย

อย่าพึ่งรีบไปดูที่ action ปลายว่าเขาอยาก/ไม่อยากให้เราทำ "อะไร" แต่ให้ explore ว่า "ทำไม หรือ เพื่ออะไร" เป็นสิ่งแรกที่เราจะได้ tune in 

ข้อสำคัญคือ เราจะได้ "ฟังเพิ่ม" เข้าใจเขามากขึ้น ทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าใจกันและกันมากขึ้น เข้าใจความปราถนา เข้าใจข้อจำกัด เข้าใจในความทุกข์ ความสุข และความหมายของชีวิตกันและกัน

แผนที่ออกมาก็น่าจะสวยงามอย่างที่ทุกๆคนมีส่วนช่วยกันวาด ความเห็นทุกคนถูกรับฟัง

ขอบคุณสำหรับบทความดีๆ เข้าใจตั้งชื่อเรื่อง ได้เรียนรู้จากคนไข้เสมอๆเลยนะครับ การเคารพในตัวคนไข้และเอาคนไข้เป็นศูนย์กลางนี่สำคัญจริงๆ

Ico48

  • ระยะหลังมานี่ ผมตามกลไกการรับฟังของตัวเองได้ดีขึ้น จากคำสอนของสกล เรื่อง ถ่วงความคิด แต่มันก็ยังหลุดอยู่เรื่อยๆ โดยเฉพาะ ถ้าเรื่องตรงหน้ามัน กระทบ อารมณ์ของเราแบบเนียนๆ เราไม่รู้ตัวจนถูกมันเล่นงานซะแล้ว
  • เนียนยังไง ตอนคุยกับน้องน้ำ ผมรู้สึก สงสาร น้องเขาจับใจ เลยรู้สึกอยากจะพูดปลอบใจอะไรเขาบ้าง อยากให้เขารู้สึกดี แล้วความสามารถในการฟังของเราก็ลดลง

Ico48

  • ในช่วงเวลาอย่างนี้ ผมจะคิดถึง ผ้าอนามัย ครับ ซึมซับทุกหยด ไม่ว่จะดีหรือร้าย
  • แต่ก็ต้องหาทางระบายมันออกจากตัวบ้าง มันชุ่มก็ต้องเปลี่ยนนะครับ

Ico48

  • ต้องถามอาจารย์สอนอังกฤษนะครับ มีศัพท์เด็ดๆเกี่ยวกับเรื่องนี้บ้างมั้ยครับ

หาคำศัพท์ไม่ถูกเลย เล่นบอกว่า ผ้าอนามัย 555

เข้าใจว่า น้องน้ำคงรู้สึกผิดที่ไม่มีเวลาดูแลผู้มีพระคุณ คือ คุณแม่

ถ้ายืดชีวิตแม่...ออกไปอีก น้องน้ำจะมีเวลาดูแลแม่ ไม่มากก็น้อย

อาจจะทำให้.... น้องน้ำรู้สึกดีขึ้น

ก็จะคลายปมที่อยู่ในใจน้องน้ำได้บ้างค่ะ

ส่วนใหญ่ตอนนี้ผมอยู่แค่ระดับ "ทันว่ารู้สึกอะไร" เท่านั้น ยังไม่ได้ระดับชะลอเหมือนกัน เหมือนสับปะหงก สะดุ้งผงกหัวขึ้นเป็นระยะๆ พอเผลอก็โงกลงไปอีก แต่ก็สะดุ้งบ่อยขึ้นเรื่อยๆครับ เป็นอะไรที่ต้องฝึกมากๆจริงๆ

ได้ข้อคิดดีมากเลยคะ..จากผู้อาจเป็น daughter from california คนถัดไป..

Ico48

  • พี่แก้วชี้ประเด็นสำคัญของบรรดาคุณ Daughter from California เลยครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท