ประชาธิปไตยในพระพุทธศาสนา (จบ)


เป็นงานวิจัยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนวิชาพระพุทธศาสนา ปี 2546 เป็นหลักสูตรขั้นพื้นฐาน ม. 5

ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ต้องถือหลักธรรมาธิปไตย
ธรรมาธิปไตย หมายถึง การถือธรรมเป็นใหญ่ คนในสังคมประชาธิปไตยจะต้องเป็นธรรมาธิปไตย นั่นคือไม่ตกอยู่ในอำนาจของโลภะ โทสะ โมหะ หรือ ตัณหา มานะ ทิฐิ (พระธรรมปิฎก. 2535 : 40)
ตัณหา คือ ความอยากได้อยากเอาสิ่งต่าง ๆ มาเป็นของตัวเอง ต้องการผลประโยชน์และสิ่งบำรุงบำเรอปรนเปรอตน ไม่ยอมเสียสละเพื่อใคร (ใฝ่เสพ ใฝ่บริโภค)

มานะ คือ ความอยากให้ตัวเองยิ่งใหญ่ ต้องการอำนาจ ความเด่นดัง ความสำคัญหรือการครอบงำเหนือผู้อื่น ไม่ยอมใคร (ใฝ่อำนาจ ใฝ่อิทธิพล)
ทิฐิ คือ ความยึดถือเอาแต่ความเห็นของตัว ต้องการให้เขารับเอาความเห็นของตน ยึดติดถือรั้นในความเชื่อ ลัทธิ อุดมการณ์ของตน จนสำคัญเหนือกว่าความจริง ไม่ยอมรับฟังใคร (คลั่งลัทธินิยม อุดมการณ์คับแคบ) การถือธรรมเป็นใหญ่จะต้องอาศัยปัญญาเป็นตัวนำเข้าสู่ธรรม ดังนั้น ธรรมที่จะต้องถือหรือเคารพยึดเป็นหลักเป็นมาตรฐาน แบ่งได้เป็น 2 ระดับคือ
ขั้นต้น ได้แก่ หลักการ กฎเกณฑ์ กติกาต่าง ๆ อันชอบธรรม ที่ได้ตกลงกันวางไว้ เช่น รัฐธรรมนูญ หลักศีลธรรม เป็นต้น
ขั้นสูง ได้แก่ ความจริง ความถูกต้องดีงาม และประโยชน์สุข

หลักสาราณียธรรม
หลักสาราณียธรรมเป็นหลักการใหญ่ที่ก่อให้เกิดเอกภาพหรือภราดรภาพ หลักสาราณียธรรม แปลว่าธรรมเป็นเครื่องระลึกถึงกัน เป็นหลักการที่จะทำให้เกิดความประสานพร้อมเพียงสามัคคีและผนึกร่วมกันเป็นเอกภาพ
หลักธรรมนี้มีสาระสำคัญที่สอนว่า สังคมประชาธิปไตยจะต้องมีเครื่องผูกพันคนให้มีความสามัคคีร่วมมือร่วมใจกัน เพราะการที่แต่ละคนจะอยู่ได้ด้วยดีและเอาศักยภาพของตนมาร่วมสร้างสรรค์สังคมประชาธิปไตยได้นั้นคนเหล่านั้นจะต้องมีความสามัคคีรู้จักร่วมมือกันและอยู่ร่วมกันด้วยดี การร่วมมือกันและอยู่ร่วมกันด้วยดีนั้นมีลักษณะการแสดงออกต่าง ๆ ซึ่งเน้นความมีเมตตาปรารถนาดีหวังประโยชน์สุขต่อกันอันจะโยงไปหาหลักการพื้นฐานคือการที่คนเราจะต้องใช้ปัญญา คือ จะต้องใช้ปัญญานั้นบนพื้นฐานของเมตตา หมายความว่าใช้ปัญญาโดยมีเมตตาประกอบ หลักของความเป็นเอกภาพที่เรียกว่า สาราณียธรรม มี 6 ประการคือ
1. เมตตากายกรรม คือ จะทำอะไรก็ทำต่อกันด้วยเมตตา หมายความว่าทำด้วยความรัก ด้วยไมตรีด้วยความปรารถนาดีต่อกัน มีความช่วยเหลือกัน มีการร่วมมือกัน มีความพร้อมที่จะประสานงานกัน
2. เมตตาวจีกรรม คือ จะพูดอะไรก็พูดด้วยเมตตา โดยเจรจากันด้วยเหตุผล โดยใช้ปัญญา ไม่ใช้โทสะเป็นตัวนำฉะนั้นต้อพูดด้วยความปรารถนาดีต่อกัน มีจิตสำนึกในผลประโยชน์สุขร่วมกัน ต้องการสร้างสรรค์
3. เมตตามโนกรรม คือ จะคิดอะไรก็คิดต่อกันด้วยเมตตา นั่นคือ การมีความหวังดีต่อกัน ปรารถนาดีต่อกันโดยการคิดพิจารณาวินิจฉัย คิดวางแผนต่าง ๆ โดยมุ่งทำให้เกิดประโยชน์สุขแก่กัน สร้างสรรค์สังคมและมีไมตรีต่อกันอย่างแท้จริง
4. สาธารณโภคี หมายถึง การมีกินมีใช้ร่วมกัน หรือมีการแบ่งปันเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกันหรือการมุ่งช่วยเหลือและบำเพ็ญประโยชน์ต่อสาธารณะโดยการไม่เห็นแก่ตัว เป็นต้น

5. สีลสามัญญตา หมายถึง มีศีลเสมอกัน คือมีความประพฤติดี รักษาระเบียบวินัย รักษากฎกติกาของสังคม มีความสุจริตกายวาจาที่เสมอกัน ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ก่อความเดือดร้อนแก่สังคม
6. ทิฐิสามัญญตา หมายถึง มีทิฐิ มีความเห็น มีความเชื่อมั่น ยึดถือในหลักการอุดมการณ์และอุดมคติร่วมกันหรือสอดคล้องกันคนในสังคมประชาธิปไตยจะต้องมีความเห็นความเข้าใจและความเชื่อมั่นในหลักการประชาธิปไตยร่วมกัน เช่น การยอมรับระบอบประชาธิปไตย การเข้าใจเรื่องสิทธิและหน้าที่ การเข้าใจเรื่องเสรีภาพ ภราดรภาพหรือเอกภาพ เป็นต้น

กล่าวโดยสรุป พระพุทธเจ้าทรงสอนสำหรับพระสงฆ์ก่อน ว่าพระสงฆ์จะต้องอยู่ด้วยหลัก 6 ประการนี้ ถ้าอยู่ด้วยหลัก 6 ประการแล้วแต่ละคนที่เป็นสมาชิกของสังคมก็จะระลึกถึงกัน มีน้ำใจประสานกลมกลืนพร้อมที่จะร่วมมือกัน เพราะตั้งแต่ทางกายเราก็มีเมตตาต่อกัน ปฏิบัติต่อกันด้วยเมตตาช่วยเหลือเอาธุระต่อกัน ทางวาจาเราก็พูดด้วยน้ำใจรักกัน ในจิตใจเราก็คิดปรารถนาดีต่อกัน ในการอยู่ร่วมกันมีของอะไร หรือได้รับสิ่งใดมาก็มาแบ่งปันกัน ในการรักษาสถานภาพของสังคมเราก็รักษาระเบียบวินัย มีศีลเสมอกัน ไม่เบียดเบียนก่อความเดือดร้อนแก่กัน และปฏิบัติตามกฎกติกาของส่วนรวม เราก็มีความเชื่อมั่นยึดถือและเข้าใจหลักการสำคัญของประชาธิปไตยร่วมกัน ตลอดจนเข้าใจร่วมกันในความจริงที่เป็นธรรมชาติของโลกและชีวิตที่จะรองรับความเป็นมนุษย์ของเราไว้ด้วยกัน เพียงเท่านี้ก็อยู่เป็นสุขและพัฒนาได้ดีแน่ บนฐานแห่งความสัมพันธ์ที่ดีงามมั่นคง โดยที่แต่ละคนก็มีความระลึกถึงกันมีน้ำใจประสานร่วมมือต่อกัน สังคมก็ยึดเหนี่ยวเกาะกุมกันอยู่ให้เกิดภาวะที่เรียกว่า เอกภาพ

คำสำคัญ (Tags): #มหาจุฬาฯ
หมายเลขบันทึก: 440258เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2011 12:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 12:12 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท