ผ้าไหมยกดอกลำพูน ... หนึ่งในคุณค่าผ้าไหมไทย


ผ้าไหมยกดอกลำพูน

วิโรจน์  แก้วเรือง

(ตอนที่ 2)

การส่งเสริมและพัฒนาผ้าไหมยกดอกลำพูน

ผ้าไหมยกดอกลำพูนเป็นผ้าไหมที่ได้รับการยอมรับว่ามีเอกลักษณ์ มีความเก่าแก่ มีชื่อเสียงในการผลิตมาช้านาน อย่างไรก็ตามการผลิตเพื่อการแข่งขันในตลาดผ้าไหม ผ้าไหมยกดอกลำพูนยังมีจุดอ่อน ที่ต้องปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้ได้มีโอกาสของสินค้า ซึ่งมีความจำเป็นที่ต้องได้รับการส่งเสริมและพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการพัฒนาให้เป็นสินค้าที่มีลักษณะพิเศษ ด้วยการพัฒนาเป็นสินค้า GIs หรือสินค้าที่แสดงถึงสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์

สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ คืออะไร?

      1)  ความหมายและความเป็นมา

                   สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications : GIs) หมายถึง ชื่อ สัญลักษณ์ หรือสิ่งอื่นใดที่ใช้เรียกแทนแหล่งภูมิศาสตร์และสามารถบ่งบอกว่าเป็นสินค้าที่เกิดจากแหล่งภูมิศาสตร์นั้น เป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ชื่อเสียง หรือคุณลักษณะเฉพาะของแหล่งภูมิศาสตร์ดังกล่าว  จึงเป็นสินค้าที่เกิดจากความเชื่อมโยงระหว่างธรรมชาติและมนุษย์ กล่าวคือ ชุมชนได้ใช้ลักษณะเฉพาะที่มีอยู่ในแหล่งภูมิศาสตร์ตามธรรมชาติ เช่น ดินฟ้าอากาศ วัตถุดิบเฉพาะพื้นที่ มาผลิตสินค้าในท้องถิ่นตลอดจนใช้ทักษะ ความชำนาญ และภูมิปัญญา  ผลิตสินค้าที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะท้องถิ่น  ซึ่งเป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่ง ต้องได้รับการคุ้มครองชื่อเสียงและคุณภาพสินค้า ไม่ให้ถูกแอบอ้าง ลอกเลียนแบบ หรือทำให้เกิดการเข้าใจผิดในแหล่งที่มาได้

                   สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เป็นชื่อขอบเขตหรือท้องถิ่น และเป็นสิ่งบ่งบอกว่าผลิตภัณฑ์มาจากท้องถิ่นนั้น และมีความเชื่อมโยงกับวิธีการผลิตแบบดั้งเดิม จึงไม่สามารถสร้างขึ้นมาได้  แต่เป็นสิ่งที่ให้การยอมรับได้ เป็นสิ่งยืนยันคุณค่าของผลิตภัณฑ์ที่มีมาแต่เดิมแล้ว ซึ่งสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ไม่เหมือนกับแหล่งกำเนิดสินค้า เนื่องจากแหล่งกำเนิดสินค้าไม่บ่งชี้ว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างแหล่งกำเนิดกับลักษณะเฉพาะของสินค้าดังกล่าว

                   สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์สามารถแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะคือ สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์โดยตรง (Direct Geographical  Indication) เป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับสินค้านั้นโดยตรง เช่น ไชยา เพชรบูรณ์ ดอยตุง ชัยนาท เป็นต้น และสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์โดยอ้อม (Indirect Geographical  Indication) เป็นชื่อสัญลักษณ์ ซึ่งบ่งบอกแหล่งภูมิศาสตร์ ที่เป็นแหล่งกำเนิดของสินค้า เช่น สัญลักษณ์ประจำอำเภอ จังหวัด เป็นต้น

                   การคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ในทวีปยุโรป มีมาเป็นเวลานานแล้ว และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีกฎหมายคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์โดยตรง ซึ่งมีความเข้มงวดมากกว่า  ข้อตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า (Trade-Related Aspects of Intellectual Property Rights : TRIPs) หรือที่เรียกว่า "TRIPs Plus" ที่กำหนดโดยองค์การการค้าโลก (World Trade Organization : WTO)  และประเทศต่างๆ ในยุโรป ลักษณะการคุ้มครองเป็นระบบเดียว คือ จดทะเบียนแห่งเดียวแต่ได้รับการคุ้มครองทั้ง 25 ประเทศสมาชิก 

ในภูมิภาคเอเชีย มีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ บางประเทศมีกฎหมายคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์โดยเฉพาะ ได้แก่ ประเทศไทย กัมพูชา แต่บางประเทศมีการคุ้มครองโดยเครื่องหมายการค้า (Trade Mark) ได้แก่ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน อินโดนีเซีย เป็นต้น และบางประเทศมีทั้งสองแบบ ได้แก่ ประเทศเวียดนาม

ข้อแตกต่างที่เห็นได้ชัดระหว่างสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของเอเชียและยุโรป คือ การรวมตัวกันของผู้ผลิต (Producer) โดยยุโรปมีการรวมตัวของผู้ผลิตที่เหนียวแน่นและเข้มงวด จึงทำให้สินค้า GIs สามารถรักษาระดับมาตรฐานและคุณลักษณะเด่นเฉพาะไว้ได้อย่างดี ในขณะที่ประเทศในเอเชีย ยังไม่สามารถทำได้ จึงมีส่วนทำให้ศักยภาพของสินค้าลดลง อาจเป็นเพราะในยุโรปมีระยะเวลาในการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องและยาวนานกว่า อย่างไรก็ตาม ระบบการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่เข้มแข็งจะต้องมีหลักการที่ดีในการกำหนด คุณลักษณะ (Specification) และการวางแผนควบคุม (Control plan) ของสินค้า GIs นั้น ๆ

ประเทศไทย มีนโยบายให้ความคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพของสินค้าที่ผลิตในท้องถิ่น ทำให้ผู้ผลิตมีความต้องการเสริมสร้างและรักษาภาพพจน์สินค้าของตน ทั้งยังป้องกันการแอบอ้างหรือเกิดการหลงผิดใน

       แหล่งผลิตของสินค้า ซึ่งนโยบายนี้เป็นการปฏิบัติตามพันธกรณีความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า ขององค์การการค้าโลก ซึ่งประเทศไทยมีพระราชบัญญัติคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ.2546 และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้เมื่อ 28 เมษายน พ.ศ. 2546 ดังนั้นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ จึงมีกฎเกณฑ์และกฎหมายรองรับ ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาเป็นผู้ดำเนินการ

      ผู้เป็นเจ้าของสินค้าที่ได้รับการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ไม่ใช่บุคคลหนึ่งบุคคลใดแต่เป็นกลุ่มชุมชนที่เป็นผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์นั้นๆ ผู้ผลิตจึงเป็นผู้อาศัยอยู่ในสถานที่หรือแหล่งภูมิศาสตร์ที่ผลิตสินค้านั้นเท่านั้น ผู้ผลิตคนอื่นที่อยู่นอกแหล่งภูมิศาสตร์จะไม่สามารถผลิตสินค้าโดยใช้ชื่อแหล่งภูมิศาสตร์เดียวกันมาแข่งขันได้ สิทธิในลักษณะดังกล่าวนี้นักวิชาการบางท่านเรียกว่า “สิทธิชุมชน” ซึ่งไม่สามารถนำสิทธิที่ได้รับไปอนุญาตให้บุคคลอื่นใช้ต่อได้ ผู้ที่อยู่ในพื้นที่แหล่งภูมิศาสตร์เท่านั้นที่มีสิทธิใช้

 2)  ประโยชน์ที่ได้รับ

      ประโยชน์ของสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่ปรากฏให้เห็นทั้งในยุโรปและเอเชีย ได้แก่

       (1)  เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งอยู่บนแนวคิดที่ว่า ผู้บริโภคควรจะได้บริโภคสินค้าหรือบริการที่มีมาตรฐานและปลอดภัยตามที่ต้องการ การทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อว่าสินค้านั้นมาจากที่อื่นย่อมเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะนอกจากจะทำให้ผู้บริโภคไม่ได้รับสินค้าตามที่ตนต้องการจากฉลากหรือชื่อที่ใช้แล้ว ยังอาจจะส่งผลกระทบไปยังสุขอนามัยและความปลอดภัยของประชาชนโดยรวม ในแง่ที่ว่าสินค้านั้นอาจจะไม่มีมาตรฐานอย่างที่ควรจะเป็น

   (2)  เพื่อคุ้มครองผู้ผลิตและป้องกันการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ในระบบเศรษฐกิจเสรีทุนนิยมนี้ ถือเป็นภารกิจสำคัญของรัฐที่จะต้องส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าอย่างเป็นธรรม เพื่อให้กลไกตลาดดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ประกอบการค้าจะต้องไม่ถูกเอาเปรียบจากผู้ค้ารายอื่นอย่างไม่เป็นธรรม กล่าวคือ ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องไม่ฉกฉวยหรือนำเอาชื่อเสียงของคู่แข่งขันทางการค้าไปแอบอ้างโดยทุจริต การอ้างแหล่งผลิตสินค้าโดยมิชอบ เพื่อแสวงประโยชน์จากชื่อเสียงของชุมชนอื่นๆ ที่ผลิตสินค้าชนิดเดียวกัน ย่อมถือเป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรม

    (3)  เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าให้ผู้ผลิต และเป็นเครื่องมือทางการตลาด เพื่อสื่อให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้ผลิตขึ้นในประเทศใดประเทศหนึ่งหรือท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่ง โดยการระบุชื่อประเทศหรือท้องถิ่นดังกล่าวจะต้องทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าสินค้าหรือผลิตภัณฑ์นั้นมีลักษณะพิเศษ ต่างไปจากสินค้าจำพวกเดียวกันที่ผลิตขึ้นจากแหล่งอื่น การระบุเช่นนี้จะมีผลทำให้สินค้าหรือผลิตภัณฑ์นั้นมีราคาสูงขึ้นหรือจำหน่ายได้มากขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นว่าจะได้รับสินค้าดีมีคุณภาพตามที่ต้องการจากแหล่งผลิตที่ขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์แล้ว เช่น ไข่เค็มไชยา มีดอรัญญิก ส้มโอนครชัยศรี มะขามหวานเพชรบูรณ์ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ไวน์บอร์โด ( Bordeaux Wine ) วิสกี้ไอริช( Irish Whisky ) หรือแชมเปญ ( Champaign ) ของฝรั่งเศส เป็นต้น

     นอกจากนี้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือทางการตลาดที่ช่วยในการประชาสัมพันธ์สินค้านั้นให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในนามของกลุ่มผู้ผลิต ซึ่งจะช่วยลดภาระในการประชาสัมพันธ์สินค้าของผู้ผลิตแต่ละรายลงได้ ทั้งนี้เพราะการใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ในทางการตลาดเป็นที่แพร่หลายอยู่แล้วในหลายประเทศ การเพิ่มเครื่องมือทางการตลาดตัวนี้ให้แก่คนไทย เป็นการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในระดับโลกไปในตัว

(4)   เพื่อให้มีการดูแลรักษามาตรฐานของสินค้า สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ มีลักษณะเหมือนเป็นเครื่องหมายรับรองคุณภาพและแหล่งที่มาของสินค้า เนื่องจาก เงื่อนไขของการขอรับความคุ้มครองในสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ผู้ขอจะต้องแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่และตัวสินค้า ไม่ว่าในแง่คุณภาพ ชื่อเสียงหรือคุณลักษณะใดๆ เช่น วิธีการผลิต วัตถุดิบที่ใช้ ฯลฯ ซึ่งส่งผลถึงคุณภาพเฉพาะของสินค้าจากแหล่งนั้น กลุ่มผู้ผลิตจึงต้องมีส่วนอย่างมากในการช่วยกันรักษาคุณภาพ หรือชื่อเสียงนั้นๆไว้ มิฉะนั้นอาจเข้าเหตุระงับการใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ได้

(5)   เพื่อช่วยกระจายรายได้สู่ชนบท และส่งเสริมอุตสาหกรรม เนื่องจากสินค้าที่ขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ได้นั้น โดยมากจะเป็นสินค้าเกษตรเพราะปัจจัยในด้านสภาพดินฟ้าอากาศ หรือสภาพพื้นที่จะส่งผลอย่างมากต่อคุณภาพของสินค้า ซึ่งนำไปสู่ชื่อเสียงของสินค้านั้นๆ การคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์จึงเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่นโดยตรง โดยเป็นการดึงเอาชื่อเสียงที่มีการสั่งสมมานานดังกล่าว มาใช้ประโยชน์ในทางเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้า และความสามารถในการแข่งขันทั้งในระดับประเทศและระดับสากล ซึ่งสอดคล้องตามนโยบายของรัฐบาล

(6)   เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน และรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่น ประโยชน์ทางอ้อมของการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ คือการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของกลุ่มชนในท้องถิ่นที่ต้องร่วมมือกันพัฒนาคุณภาพของสินค้าของตน สร้างความรู้สึกผูกพัน ความภาค ภูมิใจในถิ่นกำเนิด อันเป็นการสร้างคุณค่าให้กับท้องถิ่นซึ่งจะช่วยลดปัญหาแรงงานชนบทอพยพเข้าสู่เมือง ช่วยรักษามรดกทางวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และศิลปะพื้นบ้านของไทยได้อีกด้วย

ความสำเร็จของการขอขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ของผ้าไหมยกดอกลำพูน

     ผ้าไหมยกดอกลำพูน เป็นหนึ่งในโครงการนำร่องหมู่บ้านผลิตไหมไทยภายใต้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ปี พ.ศ.2549 – 2553 ของสถาบันหม่อนไหมแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ(กรมหม่อนไหม ในปัจจุบัน) โดยการส่งเสริมและพัฒนาผ้าไหมยกดอกลำพูน เพื่อยื่นคำขอขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ได้พิจารณาตามหลักเกณฑ์ต่างๆ รวม 4 ข้อ ได้แก่ 1)ชื่อเสียงของสินค้า  2)คุณภาพ/ลักษณะพิเศษ  3)ความเชื่อมโยงสินค้ากับแหล่งภูมิศาสตร์ และ4)ขอบเขตพื้นที่แหล่งภูมิศาสตร์ ซึ่งจะใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาสินค้าอื่นๆ เพื่อการขอขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ จากการพิจารณาข้อมูลในเบื้องต้นแล้ว ผ้าไหมยกดอกลำพูนมีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด สามารถพัฒนาให้ขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GIsได้สำเร็จ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ได้มอบสิทธิบัตรเมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2550 โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน เป็นผู้ขอขึ้นทะเบียน โดยขอขึ้นทะเบียน ผ้าไหมยกดอก ที่เป็นผ้าชุด ผ้าซิ่น ผ้าชิ้น ผ้าสไบและผ้าคลุมไหล่ ที่ผลิตในพื้นที่จังหวัดลำพูน

        การได้รับสิทธิบัตรสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เป็นความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากความต้องการและความสมัครใจของชุมชนในท้องถิ่นที่ประสงค์จะพัฒนาสินค้าของตนเองให้ได้รับการปกป้องคุ้มครอง สิทธิภูมิปัญญาท้องถิ่น ตลอดจนได้รับความร่วมมือประสานการดำเนินงานบูรณาการแบบไตรภาคีระหว่างเกษตรกรผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ กรมทรัพย์สินทางปัญญา สถาบันหม่อนไหมแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯเชียงใหม่ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดลำพูน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดลำพูน สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลำพูนสำนักงานเกษตรจังหวัดลำพูน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำพูน และสถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดลำพูน  จะเห็นได้ว่าการได้รับสิทธิบัตรต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่ายจึงจะประสบความสำเร็จ และเมื่อได้รับสิทธิบัตรแล้วจำเป็นต้องรักษาไว้อย่างดี นอกจากจะเป็นประโยชน์กับชุมชนแล้วยังเป็นการปลุกจิตสำนึกในการรักษาเอกลักษณ์ หรือวัฒนธรรมของท้องถิ่นอีกด้วย

            ปัจจุบันผ้าไหมยกดอกลำพูน ได้เป็นสินค้าคู่แฝด (Twinning Products) กับแชมเปญ ประเทศฝรั่งเศส ที่มีชื่อเสียงก้องโลกเช่นเดียวกัน  อันเป็นการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าเชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ในอนาคตจึงคาดหวังว่า ผ้าไหมยกดอกลำพูน จะทำให้ผ้าไหมไทยที่มีชื่อเสียงดีอยู่แล้วในตลาดโลกยิ่งจะมีชื่อเสียงและมีมูลค่ามากยิ่งขึ้น ด้วยเอกลักษณ์ที่มีความยุ่งยากในการผลิต ลวดลายอ่อนช้อย วิจิตรมหัศจรรย์ และมีเรื่องราวความเป็นมาที่น่าสนใจยิ่ง อันจะทำให้ผ้าไหมชนิดอื่นๆ ของไทยได้ขอขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GIs เพื่อสร้างสรรค์คุณค่าและความภาคภูมิใจให้แต่ละชุมชนมากยิ่งขึ้น ทำให้การส่งออกผ้าไหมไทยสูงขึ้น จึงขอให้ชาวไทยทุกคนร่วมภาคภูมิใจในบรรพชนของเราที่ได้มอบมรดกทางวัฒนธรรมไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้มีอาชีพ ในการผลิตสินค้าอันทรงคุณค่าจากภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ

 

 

บรรณานุกรม

กรมทรัพย์สินทางปัญญา. 2548.  พระราชบัญญัติคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์

           พ.ศ. 2546.โรงพิมพ์อักษรไทย, กรุงเทพฯ.

กรมทรัพย์สินทางปัญญา. 2550.  คู่มือการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์.

          โรงพิมพ์อักษรไทย, กรุงเทพฯ.

กรมทรัพย์สินทางปัญญา. 2550.  สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์คืออะไร ?.

          โรงพิมพ์อักษรไทย, กรุงเทพฯ.

กรมทรัพย์สินทางปัญญา. 2550.  ประกาศโฆษณาการรับขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทาง 

          ภูมิศาสตร์ " ผ้าไหมยกดอกลำพูน".  www.ipthailand.org.

กรมวิชาการเกษตร.  2547.  100 ปี หม่อนไหม สายใยแผ่นดิน.  กระทรวงเกษตร 

           และสหกรณ์ เอกสารวิชาการ ลำดับที่ 4/2547.

เฉลิมศรี  ตุ่มมะ.  2550.   ข้อเสนอแนะความคิดวิธีการพัฒนางานให้มี   

          ประสิทธิภาพ  เรื่อง การพัฒนาผ้าไหมยกดอกลำพูน เพื่อยื่นขอขึ้น

           ทะเบียน  เป็นสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications :

           GIs) กลุ่มส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี.  สถาบันหม่อนไหมแห่งชาติ

           เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สำนักงานปลั

            กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.

ชีระโชติ สุนทรารักษ์.  2549.  แนวทางการขึ้นทะเบียนผ้าไหมยกดอกลำพูนเป็น

             สินค้า GIs. (อัดสำเนา).

เพ็ญศิริไหมไทย.  2548.  ผ้าไหมยกดอกลำพูน. จังหวัดลำพูน.              

สถาบันหม่อนไหมแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรม

          ราชินีนาถ.  2549.  สถานการณ์ความก้าวหน้าการขอขึ้นทะเบียน GIs ใน

          กลุ่มประเทศอาเซียน. เอกสารประกอบการประชุม “การผลิตสินค้าไหมกับ

          สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์(Geographical Indications: GIs)” วันที่ 6-8

          สิงหาคม 2549, โรงแรมเชียงใหม่ฮิลล์, จ.เชียงใหม่,  สำนักงานปลัด

          กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.

สถาบันวิจัยหม่อนไหม.  2535.  ไหมไทย.  กรมวิชาการเกษตร.  กระทรวงเกษตร

         และสหกรณ์. 

วิรัตน์  ตันเดชานุรัตน์.  2550.  ศักยภาพของอุตสาหกรรมไหมไทยในการแข่งขัน

          ในยุคการค้าเสรี.         เอกสารประกอบการประชุม “มหกรรมไหมไทย

           2550”. วันที่  24-26 สิงหาคม 2550.  ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์.

           กรุงเทพฯ.

ศิริพร  บุญชู.  2550. แผนการดำเนินงานโครงการผลักดันสินค้าไหมไทย สู่ตลาด

         โลกปี 2550.  เอกสารประกอบการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การผลิตสินค้าไหม

        ไทยภายใต้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์(Geographical Indications: GIs)”. วันที่

         12-14 มีนาคม 2550. โรงแรมมารวยการ์เด้นท์. กรุงเทพฯ.

หมายเลขบันทึก: 441691เขียนเมื่อ 31 พฤษภาคม 2011 22:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท