ใบความรู้ที่ 5 เรื่องหนังสืออ้างอิง


วิชาการใช้ห้องสมุด

 สาระสำคัญ               

                หนังสืออ้างอิงเป็นหนังสือที่มีการจัดทำขึ้นเป็นพิเศษ  ให้ข้อเท็จจริงที่เชื่อถือได้  ใช้หา คำตอบในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง  ไม่อนุญาตให้ยืมออกนอกห้องสมุด  เขียนขึ้นโดยผู้ทรงคุณวุฒิและ                 มีความเชี่ยวชาญในสาขาวิชานั้น ๆ  โดยเฉพาะ  มีรูปแบบที่ง่าย  สะดวกแก่การใช้ค้นคว้า  มีการ             จัดเรียงลำดับเนื้อหาตามลำดับอักษรตามหัวข้อวิชา  ตามลำดับเหตุการณ์  หรือเรียงตาม                        สภาพภูมิศาสตร์  มีส่วนช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้  คือ  อักษรนำเล่ม  คำนำทาง  ดรรชนี                 ริมกระดาษ  หนังสืออ้างอิงเป็นเอกสารที่สำคัญที่สุด  ที่จะช่วยให้งานเขียนเป็นที่น่าเชื่อถือ                        และมีประสิทธิภาพสูงค่าอย่างยิ่ง 

จุดประสงค์การเรียนรู้

1.  อธิบายความหมายของหนังสืออ้างอิงได้อย่างถูกต้อง

2.  บอกความสำคัญของหนังสืออ้างอิงได้                    

3.  บอกประโยชน์ของหนังสืออ้างอิงได้

4.  บอกลักษณะของหนังสืออ้างอิงได้ถูกต้อง

5.  บอกวิธีการเรียบเรียงหนังสืออ้างอิงได้

6.  อธิบายวิธีการค้นคว้าจากส่วนช่วยค้นได้อย่างถูกต้อง

7.  บอกลักษณะและวิธีใช้หนังสืออ้างอิงแต่ละประเภทได้ถูกต้อง

                8.  สรุปเรื่องหนังสืออ้างอิงและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้

1. ความหมายของหนังสืออ้างอิง

            หนังสืออ้างอิง   คือ  รูปแบบหนึ่งของหนังสืออันเป็นผลผลิตของมนุษยชาติในการบันทึกเรื่องราว  ความคิด  ประสบการณ์  จินตนาการ  เพื่อสืบทอดมรดกทางปัญญาให้แก่อนุชนรุ่นหลังตั้งแต่รุ่งอรุณแห่งอารยธรรมมาจนกระทั่งปัจจุบัน  รูปแบบของหนังสือก็ได้วิวัฒนาการก้าวหน้า             ไปพร้อมกับความเจริญทางวิทยาการและเทคโนโลยีสมัยใหม่  ในรูปแบบของสื่ออิเล็กทรอนิกส์              เป็นต้น

            ในปัจจุบันแม้ว่าจะได้มีการประดิษฐ์คิดค้นการบันทึกภูมิปัญญาของมนุษย์ไว้ในรูปแบบ          ของสื่อสมัยใหม่แล้วก็ตาม  แต่หนังสือก็ยังคงเป็นแหล่งความรู้ที่เราสามารถเข้าถึงได้ง่าย  สะดวก  และสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด

            ในบรรดาหนังสือทั้งหลาย  หนังสือประเภทที่เป็นหนังสืออ้างอิงเป็นแหล่งข้อมูล                          ที่มีความสำคัญที่ห้องสมุดและแหล่งสารนิเทศทั้งหลายได้จัดหามาไว้เพื่อบริการแก่ผู้ใช้ในการค้นหาเรื่องราวหรือข้อเท็จจริงในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ  ห้องสมุดจัดเก็บหนังสืออ้างอิงไว้               เป็นมุมหนังสืออ้างอิงต่างหาก  โดยกำหนดสัญลักษณ์เพิ่มขึ้นเพื่อให้แตกต่างจากหนังสือทั่วไป               คือ  อักษร  “อ”  แทนหนังสืออ้างอิงภาษาไทย  อักษร  “R”  หรือ  “Ref”  แทนหนังสืออ้างอิงภาษาอังกฤษ  ตัวอักษรที่เพิ่มขึ้นมาใหม่นี้จะเขียนไว้เหนือเลขเรียกหนังสือ

            คำว่า  หนังสืออ้างอิง  เป็นศัพท์บัญญัติมาจากคำภาษาอังกฤษว่า  Reference  Book  ส่วนคำว่า  reference  นั้นมาจากคำกริยาว่า  refer  แปลว่า  อ้างอิง  หรือ  อ้างถึงเพื่อสารนิเทศ  ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นบุคคลหรือสิ่งของที่นำมาอ้างอิงหรืออ้างถึงในลักษณะนี้ก็คือ  การอ้างอิงถึง

            Book  แปลว่า  งานเขียนหรืองานพิมพ์หลาย ๆ  แผ่นที่นำมาเย็บรวมเป็นเล่ม

            คำว่าหนังสืออ้างอิงในภาษาไทย  มาจากคำว่า  หนังสือ  แปลว่า  เครื่องหมายใช้ขีดเขียน         แทนเสียงหรือคำพูด  ลายลักษณ์อักษร  จดหมายที่มีไปมา  เอกสาร  บทประพันธ์  ข้อความที่พิมพ์                หรือเขียนแล้วรวมเป็นเล่ม

            อ้างอิง  แปลว่า  ถือเป็นหลัก  นำมากล่าวเป็นหลัก  กล่าวถึงเพื่อเป็นหลัก

            เมื่อนำคำสองคำนี้มารวมกันเป็นคำว่าหนังสืออ้างอิง  แปลว่าเอกสารที่ถือเป็นหลัก              

            หนังสืออ้างอิง  (Reference  Books)  คือ  หนังสือที่รวบรวมข้อเท็จจริงซึ่งรวบรวมมาจาก           แหล่งต่างๆ  นำมาเรียบเรียงเข้าด้วยกันเพื่อใช้ประโยชน์ได้อย่างรวดเร็ว  เป็นหนังสือที่ผู้ใช้จะอ่านเฉพาะตอนที่ต้องการ  ไม่จำเป็นต้องอ่านทั้งเล่ม  หนังสืออ้างอิงจะจัดเรียงลำดับอักษร  หรือตามลำดับปีหรือมิฉะนั้นจะมีดรรชนีโดยละเอียดสำหรับค้นเรื่องราวที่ต้องการ  และมีการโยงข้อความ              ยังเนื้อความอื่น ๆ  ที่เกี่ยวข้องกันอีกด้วย 

            จากความหมายดังกล่าวข้างต้นสรุปได้ว่า  หนังสืออ้างอิง  หมายถึง  หนังสือที่ให้ความรู้เกี่ยวกับข้อเท็จจริงในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง  ใช้สำหรับค้นคว้าประกอบเฉพาะเรื่องเท่านั้น  มีการจัดทำในรูปแบบ ที่ง่ายต่อการค้นคว้าหาคำตอบที่ต้องการได้สะดวก  รวดเร็ว  โดยไม่จำเป็นที่ผู้ใช้ต้องอ่านทั้งเล่ม         และอนุญาตให้ใช้ภายในห้องสมุดเท่านั้น

2. ความสำคัญของหนังสืออ้างอิง

            หนังสืออ้างอิงเป็นแหล่งข้อมูลที่มีความสำคัญ  ใช้สำหรับค้นคว้าหาคำตอบที่ต้องการและ       ช่วยในการประกอบการค้นคว้าหาความรู้ได้เป็นอย่างดี  ซึ่งหนังสืออ้างอิงแต่ละประเภทมีความสำคัญในด้านให้ข้อเท็จจริงที่จะเป็นประโยชน์ในการค้นคว้าหาคำตอบที่แตกต่างกัน 

            หนังสืออ้างอิงมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับห้องสมุด  โดยเฉพาะห้องสมุดที่มีการค้นคว้า         วิจัยมาก  บรรณารักษ์จะต้องจัดหาหนังสือประเภทนี้ไว้เพื่อประโยชน์ของผู้ใช้  และของบรรณารักษ์  บรรณารักษ์ควรจะได้ศึกษาค้นคว้าหาความรู้จากหนังสืออ้างอิงที่ดีทั่วๆ ไปเสียก่อนว่ามีลักษณะอย่างไร  ทั้งนี้เพื่อจะได้เป็นแนวทางให้เลือกและจัดหาหนังสือประเภทนี้เข้าห้องสมุดได้อย่างถูกต้อง

 3. ประโยชน์ของหนังสืออ้างอิง 

            หนังสืออ้างอิงเป็นแหล่งข้อมูลที่มีความสำคัญที่ให้ความรู้อันเป็นพื้นฐานครอบคลุมศาสตร์         ทุกแขนงวิชา  จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นหนังสือสารพัดประโยชน์  ผู้ใช้สามารถหาคำตอบทุกเรื่อง               (All  about  anything)  จากหนังสืออ้างอิง

             ตารางสรุปประโยชน์ของหนังสืออ้างอิง

ข้อคำถาม

หนังสืออ้างอิงที่ใช้ค้น

ใคร

อักขรานุกรมชีวประวัติและนามานุกรม

อะไร

สารานุกรม,  ดรรชนี  และพจนานุกรม

เมื่อไร

หนังสือแผนที่,  ประวัติศาสตร์,  สมพัตรสรและหนังสือรายปี

ทำไม

ตำราและหนังสือเพื่อการค้น

อย่างไร

หนังสือคู่มือ

ที่ไหน

หนังสือแผนที่และอักขรานุกรมภูมิศาสตร์

            หนังสืออ้างอิงเป็นแหล่งสารนิเทศเบื้องต้นที่มีประโยชน์สรุปได้ดังนี้

            1.  เป็นแหล่งค้นคว้าหาข้อเท็จจริงที่ถูกต้องแน่นอนได้ในทุกสาขาวิชา

            2.  เป็นแหล่งส่งเสริมการศึกษาค้นคว้าวิจัยทุกระดับ

            3.  เป็นแหล่งที่สามารถค้นหาคำตอบได้สะดวกและรวดเร็ว

 4. ลักษณะของหนังสืออ้างอิง

            หนังสืออ้างอิงเป็นหนังสือที่ได้รับการจัดทำขึ้นเป็นพิเศษ  เพื่อใช้ค้นหาข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเชื่อถือได้  ดังนั้นหนังสืออ้างอิงจึงมีลักษณะต่างๆ  ที่ควรกล่าวถึงดังต่อไปนี้

            1.  ลักษณะทั่วไปของหนังสืออ้างอิง

                  หนังสืออ้างอิงมีลักษณะโดยทั่วไปดังนี้  คือ

                  1.1  ผู้เขียนเรื่องเป็นบุคคลหรือประกอบด้วยคณะบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิมีประสบการณ์          และมีความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาที่เขียน

                  1.2  มีวัตถุประสงค์ให้ผู้อ่านได้รับความรู้และข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเชื่อถือได้

                  1.3  มุ่งให้ความรู้ที่ชัดเจน  กะทัดรัด  และจบในตัวเอง

                  1.4  มีการเรียบเรียงเนื้อเรื่องอย่างมีระเบียบและเป็นระบบ  เช่น  เรียงตามลำดับอักษร            เรียงตามหมวดหมู่ของสาขาวิชา  เรียงตามลำดับเหตุการณ์  และเรียงตามสภาพภูมิศาสตร์  เป็นต้น

                  1.5  ผู้ใช้สามารถหาคำตอบที่ต้องการได้สะดวกและรวดเร็ว

                  1.6  รวบรวมข้อมูล  สถิติ  และเรื่องราวต่างๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้ในการค้นคว้า         หาข้อเท็จจริงในหลาย ๆ ด้าน  เช่น  หนังสือรายปี  เป็นต้น

                  1.7  ให้ความรู้ครอบคลุมสาขาวิชาความรู้ต่างๆ อย่างกว้างขวาง  เช่น  สารานุกรม  เป็นต้น

                  1.8  หนังสืออ้างอิงบางเล่มราคาแพง  บางเล่มหาซื้อได้ยาก

                  1.9  เป็นหนังสือที่ไม่จำเป็นต้องอ่านทั้งเล่ม  อ่านเฉพาะตอนที่ต้องการเท่านั้น

            2.  ลักษณะเฉพาะของหนังสืออ้างอิง

                  หนังสืออ้างอิงมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างไปจากหนังสือทั่วไป  ซึ่งในเรื่องลักษณะเฉพาะของหนังสืออ้างอิงนั้น  นันทา  วิทวุฒิศักดิ์  ได้ให้ความเป็นไว้ดังนี้

                      2.1  ลักษณะการจัดทำเป็นหนังสือที่จัดทำขึ้นเพื่อใช้ในการค้นคว้าอ้างอิงโดยเฉพาะ        ที่ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องอ่านทั้งเล่ม  เนื้อหาแต่ละตอนจะมีความสมบูรณ์ในตัวมันเอง  รูปเล่มมักจะ            ใหญ่กว่าหนังสือทั่วไปหรือมีความยาวหลายเล่มจบ  บางเล่มออกเป็นประจำทุกปีเพื่อให้ข้อมูล                 ที่ทันสมัย

                      2.2  คุณวุฒิของผู้เขียน  เขียนโดยผู้ทรงคุณวุฒิเฉพาะวิชา  หรือคณะบุคคลที่มีความรู้  ข้อเท็จจริงจึงหน้าเชื่อถือมากกว่าหนังสือทั่วไป  มีบรรณานุกรมประกอบการเรียบเรียงไว้ท้ายบทความเพื่อเป็นแนวทางในการค้นคว้าเพิ่มเติม

                        2.3  การเรียบเรียง  มีการเรียบเรียงเรื่องราวอย่างเป็นระบบ  เพื่อสะดวกในการใช้  เช่น              เรียงตามตัวอักษร  เรียงตามกาลเวลา  ฯลฯ

                      2.4  คุณภาพการจัดทำที่ดี  ใช้กระดาษดี  เย็บเล่มแข็งแรง  ใช้เวลาในการจัดทำนาน           และสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมาก  มีลักษณะพิเศษในการค้นหา  จึงมีราคาแพงกว่าหนังสือธรรมดา

                3.  ลักษณะของหนังสืออ้างอิงที่ดี

                      สุนิตย์  เย็นสบาย  (2543 : 21 – 22)  กล่าวถึงลักษณะของหนังสืออ้างอิงที่ดี  ดังนี้

                      3.1  ความเชื่อถือได้ (Authority)  หนังสืออ้างอิงที่ดีมีผู้แต่ง  ผู้รวบรวมเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ   มีความรู้  ความชำนาญ  หรือมีประสบการณ์ในเรื่องที่เขียนอย่างแท้จริง

                      3.2  ขอบเขต (Scope)  ขอบเขตของเนื้อหาของหนังสืออ้างอิงที่ดีจะบอกขอบเขต                  ของเนื้อหาไว้ในเล่มหรือในชุดอย่างชัดเจน

                      3.3  วิธีเขียน (Treatment)  วิธีเขียนเนื้อหาและข้อมูลถูกต้อง  ครบถ้วน  อ่านเข้าใจง่าย  เขียนตรงไปตรงมาไม่ลำเอียง

                      3.4  การเรียบเรียง (Arrangement)  การเรียบเรียงเนื้อหาในหนังสืออ้างอิงที่ดีนั้น                มีการเรียบเรียงลำดับอย่างมีระเบียบ  ช่วยให้สะดวกในการค้นหาคำตอบ

                      3.5  รูปเล่ม (Format)  รูปเล่มมีลักษณะคงทนถาวร  กระดาษดี  ขนาดตัวพิมพ์พอเหมาะ  อ่านง่าย  การสะกดการันต์ถูกต้อง  การวางรูปหน้าเหมาะสม

                      3.6  บรรณานุกรม (Bibliography)  มีรายชื่อหนังสือและวัสดุอ้างอิงที่ใช้ประกอบ               การเรียบเรียงเพื่อให้ผู้อ่านทราบว่าเรื่องนั้น ๆ  น่าเชื่อถือเพียงใด  และสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม            ได้จากที่ใด

                      3.7  ลักษณะพิเศษ (Special  Features)  ส่วนที่ช่วยส่งเสริมให้หนังสืออ้างอิง                  น่าสนใจยิ่งขึ้น

   5. การเรียบเรียงหนังสืออ้างอิง 

                เพื่อให้ผู้ใช้หนังสืออ้างอิงสามารถค้นหาเรื่อง  หรือบทความที่ต้องการได้ถูกต้อง  สะดวก และรวดเร็ว  จึงได้มีการเรียบเรียงหนังสืออ้างอิงด้วยวิธีพิเศษ  วิธีเรียบเรียงที่สำคัญ ๆ  มีอยู่  5  วิธีด้วยกัน  คือ

                1.  เรียบเรียงตามลำดับตัวอักษรแบบพจนานุกรม

                2.  เรียบเรียงตามลำดับตัวอักษรโดยแยกเป็นพวก ๆ เช่น   ชื่อ  ชื่อคน  ชื่อหนังสือ  ชื่อสถานที่  ชื่อวิชา  ฯลฯ  เป็นต้น

                3.  เรียบเรียงตามลำดับเหตุการณ์เวลา  เช่น  เรียงตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม  ถึงวันที่  31  ธันวาคมของปี  หรือเรียงลำดับชื่อคนที่เกิดก่อนมาจนถึงคนที่เกิดหลังสุด  เป็นต้น

                4.  เรียบเรียงตามลำดับแผนการจัดหมู่หนังสือหรือหมวดหมู่วิชา  เช่น  เรียบเรียงตามเลขหมู่ของดิวอี้  เป็นต้น

                5.  เรียบเรียงตามลำดับพื้นที่ตามภูมิศาสตร์  เช่น  เรียบเรียงสถานที่จากเหนือสุดของประเทศลงมาจนถึงใต้สุด  เป็นต้น

 6. ส่วนช่วยในการค้นคว้าของหนังสืออ้างอิง 

                ลักษณะของหนังสืออ้างอิงที่แตกต่างจากหนังสือทั่วไป  คือ  หนังสืออ้างอิงจะมีส่วนช่วย          การค้นคว้าหลายลักษณะ  ซึ่งช่วยให้ผู้ต้องการทราบข้อเท็จจริงในเล่มได้พบสิ่งที่ต้องการได้รวดเร็วยิ่งขึ้น  ส่วนช่วยค้นคว้าดังกล่าวพอสรุปได้ดังนี้

1.  อักษรนำเล่ม  (Volume  Guide)  คือ  ตัวเลข  ตัวอักษร  หรือส่วนของคำที่ปรากฏ              ที่สันหนังสืออ้างอิงเล่มนั้นใช้ค้นเรื่องตั้งแต่ลำดับอักษรใดถึงอักษรใด  บางครั้งมีตัวเลขกำกับด้วย

                2.  ดรรชนีหัวแม่มือ (Thumb  Index)  หรือเรียกว่า  ดรรชนีริมหน้ากระดาษเป็นดรรชนี           ที่จะบอกให้ทราบว่าจะค้นเรื่องที่ขึ้นต้นด้วยอักษรนั้น ๆ  ในช่วงใด  อาจมีลักษณะแบบกระดาษ           ที่ยื่นออกมาเป็นแถบกระดาษเล็ก ๆ (Tab  Index)  ก็ได้  หรือทำลักษณะของดรรชนีริมหน้ากระดาษ  ซึ่งจะมีลักษณะเจาะเว้าเข้าไปครึ่งวงกลม  มีอักษรกำกับ  ช่วยให้ผู้ค้นเรื่องในเล่มค้นได้เร็วยิ่งขึ้น

                3.  สารบัญ  (Table  of  Contents  หรือ  Contents)  ใช้เป็นคู่มือในการเปิดหาเรื่องที่ต้องการในเล่ม  ไม่มีการเรียงลำดับตามตัวอักษร  แบ่งเป็นบทตามเนื้อหา  และบอกเลขหน้าที่จะพบ                เรื่องที่ต้องการ

                4.   คำนำทาง  (Guide  Word)  คือคำที่ปรากฏอยู่ที่มุมบนของหน้ากระดาษ  อาจจะมีทั้งซ้ายและด้านขวาของหน้ากระดาษ  หรืออยู่ที่กึ่งกลางหน้า  เพื่อบอกให้ทราบว่าเรื่องที่จะค้นได้               ในหน้านั้นๆ ขึ้นต้นด้วยตัวอักษรอะไร

                5.  ส่วนโยง (Cross  Reference)  คือ  ส่วนที่บอกความสัมพันธ์ของเนื้อหาภายในเล่ม             ใช้คำ   2  คำ  ดังนี้          

                      5.1  ดูที่  (See)  หรือส่วนโยง  โยงให้อ่านเรื่องหรือหัวข้อที่ต้องการจากหัวข้ออื่น ๆ             เช่น  Siam,  see  Thailand

                      5.2  ดูเพิ่มเติมที่  (See  also)  หรือส่วนโยง  ใช้เมื่อต้องการให้ผู้ค้นคว้าที่ต้องการข้อความอื่น ๆ เพิ่มเติมจากที่อธิบายไว้  เพื่อให้ผู้อ่านได้ข้อเท็จจริงกว้างขวางขึ้น  โดยพิจารณาจากหัวข้อ             ท้ายคำว่า  See  also  เช่น  Radium  Therapy  see  also  Radioactivity ; Radiochemistry

                6.  ภาคผนวก (Appendix)  คือส่วนที่อธิบายเพิ่มเติมเนื้อหาให้เข้าใจได้ดียิ่งขึ้น                         อยู่ในส่วนท้ายเล่ม

                7.  ดรรชนี (Index )  คือคำสำคัญหรือหัวข้อสำคัญที่ปรากฏในเรื่อง  นำมาเรียงตาม              ลำดับอักษร  มีเลขหน้ากำกับไว้  บอกให้ทราบว่าคำนั้นจะพบที่หน้าใดบ้างในเล่ม  นอกจากนี้           ยังมีดรรชนีรวม  (Cumulative  Index)  ซึ่งพิมพ์แยกเป็นเล่มหรือชุดต่างหาก  ภายในเล่มจะปรากฏ            หัวเรื่อง  หัวข้อที่เป็นคำสำคัญของเนื้อหาในชุดใดชุดหนึ่งมักบอกเล่ม  บอกเลขหน้า  และปรากฏ ส่วนโยงกันในเนื้อหา  โดยใช้ส่วนโยง (See)  หรือ  (See  also)  ช่วย

7. ประเภทของหนังสืออ้างอิง 

                การแบ่งประเภทของหนังสืออ้างอิงสามารถแบ่งออกได้ในหลายลักษณะ  เช่น  การแบ่งประเภทตามลักษณะของการค้นหาคำตอบ  และการแบ่งประเภทตามลักษณะของเนื้อหา  เป็นต้น

                การแบ่งประเภทของหนังสืออ้างอิงตามลักษณะของการค้นหาคำตอบ  แบ่งได้เป็น                   2  ประเภทใหญ่ ๆ  คือ  หนังสืออ้างอิงประเภทบอกแหล่งค้นคว้าและหนังสืออ้างอิงประเภท            ให้คำตอบทันที

                1.  ประเภทให้คำตอบทันที  ได้แก่  พจนานุกรม  สารานุกรม  หนังสือรายปี  อักขรานุกรมชีวประวัติ  หนังสืออ้างอิงทางภูมิศาสตร์  สิ่งพิมพ์รัฐบาล  หนังสืออ้างอิงเฉพาะวิชา  เป็นต้น               ผู้ใช้สามารถเลือกใช้หนังสืออ้างอิงเหล่านี้ค้นหาคำตอบที่ต้องการตามความเหมาะสมกับ                       สิ่งที่ต้องการทราบ ได้แก่

                      1.1  พจนานุกรม (Dictionaries)

                      1.2  สารานุกรม (Encyclopedias)

                      1.3  หนังสือรายปี (Yearbooks)

                      1.4  หนังสือคู่มือ (Handbook)

                      1.5  นามานุกรม (Directories)

                      1.6  อักขรานุกรมชีวประวัติ (Biographical  Dictionaries)

                      1.7  หนังสืออ้างอิงทางภูมิศาสตร์ (Geographical  Sources)

                     1.8  สิ่งพิมพ์รัฐบาล (Government  Publications)

       2.  ประเภทบอกแหล่งค้นคว้า  ได้แก่  บรรณานุกรม  ดรรชนี  ผู้ต้องการทราบคำตอบในทันทีจะค้นหาคำตอบจากหนังสืออ้างอิงประเภทนี้ไม่ได้  เนื่องจากหนังสืออ้างอิงประเภทนี้จะระบุ              เพียงรายชื่อหนังสือ  ผู้แต่ง  ผู้จัดพิมพ์  หรือให้รายการวารสารที่สามารถจะพบบทความที่ต้องการค้นคว้าได้ตามที่ระบุไว้  ผู้ใช้หนังสืออ้างอิงประเภทนี้ต้องไปค้นหาคำตอบจากหนังสือหรือบทความ ที่ระบุไว้อีกครั้งหนึ่ง ได้แก่

                      2.1  ดรรชนี (Index)

                      2.2  บรรณานุกรม (Bibliography)

บรรณานุกรม

 

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับหนังสืออ้างอิง” [ ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://gotoknow.org/blog/kruoun.,

                6  มกราคม  2552.

จุมพจน์  วนิชกุล.  สารสนเทศเพื่อการเรียนรู้.  กรุงเทพฯ : สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น),

2549.

ทิพวรรณ  หอมพูล  และคณะ.  เทคนิคการค้นหาข้อมูล  การเขียนรายงานและการใช้ห้องสมุด.

                กรุงเทพฯ : ฟิสิกส์เซ็นเตอร์, 2542.

วันเพ็ญ  สาลีผลิน.  ห้องสมุดกับการรู้สารสนเทศ.  กรุงเทพฯ : ศูนย์ส่งเสริมอาชีวะ, 2542.

สุนิตย์  เย็นสบาย.  ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับหนังสืออ้างอิง.  พิมพ์ครั้งที่ 2.  กรุงเทพฯ :

ศิลปาบรรณาคาร, 2543.

สุปรียา  ไชยสมคุณ.  ห้องสมุดกับการรู้สารสนเทศ.  กรุงเทพฯ : ประสานมิตร, 2546.

อำไพวรรณ  ทัพเป็นไทย.  การเขียนรายงานและการใช้ห้องสมุด .  กรุงเทพฯ : ศูนย์ส่งเสริมอาชีวะ,

2538.

 

หมายเลขบันทึก: 440947เขียนเมื่อ 26 พฤษภาคม 2011 23:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มีนาคม 2018 14:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ตั้งใจศึกษาบทเรียนนะคะนักเรียน

ก็ระเลียดดีค่ะ แต่ไม่มาก อยากให้เพิ่มอีกสักนิดนึงอ่ะคะ เผื่อคนที่หาจะได้เจอด้วยเพราะบางหัวข้อก็ไม่ครบค่ะ

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท