นักวิชาการชี้อีก 10 ปีเกษตรไทยเป็น “ไม้ล้ม” ถ้าไม่รีบปรับตัว


เขียนโดย อมราวดี อ่องลา วันพุธที่ 11 พฤษภาคม 2554 เวลา 19:05 น.

 

       
 

วิกฤติ จากไม่ตั้งรับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ-การเมืองแทรก ทางรอดคือโตอย่างไม้ป่าให้เกษตรกรรวมเป็นเครือข่ายจัดการทั้งระบบ นักวิชาการชี้สต็อคนักวิจัยล้มเหลว แนะเชื่อมโยงภูมิปัญญาท้องถิ่น เกื้อกูลนิเวศ  ปฏิรูปที่ดินให้หนุ่มสาวคืนถิ่น ซีพีเสนอเลิกกีดกันลงทุนต่างชาติ-เน้นปลูกพืชพลังงาน

วันที่ 11 พ.ค. 54 ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันคลังสมองของชาติและภาคีเครือข่าย จัดอภิปราย “ภาพอนาคตการ เกษตรไทย 2563 กับก้าวย่างต่อไป” โดยใช้การวิเคราะห์จากสัญญาณความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับภาคเกษตรปัจจุบันมาคาด การณ์ความเป็นได้ในอีก 10 ข้างหน้า

โดยได้ภาพอนาคตซึ่งประกอบด้วย 1.ไม้ล้ม คาดการณ์ว่าภาค เกษตรไทยจะล้มเหลว อันเป็นผลมาจากการไม่เตรียมรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเมืองแทรกแซงนโยบายการเกษตร 2.ไม้เลี้ยง คาดการณ์ว่ารัฐบาล เอกชน จะเป็นตัวอุ้มชูที่สำคัญ และ 3.ไม้ป่า คาด การณ์ว่าเกษตรกรจะสามารถรวมเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่เพื่อจัดการกับวิกฤติทั้ง ระบบ ทั้งการผลิต การลดต้นทุน และการตลาด

นางลัดดาวัลย์ คำภา รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มองว่าไม้ ป่าจะยั่งยืนที่สุดและสามารถต่อสู้กับ 2 ปัจจัยหลัก คือการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและนโยบายการเกษตรของรัฐ ก้าวต่อไปข้างหน้าจึงเป็นเรื่องการสร้างองค์ความรู้ที่ต้องเชื่อมโยงกับ ภูมิปัญญา จัดการน้ำและดินด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชนมากขึ้น พร้อมกับสร้างมูลค่าตามแนวคิดเกษตรสร้างสรรค์ ก็หันมาผลิตน้อยแต่คุ้มค่า เพราะอนาคตทรัพยากรจะจำกัดไปเรื่อยๆ

นายมนตรี คงตระกูลเทียน ประธานคณะผู้บริหารกลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า ทิศทางข้างหน้าภาคเกษตรไทยจะเข้าสู่ยุคเกษตรกรรมใหม่ที่ต้องอาศัยเทคโนโลยี ผนวกกับเกษตรดั้งเดิมที่ทำอยู่ ดังนั้นต้องให้ความสำคัญกับการจัดสรรพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและการ พัฒนานวัตกรรมการผลิตเพื่อสร้างความได้เปรียบทางต้นทุนและคุณภาพ รวมทั้งต้องไม่กีดกันการลงทุนของต่างชาติซึ่งจะนำตลาดเข้ามาทำให้การผลิตของ ไทยดีขึ้น นอกจากนี้ต้องเน้นที่การพัฒนาคน ชักจูงใจให้คนรุ่นใหม่กลับสู่ภาคเกษตร โดยเลิกคิดว่าเกษตรกรคือพวกหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินแต่เป็นผู้ประกอบการเกษตร ที่วางระบบได้เองทั้งหมดและใช้จักรกลการเกษตรแทนแรงงานคน

“ต้องไม่รังเกียจที่จะส่งเสริมการปลูกพืชพลังงานทดแทน เพราะต่อไปจะมีความสำคัญเชิงเศรษฐกิจ ผมไม่ได้ปฏิเสธว่าพืชอาหารสำคัญ เพราะต่อไปราคาอาหารจะสูงขึ้น แต่ที่มากไปกว่านั้นคือเราต้องแข่งขัน หากวันนี้พูดว่าอาหารมนุษย์สำคัญที่สุด แต่ก็ต้องไม่ลืมด้วยว่าอาหารเครื่องจักรก็ทิ้งไม่ได้”

ดร.จำเนียร วรรัตน์ชัยพันธ์ ผอ.อาวุโส สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาภาคเกษตรพัฒนาโดยละเลยปัจจัยเชิงนิเวศที่เป็นผลให้เกิดการเกื้อกูล กันของทุกระบบ เป็นสาเหตุทำให้ภาพปัจจุบันมีลักษณะเป็นไม้ล้มเกือบทั้งหมด แต่กลับไม่ถูกพูดถึงและไปให้ความสำคัญเฉพาะทุนและเทคโนโลยี จึงเสนอว่า ทิศทางต่อไปควรใช้นิเวศสิ่งแวดล้อมเป็นตัวตั้งไม่ใช่การส่งออก มีการโซนนิ่งที่ดิน เพราะทุกวันนี้สะเปะสะปะมาก ส่วนการจัดการน้ำซึ่งเป็นปัญหามาตลอดนั้น การใช้ระบบลุ่มน้ำจะเป็นทางออกที่เป็นไปได้ และเห็นด้วยกับระบบเกษตรพันธะสัญญา แต่ขอให้เป็นธรรมมากกว่าที่เป็นอยู่

“ทุกกลไกต้องทำงานร่วมกับชุมชน โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งจะมีบทบาทมากขึ้นเนื่องจากนโยบายกระจาย อำนาจมาเป็นกลไกจัดการเชิงพื้นที่ ส่วนประเด็นแรงงานหนุ่มสาวหลุดออกภาคเกษตรนี้โยงกับการปฏิรูปที่ดิน ถ้าแก้การปฏิรูปที่ดินได้น่าจะคลายปมนี้ได้เช่นกัน”

รศ.ดร.พงศ์เทพ อัครธนกุล ผอ.ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีชีวภาพเกษตร กล่าวว่า สิ่งที่เป็นตัวแปรสำคัญที่สุดในการพัฒนาภาคเกษตรคือการสร้างคน ในที่นี่คือเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ควรมีความรู้เท่ากันหรืออาจต้องมากกว่าคนรุ่น เดิม และงานวิจัยที่เปรียบเหมือนไวน์ดีที่ผ่านการบ่มเพาะ ซึ่งวันนี้อาจต้องเช็คสต๊อกดูว่ามีมากแค่ไหน และนักวิจัยเก่งพอหรือไม่ ตรงนี้น่าห่วงมากเพราะเท่าที่มีบอกได้ว่าสายเกินไปแล้วที่จะเตรียมใช้ในอีก 10 ข้างหน้า แต่ต้องทำเพราะถ้าปล่อยไว้ไทยจะเป็นไม้ล้มแน่

นายไพรัชต์ ชื่นศรี ผอ.ศูนย์การเรียนรู้วิสาหกิจชุมชนบ้านแสงจันทร์ จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า เห็นด้วยให้เริ่มต้นจากการปรับแนวคิดของเกษตรกร เพราะชาวบ้านไม่เชื่ออะไรง่ายๆ การปรับเปลี่ยนแนวทางไปสู่ยุคที่ต้องพึ่งพิงเทคโนโลยีสมัยใหม่ต้องอาศัยการ ถ่ายทอดความรู้ที่จับต้องเป็นรูปธรรมได้ และ อปท.ต้องมีบทบาทมากขึ้น เพราะรัฐบาลมีข้อจำกัดและเชื่อว่าจะจำกัดแบบนี้ต่อไปอีก 10 ปีข้างหน้า.

คำสำคัญ (Tags): #ข่าว
หมายเลขบันทึก: 439004เขียนเมื่อ 11 พฤษภาคม 2011 23:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

Absolutely, the Future of Thailand depends much more on 'ecological farming' than processing and assembling industries.

Most of our politicians and economists cannot see beyond dollars and cents.

Few people see 'senses' in living in tune with the natural world -- the environment that our children will also live in.

And to stress the point "...ซีพีเสนอเลิกกีดกันลงทุนต่างชาติ-เน้นปลูกพืชพลังงาน..." our major agri-business supports selling our farmland to foreign corporations and reducing our food in favour of more energy -- or money.

If we don't keep our farms, we will lose it --forever-- to investors overseas.

Our children will not have farm/land to live on.

They will forever be slaves -- working for overseas investors for food to each and a place to sleep each day.

It will be extremely sad to be slaves in our own mothers' land.

We must now choose --our future is in our hands--.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท