สัพเพเหระกับบันทึก


ระหว่างสอนชอบถ่ายภาพเก็บไว้ ซึ่งมีพัฒนาการมาเรื่อย เริ่มจากตัวเองทำผลงานขอกำหนดตำแหน่งใหม่เมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว จึงต้องการภาพประกอบ เพื่อความสมบูรณ์ในการรายงานผลการจัดการเรียนการสอน ก่อนนั้นเคยมีหน้าที่รับผิดชอบงานโสตทัศนศึกษา ทั้งจากโรงเรียนเก่าและปัจจุบัน จึงเรียนรู้การถ่ายภาพด้วยกล้องโรงเรียนมาแล้วบ้าง

พอรู้จักGotoKnowจากการสืบค้นในอินเทอร์เน็ต เนื่องจากได้ยินผู้อำนวยการในขณะนั้นพูดถึงKMในที่ประชุม งงเลยครับ KMคืออะไร สุดท้ายก็รู้ว่าหมายถึงการจัดการความรู้ แล้วการจัดการความรู้คืออะไร เกี่ยวอย่างไรกับGotoKnow การเล่าประสบการณ์เพื่อแลกเปลี่ยนกันและกันเป็นการจัดการความรู้แล้วล่ะหรือ ทำให้ตัวเองเริ่มอ่าน เริ่มเขียน บันทึกท่านอาจารย์หมอวิจารณ์ ดร.ขจิต คุณเอก หนานเกียรติ และอีกหลายๆท่าน ทำให้พอเข้าใจKM ขอบคุณทุกท่าน รวมทั้งคณะทำงานของGotoKnow

การเขียนเล่าในบล็อกแห่งนี้ เป็นความต่อเนื่องที่ทำให้ตัวเองชอบถ่ายภาพการเรียนการสอนเก็บมาจนปัจจุบัน ทั้งนี้ก็ไว้เผื่อเล่า เผื่อแลกเปลี่ยน ถ้าบังเอิญการจัดการเรียนการสอนในครั้งนั้น มีบางอย่างน่าสนใจ

แต่ระยะหลังเริ่มวน ใครเป็นครูจะรู้ วิชาที่สอน เรื่องที่สอน จะซ้ำกันแทบทุกปี ที่บอกแทบทุกปี เพราะอาจมีการเปลี่ยนแปลงบ้างยามครูเพิ่มครูขาด เมื่อซ้ำวิธีก็ไม่ต่างไปจากเดิมนัก แม้เด็กแต่ละรุ่นจะเปลี่ยน แต่สภาพก็คล้ายกันอีกแหละครับ นักเรียนละแวกนี้ ผู้ปกครอง อาชีพ พื้นฐานการศึกษา นิสัยใจคอ เป็นที่มาทำให้การจัดเรียนการสอนที่จะนำมาเล่าแลกเปลี่ยนนั้น นับวันยิ่งรู้สึก คงไม่น่าสนใจ หรือไม่ก็คล้ายเดิม ซึ่งได้เขียนเล่าไปแล้ว

เปิดชมภาพที่เก็บไว้หลายรอบแล้ว ตั้งแต่ปิดเทอมใหม่ๆ ปีการศึกษานี้มีอีกหลายครั้งเลยที่ยังไม่ได้เล่า ไม่ได้นำเสนอ อาทิ ชั้นม.4 เรื่องความจุปอด หลอดเลือดเวน และการไหลเวียน

เรื่องความจุปอด หรือปริมาตรอากาศในลมหายใจออก สังเกตและพูดเสมอ ถ้านักเรียนได้ลงมือทำเอง เรียนรู้ด้วยตนเอง ทุกคนจะชอบจะสนุก ครั้งนี้ก็เช่นกัน และด้วยความไม่พร้อมของห้องปฏิบัติการ ผมจึงนำเด็กๆมาหาความจุปอดที่อ่างล้าง บริเวณบันไดทางขึ้นอาคารเรียน

ทำไปทำมากลายเป็นการแข่งขัน ว่าใครจะเป่าลมหายใจออกมาได้มาก(ที่สุด)กว่ากัน บางคนครั้งแรกได้น้อย จะมีการเป่าแก้ตัวครั้งที่สอง หรือครั้งที่สาม เท่าที่จำตัวเลขจากรายงานของนักเรียนได้ ส่วนใหญ่อยู่กันที่ 4 ลิตร มีบ้างคนสองคนได้น้อยแค่ 3 ลิตร และมีอยู่คนเดียวที่เป่าได้มากถึง 5 ลิตร เครื่องมือเครื่องไม้ โดยเฉพาะขวดพลาสติก ก็นำแกลลอนสีขาวขนาด 5 ลิตร ซึ่งมีอยู่ทั่วไปมาประยุกต์ใช้

ส่วนเรื่องหลอดเลือดเวน เป็นการศึกษาทิศทางการไหลของเลือดในหลอดเลือด ถ้าจำไม่ผิดหนังสือชีววิทยาสสวท.หลักสูตรเก่า จะบอกไว้ว่า ปฏิบัติการง่ายๆนี้ ต้นแบบมาจากการทดลองของนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ วิลเลี่ยม ฮาร์วี่ย์ ผู้ค้นพบระบบการไหลเวียนโลหิต

สำหรับเรื่องการไหลเวียน เป็นการศึกษาการหมุนเวียนเลือดของปลา โดยใช้ปลาหางนกยูงเป็นสื่อ นักเรียนจะดูการไหลของเม็ดเลือดในหลอดเลือดบริเวณหาง ภาพขยายจากกล้องจุลทรรศน์ จะทำให้เห็นเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างชัดเจน จนหลายคนตื่นเต้นและสนใจเรียนในคาบเรียนนั้นอย่างน่าชื่นชม

การได้คิดได้เขียนถึงการสอนที่ผ่านมา นับว่ามีประโยชน์ต่อการพัฒนาเป็นอย่างมาก เพราะทำให้เห็นความสำเร็จ หรือความผิดพลาดในการจัดการเรียนสอน ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ได้เป็นอย่างดีในครั้งต่อๆไป รู้สึกตัวเองว่าเอาใจใส่ต่อความสนใจเรียน และความเข้าใจในสิ่งที่นักเรียนเรียนมากขึ้น กระจ่างในพฤติกรรมนักเรียนหลายๆเรื่อง เรียกว่าครูเรียนรู้ไปกับนักเรียนก็ได้ ไม่ว่าจะเรื่องการสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ การเรียนด้วยการท่องจำ ความแตกต่างระหว่างบุคคล อารมณ์ครู หรือพหุปัญญา เป็นต้น

โดยเฉพาะเรื่องพหุปัญญา ความเก่งของคนเรามีตั้งหลายอย่าง มิใช่มีแต่เก่งทำข้อสอบเท่านั้น ลูกศิษย์ผมอาจไม่เก่งจะทำข้อสอบให้ได้คะแนนเป็นเลิศ แต่หลายเรื่องเชื่อเหลือเกินว่า แม้แต่ครูอย่างเราก็ไม่สามารถทำได้อย่างเขา เรื่องการทำไร่ไถนา การรับจ้างทำงานสารพัดอย่าง เขาขวนขวายให้ตัวเองอยู่รอด เพื่อให้มาโรงเรียนต่อไปได้ ท่ามกลางความอัตคัด ภาวะแตกแยกในครอบครัว ทึ่งความฉลาดพวกนี้ของเหล่าลูกศิษย์ครับ

ฉะนั้น เมื่อผลการสอบโอเน็ตประกาศออกมาอย่างเป็นที่กล่าวขาน ตัวเองจึงไม่ใคร่ยินดียินร้ายอะไรนัก(ฮา)

หมายเลขบันทึก: 438592เขียนเมื่อ 9 พฤษภาคม 2011 01:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กันยายน 2015 16:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

สวัสดีค่ะ

น่าเห็นใจครูเดี๋ยวนี้มาก  ไหนจะงานสอนไหนจะงานพิเศษไหนจะงานส่วนตัวอีก

เลยเกิดความเครียดกันโดยถ้วนหน้า

ยิ่งผลสอบออกมาแล้วไม่เป็นที่น่าพอใจจากเบื้องบนอีก.....ช้ำไหมล่ะ


เครื่องมือวัดปริมาตรของปอด ที่นักเรียนใช้ น่าสนใจเลยทีเดียว

  • กำลังคิดถึงว่าอาจารย์หายไป
  • แต่ดีใจที่อาจารย์กลับมา
  • ชอบการเรียนรู้แบบที่มีชีวิตแบบนี้
  • ไม่น่าเบื่อสนุกมากๆๆ
  • ลองปรับปรุงการสอนจากการบันทึก ผมเชื่อว่าอาจารย์ทำได้แน่นอน
  • รออ่านอีกนะครับ

สวัสดีครับท่านอาจารย์ธนิตย์ รู้จัก KM จาก GotoKow เหมือนกันครับ

สวัสดีค่ะ

"...เรียกว่าครูเรียนรู้ไปกับนักเรียนก็ได้ ..."

ชอบค่ะถ้าคุณครูเรียนรู้ไปพร้อมเด็กด้วยอีกชั้นหนึ่ง

จะพบความรู้ดีๆที่เกิดจากเด็กนักเรียนของเรา

ที่เราเองบางครั้งคาดไม่ถึงค่ะ

ดิฉันเคยมีลูกศิษย์บอกว่า....อยากรู้จักสารที่เขาใช้ป้ายมากิ่งตอนแล้วงอกรากเร็ว....

ซึ่งเป็นความรู้ที่ตัวเองยังไม่รู้จัก... ก็ได้เรียนรู้จากที่เด็กไปค้นมาค่ะ

จะมีสักกี่คนครับ เป็นครูวิทยาศาสตร์และเขียนบันทึกได้ราวกับศิลปิน..
มิหนำซ้ำถ่ายภาพก็เนียนงาม

นับถือครับ...

สวัสดีค่ะพี่ธนิตย์ Ico64

* ชอบวิธีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของพี่ธนิตย์ เด็กๆ ได้ลงมือปฎิบัติ เกิดประสบการร์ตรง มีทักษะในการใช้เครื่องมืออุปกรณ์  จากภาพเด็กๆ ให้ความสนใจ และสีหน้าของเค้ามีความสุขกับการเรียนรู้ค่ะ

* เทอมนี้ สอนกี่คาบคะ สมศ.จะเข้าหรือเปล่าคะ....

* สุขสันต์วันหยุดค่ะ

 

สวัสดีค่ะคุณครู สบายดีไหมคะ หายเงียบไปนานมากๆ

มาส่งความระลึกถึงด้วยจิตคารวะ รอชมภาพงามอีกนะคะ :)

คิดถึงอาจารย์ อาจารย์ก็มา เย้ๆๆ

สวัสดีเทศกาลวันพระค่ะคุณครู :)

แค่ตามอ่าน พี่ก็ขอบอกว่าชอบวิธีสอนของอาจารย์ มันมีชีวิตชีวา

เมื่อไหร่ที่ครูเริ่มเบื่อวิธีสอนของตัวเอง และพยายามหาวิธีสอนใหม่ๆ แต่ไปสู่เป้าหมายเดียวกัน พี่ว่าบรรยากาศในห้องเรียนจะสนุก

กิจกรรมการเรียนรู้นี่เป็น "ความคิดสร้างสรรค์" ของครูแท้ๆ นะคะ

พี่ชวนอาจารย์ไปอ่านที่พี่ตอบบันทึกนี้ค่ะ

และชวนไป แสดงความยินดีบัณฑิตใหม่

มีประโยชน์มากครับ สนับสนุนการเรียนการสอนดีดีแบบนี้ครับ :)

www.scitrader.co.th

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท