๑๙.มหาปรินิพพานสูตร : แนวคิดทางการเมืองการปกครองเชิงพุทธ


ในวงการเมืองปัจจุบันการจะเข้าสู่พรรคต้องสมัครเป็นสมาชิกของพรรคก่อน แล้วจึงทำงานให้พรรค แต่ในสมัยพุทธกาลพระพุทธองค์ได้วางไว้ ๒ เกณฑ์ คือเกณฑ์ที่หนึ่ง ถ้าเป็นพรหมณ์ หรือนักบวชอื่น ๆ จะให้ถึงไตรสรณคมณ์ก่อนจึงบวชได้ เกณฑ์ที่สอง หากเป็นอัญเดียรถีย์ คือนักบวชนอกศาสนา พระองค์ทรงให้อยู่ปริวาสถึง ๔ เดือนเสียก่อน ทั้งนี้เพราะต้องการให้ฝึกหัดมารยาทใหม่แต่ในกรณีสุภัททปริพาชก นั้นเป็นกรณีพิเศษ เพราะพระองค์ทรงคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลด้วย

.๑. มหาปรินิพพานสูตร  :  สูตรว่าด้วยแนวคิดการเมืองการปกครองเชิงพุทธ [1]

                สมัยหนึ่ง  พระพุทธเจ้าทรงประทับอยู่  ณ  ภูเขาคิชฌกูฏ  เขตกรุงราชคฤห์  สมัยนั้นพระราชาแห่งแคว้นมคธ  พระนามว่าอชาตศัตรู  เวเทหิบุตร  มีพระประสงค์จะเสด็จไปปราบแคว้นวัชชี  รับสั่งว่า  เราจะโค่นล่มพวกวัชชีผู้มีฤทธิ์มากอย่างนี้  มีอานุภาพมากอย่างนี้  ให้พินาศย่อยยับไป      จึงตรัสสั่งวัสสการพราหมณ์มหาอำมาตย์       ให้เข้าเฝ้าแล้วกราบทูลถามพระพุทธเจ้าถึงพระสุขภาพ

                สมัยนั้นพระอานนทเถระยืนถวายงานพัดพระพุทธเจ้าอยู่  ณ  เบื้องพระปฤษฏางค์  พระพุทธเจ้าตรัสถึงเจ้าวัชชีที่ประพฤติอปริหานิยธรรม  ๗  ประการ

                ลำดับนั้น  วัสสการพราหมณ์มหาอำมาตย์  กราบทูลว่าข้าแต่ท่านพระโคดม  พวกเจ้าวัชชีมีอปริหานิยธรรม  แม้เพียงข้อเดียวก็พึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียวไม่มีความเสื่อมเลย  ไม่จำต้องกล่าวว่ามีครบทั้ง  ๗  ประการ  ข้าแต่ท่านพระโคดม  พระราชาแห่งแคว้นมคธพระนามว่าอชาตศัตรู  เวเทหิบุตร  ไม่ควรทำสงครามกับพวกเจ้าวัชชี  นอกจากจะใช้วิธีปรองดองทางการทูต  หรือไม่ก็ให้แตกความสามัคคีกัน

                หลังจากวัสสการพราหมณ์มหาอำมาตย์  กราบทูลลาไปแล้ว  พระพุทธเจ้าตรัสเรียกพระอานนท์ให้ประชุมสงฆ์ที่เข้ามาพักในกรุงราชคฤห์  ณ  หอฉัน  แล้วตรัสอปริหานิยธรรม  ๖  แผน อันได้แก่

                -อปริหานิยธรรม  ๗  ประการแผน  ๑

                -อปริหานิยธรรม  ๗  ประการแผน  ๒

                -อปริหานิยธรรม  ๗  ประการแผน  ๓

                -อปริหานิยธรรม  ๗  ประการแผน  ๔

                -อปริหานิยธรรม  ๗  ประการแผน  ๕

                -อปริหานิยธรรม  ๖  ประการแผน  ๖

หลังจากนั้น  พระพุทธเจ้าทรงตรัสถึงโทษของคนทุศีล  ๕  ประการ, อานิสงส์ของคนมีศีล  ๕  ประการ, การสร้างเมืองปาฏลีบุตร, เรื่องอริยสัจจ์  ๔, ความไม่หวนกลับมาและจะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า,  หลักธรรมที่มีชื่อว่าแว่นธรรม (ธรรมเป็นเครื่องมือให้อริยสาวกมีไว้),    เรื่องนางอัมพปาลีคณิกา, เรื่องทรงเข้าจำพรรษาในเวฬุวคาม, เรื่องว่าด้วยนิมิตโอภาส, มารกราบทูลให้ทรงปรินิพพาน, ทรงปลงพระชนมายุสังขาร, เหตุให้เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง  ๘  ประการ, บริษัท  ๘  จำพวก, อภิภายตนะ (เหตุครอบงำเหตุที่มีอิทธิพล) ๘  ประการ, วิโมกข์  ๘  ประการ, ทรงเล่าเรื่องมาร, พระอานนท์กราบทูลอาราธนา, ทรงแสดงอานุภาพของอิทธิบาท  ๔, สังเวชนียธรรม, มหาปเทส  ๕  ประการ,  นายจุนทกับมารบุตร,  ปุกกุสะมัลลบุตร, เสด็จไปยังควงไม้สาละทั้งคู่, พระอุปวาณเถระ, สังเวชนียสถาน  ๔  ตำบล, คำถามพระอานนท์, ถูปารหบุคคล, มหาสุทัสสนสูตร, เรื่องสุภัททปริพาชก, ปัจฉิมวาจาของพระตถาคต  หลังจากนั้น  เป็นเหตุการณ์ของพุทธปรินิพพาน,    การบูชาพระพุทธสรีระ,   เรื่องของ

พระมหากัสสปเถระ, การถวายพระเพลิงพุทธสรีระ, การแจกพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า, การบูชาพระบรมธาตุและสร้างพระสถูป.

.๒. แนวคิดการเมืองในมหาปรินิพพานสูตร

            แนวคิดทางการเมืองในมหาปรินิพพานสูตรนี้  แม้พระพุทธองค์จะไม่ได้ตรัสหลักการทำสงครามเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ฝ่ายไหนก็ตาม  พระองค์ทรงปรารภความสามัคคีของเจ้าวัชชีที่มีอปริยหานิยธรรม   ๗   ประการ   แต่วัสสการพราหมณ์ได้นำทฤษฎีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตีประเด็น และได้นำแนวคิดดังกล่าวไปใช้กับงานของตนโดยเริ่มจากการเข้าไปแทรกตัวเพื่อทำลายความสามัคคีของกุลบุตรในแคว้นวัชชี.. แม้ว่าพระองค์จะทรงสั่งสอนเรื่องสันติภาพและความอดทนแก่พุทธสาวกอย่างเข้มแข็งยิ่ง แต่ก็ปรากฏหลายครั้งในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาที่ชาวพุทธเบี่ยงเบนจากคำสั่งสอนในเรื่องสันติภาพ เป็นความจริงที่ว่าความขัดแย้งทางด้านเชื้อชาติและศาสนาบางกรณีในบางภูมิภาคของโลกนี้แสดงให้เห็นว่า บางครั้งชาวพุทธได้รับการบิดเบือนในอันที่จะก่อให้เกิดความไม่อดกลั้นและถือเลือกปฏิบัติ หรือหาประโยชน์ใส่ตนจนถึงที่สุด แล้วบางทีการบิดเบือนทางศาสนาก็ให้ผลจนกระทั่งมีการใช้กำลังต่อคนที่เป็นปรปักษ์ ดังเช่นกรณีที่พระเจ้าทุฏฐคามณีอภัยแห่งประเทศศรีลังกา อ้างพระพุทธศาสนามาสนับสนุนการทำสงคราม [2]

.๓. แนวคิดทางการเมืองแคว้นมคธ

.๓.๑. นโยบายรวมชาติของอชาตศัตรู

                พระเจ้าอชาตศัตรู   เวเทหิบุตร เจ้าแห่งแคว้นมคธมีนโยบายที่จะผนวกดินแดนโดยการจะยกทัพไปปราบแคว้นวัชชีซึ่งเป็นมหาอำนาจที่น่ากลัวแคว้นหนึ่งในยุคนั้น  พระองค์จึงทรงสั่งการให้วัสสการพราหมณ์เสนาบดีแห่งแคว้นมคธไปกราบนมัสการพระพุทธเจ้าเพื่อทรงทราบพยากรณ์ว่าจะเห็นด้วย หรือไม่อย่างไรบ้าง

            ๗.๓.๒. หลักการมอบหมายงาน  [ Put  the right man  in  the  right  job]

                ในเรื่องดังกล่าวนี้ จะเห็นว่าผู้นำรัฐอย่างพระเจ้าอชาตศัตรู  ได้มองเห็นความสามารถของวัสสการพราหมณ์ ผู้เป็นเสนาบดีของพระองค์  จึงได้มอบงานที่สำคัญให้ทำการ นับได้ว่าเป็นการใช้คนให้ถูกกับงานเป็นอย่างมาก

.๓.๓. การเมืองระหว่างแคว้น

                แคว้นวัชชีเปิดฉากรุกรานแคว้นมคธ

                ในเรื่องดังกล่าวนี้แคว้นวัชชีคงจะทราบจุดประสงค์และความต้องการของฝ่ายแคว้นมคธอยู่มิใช่น้อย  จึงได้ส่งกองกำลังเข้ามาประชิดชายแดนของมคธซึ่งเป็นแคว้นที่ใหญ่กว่า จนแคว้นมคธต้องรีบส่งมหาอำมาตย์มาสร้างเมืองใหม่เพื่อเตรียมต่อสู้กับแคว้นวัชชีเป็นการเร่งด่วน

 

) การเมืองระหว่างวัชชีกับมคธ

                การทำสงครามระหว่างแคว้นวัชชีกับแคว้นมคธคงจะเริ่มมีบ้างแล้วในพระสูตรนี้มีการสร้างเมืองหน้าด่าน  หรือเมืองที่เป็นป้อมปราการเพื่อหยุดยั้งการขยายตัวอิทธิพลทางการเมืองของแคว้นวัชชีที่แผ่มายังแคว้นมคธ ดังปรากฏว่าสมัยนั้นมหาอำมาตย์สุนีธะ และมหาอำมาตย์วัสสการะชาวแคว้นมคธสร้างเมืองในปาฏลิคามเพื่อป้องกันพวกวัชชี   [3]  เมืองปาฏลิคาม  (เมืองปาฏลีบุตร)นี้เอง ต่อมาเป็นเมืองหลวงของแคว้นมคธ โดยมีพระมหากษัตริย์พระนามว่าพระเจ้าอโศกมหาราช  พระราชาผู้ยิ่งใหญ่ขึ้นครองราชย์ในปี  พ.ศ. ๒๑๘  [4]

            ข. กลยุทธ์ทางการทูต

                เดิมทีแคว้นมคธจะใช้กำลังทหารเข้าโจมตีแล้วชิงเมืองของแคว้นวัชชี  แต่เมื่อได้ฟังพระดำรัสของพระพุทธเจ้าที่ตรัสกับพระเถระอานนท์  จึงทำให้วัสสการพราหมณ์มหาอำมาตย์ผู้มีสติปัญญาขบทฤษฏีดังกล่าวจนสามารถสรุปประเด็นได้แล้วหันมาใช้กลยุทธทางการทูตแทน

                “  ข้าแต่ท่านพระโคดม  พวกเจ้าวัชชีมีอปริหานิยธรรมแม้เพียงข้อเดียวก็พึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียวไม่มีความเสื่อมเลย  ไม่จำต้องกล่าวว่ามีครบทั้ง  ๗  ประการ  ข้าแต่ท่านพระโคดม  พระราชา

แห่งแคว้นมคธพระนามว่าอชาตศัตรู  เวเทหิบุตร  ไม่ควรทำสงคราม

กับพวกเจ้าวัชชีนอกจากจะใช้วิธีปรองดองทางการทูต หรือไม่ก็ทำ

ให้แตกสามัคคีกัน....”  [5]

      ในเรื่องดังกล่าวนี้  นงเยาว์  ชาญณรงค์  ได้อธิบายว่า  สภาพทางการเมืองสมัยนั้นชี้ให้เห็นว่า  กำลังมีการขยายอำนาจขยายดินแดนของประเทศต่าง ๆ  มีการสู้รบกันเพื่อยึดอำนาจไว้แต่ผู้เพียงผู้เดียวในขณะที่เหตุการณ์กำลังอยู่ในภาวะคับขัน  พระพุทธองค์ทรงใช้วิธีประเล้าประโลมให้เห็นคุณและโทษด้วยธรรมต่าง ๆ นานา จนเป็นผลสำเร็จให้กษัตริย์หลายพระองค์ละทิฐิมานะของตนเข้าถึงธรรมของพระองค์ หยุดการรบราฆ่าฟัน หันมาปกครองโดยเมตตาธรรมนำประชาชนให้อยู่เป็นสุขสบาย  มีความร่มเย็นเป็นสุขทั่วหน้ากัน  พระพุทธเจ้ามิได้ต้องการให้พระภิกษุสงฆ์เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือสนับสนุนระบบการปกครองระบบใดระบบหนึ่งโดยเฉพาะ  ไม่ว่าจะเป็นราชาธิปไตย  หรือสามัคคีธรรม  แต่พระองค์ได้วางหลักธรรมสำหรับนักปกครองให้ปฏิบัติเพื่อการปกครองระบบนั้น ๆ ให้เป็นไปด้วยดี และประสบความสำเร็จในการปกครองเพื่อประโยชน์แก่สังคมและประชาชนให้มากที่สุด [6]

 

            ๗.๓.๔. การสร้างเมืองยุทธศาสตร์

                        ) เมืองปาฏลิคาม  จุดยุทยศาสตร์แห่งมคธ

                จะเห็นว่าเมืองปาฏลิคาม  เป็นเมืองที่สำคัญมากถือว่าเป็นยุทธศาสตร์ของแคว้นมคธก็ว่าได้การดำเนินการก่อสร้างครั้งนี้พระเจ้าอชาตศัตรูใช้มหาอำมาตย์ถึง  ๒  คนคือมหาอำมาตย์สุนีธะ  และมหาอำมาตย์วัสสการะ  มาอำนวยการสร้างอีกประการหนึ่งที่บ่งบอกถึงความสำคัญคือเทวดาก็ดี  พระราชาก็ดี  ราชมหาอำมาตย์ก็ดี  ที่มีศักดิ์ใหญ่  ปานกลาง  และน้อยพากันมาจับจองที่กันในเขตใครเขตมันตามศักดิ์ของตัวเอง จนทำให้เมืองปาฏลิคาม  เป็นเมืองศูนย์การค้าและเจริญมากในเวลาต่อมา ดังพุทธดำรัสว่า

                “  จิตของพระราชาและราชมหาอำมาตย์ที่มีศักดิ์ใหญ่ย่อมน้อมไปเพื่อจะสร้างนิเวศน์ในที่ที่เทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่จับจอง  จิตของพระราชาและราชมหาอำมาตย์ที่มีศักดิ์ปานกลางย่อมน้อมไปเพื่อจะสร้างนิเวศน์ในที่ที่เทวดาผู้มีศักดิ์ปานกลางจับจอง  จิตของพระราชาและราชมหาอำมาตย์ที่มีศักดิ์น้อย  ย่อมน้อมไปเพื่อจะสร้างนิเวศน์ในที่ที่เทวดาผู้มีศักดิ์น้อยจับจอง

               ตราบใดที่ยังเป็นแดนที่อารยชนติดต่อกันอยู่  ตราบใดที่ยังเป็นเส้นทางค้าขายตราบนั้นเมืองปาฏลีบุตรนี้ยังจะเป็นเมืองชั้นเยี่ยม  เป็นย่านการค้าอยู่ต่อไปแต่เมืองปาฏลีบุตรนั้นจะมีอันตราย  ๓  อย่าง คืออันตรายจากไฟ อันตรายจากน้ำ  หรืออันตรายจากการแตกความสามัคคี  ”    [7]



[1]  ที.ม.  ๑๐ /  ๑๓๑–๒๔๐  / ๗๗–๑๘๐.

[2] เทพโสภณ (ประยูร  มีฤกษ์), พระ. โลกทัศน์ของชาวพุทธ. ( กรุงเทพฯ  : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๓ ).  หน้า  ๖๒–๖๓.

[3]   ที.ม. ๑๐ / ๑๕๒ /  ๙๕.

[4] ธรรมปิฏก ( ป.อ. ปยุตโต), พระ.  พระพุทธศาสนาในอาเชีย. ( กรุงเทพฯ : ธรรมสภา,  ๒๕๔๐). หน้า  ๓๓๘. 

[5] ที.ม. ๑๐ / ๑๓๕ / ๘๑.

[6] นงเยาว์  ชาญณรงค์. ศาสนากับสังคม. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ๒๕๔๕). หน้า  ๗๕.

[7] ที.ม. ๑๐ / ๑๕๒ /  ๙๖.

หมายเลขบันทึก: 438556เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2011 16:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • กราบนมัสการค่ะ
  • อ่านแล้วก็เชื่อมโยงกับเรื่องสามัคคีเภทคำฉันท์หนึ่งในเนื้อหาวรรณคดี
    วิชาภาษาไทย  ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖
  • กษัตริย์ลิจฉวีแตกความสามัคคีไม่ตั้งมั่นอยู่ในอปริหานิยธรรม ๗ จึงต้อง
    เสียแคว้นวัชชี
  • การเมตตาจนเกินประมาณทำให้เสียทีศัตรูที่เป็นหนอนบ่อนไส้ 
  • ทั้งหมดล้วนสะท้อนการเมืองไทย...ตราบใดที่นักการเมืองขาดศีลธรรม
    ขาดหิริโอตตัปปะ  ยอมทำทุกอย่างด้วยโมหะ  ตราบนั้นย่อมขายชาติขายแผ่นดิน
    ให้ต่างชาติเข้ามาหาผลประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ
  • สุดท้าย...ไม่มีใครทำร้ายไทยได้มากเท่าคนไทยด้วยกันเองนะเจ้าคะ....
  • กราบขอบพระคุณค่ะ

เจริญพรขอบคุณครูธรรมทิพย์ ที่ลิขิตติชมและสามารถเชื่อมโยงกับวิชาที่สอนได้

อดีตมีไว้สอนปัจจุบัน คนไทยโชคดีที่มีพุทธศาสนาที่มีองค์ความรู้มากมาย

แต่น่าเสียดาย ไม่สามารถนำมาใช้ให้ทันการณ์ได้

จึงกลายเป็นว่าไทยนี้มีเงินให้เขากู้ และมีความรู้อยู่ในสมุด อะไรประมาณนั้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท