เอาชีวิตเป็นเดิมพัน


ถ้าไม่ทำอะไรสักอย่างก็น่าละอาย

     เอาชีวิตเป็นเดิมพัน

   อาจมองดูว่ามากไป แต่ถ้าไม่ทำอะไรสักอย่าง ก็น่าละอาย เพราะเงินเดือนขึ้นทุกปี ปีละมากๆ กับการสอนเด็กแค่ ๕ - ๑๐ คน เท่านั้น  ภาพในวันประชุมสัญจรของเขตพื้นที่การศึกษา มีการมอบรางวัลโรงเรียนที่ทำคะแนนโอเน็ตในแต่ละสาระวิชา ติดอันดับหนึ่งในสิบ ปีนี้ไม่มีชื่อโรงเรียนของเรา ปีที่แล้วโรงเรียนเรามี ๒ วิชา ได้ที่ ๓ กับที่ ๕ไม่มีรางวัลใดๆ เป็นภาพที่ตัดกัน แต่ใช่ว่าจะน้อยใจ กลับมองไปที่ภาระกิจข้างหน้ามันช่างยิ่งใหญ่นัก

   เด็กที่จบ ป.๖ ไป ทั้งหมด ๗ คน ทำคะแนนตกต่ำ เราพบเขาเมื่อปี ๒๕๔๙ เขาอยู่ ป.๓ ปลายปี  เราพบว่าเขาอ่านหนังสือไม่ออกเขียนไม่ได้ เขาเล่าว่าครูไม่ครบและไม่ค่อยได้เรียน เราพยายามเคี่ยวเข็ญเขาอยู่ ๒ ปี ไม่เกิดมรรคเกิดผลเลย  ๔ ใน ๗ คนมีปัญหาบกพร่องด้านการเรียนรู้ คือเรียนรู้ช้า และในจำนวนนี้มีปัญหาครอบครัว อย่างมากมาย เราคิดว่าการทำงานบริหาร ก็มีส่วนที่สอนเขาไม่เต็มที่ หรือจะเกิดที่การสอนเสริมน้อยเกินไป บางครั้งนึกไปถึงคอมพิวเตอร์ ที่จำกัด มีส่วนให้ผลสัมฤทธิ์ต่ำหรือไม่

     วิตกก่อนสอบโอเน็ตแล้ว ถ้าเด็กอ่านไม่คล่อง จะตอบคำถามอย่างไร คิดกระทั่งจะให้เด็กเข้าสอบเพียง ๕ คนเท่านั้น เพื่อควบคุมเกรดเฉลี่ย สุดท้าย ใจต้องกล้า มีหัวใจนักกีฬาทันที กอดคอเรียนรู้มาด้วยกัน จะปล่อยเขาตามลำพังได้อย่างไร  ไปสู้ศึกสงครามด้วยกันทั้ง ๗ คน

     คิดนะถ้าวันนั้น...ปลายธันวาคม ๒๕๕๓ มีครูคนใหม่มา ทำไมเราไม่ยก ป.๖ ให้เขาไปหรือเรารู้คำตอบแล้ว  ว่าเป็นผลผลิตของเรา ว่าเราต้องรับผิดชอบเต็มๆ  ๑ เดือนเศษ ครูบรรจุใหม่ คงทำอะไรไม่ได้มาก กับอาาการที่โคม่า ระยะสุดท้าย

     ปีนี้ คิดแล้วจะทำทันที โดยใช้นวัตกรรม ๓ ส่วน ทั้งบริหาร..การเรียนการสอนและสื่อ  เชื่อมโยงสู่บ้านนักเรียน  ผู้ปกครองกับครูต้องคุยกันให้ชัดเจน ต้องดูแลช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จะห่างเหินหรือทำอย่างเคย โดยอ้างว่า ภาระงานมาก คงไม่ได้  มาตรการ/ยุทธศาสตร์ปรับใช้ หันเข้ามาหา  ๔  ฮ. ทันทีทันใด

     เริ่มจาก เฮด ต้องคิดให้มากขึ้น  แฮนด์ ทำงานให้มากขึ้น  ฮาร์ท ใจต้องสู้และหนักแน่น  สุดท้ายไม่ลืม ต้อง ฮึก (เหิม)  งานนี้พุ่งเป้าไปที่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน ป.๖จำนวน ๕ คน  ที่เราจะปั้นแต่งเขา บนพื้นฐานทักษะชีวิตที่เขามีอยู่ คือ อ่านออกและเขียนได้แล้ว

    บ่ายวันเสาร์ ถึงเช้าวันอาทิตย์ ออกเก็บข้อมูลในหมู่บ้าน เยี่ยมบ้านเด็ก ป.๖ ถ้าไม่ไปก็ไม่รู้ อาจทำให้สาย หรือแก้ไขไม่ได้ไปอีกปีหนึ่ง  สภาพบ้านเด็ก ที่แทบไม่มีมุมจะให้ทำการบ้านหรืออ่านหนังสือ เด็กไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ และเด็กเป็นภูมิแพ้รื้อรัง แต่ต้องออกไปรับจ้างดายหญ้าและปลูกอ้อย ...เราจะไม่ยอมให้ปัญหา เป็นข้ออ้าง  แต่ปัญหาจะเป็นการบ้านให้เรารีบแก้ไข  ที่เราไปเห็นข้อมูลมา..ก็นับเราโชคดีแล้ว ที่เหลือขอเอาชีวิตเป็นเดิมพัน  จะทำคะแนนโอเน็ตให้ดีขึ้นให้จงได้

 

 

หมายเลขบันทึก: 441460เขียนเมื่อ 30 พฤษภาคม 2011 14:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กันยายน 2013 21:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ท่านผอ.มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการช่วยเหลือเด็กๆ ขอชื่นชมค่ะ หวังว่าคะแนนคงออกมาแล้วนะคะ

โอ้...ถึงกับเอาชีวิตเป็นเดิมพันเชียวเหรอคะ

ขอเอาใจช่วยให้ความตั้งใจของผอ.สำเร็จดังหวังนะคะ..

ชีวิต...

ชีวิต ข้าราชการ ลงทุนแล้วไม่ได้้ดั่งใจ ทำไปทำไม

ชีวิต ข้าราชการ ต้องพิสูจน์ตัวเอง ทำไม่ได้ออกไป ให้คนรุ่นใหม่เขาทำ

ชีวิต ข้าราชการ รัฐลงทุน ทำงานคุ้มทุนหรือไม่ ต้องคิดด้วย

ชีวิต ข้าราชการครู สอนความรู้คู่คุณธรรม เด็กอ่านไม่ออกน่าอาย(ไม่มากก็น้อย)

ชีวิต ข้าราชการครู ต้องกล้าประกันคุณภาพ ปีนี้เด็กไม่ดีขึ้น ชีวิตต้อง เออรี่ ก๋เท่านั้น

  • สวัสดีค่ะ
  • ปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เด็กทำข้อสอบไม่ได้
  • -ความขาดแคลน ความด้อยโอกาส ความพร้อมของครอบครัว
  • -องค์ประกอบที่เอื้อต่อการจัดการเรียนรู้ ความพร้อมของครู สื่อ แหล่งเรียนรู้
  • -ตัวข้อสอบ วิธีการของข้อสอบที่เด็ก และคุณครูยังไม่คุ้นเคย
  • -...ฯลฯ....เหล่านี้ล้วนมีส่วนให้ผลสัมฤทธิ์ต่ำได้ทั้งสิ้น
  • การคิดหาสาเหตุและแนวทาง ปรับปรุง แก้ไขเป็นเรื่องที่ดี
  • แต่พี่ว่า...ถ้าเกิดไม่เป็นไปตามที่คาดคิด ก็ปรับปรุงต่อ
  • พี่ว่าแค่ลงมือทำอย่างเต็มที่ก็ถือว่าดีมากแล้ว...
  • อย่าโทษตัวเองถึงขั้นต้องเออรี่ หรือลาออกเลย...
  • เพราะเสียดายคนเก่งคนมุ่งมั่นแบบ ผอ.
  • เป็นกำลังใจให้นะคะ

แวะมาขอบคุณอาจารย์ที่แวะไปให้กำลังใจ ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท