เรียนน้อยทำแก่เร็ว


สำนักข่าว BBC ตีพิมพ์เรื่อง Less educated 'will age faster' = "การศึกษาน้อยกว่าทำแก่เร็วกว่า" หรือ "เรียนน้อยแก่เร็ว", ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟังครับ
.
ศ.แอนดรู สเต็พโทและคณะ จากมหาวิทยาลัยคอลเลจ ลอนดอน (ตีพิมพ์ใน Brain, Behaviour and Immunity) ทำการศึกษารหัสพันธุกรรมในเซลล์หรือ DNA จากกลุ่มตัวอย่างอายุ 53-75 ปี 400 คน
.
การศึกษาทำโดยการตรวจส่วนปลายของ DNA (telomeres / cap chromosomes) ซึ่งบ่งชี้ความเป็นหนุ่มสาวของเซลล์ คือ ถ้าส่วนปลายยาวบ่งชี้ถึงความอ่อนเยาว์ และถ้าส่วนปลายกุดสั้นบ่งชี้ถึงความแก่ชรา 
.
ผลการศึกษาพบว่า ผู้ใหญ่ที่ไม่มีวุฒิการศึกษา หรือเรียนน้อย, มีแนวโน้มจะแก่เร็วกว่าเมื่อเทียบกับคนที่จบปริญญา
.
กลไกที่เป็นไปได้ คือ การศึกษาไม่ได้ทำให้คนเราอ่านออกเขียนได้อย่างเดียว ทว่า... ทำให้คนเราเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพได้ดีขึ้น ปรับตัวได้ดีขึ้น และมีสุขภาพดีขึ้น
.
ความสามารถในการเรียนรู้เรื่องสุขภาพ เรียกรวมๆ ว่า 'health literacy' หรือการอ่านออกเขียนได้ทางด้านสุขภาพ เช่น ถ้าเป็นโรคความดันเลือดสูงก็จะทำการศึกษา หาความรู้ สืบค้นข้อมูลได้ว่า โรคนี้ควรปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต (lifestyle) อย่างไร จะใช้ยาอย่างไร ฯลฯ
.
คนที่มีโอกาสทางการศึกษาสูงกว่ามักจะปรับตัวเข้ากับความเครียดระยะยาว (long-term stress) ได้ดีกว่า เนื่องจากใช้ข้อมูลและเหตุผลประกอบการตัดสินใจได้ดีกว่า
.
กลไกอื่นที่เป็นไปได้ คือ สุขภาพมักจะมีความสัมพันธ์กับฐานะทางการเงิน-สังคม (socioeconomic status) หรือคนที่มีฐานะดีกว่ามักจะมีโอกาสทางด้านการศึกษา และการเข้าถึงบริการสุขภาพมากกว่า
.
การศึกษาที่ผ่านมาพบว่า คนที่มีฐานะยากจนในวัยเด็กมีแนวโน้มจะสูบบุหรี่มากกว่า ออกกำลังน้อยกว่า เข้าถึงบริการสุขภาพได้น้อยกว่า เมื่อเทียบกับคนที่มีฐานะดี
.
มีผู้สังเกตว่า "ควันบุหรี่" มีแนวโน้มจะเป็นกลิ่นของคนจนมากกว่ากลิ่นของคนรวยหรือชนชั้นกลาง ซึ่งต่อไปอาจใช้เครื่องตรวจจับกลิ่นนี้ (บุหรี่) ในการสัมภาษณ์คนเข้าทำงาน หรือใช้ในการจำแนกคนได้ในระดับหนึ่ง  
.
สมัยนี้คนไทยมีโอกาสทางการศึกษา และเข้าถึงบริการสุขภาพดีกว่าสมัยก่อนมาก, ถ้าเราทุ่มเทกับการศึกษาทั้งในระบบ และนอกระบบให้สอดคล้องกับโลกอนาคต 
.
ตัวอย่างเช่น สนับสนุนให้คนไทยมีโอกาสเรียนต่อสาขาที่จบมาแล้วมีงานทำ เช่น หมอฟัน พยาบาล เภสัชกร หมอ วิศวกร ช่างไฟฟ้า-อีเล็คทรอนิคส์ ช่างยนต์ ฯลฯ ให้มาก, ลดการส่งเสริมสาขาที่จบมาแล้วฟุ้งซ่านมากขึ้น (จากการหางานทำยาก)... คนไทยน่าจะมีความสุข และมีสุขภาพดีขึ้นได้
.
เราควรให้โอกาสคนต่างจังหวัด-ต่างอำเภอมีอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงใช้ (ผู้เขียนอยู่นอกเมือง ใช้เวลาขอสายโทรศัพท์นานกว่า 10 ปี จึงได้สายโทรศัพท์เก่าๆ มาใช้พิมพ์บล็อก 1 เส้น), ...
.
ให้ทุนแปลข้อมูลข่าวสารเป็นภาษาไทย (เช่น ที่มีการให้ทุนแปลวิกิพีเดีย ฯลฯ), ส่งเสริมให้มีห้องสมุดแบบ TK park ทุกอำเภอ, ส่งเสริมโปรแกรมคอมพิวเตอร์ฟรี (Ubuntu, Linux, Openoffice) โดยรัฐให้ทุนสนับสนุน และประกวดบทเรียนวิดีโอภาษาไทย (วิธีใช้งาน)
.
จัดประกวดบทเรียนภาษาต่างประเทศ-บทเรียนติวทุกหลักสูตร ตั้งแต่อนุบาล-ประถมฯ-มัธยมฯ-อาชีวศึกษา-งานช่าง (เช่น วิธีซ่อมรถ วิธีต่อท่อประปา วิธีทำมุ้งลวด ฯลฯ) ทุกปี
.
การจัดประกวดบทเรียนในรูปวิดีโอจะช่วยให้ครูเก่งๆ สอนคนไทยได้ทั่วประเทศ และช่วยลดความเครียดของคนไทยที่ต้องหาเงินแพงๆ ส่งลูกหลานไปเรียนพิเศษ เพราะเรียนกับครูในเวลาทำการไม่รู้เรื่อง หรือรู้เรื่อง แต่เก่งไม่พอที่จะสอบคัดเลือกเพื่อเรียนต่อได้
.
ควรกำหนดให้บทเรียนที่ชนะการประกวดเป็นสมบัติสาธารณะของคนไทย นำขึ้น YouTube - จัดให้ดาวน์โหลดได้ฟรีที่ห้องสมุด โรงเรียนประจำจังหวัด และอนุญาตให้เอกชนทำจำหน่ายราคาถูกแล้ว ไม่นานคนไทยจะต้องเก่งขึ้นอย่างแน่นอน
.
การส่งเสริมการศึกษาจะทำให้คนไทยแข่งขันกับนานาชาติได้ และทำให้ DNA ของคนไทยอ่อนเยาว์ด้วย
.
ถึงตรงนี้... ขอให้ท่านผู้อ่านมีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ
.
> [ Twitter ]
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ รพ.ห้างฉัตร ลำปาง. 13 พฤษภาคม 2554.
  • ข้อมูลทั้งหมดเป็นไปเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ไม่ใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรค; ท่านที่มีโรคประจำตัวหรือความเสี่ยงต่อโรคสูงจำเป็นต้องปรึกษาหมอที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้.
หมายเลขบันทึก: 440283เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2011 13:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท