การเรียนรู้ด้วยการบริการสังคม (service-learning): ก้าวต่อไปของหลักสูตรเพื่อพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์


หลักสูตรเป็นสิ่งที่มีความหมายมากกว่าสาระความรู้

  

 มาร่วมสร้างประชาคมการสอนภาษาไทยให้มีหลักการ มีทฤษฎีและมีชีวิต    

                                                                                                 

เฉลิมลาภ  ทองอาจ

                                                                                           

          นักหลักสูตรและการสอนมีประเด็นเชิงปรัชญาให้ถกเถียงอย่างไม่สิ้นสุดว่า แท้จริงแล้วเราควรพัฒนาหลักสูตรการศึกษาไปเพื่ออะไร น่าสนใจว่า ข้อยุติของการถกเถียงส่วนใหญ่  ไม่ใช่การให้ผู้เรียนมีความรู้ในเชิงวิชาการ (academic knowledge) หรือความรู้สำหรับการประกอบอาชีพ  แต่กลับเป็นการจัดประสบการณ์เรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ คือ มีใจสูง  มีเมตตาต่อเพื่อมนุษย์และโลก        ด้วยการเห็นประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว  ที่เป็นเช่นนี้ เพราะในเชิงปรัชญาแล้ว  การศึกษาที่ให้แก่บุคคลย่อมมีคุณค่ามากกว่าเพียงเพื่อให้บุคคลนั้นมีงานทำ

 

          ในต่างประเทศโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้เรียนให้เกิดจิตสำนึกในฐานะที่เป็นสมาชิกของสังคม ผ่านกระบวนการเรียนรู้และการสอนที่เรียกว่า  การเรียนรู้ด้วยการบริการสังคม (service-learning) ซึ่งมีผู้ให้ความหมายไว้ว่า  เป็นวิธีการสอนที่ผู้เรียนเรียนรู้และพัฒนาตนเองจากการเข้าไปมีส่วนร่วมโดยตรงในการให้บริการแก่สาธารณะ  ซึ่งสอดคล้องกับความจำเป็นและ           ความต้องการของชุมชน (Taylor และ  Ballengee-Morris, 2004) จะเห็นได้ว่า  เป้าหมายของการเรียนรู้ด้วยการบริการสังคมนั้น เป็นประโยชน์ทั้งต่อผู้เรียนและสังคม  กล่าวคือ  ผู้เรียนจะได้เรียนรู้และพัฒนาความสามารถในเชิงวิชาการ  อารมณ์และสังคมควบคู่กันไปด้วย ขณะที่ชุมชนหรือสังคมก็จะได้รับประโยชน์จากการที่ผู้เรียนเข้าไปให้บริการในลักษณะต่างๆ  โดยเฉพาะกิจกรรมอาสาสมัคร (volunteer)  ซึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา กิจกรรมอาสาสมัครหรือการให้บริการต่อสังคมโดยไม่รับค่าตอบแทนนั้น ไม่ได้เป็นเพียงกิจกรรมเสริมเท่านั้น แต่ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาในหลักสูตรในรูปแบบที่เป็นวิชาเลือกด้วย  ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการสหรัฐอเมริกา ได้รายงานว่าในปี     ค.ศ. 1999 มีโรงเรียนของรัฐกว่า  83% ที่มีนักเรียนเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมให้บริการชุมชน และในปี ค.ศ. 2005 สำรวจพบว่าโดยส่วนใหญ่นักเรียนมักปฏิบัติกิจกรรมเพื่อสังคมในรายวิชาสังคมศึกษา  (12%)  วิทยาศาสตร์ (10%)  และภาษาอังกฤษ  (7%) (the National Center for Education Statistics, 2010) ประเด็นสำคัญที่นักหลักสูตรและการสอนของไทยต้องขบคิดต่อไปก็คือ หลักสูตรสถานศึกษาของประเทศได้นำแนวคิดเรื่องการเรียนรู้ด้วยการบริการสังคมมาเป็นฐานในการออกแบบหลักสูตรแล้วหรือยัง        และหากทำแล้วอยู่ในระดับใด 

 

          ที่จริงแล้วแนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ด้วยการบริการสังคมไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ในการศึกษาของไทยแต่เดิมได้ปฏิบัติกันมา เราคงจะเคยทราบว่า ครูพระสงฆ์สมัยโบราณสอนให้ศิษย์มีความรู้และทักษะวิชาช่างด้วยการพาศิษย์ไปซ่อมแซมหรือสร้างศาสนสถาน แม่บ้านแม่เรือนสมัยก่อนทำอาหารได้หลายชนิด  เพราะไปเรียนรู้วิธีการประกอบอาหารจากแม่ครัวใหญ่ในงานวัดหรือ  งานบุญต่างๆ แพทย์แผนไทยเรียนรู้กรรมวิธีรักษาโรค ก็ด้วยการตามครูแพทย์ไปให้บริการแก่ชาวบ้าน    ในหลายๆ แห่งโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน  การเรียนรู้สมัยก่อนจึงไม่ใช่การเรียนรู้เพื่อประโยชน์เฉพาะตน  แต่เป็นการเรียนรู้ที่สังคมจะได้รับประโยชน์จากการเรียนของเราด้วย  การศึกษาในยุคก่อนจึงไม่เคยทิ้งสังคมไปเช่นในปัจจุบัน  ดังที่เรามักจะได้ยินคำถามทั้งจากครูและผู้เรียนของเราเสมอๆ ว่า  “เรียนแล้วจะนำไปทำอะไรก็ไม่รู้”  “เรียนแล้วไม่เห็นว่าสังคมจะได้ประโยชน์อะไร” และในที่สุดเราก็สรุปว่า  “ถ้าเช่นนั้นก็เรียนให้สำเร็จก่อนแล้วค่อยกลับมาช่วยสังคม” คำถามที่เราต้องคิดต่อก็คือ ก็แล้วเหตุใดเราไม่ทำให้การเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นเรื่องที่สังคมได้ประโยชน์ทุกขณะ และเป็นการเรียนรู้ที่ไม่ต้องสอน แต่เกิดจากการที่ผู้เรียน “เห็นปัญหา” และ “เกิดเมตตา” ที่จะช่วย  ผู้ที่มีใจเมตตาให้แม้แต่คนที่อาจะไม่รู้จักเช่นนี้ จะไม่ใช่มนุษย์ที่สมบูรณ์หรือผู้เรียนที่เราต้องการให้เกิดขึ้นจากการศึกษาหรอกหรือ

 

           สถานศึกษาหลายแห่งสรุปไปว่า การเรียนการสอนแบบโครงงาน เป็นวิธีการเรียนรู้ด้วย          การบริการสังคม  ข้อสรุปดังกล่าวอาจจะไม่ถูกต้องนัก เพราะมิติของการเรียนรู้ด้วยการบริการสังคมไม่ใช่เป็นเพียงกิจกรรมสร้างความรู้ตามความสนใจของผู้เรียนเท่านั้น  เพราะสิ่งที่ผู้เรียนสนใจอาจไม่ใช่สิ่งที่เป็นประโยชน์หรือช่วยให้ปัญหาสังคมหรือชุมชนของเขาคลี่คลายไปก็เป็นได้  เราอาจจะเคยเห็นนักเรียนทำโครงงานประดิษฐ์หุ่นยนต์  ในขณะที่ชุมชนที่โรงเรียนตั้งอยู่มีปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากอุตสาหกรรม การให้บริการต่อสังคมจึงต้องมองปัญหาใกล้ตัว  หรือเป็นเรื่องที่สังคมเรียกร้องขอความช่วยเหลือก่อน  เป็นหลัก  ดังนั้น กิจกรรมการเรียนการสอนตามวิธีนี้อาจอยู่ในรูปแบบอื่นๆ นอกจากโครงงาน เช่น การเป็นอาสาสมัครในองค์กรศาสนา  องค์กรเยาวชนหรือองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร    หรือการฝึกงานในหน่วยงานราชการหรือหน่วยงานที่ให้บริการต่อสาธารณะ เป็นต้น จึงไม่น่าแปลกใจว่าเหตุใดเราจึงเห็นเยาวชนวัยรุ่นชาวต่างประเทศ  เข้ามาทำงานอาสาสมัครพัฒนาชุมชนในท้องถิ่นทุรกันดาร ในขณะที่นักเรียนไทยอายุเท่ากันในท้องถิ่นนั้น  อาจจะตั้งใจท่องตำรับตำราอยู่ให้ห้องเรียนสี่เหลี่ยม      โดยไม่เคยเหลียวมาสนใจเลยว่า ฝรั่งหัวแดงพวกนี้มาทำอะไรกัน

 

          แนวทางเริ่มต้นสู่การใช้วิธีการเรียนรู้ด้วยการบริการสังคม คือการสร้างบรรยากาศประชาธิปไตยในห้องเรียน  กระตุ้นให้ผู้เรียนมองเห็นปัญหาหรือสิ่งที่ชุมชนต้องการให้พวกเขาไปช่วยเหลือ หรือสิ่งจำเป็นเร่งด่วนที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของเพื่อนมนุษย์ในชุมชนดีขึ้น จากนั้นให้อิสระแก่ผู้เรียนเพื่อให้พวกเขาแสดงความรับผิดชอบในการจัดการทุกขั้นตอนในการเลือกหรือออกแบบกิจกรรม    ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดเป้าหมาย  ระยะเวลาในการดำเนินการ การจัดเตรียมอุปกรณ์  การลงมือปฏิบัติ  การประเมินการให้บริการและการสะท้อนความคิดหลังการปฏิบัติงาน  (Lambert และคณะ, 2002)  อย่างไรก็ตาม         สิ่งสำคัญที่สุดที่จะต้องคำนึงถึง  ที่จะทำให้การเรียนรู้ด้วยการบริการสังคมมีประโยชน์อย่างแท้จริงก็คือ  กิจกรรมที่นักเรียนเลือกปฏิบัติควรเอื้อต่อการนำความรู้ที่เรียนมาใช้ประโยชน์  ตัวอย่างเช่น  นักเรียนอาจจะเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครในการทำความสะอาดโรงเรียน  ซึ่งนักเรียนก็จะต้องแสดงให้เห็นวิธีการนำความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์มาใช้ เช่น  การทำกราฟหรือแผนภูมิแสดงปริมาณขณะ ประเภทขยะหรือการบำรุงรักษาระบบนิเวศวิทยาในโรงเรียน เป็นต้น  ดังที่กล่าวมานี้  การเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติเพื่อสังคมจึงน่าจะเป็นก้าวต่อไปของการพัฒนาหลักสูตร  เพราะเป็นหนทางตรงที่ทำให้ผู้เรียนของเราพัฒนาสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้ 

 

          ลองเหลียวกลับไปมองหลักสูตรการศึกษาที่โรงเรียนของท่านก็ได้ว่า  มีสักกี่ชั่วโมงที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยการบริการแก่สังคม และมีสักกี่ชั่วโมงที่พัฒนาผู้เรียนไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์... 

______________________________

 

รายการอ้างอิง 

Corporation for National and Community Service.  2010. Youth helping America: The role of social        institutions in teen volunteering [Online]. Available from: http://www.nationalservice.gov     [2010, April 18]

Lambert, L., Walker, D., Zimmerman, D., Cooper, J., Lambert, M., Gardner, M., & Szabo, M.   2002. The constructivist leader. 2nd ed. New York: Teacher’s College Press.

Taylor, P. and Ballengee-Morris, C. 2004. Service-learning: A language of we. Art Education, 57(5), pp. 6-12. 

 

 



การนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปเผยแพร่หรือดำเนินการใดๆ ควรทำตามหลักวิชาการ จรรยาบรรณและความเป็นมนุษย์
หมายเลขบันทึก: 439468เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2011 22:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 01:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ปัจจัยสำคัญที่สุดในการจัดการเรียนรู้ คำนี้มีความหมายมากเลยครับ และสำคัญมากที่สุดสำหรับผู้ที่มีแนวคิดอยากเป็นครู กำลังจะเป็นครู และเป็นครู 100% "การเป็นครูไม่ใช่เป็นแต่ชื่อ มือไม่ทำ คำไม่พูด สูตรไม่มีเขียน เทียนไม่เคยจุด พุทธไม่เข้าตัว ครัวเรือนไม่ใสใจ" ทั้งหมดนี้ถ้าขาดปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งก็ขาดความเป็นครู สรุปได้ว่าจะทำอย่างไรให้อาชีพครูเป็นครูมืออาชีพ มีความดี มีศิลปะ มีวิชาการ มีผลงาน เมื่อนำความรู้ดังกล่าวไปสอนผู้เรียนก็จะเกิดการเรียนรู้ มีแนวคิดอยากรับรู้หรือเกิดการยอมรับจากครู สิ่งต่างๆ ที่กล่าวนั้น คือจุดมุ่งหมายทางการศึกษา Goal of Education เมื่อนักเรียนเกิดพฤติกรรมทางการศึกษา Behavior of Learning, Teaching and Education เรียนแล้วจำนำไปใช้คือได้เรียนรู้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท